วันเสาร์ที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2556

สารวัดวันอาทิตย์ที่ 27 ตุลาคม 2013

พี่น้องที่รัก
            สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิส ได้อธิบายเกี่ยวกับการสวดภาวนาเอาไว้น่าฟังว่า “กุญแจที่สามารถไขประตูไปสู่ความเชื่อได้คือ การภาวนา” พระองค์กล่าวเตือนว่า “คริสตชนที่ละทิ้งการภาวนา ก็ตั้งตนอยู่ในความเสี่ยงของการเป็นผู้ยโส หลงตนเอง ขาดความอ่อนน้อม มุ่งสนใจแต่ความต้องการส่วนตนเท่านั้น” พระองค์ยังกล่าวเน้นถึงการภาวนาว่า “สำหรับคริสตชนที่ฝึกปฏิบัติ ในการภาวนา เขาก็ไม่อยู่ห่างไกลจากความเชื่อ เพราะเขารู้จักสนทนากับพระเยซู” พระองค์เน้นว่า “การภาวนา ไม่ใช่การท่องบ่นบทภาวนา เพราะในสมัยของพระเยซู มีพวกคัมภีราจารย์มากมายที่ท่องบ่นบทภาวนาเยอะแยะ เพื่อให้คนอื่นเห็น” พระเยซูจึงสอนว่า “เมื่อท่านภาวนา จงเข้าไปในห้อง และภาวนาต่อพระบิดาในที่ลับ จากใจถึงใจ” ดังนั้น การภาวนา กับการท่องบ่นบทภาวนาจึงไม่ใช่สิ่งเดียวกัน
            พ่อคิดว่า คำสอนของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิส ให้ความกระจ่างกับเรามากมายทีเดียวในเรื่องนี้ ดังนั้นการภาวนาจึงเป็นวัตรปฏิบัติสำคัญที่ขาดเสียไม่ได้ของคริสตชนทุกคน หลายครั้งเราก็มักคิดว่า การภาวนาคือ การท่องบทสวดที่พระศาสนจักรเรียบเรียงขึ้นเท่านั้น แท้ที่จริงแล้ว บทภาวนาต่างๆเป็นเพียงแนวทางที่ช่วยให้ผู้ที่ยังไม่รู้จะเริ่มภาวนาอย่างไรได้เริ่มต้นก้าวแรกในการภาวนาต่างหาก ซ้ำร้ายไปกว่านั้น การท่องบทสวดแต่ปาก แต่ใจล่องลอยไปตามความคิดในเรื่องต่างๆ ก็ยิ่งทำให้ห่างไกลไปจากเนื้อแท้แห่งการภาวนาที่แท้จริงออกไปอีก ซึ่งคนทั่วไปมักใช้คำว่า “วักแวก” มาสื่อถึง การภาวนาที่ปากกับใจไม่ตรงกันนี้ อย่างไรก็ดีตามที่พ่อได้กล่าวไว้ว่า การภาวนาต้องเป็นวัตรปฏิบัติของเราคริสตชนนั้น หมายความว่า เราต้องรู้จักหาเวลาสำหรับการภาวนาในชีวิตประจำวันนั่นเอง
            มาถึงตรงนี้พ่อก็ขอประชาสัมพันธ์กับพี่น้องว่า ในวันเสาร์ที่ 16 พฤศจิกายน เราจะจัดให้มีการฝึกปฏิบัติ “จิตภาวนา” เพื่อให้ผู้เข้ารับการฝึกจะสามารถฝึกฝนการภาวนาด้วยจิต เพื่อเข้าถึงความสงบ สมาธิ และ ค้นพบลมปราณของพระเจ้าในตัวเรา เป็นการภาวนาอีกรูปแบบหนึ่งที่ช่วยให้เราภาวนาด้วยใจ มากกว่าที่จะภาวนาด้วยสมอง ใครที่ต้องการเข้ารับการฝึกอบรมครั้งนี้จะจัดขึ้นสำหรับ 30 ท่านเท่านั้น ผู้ใดสนใจจะเข้ารับการอบรมฝึกปฏิบัติ สามารถจองที่ด้วยการลงชื่อไว้ล่วงหน้าได้ ที่บริเวณทางเข้าออกวัดฝั่งประตูตู้ศีล โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ถ้ามีผู้สนใจจำนวนมาก ก็จะจัดเป็นรุ่นๆ ในโอกาสต่อไป กิจกรรมครั้งนี้ดำเนินการโดย สภาภิบาลวัดเซนต์หลุยส์ วิทยากรผู้อบรมคือ คุณอำนวยพร สิริวรนาค
คุณพ่อ สุพจน์
....................................................................................................................................................................
เราเชื่ออะไร
สวรรค์คือสถานที่ใด

สวรรค์เป็นสถานที่พำนักของบรรดาทูตสวรรค์และผู้ศักดิ์สิทธิ์ และเป็นจุดหมายปลายทางของสิ่งสร้าง สวรรค์มิใช่สถานที่แห่งหนึ่งในจักรวาล แต่เป็นสภาพของชีวิตหน้า สักวันหนึ่งด้วยความช่วยเหลือของพระเจ้า เราจะไปยังสวรรค์ และได้รับพระพรในอย่างที่ชีวิตเราไม่สามารถพบได้ในโลกนี้ “สิ่งที่ตาไม่เคยเห็น หูไม่เคยได้ยิน และจิตใจของมนุษย์คิดไม่ถึง คือสิ่งที่พระเจ้าทรงเตรียมไว้สำหรับผู้ที่รักพระองค์” (1 คร.2:9)

ทูตสวรรค์  เป็นสิ่งสร้างของพระเจ้าที่มีสติปัญญาและเจตจำนง เพราะพวกเขาเป็นสิ่งสร้างที่เป็นจิต จึงไม่มีร่างกาย ไม่สามารถมองเห็นได้ และไม่รู้จักตาย ทูตสวรรค์ นอกจากจะเป็นผู้นำพระประสงค์ของพระเจ้ามาสู่มนุษย์แล้ว ยังมอบการปกปักรักษาของพระเจ้าให้แก่มนุษย์ด้วย พวกเขาเหล่านี้เต็มไปด้วยไฟแห่งความรักที่จะคอยรับใช้พระเจ้าทั้งวันทั้งคืน ทูตสวรรค์สามารถปรากฎออกมา แล้วให้มนุษย์สามารถมองเห็นพวกเขาอย่างที่พวกเขาอยากให้เห็นได้ในบางครั้ง ในฐานะเป็นผู้ส่งสารจากพระเจ้า หรือผู้ชี้แนวทางดำเนินชีวิตให้แก่เรา

นักบุญบาซิล ปิตาจารย์ของพระศาสนจักรสอนว่า “ข้างกายของผู้มีความเชื่อ มีทูตสวรรค์อยู่เคียงข้าง เป็นผู้พิทักษ์ และอภิบาลเพื่อนำทางผู้นั้นไปสู่ชีวิตนิรันดร” มนุษย์ทุกคนจึงมีอารักขเทวดาที่พระเจ้าประทานให้ จึงเป็นสิ่งดี และสมควรที่จะสวดภาวนาขอความคุ้มครองดูแลจากพวกท่านเพื่อตัวเรา และสำหรับผู้อื่นเสมอ
“ก้าวเดินบนแผ่นดิน แต่ใจถวิลสู่สวรรค์”
นักบุญ ยอห์น บอสโก (1815-1888)

วันศุกร์ที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2556

สารวัดวันอาทิตย์ที่ 20 ตุลาคม 2013

พี่น้องที่รัก
วันอาทิตย์นี้เป็นวันแพร่ธรรมสากล สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิสทรงมอบสารวันอาทิตย์แพร่ธรรมสากลไว้ให้กับเรา โดยทรงเน้นย้ำว่าการเผยแพร่ความเชื่อเป็นหน้าที่ที่จำเป็น ที่คริสตชนทุกคนต้องกระทำสังคายนาวาติกันที่สองได้เน้นถึงลักษณะพิเศษของงานธรรมทูตว่าการขยายขอบเขตของความเชื่อเป็นของทุกคนที่ได้รับศีลล้างบาปเป็นของชุมชนคริสตชนทุกแห่ง พระองค์ยังทรงกล่าวอีกว่าบ่อยครั้งที่งานการประกาศข่าวดีมักจะพบกับอุปสรรคต่างๆไม่เพียงแต่อุปสรรคภายนอกเท่านั้นแต่จากภายในชุมชนพระศาสนจักรเองด้วย”  “บางครั้งขาดความร้อนรน ความยินดี ความกล้าและความหวังในการประกาศสารของพระคริสตเจ้าให้กับทุกคนและในการให้ความช่วยเหลือกับผู้คนในสมัยของเราให้ได้พบปะกับพระองค์พระองค์ทรงให้ความหนักแน่นกับความต้องการพลังในงานแพร่ธรรม อย่างไรก็ตามพระองค์ทรงยืนยันว่าการประกาศข่าวดีไม่ควรใช้แรงกดดันหรือการบังคับ การประกาศข่าวดีเป็นงานของพระศาสนจักรที่ต้องอาศัยความร่วมมือกัน สมเด็จพระสันตะปาปาตรัสอีกว่าการประกาศข่าวดีไม่ใช่กิจการที่โดดเดี่ยวของแต่ละบุคคลหรือส่วนบุคคล  แต่เป็นของพระศาสนจักรเสมอ สารของสมเด็จพระสันตะปาปายังได้ให้คำอธิบายอย่างง่ายๆถึงความต้องการในการประกาศข่าวดีขึ้นใหม่ว่ามากยิ่งกว่านั้นอีกในพื้นที่ขนาดใหญ่ที่เป็นภูมิภาคของธรรมประเพณีคริสตชนจำนวนของคนแปลกหน้าทางความเชื่อหรือผู้ไม่แยแสในมิติทางศาสนาหรือความเคลื่อนไหวของผู้มีความเชื่ออื่นๆมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นบ่อยครั้งที่ผู้ได้รับศีลล้างบาปแล้วเลือกวิถีการดำเนินชีวิตที่นำพวกเขาให้ออกห่างจากความเชื่อจึงทำให้พวกเขาต้องการ การประกาศข่าวดีขึ้นใหม่
ในขณะที่ การประกาศข่าวดีขึ้นใหม่ นั้นดำเนินไปในพื้นที่ที่ครั้งหนึ่งมีคาทอลิกอยู่เป็นจำนวนมากสมเด็จพระสันตะปาปาทรงเตือนเราอีกด้วยว่ายังมีส่วนต่างๆอีกมากมายในโลก ที่ยังไม่เคยได้ยินสารของข่าวดีของพระเจ้า พวกเขาก็เช่นเดียวกันที่ต้องการการประกาศข่าวดีเช่นเดียวกับพระศาสนจักรที่ยังเยาว์ที่ซึ่งความเชื่อพึ่งจะหยั่งรากลงไปไม่นานนัก สมเด็จพระสันตะปาปายังทรงให้ข้อสังเกตในหลายๆกรณีว่าพระศาสนจักรที่ยังเยาว์เหล่านี้ก็ต้องมีส่วนร่วมอย่างไม่เห็นแก่ตัวในการส่งธรรมทูตไปยังพระศาสนจักรที่อยู่ในความยากลำบากซึ่งเกิดขึ้นไม่บ่อยนักกับพระศาสนจักรที่เป็นคริสตชนดั้งเดิม... และให้นำความสดใหม่และความกระตือรือร้นไปสู่ชีวิตความเชื่อของพวกเขาก่อนจบสารวันอาทิตย์แพร่ธรรมสากลสมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิสได้ทรงนำเราให้มุ่งความสนใจไปยังบรรดาพี่น้องคริสตชนผู้มีชีวิตอยู่ในสังคมที่ถูกจำกัดในเรื่องของเสรีภาพในการนับถือศาสนาและบ่อยครั้งต้องได้รับความทุกข์ยากเพราะความเชื่อของพวกเขาพวกเขาเป็นพี่น้องชาย-หญิงของเราเป็นประจักษ์พยานที่กล้าหาญ... แม้กระทั่งมีมรณสักขีมากขึ้นกว่าในศตวรรษแรกๆ... เป็นผู้ที่อดทนในการทำงานแพร่ธรรมกับรูปแบบต่างๆของการถูกเบียดเบียนในปัจจุบัน
ประโยคสำคัญจากสารวันอาทิตย์แพร่ธรรมสากล 2013         
 • “ความเชื่อเป็นพระพรอันประเสริฐของพระเจ้าซึ่งเปิดจิตใจของเราให้รู้จักและรักพระองค์ พระองค์ทรงปรารถนาที่จะเข้าสู่ความสัมพันธ์กับเราและทรงยอมให้เรามีส่วนร่วมในชีวิตของพระองค์เพื่อที่จะทำให้ชีวิตของเรามีความหมายมากขึ้น ดีขึ้นและงดงามมากขึ้นพระเจ้าทรงรักเรา”         
 • “ความเชื่อเป็นพระพรที่ไม่ได้สงวนไว้สำหรับคนไม่กี่คนแต่ต้องมอบออกไปด้วยความใจกว้าง ทุกคนควรได้รับประสบการณ์ของความชื่นชมยินดีในการได้รับความรักจากพระเจ้า ความชื่นชมยินดีแห่งการช่วยให้รอดพ้น ความเชื่อเป็นพระพรที่ไม่มีผู้ใดสามารถเก็บไว้สำหรับตนเองแต่เพียงผู้เดียวแต่ต้องได้รับการแบ่งปันออกไป”          
• “จำเป็นที่จะต้องประกาศข่าวดีของพระคริสตเจ้าด้วยความกล้าหาญในความเป็นจริงทั้งหมด ซึ่งเป็นสารแห่งความหวัง การคืนดีความเป็นหนึ่งเดียวกันและการประกาศความใกล้ชิดของพระเจ้า ของพระเมตตาของพระองค์ และการช่วยให้รอดพ้นของพระองค์ประกาศว่าอำนาจความรักของพระเจ้าสามารถเอาชนะความมืดของความชั่วร้าย และนำเราไปสู่หนทางแห่งคุณความดี มนุษยชาติในสมัยของเรามีความต้องการความสว่างที่เชื่อถือได้เพื่อส่องสว่างหนทางแห่งความเชื่อ และเฉพาะในการพบปะกับพระคริสตเจ้าเท่านั้นที่สามารถให้ได้ ให้เรานำไปให้โลกโดยผ่านทางการเป็นประจักษ์พยานของเราด้วยความรักความเชื่อที่ให้ความหวัง

คุณพ่อ สุพจน์
..............................................................................................
เราเชื่ออะไร
พระเจ้าทรงสร้างมนุษย์มาทำไม

มนุษย์ แตกต่างจากสิ่งสร้างอื่นๆ ที่มีชีวิตทั้งหมด เพราะมนุษย์เป็นบุคคลที่มีจิตวิญญาณ คุณลักษณะนี้ทำให้มนุษย์เป็นหนึ่งเดียวกับพระเจ้า มากกว่าสิ่งสร้างอื่นๆ ที่มองเห็นได้ มนุษย์สามารถมองมนุษย์ด้วยกันว่าเป็นบุคคล เช่นเดียวกับที่มองว่าพระเจ้าทรงเป็นพระบุคคล ด้วยเหตุนี้ ในบรรดาสิ่งสร้างที่มองเห็นได้ จึงมีแต่มนุษย์เท่านั้นที่สามารถรู้จัก และรักพระผู้สร้างของตนได้
พระเจ้าทรงสร้างทุกสิ่งมาก็เพื่อมนุษย์ มนุษย์ถูกสร้างขึ้นเพื่อได้รับการอวยพร และให้ได้รับความรักของพระองค์ และเจริญชีวิตสนิทสัมพันธ์กับพระองค์ ดังนั้น จุดมุ่งหมายของมนุษย์คือ การดำเนินชีวิตอยู่ในมิตรภาพกับพระองค์ กตัญญูรู้คุณต่อพระผู้สร้างของตน ยอมเป็นเครื่องมือแห่งความรักของพระเจ้า
ตลอดชีวิตของคุณแม่เทเรซา แห่งกัลกัตตา ท่านพยายามคิดในแนวทางนี้คือ “ฉันเป็นเพียงดินสอแท่งเล็กๆ ในพระหัตถ์ของพระเจ้า พระองค์อาจจะเหลาดินสอแท่งนี้ เพื่อจะใช้เขียนหรือวาดสิ่งใดก็ได้ในเวลาที่พระองค์ปรารถนา หากผลงานการเขียน หรือวาดรูปออกมาดูดี เราไม่ได้ยกย่องดินสอหรือวัสดุที่ใช้ แต่ยกย่องชื่นชมผู้ที่ใช้มัน”  
“พระเจ้าผู้สร้างท่าน ย่อมทรงทราบว่า พระองค์ทรงต้องการทำสิ่งใดกับตัวท่าน”

                                             นักบุญออกัสติน (354-430)

วันศุกร์ที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2556

สารวัดวันอาทิตย์ที่ 13 ตุลาคม 2013


พี่น้องที่รัก
            สัปดาห์ที่ผ่านมา วัดของเรามีโอกาสได้ต้อนรับวงดนตรี International Mosel Valley Concert Band จากประเทศเยอรมันนี ที่เดินทางมาเยี่ยมเยือนเมืองไทย และ ถือโอกาสนี้แสดงดนตรีหลายแห่ง วัดเซนต์หลุยส์ของเราก็ได้รับเกียรติให้เป็นสถานที่หนึ่งในการบรรเลงเพลงประกอบพิธีมิสซาด้วย นักดนตรีคณะนี้เป็นการรวมตัวของผู้มีความสนใจในทางดนตรีประเภทเครื่องเป่า ประมาณ 40 คน ร่วมฝึกซ้อมบรรเลงเพลงกันมานานพอสมควรแล้ว และมีโอกาสแสดงดนตรีในโอกาสสำคัญๆหลายครั้ง ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่มายังประเทศไทย พวกเขาถือโอกาสนี้มาเยี่ยมเยียนสถานที่สวยงามของประเทศไทย และ มาเรียนรู้วัฒนธรรมประเพณีที่ดีงามของไทยด้วย พี่น้องหลายท่านที่ได้มาร่วมพิธีมิสซาในรอบเที่ยงเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว คงได้รับความประทับใจจากความไพเราะของดนตรีที่ช่วยส่งเสริมให้พิธีกรรมเกิดความสง่างาม และ ช่วยยกจิตใจของเราขึ้นหาพระเจ้าได้โดยง่ายอีกด้วย หลายคนมาบอกกับพ่อว่า น่าจะมีบ่อยๆนะ พ่อก็คิดอย่างนั้นถ้ามีโอกาสอีก วัดเซนต์หลุยส์ของเราก็ยินดีครับ ถัดมาอีกสองสามวันคือวันพุธ พ่อได้ไปร่วมพิธีมิสซาในโอกาสครบรอบ 17 ปี ของการก่อตั้งกลุ่ม ธิดาศีลมหาสนิท ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของผู้ที่มีจิตศรัทธาต่อศีลมหาสนิท และ พระนางมารีย์ มาร่วมกันประกอบกิจศรัทธาเช่นนี้สัปดาห์ละครั้งที่วัดพระจิต ในพิธีมิสซาครั้งนี้ และ คิดว่าทุกๆครั้ง เพลงที่ใช้ร้องประกอบในพิธีกรรมทั้งหมดเป็นเพลงละติน รวมถึงพระสงฆ์ผู้ประกอบพิธีก็ขับร้องบทภาวนาก่อนบทเสกศีลเป็นภาษาละตินอีกด้วย เรียกว่าเป็นมิสซาที่มีกลิ่นอายของพิธีกรรมดั้งเดิมของพระศาสนจักรตั้งแต่ก่อนสมัยสังคายนาวาติกันครั้งที่สองโน่นทีเดียว ผู้มีจิตศรัทธาจากวัดต่างๆมาร่วมพิธีกันคับคั่งเลยครับ พ่อได้ข้อคิดว่า ในพระศาสนจักรคาทอลิกนั้นแม้จะมีความแตกต่างในกิจกรรมที่หลากหลาย แต่ความเป็นพระศาสนจักรสากลที่ยึดมั่นในความเชื่อเดียวกันนั้นทำให้เราเป็นหนึ่งเดียวกันจริงๆ อย่างคำภาษาละตินที่ว่า Utunumsint ซึ่งมีความหมายว่า “เพื่อความเป็นหนึ่งเดียวกัน” นั่นเอง เหตุการณ์ที่พ่อกล่าวมานี้ ถือได้ว่าเป็นประวัติศาสตร์หน้าสำคัญอีกหน้าหนึ่งของวัดเซนต์หลุยส์ของเราครับ

คุณพ่อ สุพจน์
......................................................................................................................
เราเชื่ออะไร
ใครสร้างโลก

โลกมิได้เกิดขึ้นโดยความบังเอิญ หรือเป็นผลที่มาจากพลังที่ไร้จุดมุ่งหมายอย่างที่นักวิทยาศาสตร์หลายคนเข้าใจ หากมีพระเจ้าแต่เพียงพระองค์เดียว ผู้ซึ่งอยู่เหนือกาลเวลาและสถานที่ ได้ทรงสร้างโลกและจักรวาลขึ้นมาจากความว่างเปล่า ทุกสิ่งทุกอย่างที่มีอยู่จึงขึ้นอยู่กับพระองค์ และคงเป็นอยู่แบบนี้ตลอดไป อาจกล่าวได้อีกว่า การสร้างโลก ตลอดจนระบบต่างๆ ตามธรรมชาติ ล้วนเป็นผลงานร่วมกันของพระเจ้าพระตรีเอกภาพ “ทุกสิ่งถูกเนรมิตขึ้นโดยพระองค์ และเพื่อพระองค์” (คส.1:16)

ภาพสัญลักษณ์การทำงานหกวันต่อสัปดาห์ สามารถโยงไปถึงหลักการสำคัญคือ ไม่มีสิ่งใดเกิดขึ้นมาเอง โดยที่พระผู้สร้างมิได้ทรงกำหนด และทุกสิ่งสร้างนี้ล้วนเป็นสิ่งที่ดี และมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันทั้งหมด การพักผ่อนจากการทำงานของพระเจ้า ชี้ให้เห็นถึงความเสร็จสมบูรณ์ของสิ่งสร้าง และที่สำคัญที่สุด ไม่มีเหตุผลใดในการสร้างโลกนอกจากความรัก และพระเกียรติมงคลของพระเจ้าจะได้ปรากฏอยู่ในสิ่งสร้าง
พระเจ้าทรงสร้างมนุษย์ให้มีภาพลักษณ์ของพระองค์  ให้มนุษย์มีความโดดเด่นอย่างชัดเจนจากสิ่งสร้างอื่นๆ ที่มีชีวิต ให้มีความเข้าใจ และเจตจำนงที่จะตัดสินใจเลือกทำ หรือไม่เลือกทำอะไร  มนุษย์จึงถือได้ว่าเป็นดังจุดสูงสุดของการสร้าง ที่ควรให้เกียรติพระผู้สร้างในการปฏิบัติต่อสิ่งสร้างอื่นๆ อย่างใส่ใจ และรับผิดชอบ คอยร่วมมือกับพระผู้สร้างในอันที่จะทำให้สิ่งสร้างทั้งหมดไปสู่ความสมบูรณ์
 “พระสิริรุ่งโรจน์ของพระเจ้า คือ มนุษย์ที่มีชีวิต และมากยิ่งกว่านั้น ชีวิตมนุษย์ คือ การได้แลเห็นพระเจ้า”
นักบุญ อิเรเนอุส แห่งลีออง (135-202)

    




วันศุกร์ที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2556

สารวัดวันอาทิตย์ที่ 6 ตุลาคม 2013


พี่น้องที่รัก
            สัปดาห์ที่แล้ว มีพี่น้องสัตบุรุษคนหนึ่งแสดงความรู้สึกกับพ่อว่า เขารู้สึกมีความอิ่มเอิบใจในเวลาที่มาร่วมพิธีมิสซาที่วัดแห่งนี้ เพราะบรรยากาศของพิธีกรรม และ ผู้มาร่วมพิธีกรรม รวมไปถึงการขับร้องบทเพลงประกอบพิธีกรรม ช่วยให้เขาสามารถยกจิตใจขึ้นหาพระเจ้าได้ ทำให้การมาร่วมพิธีมิสซาในวันอาทิตย์นั้นสำหรับเขาเป็นวันของพระเจ้าอย่างแท้จริง  ความจริงความรู้สึกเช่นนี้คงเกิดขึ้นกับพี่น้องสัตบุรุษหลายๆคน เพราะพิธีกรรมคือการแสดงออกซึ่งความเชื่อความศรัทธาของเราคริสตชนนั่นเอง แต่พ่อเองก็เชื่อว่ายังมีพี่น้องอีกหลายคนเช่นกัน ยังไม่เข้าถึงความรู้สึกอิ่มเอิบใจเช่นนี้ในขณะมาร่วมพิธีบูชาขอบพระคุณในวันอาทิตย์ เพราะอาจมีปัจจัยหลายอย่างที่ยังไม่เอื้ออำนวยให้เป็นเช่นนั้น วันนี้พ่อขอกล่าวถึงปัจจัยบางอย่างที่อาจทำให้เรายังไม่เข้าถึงความสงบ ความอิ่มเอิบใจ ในพิธีบูชาขอบพระคุณ นั่นคือ ประการแรก ความเร่งรีบ พ่อหมายถึง ความเร่งรีบที่มักเกิดขึ้นเสมอในชีวิตของเราในทุกเรื่อง เพราะเรามีโปรแกรมมากมายที่จะต้องทำในแต่ละวัน แต่บางครั้งความล่าช้าอันเนื่องมาจากสาเหตุต่างๆ ก็ยิ่งทำให้เราต้องเร่งรีบมากขึ้น และหลายครั้งรีบแล้วก็ยังไม่ทันการณ์ จึงทำให้เกิดความยุ่งเหยิง สับสน วุ่นวายด้วย แล้วใจของเราก็ขาดความสงบ เพราะมีโปรแกรมอื่นๆรอคอยเราอยู่อีก พ่อขอเสนอว่า ให้เราพยายามจัดเวลาสำหรับการเตรียมตัวมาวัด การเดินทางจากบ้านมาที่วัดให้เพียงพอ เพื่อเราจะมีเวลาพอสมควรที่จะสงบจิตสงบใจ ก่อนพิธีจะเริ่ม ประการที่สอง ที่พ่อสังเกตนั่นคือ หลายคนมาวัดแต่ตัว แต่ใจอยู่นอกวัด หรือซ้ำร้ายกว่านั้น นอกจากตัวไม่ได้อยู่ในวัดแล้ว ใจก็ยังอยู่ห่างออกไปจากวัดอีกด้วย เดี๋ยวนี้โทรศัพท์มือถือกลายเป็นวัตถุที่แย่งสมาธิของผู้คนไปเสียจากความสงบในการสวดภาวนา จนกล่าวได้ว่า โทรศัพท์มือถือเป็นช่องทางที่ปีศาจคอยล่อลวงเราให้เสียสมาธิไปจากการฟังพระวาจาของพระเจ้า และ การสวดภาวนา มีคำกล่าวว่าผู้คนสมัยนี้อยู่ในวัฒนธรรมก้มหน้า นั่นคือมัวแต่ก้มหน้ามองหน้าจอมือถือนั่นเอง พ่อคิดว่าเมื่อเราตั้งใจมาวัดร่วมพิธีบูชาขอบพระคุณพระเจ้าในวันอาทิตย์แล้ว ถ้าเราจะวางตัวของเราให้พ้นจากอุปสรรคต่างๆที่มาแย่งเวลาของเราไปจากพระเจ้าได้ ก็เท่ากับว่าเราเตรียมพร้อมที่จะสัมผัสความอิ่มเอิบใจ และ ความสุขสงบที่จิตวิญญาณของเราปรารถนาจะได้รับจากการมาร่วมพิธีในวันอาทิตย์ ซึ่งพระเจ้าจะประทานให้กับเราทุกคนอย่างแน่นอน
คุณพ่อ สุพจน์
....................................................................................................
เราเชื่ออะไร
ทำไมเราจึงเชื่อในพระเจ้าหนึ่งเดียว

เราเชื่อในพระเจ้าหนึ่งเดียว เพราะตามหลักฐานในพระคัมภีร์ มีพระเจ้าเพียงพระองค์เดียวเท่านั้น “เราคือพระเจ้า และไม่มีพระอื่นใดนอกจากเรา” (อสย.45:22) และตามกฎของตรรกวิทยา หากว่ามีพระเจ้าสององค์ พระเจ้าองค์หนึ่งย่อมจะกลายเป็นข้อจำกัดของพระเจ้าอีกองค์หนึ่ง กลายเป็นว่าไม่มีพระเจ้าองค์ใดที่ไร้ขอบเขต และสมบูรณ์สูงสุด ดังนั้น หากมีพระเจ้าสององค์จึงย่อมไม่อาจเรียกว่าพระเจ้าได้
พระเจ้าไม่ได้ทรงต้องการให้เป็นที่ยำเกรงในฐานะที่ทรงเป็นพระผู้สร้างสรรพสิ่ง หากแต่ทรงต้องการให้มนุษย์รู้จักพระองค์ และได้รับเรียกเหมือนบุคคลที่เป็นอยู่จริง พระองค์ทรงเผยแสดงพระนามศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์ให้แก่โมเสส เพียงเพื่อให้ประชากรของพระองค์สามารถพูดกับพระองค์ได้  การที่คริสตชนเชื่อในเรื่องพระตรีเอกภาพ ไม่ได้หมายความว่าคริสตชนนมัสการพระเจ้าสามพระองค์ที่แตกต่างกัน หากแต่เป็นพระเจ้าพระองค์เดียวที่มีสามพระบุคคลเป็นหนึ่งเดียวกัน ที่เรารู้ว่าพระเจ้ามิได้ทรงอยู่อย่างโดดเดี่ยว เพราะพระเยซูเจ้าได้ตรัสถึงพระบิดาของพระองค์ในสวรรค์ว่า “เรากับพระบิดาเป็นหนึ่งเดียวกัน” (ยน.10:30)
 เฉพาะผู้ที่มีความไว้ใจในพระองค์ จึงจะสามารถค้นพบพระองค์ และมีประสบการณ์ถึงพระองค์ได้ เพราะพระองค์ทรงเป็นความจริง และความจริงก็คือพระองค์ ดังที่พระเยซูเจ้ากล่าวว่า “เรามาในโลกนี้ เพื่อเป็นพยานถึงความจริง” (ยน.18:37)
สำคัญเหนือสิ่งอื่นใดคือ การรู้จักพระเจ้านั้นหมายถึง การรู้ว่าพระองค์ทรงสร้างเรามา เอาพระทัยใส่เราด้วยความรักทุกขณะ ยังคอยประทานพระพรให้กับชีวิตของเรา และทรงปรารถนาให้เราได้พำนักอยู่กับพระองค์ตลอดไป ดังนั้น คนที่ได้รู้จักพระเจ้าของตนแล้ว ก็ต้องให้พระเจ้ามาเป็นที่หนึ่งในชีวิตของตนด้วย 
“หลังจากที่ข้าพเจ้าค้นพบว่ามีพระเจ้า จึงเป็นไปไม่ได้ที่ข้าพเจ้าจะไม่มีชีวิตอยู่เพื่อพระองค์แต่เพียงผู้เดียว”
         บุญราศีชาร์ล เดอ ฟูโกด์ (1858-1916)



สารวัดวันอาทิตย์ที่ 29 กันยายน 2013


พี่น้องที่รัก
            เดือนตุลาคมเป็นเดือนแห่งการสวดสายประคำ เราฉลองวันแม่พระลูกประคำในวันที่ 7 ตุลาคม ของทุกๆปี เนื่องจากวันนี้เป็นวันที่ระลึกถึงชัยชนะในสงครามที่เลปันโต้ ซึ่งคริสตชนเชื่อกันว่าชัยชนะนี้เกิดขึ้นได้เพราะพลังแห่งการสวดสายประคำนั่นเอง พระศาสนจักรจึงได้อุทิศเดือนตุลาคมนี้เพื่อการสวดสายประคำเป็นพิเศษ พ่อจึงอยากเชิญชวนให้พี่น้องได้ตั้งใจที่จะสวดสายประคำทุกวันตลอดเดือนนี้ การสวดสายประคำจะนำมาซึ่งสันติสุขและความศักดิ์สิทธิ์มาสู่ชีวิตของเรา การสวดลูกประคำเป็นเครื่องมือที่ทรงพลังสำหรับการกลับใจ นอกจากนี้การสวดลูกประคำนั้นยังเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการถวายเกียรติแด่พระนางมารีย์อีกด้วย
            พ่อจึงอยากเสนอให้พี่น้องได้ร่วมใจกันปฏิบัติในข้อเสนอต่อไปนี้
1.      สวดสายประคำทุกวันตลอดเดือนนี้
2.      จัดหาสายประคำให้กับเด็กๆ สอนเขาให้รู้จักการสวดสายประคำด้วยกัน
3.      สวดลูกประคำเพื่อพระสงฆ์ และ กระแสเรียกแห่งการเป็นพระสงฆ์
4.      สวดลูกประคำเพื่อสันติภาพของโลก และ สันติสุขในครอบครัว
5.      หาโอกาสไปร่วมในพิธีแห่พระรูปพระนางมารีย์ร่วมกันทั้งครอบครัวที่วัดใดก็ได้

ที่วัดเซนต์หลุยส์ของเราจะมีพิธีตั้งศีลมหาสนิทและสวดลูกประคำพร้อมกันในวัดทุกวัน ในเวลา 1 ทุ่มตรง ระหว่างวันจันทร์ -  ศุกร์ ยกเว้นวันเสาร์และวันอาทิตย์ ขอเชิญพี่น้องทุกท่านมาร่วมกันสวดลูกประคำตลอดเดือนตุลาคมนี้นะครับ และในวันที่ 31 ตุลาคม เราจะมีพิธีมิสซาปิดเดือนแม่พระลูกประคำในเวลา 19.00 น. หลังพิธีมิสซา มีพิธีแห่พระรูปแม่พระด้วย

หมายเหตุ  สงครามที่เลปันโต้ เป็นยุทธนาวี ที่เกิดขึ้นวันที่ 7 ตุลาคมปี ค.ศ. 1571 ในอ่าวพาทราส ทะเลไอโอเนียน ระหว่างกองทัพเรือของพวกตุรกี และกองทัพเรือของฝ่ายอาณาจักรพระสันตะปาปา ผลการสงครามครั้งนี้ฝ่ายพระศาสนจักรได้รับชัยชนะ
คุณพ่อ สุพจน์
...............................................................................................................
เราเชื่ออะไร

ทำไมต้องมีบทยืนยันความเชื่อ
บทยืนยันความเชื่อ คือบทสรุปย่อความเชื่อ ซึ่งเป็นบทที่สัตบุรุษทุกคนยืนยันความเชื่อร่วมกัน ความเชื่อไม่ใช่คำที่ว่างเปล่าแต่เป็นความจริง ตลอดหลายศตวรรษที่ผ่านมา โดยอาศัยบทยืนยันความเชื่อเหล่านี้ คริสตชนจึงยังคงเรียนรู้ ไตร่ตรอง แบ่งปัน เฉลิมฉลอง และดำเนินชีวิตตามความเชื่อนี้อยู่เสมอ หากไม่มีบทยืนยันความเชื่อที่กำหนดไว้นี้ เนื้อหาสาระของความเชื่ออาจจะเลือนหายไป ด้วยเหตุนี้ พระศาสนจักรจึงให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับประโยคที่ชัดเจน ถ้อยคำที่ถูกต้อง ทั้งนี้เพื่อป้องกันมิให้สารของพระคริสตเจ้าถูกเข้าใจผิด หรือถูกบิดเบือน ยิ่งกว่านั้น บทยืนยันความเชื่อนี้มีความสำคัญอย่างยิ่ง เมื่อต้องถ่ายทอดความเชื่อของพระศาสนจักรไปสู่วัฒนธรรมต่างๆ โดยที่ต้องพยายามรักษาสาระสำคัญไว้ เพราะความเชื่อที่มีร่วมกันเท่านั้นจึงจะเป็นพื้นฐานของเอกภาพในพระศาสนจักรได้

            บทยืนยันความเชื่อ มีที่มาจากพระเยซูเจ้า ผู้ทรงสั่งบรรดาศิษย์ของพระองค์ให้โปรดศีลล้างบาป ซึ่งพวกเขาต้องให้ผู้ที่จะรับศีลล้างบาปได้ยืนยันความเชื่ออย่างชัดเจน คือเชื่อในพระบิดา พระบุตร และพระจิตเสียก่อน หลักพื้นฐานของบทยืนยันความเชื่อทุกแบบซึ่งภายหลังมีการปรับปรุงนั้น จึงล้วนพัฒนามาจากความเชื่อในพระเจ้าหนึ่งเดียวในสามพระบุคคล ไม่ว่าจะเป็นบทยืนยันความเชื่อของบรรดาอัครสาวก หรือบทยืนยันความเชื่อของนิเชีย – คอนสแตนติโนเปิล อันเป็นผลจากการสังคายนาครั้งใหญ่ของพระศาสนจักร ก็จะเริ่มต้นด้วยการยืนยันความเชื่อในพระบิดา พระผู้ทรงสร้าง และปกปักรักษาโลก ยืนยันความเชื่อในพระบุตร ซึ่งโลก และเราแต่ละคนได้รับการไถ่ให้รอดโดยทางพระองค์ และจบลงด้วยการยืนยันความเชื่อในพระจิต ผู้ทรงเป็นการประทับอยู่ของพระเจ้าในพระศาสนจักร และในโลก
“ขอให้ บทข้าพเจ้าเชื่อ เป็นดังกระจกเงา จงมองดูตัวเองในนั้น เพื่อดูว่าท่านเชื่อในสิ่งที่ท่านยืนยันจริง ๆ หรือไม่ และจงชื่นชมยินดีในความเชื่อของท่านทุก ๆ วัน”
นักบุญ ออกัสติน(354-430)