วันศุกร์ที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

สารวัดวันอาทิตย์ที่ 9 พฤศจิกายน 2014

พี่น้องที่รัก
                ลมหนาวเริ่มพัดโชยมาบ้างแล้ว แต่ฤดูฝนก็ยังคงอ้อยอิ่งไม่อยากจากพวกเราไป ฝนยังคงตกอยู่เรื่อยๆ ราวกับว่าฟ้าและผืนดินกระหายหาความชุ่มชื้นอยู่เสมอ เหลือเวลาอีกสองสัปดาห์เราก็จะฉลองพระคริสตเจ้ากษัตริย์แห่งสากลจักรวาลแล้ว ซึ่งหมายความว่าเทศกาลเตรียมรับเสด็จพระคริสตเจ้ากำลังจะเริ่มขึ้น และ เทศกาลคริสต์มาสก็คืบคลานใกล้เราเข้ามาเรื่อยๆ
                วันเวลาผ่านไปรวดเร็ว ถ้าเราไม่หลงลืมไปว่า วันเวลาในโลกของเรามีจำกัด สิ่งใดที่เป็นคุณงามความดีเราต้องเร่งกระทำ อย่าปล่อยให้เวลาผ่านไปโดยเปล่าประโยชน์ เพราะเวลาที่ผ่านไปแล้วจะไม่หวลกลับมาหาเราอีก

พ่อสุพจน์
ความมหัศจรรย์ของพิธีบูชาขอบพระคุณ
(ต่อจากคราวที่แล้ว)
บทที่ 4
พิธีบูชาขอบพระคุณโดยพระสันตะปาปาเลโอที่13

                พระสงฆ์ท่านหนึ่งบันทึกประสบการณ์การร่วมพิธีบูชาขอบพระคุณที่พระสันตะปาปาเลโอที่13 เป็นผู้ถวายเอาไว้ว่า "ข้าพเจ้าได้มีโอกาสร่วมในพิธีบูชาขอบพระคุณที่พระสันตะปาปาเลโอที่13 เป็นผู้ถวาย ข้าพเจ้ารู้สึกซาบซึ้งใจในพิธีอันงดงาม อย่างที่ไม่มีหนังสือบำรุงความศรัทธา หรือ บทเทศน์ใดๆทำให้รู้สึกซาบซึ้งได้มากขนาดนี้ แม้ว่าเวลาจะผ่านล่วงเลยมาแล้วถึง 50 ปี แต่ข้าพเจ้าไม่เคยลืมวันวันนั้นเลย พระสันตะปาปาเวลานั้นมีอายุได้ 85 ปีแล้ว แม้ว่าภายนอกดูเหมือนจะเชื่องช้าแต่ก็เปี่ยมด้วยความสุขุมคัมภีรภาพ ในยามที่พระองค์ก้าวเข้ามาในวัดน้อย และ เดินตรงไปยังพระแท่น พระองค์ดูเต็มเปี่ยมไปด้วยความกระชุ่มกระชวย และ สดใส พระองค์เริ่มพิธีศักดิ์สิทธิ์ ด้วยท่าทางที่สง่างาม อิริยาบทของพระองค์ค่อยเป็นค่อยไป ทุกคำพูดที่พระองค์กล่าวออกมาแสดงให้เห็นชัดว่า พระองค์ตระหนักว่าพระองค์อยู่ต่อหน้าพระเจ้า ในช่วงของการเสกศีล พระองค์เงยหน้าขึ้นมองไปยังแสงที่ส่องลงมาจากเบื้องบน สายตาของพระองค์สื่อออกถึงความประทับใจของบุคคลที่ได้ยลความยิ่งใหญ่ของพระอานุภาพของพระเจ้า
                พระองค์ประคองแผ่นศีลไว้ในมือของพระองค์ด้วยความเคารพอย่างสูงส่ง และ ค่อย ๆ เปล่งคำภาวนาบทเสกศีล ด้วยน้ำเสียงที่เต็มเปี่ยมด้วยความเข้าใจถึงกิจการที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่พระองค์กำลังประกอบพิธีอยู่นั้น แล้วพระองค์ก็ย่อเข่าลง ราวกับว่าพระองค์อยู่ต่อหน้าพระบัลลังก์ของพระเจ้าในสวรรค์ และพระองค์ก็ชูแผ่นศีลขึ้นสูง พร้อมกับสายตาที่จดจ้องอยู่กับการประทับอยู่นั้น แล้วค่อยๆวางแผ่นศีลลงในจานรองศีลนั้น จากนั้นพระองค์ก็ทำเช่นเดียวกันกับถ้วยพระโลหิตที่บรรจุอยู่ในถ้วยกาลิกส์นั้นด้วยความเชื่อที่มีชีวิตชีวา ทุกอากัปกิริยานั้นช่างน่าประทับใจ ในช่วงของการกล่าวบทลูกแกะพระเจ้านั้น พระองค์เปล่งคำภาวนาออกมาด้วยความตระหนักรู้ว่าพระองค์อยู่ต่อหน้าองค์พระเจ้าเอง สุดท้าย ข้าพเจ้าเองไม่สามารถบรรยายถึงรายละเอียดของอากัปกิริยาว่าพระองค์รับพระกายและพระโลหิตศักดิ์สิทธิ์นั้นด้วยความรักอย่างสุดซึ้งนั้นมีลักษณะอย่างไร พิธีทั้งหมดไม่ได้ใช้เวลานานมากนัก และ ดำเนินไปอย่างเรียบง่าย แต่น่าประทับใจที่สุด เหตุการณ์ครั้งนั้นข้าพเจ้ายังจดจำได้ดีแม้เวลาจะผ่านไปถึง 50 ปีแล้วก็ตาม (ยังมีต่อ)
............................................................................................................

               
เกร็ดความรู้ - วันอาทิตย์
วันนี้เราฉลองวันครบรอบการถวายพระวิหารลาเตรัน  โอกาสนี้จึงอยากจะฝากความรู้เล็กๆน้อยๆ ว่าทำไมจึงเรียกวัดบางแห่งว่ามหาวิหาร (Basilica)

ในยุคแรกเริ่มของพระศาสนจักร บรรดาคริสตชนมาชุมนุมกันเพื่อสวดภาวนาและถวายบูชามิสซาในห้องธรรมดาๆ เหมือนใน ห้องชั้นบน ที่ซึ่งหลังจากพระเยซูเจ้าเสด็จขึ้นสวรรค์แล้ว บรรดาสาวกและผู้ติดตามทั้งชายและหญิง และพร้อมกับแม่พระ ทุกคนร่วมอธิษฐานภาวนาสม่ำเสมอเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน (กจ 1:12-14)
จากนั้น หลังจากพระจักรพรรดิคอนสแตนติน ได้ฟื้นฟูให้เสรีภาพทางศาสนาแก่บรรดาคริสตชน จึงสามารถจัดชุมนุมถวายนมัสการพระเจ้าได้อย่างเปิดเผยในที่สาธารณะ ดังนั้นบรรดาคริสตชนจึงเริ่มจัดหาอาคารเพื่อถวายนมัสการพระเจ้าซึ่งเรียกว่า บ้านแห่งการภาวนา โบสถ์น้อยประจำอารามหรือวัด จึงใช้กันมากขึ้น และในต้นศตวรรรษที่ 4 คำว่ามหาวิหารจึงได้เริ่มเรียกสำหรับวัดบางแห่ง
มหาวิหารเป็นชื่อเรียกหอประชุมใหญ่ของชาวโรมันที่สร้างขึ้นเพื่อจุดประสงค์ทางโลก เป็นต้น การถ่ายโอนธุรกิจหรือการจัดศาลยุติธรรม และเมื่อจักรพรรดิคอนสแตนตินได้ให้เสรีภาพในการถือศาสนา และทางรัฐก็ให้ความคุ้มครองบรรดาคริสตชน มหาวิหารบางแห่งจึงถูกสร้างขึ้นเพื่อประโยชน์ของทางราชการโดยให้คริสตชนดูแล และได้เปลี่ยนเป็นสถานที่ให้คริสตชนถวายนมัสการพระเจ้า แต่คำว่ามหาวิหารนั้นยังคงไว้เหมือนเดิม เช่น มหาวิหารนักบุญยอห์น ลาเตรัน วัดที่เป็นอาสนวิหารของพระสังฆราชแห่งโรม
คำว่า “มหาวิหาร” จึงถือว่าเป็นเกียรติพิเศษ และได้เริ่มใช้เรียกวัดต่างๆ ที่ถูกสร้างขึ้นมาอย่างโดดเด่น ทรงเกียรติ มหาวิหารที่ใหญ่โต และเป็นที่รู้จักอย่างดีในกรุงโรม คือ
o    มหาวิหารนักบุญยอห์น ลาเตรัน   
o    มหาวิหารนักบุญเปโตร   
o    มหาวิหารนักบุญเปาโล นอกกำแพงเมือง             และอื่นๆ
ทุกวันนี้พระศาสนจักรคาทอลิกยังคงใช้คำว่ามหาวิหาร เรียกชื่อวัดในที่ต่างๆ ของคาทอลิกด้วยเหตุผล เพราะเป็นสักการสถานที่มีชื่อเสียง มีความสำคัญ และเพื่อให้วัดเป็นสถานที่บรรดาสัตบุรุษมาร่วมแสดงความเชื่อ ความศรัทธาและสำหรับการนมัสการพระเจ้า


คพ.วิทยา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น