วันเสาร์ที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2555

สารวัดวันอาทิตย์ที่ 30 กันยายน 2012


สวัสดีครับพี่น้องที่รัก
            พี่น้องคงจำได้นะครับว่า เมื่อวันเสาร์ที่ 29 กันยายน ที่ผ่านมาเป็นวันฉลองอัครเทวดาสามองค์คือ มีคาแอล คาเบรียล และ ราฟาแอล ในสารวัดเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว พ่อได้กล่าวเกี่ยวกับอัครเทวดามีคาแอลไปแล้ว สัปดาห์นี้พ่อจะกล่าวถึงอัครเทวดาอีกสององค์ที่เหลือคือ คาเบรียล และ ราฟาแอล
            คำว่า คาเบรียล มีความหมายว่า "พระเจ้าคือพละกำลังของข้าพเจ้า" พระคัมภีร์กล่าวถึงท่านเทวดาองค์นี้สามครั้ง โดยที่ท่านทำหน้าที่เป็นผู้สื่อสารอันเป็นข่าวสำคัญ ท่านถูกส่งไปหาดาเนียล เพื่อช่วยให้ดาเนียลได้เข้าใจถึงภาพพจน์ของพระแมสซีอาห์พระผู้ไถ่ว่าเป็นอย่างไร และ ท่านได้ถูกส่งไปหา ซากาเรีย (หรือเศคาริยาห์) ในขณะที่ซากาเรียทำหน้าที่ถวายเครื่องบูชาอยู่ในพระวิหาร เพื่อบอกกล่าวถึงการมาบังเกิดของท่านยอห์นบัปติสต์ซึ่งเป็นบุตรชายของซากาเรีย และ ภารกิจที่สำคัญที่สุดของคาเบรียลคือการไปแจ้งข่าวเรื่องการบังเกิดมาของพระผู้ไถ่ให้พระนางมารีย์ได้ทราบ ดังนั้นหน้าที่สำคัญของเทวดาคาเบรียลก็คือ การสื่อสาร การแจ้งข่าว ท่านจึงได้รับการยกย่องให้เป็นองค์อุปถัมภ์ของบรรดาผู้ที่ทำงานในวงการทูต งานด้านสื่อสารมวลชน การบังเกิดมาของทารก สถาบันนักบวช งานอภิบาล งานประชาสัมพันธ์
            ส่วนอัครเทวดาองค์ต่อไปที่จะกล่าวถึงก็คือ ราฟาแอล ความรู้เกี่ยวกับอัครเทวดาองค์นี้มาจากหนังสือโทบิต เทวดาองค์นี้ได้รับภารกิจให้ทำการบำบัดรักษา และ ทำหน้าที่เป็นเพื่อนในการเดินทางของโทเบีย และมีบทบาทในการช่วยเหลือโทเบียในช่วงเวลาวิกฤติอีกด้วย นอกจากนี้ ตามประเพณีโบราณยังเชื่อว่า ราฟาแอลคือเทวดาที่คอยทำให้น้ำในสระเบธเธสดากระเพื่อมเพื่อรักษาผู้ป่วยที่ลงไปแช่ตัวในสระน้ำแห่งนั้น ชื่อราฟาแอลมีความหมายว่า "พระเจ้าได้ทรงบำบัดรักษา" เทวดาองค์นี้จึงได้รับการยกย่องให้เป็นองค์อุปถัมภ์ของคนตาบอด ผู้ป่วย ผู้ให้คำปรึกษา เภสัชกร ผู้ตรวจสุขภาพ เวชบุคคล คนเลี้ยงแกะ
            พระศาสนจักรยังมีธรรมเนียมในการสวดบททูตสวรรค์ของพระเจ้า เวลาได้ยินเสียงย่ำระฆังเวลา 6 โมงเช้า เที่ยง แล้วก็ 6 โมงเย็นอีกด้วย ถ้าบ้านของเราอยู่ในหมู่บ้านที่มีวัดเป็นศูนย์กลางของหมู่บ้าน เราก็คงได้ยินเสียงระฆังที่คอยเรียกเราให้สวดภาวนาอยู่เสมอ แต่ว่าเราส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ ดังนั้นคงไม่ค่อยได้มีโอกาสได้ยินเสียงระฆังจากหอระฆังของวัดบ่อยนัก แต่เราก็ควรที่จะฝากตัวของเราไว้ในความอารักขาของเทวดารักษาตัวของเรา และ หมั่นสวดภาวนาเสมอๆนะครับ
พ่อสุพจน์
...................................................................................................................................................................

สวัสดีครับพี่น้องที่รักทุกท่าน
                 วันนี้ขอพักเรื่องบูชามิสซาไว้ก่อนนะครับ พอดีมีเรื่องที่น่าสนใจมานำเสนอให้พี่น้องได้ทราบกันคือ เรื่องการขอมิสซา ซึ่งได้เคยนำมาติดประกาศกันบ้างแล้วแต่เห็นว่ามันมีเนื้อหาที่ยาวและคงไม่มีใครสนใจอ่านสักเท่าไร เลยคิดที่จะนำมาเขียนลงในสารวัดดีกว่าเพื่อพี่น้องจะได้อ่านกันได้มากขึ้น (ขอขอบคุณคุณพ่อวุฒิเลิศ แห่ล้อมที่ให้ข้อมูลนี้)
                เราทราบกันดีแล้วว่า มิสซาคือ การภาวนาที่สำคัญและมีคุณค่าที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเพราะเป็นบูชาที่มีพระเยซูเจ้าทรงเป็นผู้ถวายและเราเป็นผู้ร่วมในบูชานั้นโดยพระสงฆ์เป็นตัวแทนของพระเยซูเจ้าที่เป็นผู้ถวายมิสซา ดังนั้นการขอมิสซาจึงเป็นการขอให้พระสงฆ์ถวายคำภาวนาตามจุดประสงค์ของผู้ที่ขอมิสซา ซึ่งแยกออกเป็น 2 ประเภทคือ มิสซาสุขสำราญ เป็นมิสซาวอนขอสำหรับผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ เช่น เพื่อสุขภาพ หน้าที่การงาน การเดินทาง หรือเพื่อโมทนาขอบพระคุณแม่พระ พระเยซูเจ้า นักบุญต่างๆ และมิสซาอุทิศให้ผู้ล่วงลับ เป็นมิสซาวอนขอพระเมตตาสำหรับผู้ที่ตายไปแล้ว เช่น วิญญาณในไฟชำระ บรรพบุรุษของเรา และวิญญาณที่ไม่มีใครคิดถึง
                วิธีการขอมิสซา กระทำได้โดยการกรอกรายละเอียดต่างๆ ที่เป็นจุดประสงค์ของการขอมิสซาลงในซองมิสซาที่ทางวัดจัดทำขึ้น เน้นย้ำว่าให้กรอกโดยละเอียดและเขียนตัวบรรจงให้สามารถอ่านออกได้ เพราะถ้าไม่สามารถอ่านออกได้จะหาทางออกโดยการเขียนว่า “ตามจุดประสงค์ของผู้ขอ” เพราะพระเป็นเจ้าทรงทราบอยู่แล้ว เมื่อเราขอมิสซาแล้วให้เราสบายใจได้ว่าเราได้ทำในส่วนของเราเรียบร้อยสมบูรณ์แล้ว ส่วนที่เหลือเป็นหน้าที่ของพระสงฆ์ที่จะต้องทำตามจุดประสงค์ที่ขอ หลายคนสงสัยว่าจะต้องขอมิสซาด้วยจำนวนเงินเท่าไร ข้อนี้ตอบว่า เงินทำบุญมิสซาไม่สามารถกำหนดตายตัวได้เพราะคุณค่าของมิสซามิอาจตีราคาได้ แต่เป็นเรื่องของคุณค่าของพระพรของพระเจ้า ฉะนั้นจึงแนะนำว่าให้ทำบุญมิสซาตามความเหมาะสมหรือตามกำลังความศรัทธา จะมากน้อยไม่ใช่เรื่องสำคัญ แต่ไม่ใช่ว่าเราใช้จ่ายฟุ่มเฟือยแต่พอทำบุญกับทำบุญนิดหน่อยอย่างนี้ก็ต้องเรียกว่าไม่เหมาะสม
                โดยปกติพระสงฆ์จะนำเงินมิสซาไปเป็นค่าใช้จ่ายต่างๆ ของวัด เพื่อการบริหารจัดการต่างๆ ของวัด เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าแอร์ ค่าจ้างคนงาน ค่าก่อสร้าง ค่าบำรุงรักษา ฯลฯ แต่พระศาสนจักรก็อนุญาตให้พระสงฆ์นำเงินไปใช้ส่วนตัวได้เหมือนกัน ซึ่งอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ กำหนดให้พระสงฆ์นำไปใช้ได้วันละ 100 บาท มีข้อสังเกตอยู่ว่า ที่มุมของซองจะมีช่องที่ทำเครื่องหมายว่าจะให้นำซองมิสซานี้ไปถวายมิสซาที่ใด เช่น ถวายที่วัดเซนต์หลุยส์ ก็จะถูกนำมาจัดเข้าตามตารางมิสซาของวัดทั้งวันธรรมดาและวันอาทิตย์ ซึ่งตรงนี้เราสามารถกำหนดวันและเวลาที่ต้องการให้ถวายมิสซาได้ เพราะเราจะได้สามารถมาร่วมในมิสซาที่เราขอไว้ ให้รวมจุดประสงค์ได้ หมายถึงให้สามารถถวายมิสซารวมกับจุดประสงค์อื่นได้ด้วย (โดยปกติ 1 มิสซาจะมี 1 จุดประสงค์มิสซา) ซึ่งเมื่อมีการขอมิสซามากๆ จะไม่สามารถจัดมิสซาให้ทันได้ต้องรอไปนานมาก ทางออกคือ ผู้ขอมิสซาอนุญาตให้รวมจุดประสงค์ได้ และให้ส่งไปถวายที่วัดอื่นได้ เพื่อเป็นการแจกจ่ายมิสซาไปยังวัดอื่นๆ ได้และเงินทำบุญมิสซานั้นก็จะไปมอบให้กับวัดที่ถวายมิสซาให้ ทั้งนี้พระสงฆ์จะเป็นผู้ส่งซองมิสซาที่สามารถนำไปถวายที่วัดอื่นได้ให้กับอัครสังฆมณฑลเพื่อจัดสรรไปยังวัดที่มีการขอมิสซาน้อยกว่า และสุดท้ายการขอมิสซากับพระสงฆ์เป็นการส่วนตัวเพื่อถวายเงินให้กับพระสงฆ์ใช้เป็นค่าใช้จ่ายส่วนตัว สามารถทำได้แต่พี่น้องจะต้องระบุให้ชัดเจนด้วยว่าสำหรับส่วนตัวของพระสงฆ์และนำส่งให้พระสงฆ์ท่านนั้น จึงจะสามารถรับไว้ได้
                คำแนะนำสุดท้ายคือ เมื่อเราขอมิสซาแล้วควรที่เราจะมาร่วมในมิสซาที่เราขอไว้ด้วยมิใช่ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของพระสงฆ์เท่านั้น หากไม่สามารถมาร่วมมิสซาได้ก็ต้องสวดภาวนาระลึกถึงตามจุดประสงค์ที่ได้ขอไปด้วย
                                                                                                                                    คุณพ่อศวง

สารวัดวันอาทิตย์ที่ 23 กันยายน 2012


สวัสดีครับพี่น้องที่รัก
            ช่วงปลายเดือนนี้ คือในวันที่ 29 กันยายน ของทุกปี เป็นวันฉลองนามชื่อของอัครเทวดาสามองค์ที่พระคัมภีร์ได้ระบุชื่อของท่านเอาไว้ ได้แก่ อัครเทวดามีคาแอล อัครเทวดาคาเบรียล และ อัครเทวดาราฟาแอล ซึ่งวันนี้พ่ออยากจะนำเรื่องราวของอัครเทวดามีคาแอลมาเล่าสู่ให้กับพี่น้องได้ฟังกัน
            มีคาแอล หรือ ไมเกิ้ล เป็นชื่อของอัครเทวดาองค์หนึ่งในสวรรค์ ที่พระเจ้าทรงสร้างขึ้น ชื่อของท่านมีความหมายว่า "ใครเล่าจะเหมือนพระเจ้า?” พระคัมภีร์ในภาคพันธสัญญาเดิมเผยให้เราทราบว่าเทวดาองค์นี้เป็น "เจ้าชายองค์ใหญ่" เป็นผู้ปกปักรักษาลูกหลานของชาวอิสราเอล (ดนล 12: 1) และ แม้ในพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาใหม่ พระศาสนจักรก็ยังถือสืบเนื่องมาว่า อัครเทวดามีคาแอลคือผู้ปกปักรักษาพระศาสนจักร (วว. 12: 7) และยังยกย่องว่าท่านเป็นเทวดาผู้คอยคุ้มครองพระอาณาจักรของพระคริสตเจ้าบนโลกนี้  เหมือนอย่างที่ท่านได้เป็นผู้นำการต่อสู้กับบรรดาอริศัตรูของพระเจ้า ด้วยเหตุผลนี้เอง เทวดามีคาแอลจึงได้รับการยกให้เป็นองค์อุปถัมภ์ของกองทัพชาวคริสต์ที่ออกไปทำสงครามกับกองทัพของชนต่างศาสนา บรรดาไพร่พลทหารชาวคริสต์จึงสวดภาวนา และ ร้องเพลงวอนขอการคุ้มครองจากท่าน เพื่อปลุกใจบรรดาทหารให้มีความกล้าหาญในการการทำสงคราม และ เมื่อได้รับชัยชนะจากการศึกสงครามกลับมา ก็ยิ่งทำให้ชื่อเสียงของท่านเทวดามีคาแอลขจรขจายแพร่หลายออกไปมากขึ้น
            การฉลองนามของท่านนั้นเริ่มต้นที่กรุงโรมตั้งแต่ในสมัยศตวรรษแรกๆ ในวันที่ 29 กันยายน โดยฉลองรวมกับบรรดาเทวดาทั้งหลายของพระเจ้า เมื่อถึงสมัยสังคายนาที่เมือง เม็นซ์ ในปีค.. 813 การฉลองนี้ก็แพร่หลายออกไปยังดินแดนต่างๆ และ ถือว่าเป็นวันหยุดสำคัญทางศาสนาอีกด้วย ส่วนในประเทศกรีกจัดวันฉลองให้กับท่านในวันที่ 8 พฤศจิกายน นอกจากนี้ ที่ประเทศฝรั่งเศสยังมีวันฉลองการประจักษ์ของเทวดามีคาแอลที่ภูเขาเทวดามีคาแอล (Mont-Saint-Michel) ในวันที่ 16 ตุลาคม ส่วนในประเทศอิตาลีก็มีวันฉลองการประจักษ์ของท่านเทวดา ที่ภูเขา การ์กาโน ในเขตเมืองอาปูลีอา ในวันที่ 8 พฤษภาคม
            ตามธรรมประเพณีของพระศาสนจักรยังเชื่อว่า ท่านไม่เพียงแต่เป็นผู้ปกป้องคุ้มครองคริสตชนบนโลกนี้เท่านั้น แต่ยังคอยปกปักรักษาบรรดาวิญญาณในไฟชำระอีกด้วย เทวดาจะคอยช่วยเหลือผู้ที่กำลังจะสิ้นใจ และ นำวิญญาณของผู้ล่วงลับไปรับการพิพากษาทีละคน จากนั้นจึงนำวิญญาณไปยังไฟชำระ และเมื่อได้รับการชำระให้บริสุทธิ์สะอาดไร้มลทินแล้ว จะนำวิญญาณไปเฝ้าพระเจ้าเพื่อเข้าสู่สวรรค์นิรันดร ดังนั้นท่านจึงเป็นองค์อุปถัมภ์ของวิญญาณศักดิ์สิทธิ์อีกด้วย  และถ้าปีศาจซาตานคือผู้ปกครองในนรก ท่านอัครเทวดามีคาแอลก็คือ ผู้รักษาระเบียบแห่งสวรรค์นั่นเอง
            และด้วยเหตุที่ว่า เทวดามีคาแอล มีหน้าที่ปกปักรักษาดวงวิญญาณที่ศักดิ์สิทธิ์ ดังนั้น วัดน้อยที่อยู่ในสุสานจึงมักใช้ชื่อของท่านเป็นองค์อุปถัมภ์ของวัด สุสานในยุโรปหลายพันแห่งจึงตั้งชื่อวัดน้อยของสุสานด้วยชื่อของท่านเทวดามีคาแอล
            นอกจากนี้ท้องถิ่นในยุโรปหลายแห่งก็มีธรรมเนียมการฉลองเกี่ยวกับเทวดามีคาแอลแตกต่างกันออกไป แสดงให้เห็นว่า นามของท่านอัครเทวดามีคาแอลได้รับการยอมรับและให้เกียรติอย่างแพร่หลายสืบเนื่องมาจนปัจจุบัน บทภาวนาเก่าแก่บทหนึ่งในพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์กล่าวเอาไว้ว่า "ข้าแต่พระเจ้า ผู้ทรงจัดสรรภารกิจให้กับหมู่เทวดาและ มวลมนุษย์ได้อย่างเป็นระบบระเบียบน่าอัศจรรย์ใจ ขอพระองค์โปรดให้เทวดาผู้ศักดิ์สิทธิ์เหล่านี้ ผู้ถวายการรับใช้พระองค์เสมอในสรวงสวรรค์ ได้โปรดปกปักรักษาเราคริสตชนทั้งหลายในโลกด้วยเถิด"
คุณพ่อสุพจน์

วันศุกร์ที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2555

สารวัดวันอาทิตย์ที่ 16 กันยายน 2012

สวัสดีครับพี่น้องที่รัก
            ในระหว่างสัปดาห์ที่ผ่านมามีวันฉลองสำคัญวันหนึ่ง คือ วันฉลองเทิดทูนไม้กางเขน ซึ่งตรงกับวันที่ 14 กันยายน พ่อเห็นว่าวันฉลองนี้มีความเป็นมาที่น่าสนใจ จึงขอนำบทความที่คุณพ่อทัศไนย์ คมกฤส เขียนอธิบายไว้มาให้พี่น้องได้อ่านประเทืองความรู้นะครับ บทความนี้จะช่วยให้เราเห็นถึงความเป็นมาของธรรมประเพณีหลายอย่างของพระศาสนจักรคาทอลิกที่เราปฏิบัติกันอยู่ในปัจจุบันนี้ หวังว่าจะช่วยให้พี่น้องได้รับความรู้เพิ่มเติมในเชิงประวัติศาสตร์ของพระศาสนจักรมากขึ้นครับ

พ่อสุพจน์

วันฉลองเทิดทูนไม้กางเขน 14 กันยายน

คุณพ่อทัศไนย์ คมกฤส

                นับตั้งแต่ศตวรรษที่ 4 มาแล้ว คริสตชนทางตะวันออกของจักรวรรดิโรมัน ทำการฉลองไม้กางเขนอย่างสง่างาม ไม่แพ้วันสมโภชปัสกา นักบุญซีริลแห่งกรุงเยรูซาเล็มกล่าวไว้เมื่อปี 348 ว่า คริสตชนที่กรุงเยรูซาเล็ม แสดงคารวะต่อพระธาตุไม้กางเขนชิ้นเล็กๆ ในโอกาสนี้ ต่อมานางเอเจรีอา สุภาพสตรีคริสตชนจากประเทศสเปน ซึ่งมาแสวงบุญที่แผ่นดินศักดิ์สิทธิ์ และบันทึกเกี่ยวกับสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ที่เธอไปเยี่ยมและพิธีกรรมในสถานที่เหล่านั้นราวปี 383 หรือ 384 บอกให้เราทราบถึงการเฉลิมฉลองยิ่งใหญ่ ในเดือนกันยายนที่กรุงเยรูซาเล็ม เพื่อถวายเกียรติแด่ไม้กางเขน เป็นการระลึกถึงการอภิเษกพระวิหารบนเนินกลโกธา ซึ่งเรียกว่า “Martyrium” (การเป็นพยาน) และพระวิหารอีกหลังหนึ่งใกล้ๆกันที่เรียกว่า “Anastasis” (การกลับคืนพระชนม์) ณ สถานที่ที่เชื่อกันว่าพระเยซูเจ้าทรงกลับคืนพระชนมชีพที่นั่น พระวิหารทั้งสองได้รับการอภิเษกในวันเดียวกันคือในวันที่ 12 หรือ 13 กันยายน ปี 335         การฉลองระลึกถึงการอภิเษกจึงกระทำในวันที่ 13 และ 14 กันยายน และยังเชื่อกันอีกด้วยว่า ได้มีการค้นพบไม้กางเขนที่ตรึงพระเยซูเจ้า ในโอกาสที่มีการขุดสถานที่เพื่อก่อสร้างพระวิหารทั้งสองนี้เอง วันที่ 14 กันยายนจึงเป็นวันสำหรับแสดงคารวะต่อไม้กางเขนโดยเฉพาะ การเฉลิมฉลองเพื่อระลึกถึงการอภิเษกพระวิหารทั้งสอง รวมทั้งการค้นพบและแสดงคารวะต่อไม้กางเขนเป็นประจำทุกปีนี้ได้ขยายตัวจากกรุงเยรูซาเล็มไปยังคริสตจักรอื่นๆด้วย และวันฉลองซึ่งแต่เดิมเรียกว่า “วันอภิเษก” พระวิหาร (Encaenia) ก็ถูกเปลี่ยนไปเรียกว่า “วันเทิดทูนไม้กางเขน” ในศตวรรษที่ 6 (อเล็กซานเดอร์แห่งเกาะไซปรัส) และชื่อนี้ยังคงใช้มาจนทุกวันนี้ และการฉลองนี้ถูกนำเข้ามาในพิธีกรรมจารีตลาตินที่กรุงโรมในศตวรรษที่ 7
            เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม ค.. 614 ชาวเปอร์เซียเข้าโจมตีกรุงเยรูซาเล็มได้ และนำเอาพระธาตุไม้กางเขนเป็นของเชลยกลับไป ต่อมาเมื่อพระจักรพรรดิเฮราคลิอุส (575-641) ยึดพระธาตุไม้กางเขนนี้กลับคืนมาได้ในปี ค.. 629 พระองค์จึงจัดให้ประดิษฐานพระธาตุไม้กางเขนนี้ไว้ในพระวิหารดังเดิม และมีการเฉลิมฉลองอย่างสง่างาม และมีการฉลองระลึกถึง “การพบไม้กางเขน”ในวันที่ 3 พฤษภาคม   ต่อมาในศตวรรษที่ 8 พระศาสนจักรในประเทศโกล (หรือฝรั่งเศสในปัจจุบัน) ก็รับวันฉลอง “การพบไม้กางเขน” นี้เข้าในปฏิทินทางพิธีกรรมของจารีตกัลลีกัน เพื่อระลึกถึงการที่พระจักรพรรดิเฮราคลิอุส ยึดไม้กางเขนคืนมาได้จากชาวเปอร์เซียด้วย และในศตวรรษต่อมาการฉลองในวันที่ 3 พฤษภาคมนี้ ก็เข้ามาในปฏิทินทางพิธีกรรมของพระศาสนจักรที่กรุงโรมด้วย การฉลองในวันที่ 3 พฤษภาคมนี้ อยู่ในปฏิทินพิธีกรรมของพระศาสนจักรกรุงโรมมาจนถึงปี ค.. 1960 เมื่อพระสันตะปาปา ยอห์นที่ 23 ทรงตัดออกไปจากปฏิทินพิธีกรรม ทั้งๆ ที่ก่อนนั้นการฉลองในวันที่ 3 พฤษภาคมมีความสำคัญมากกว่า (Duplex secundae Classis) การฉลองในวันที่ 14 กันยายน (Duplex majus) เสียด้วย
            ตามปฏิทินพิธีกรรมของพระศาสนจักรกรุงโรมหลังสภาสังคายนาวาติกันที่ 2 การฉลอง “เทิดทูนไม้กางเขน” ในวันที่ 14 กันยายน นับเป็น “วันฉลอง” ซึ่งถ้าตรงกับวันอาทิตย์ ก็ถือเป็นการสมโภชแทนพิธีกรรมของวันอาทิตย์นั้นด้วย นับเป็นการรื้อฟื้นธรรมประเพณีโบราณ ของพระศาสนจักรทางตะวันออก ที่เฉลิมฉลองชัยชนะของไม้กางเขนอย่างสง่างามดังที่กล่าวแล้ว พระศาสนจักรกรีกยังฉลอง “การประจักษ์ของไม้กางเขน” แก่นักบุญซีริลแห่งกรุงเยรูซาเล็ม ในวันที่ 7 พฤษภาคม (ปี 351) และฉลอง “การนมัสการไม้กางเขน”ในวันที่ 1 สิงหาคม และในวันอาทิตย์ที่ 3 ในเทศกาลมหาพรตอีกด้วย ส่วนคริสตชนชาวอาร์เมเนียน ก็มีวันฉลองไม้กางเขนเป็นหนึ่งในฉลองสำคัญทั้งเจ็ด ในรอบปีในฤดูใบไม้ร่วง ใกล้กับสมโภชพระนางมารีย์ได้เกียรติยกขึ้นสวรรค์ด้วยเช่นกัน
            การถวายเกียรติแก่ไม้กางเขนในวันฉลองนี้ มิได้ให้ความสำคัญพิเศษแก่วัสดุไม้ ซึ่งเป็นเครื่องมือทรมานประหารพระเยซูเจ้า เท่ากับการระลึกว่า ไม้กางเขนเป็นสัญลักษณ์แห่งความรอดพ้น ที่พระเยซูเจ้าทรงนำมาให้เรามนุษย์ โดยสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขน และกลับคืนพระชนมชีพ
            ในพิธีกรรมของพระศาสนจักรจึงมีการตั้งไม้กางเขนไว้ใกล้กับพระแท่นบูชา (หรือบนพระแท่นบูชา) เตือนให้ระลึกถึงสัญลักษณ์แห่งความรอดพ้นนี้ซึ่งมี “รูปแบบ” อยู่แล้วในการที่โมเสสตั้งรูปงูทองสัมฤทธิ์ขึ้นบนเสาหลักในถิ่นทุรกันดาร ให้เป็นเครื่องหมายแห่งความรอดตายสำหรับชาวอิสราเอล (กดว 21:9; ยน 3:14-15) นักบุญยอห์นก็กล่าวถึงสัญลักษณ์ไม้กางเขนนี้อีกเช่นกัน เมื่อกล่าวถึงพระเยซูเจ้าบนไม้กางเขนว่า  “เขาจะมองดูผู้ที่เขาได้แทง” (ศคย 12:10; ยน 19:37)
            นอกจากนั้นคริสตชนยังใช้ “เครื่องหมายกางเขน” เพื่อแสดงความเชื่อของตนมาตั้งแต่สมัยแรกๆ ทีเดียว มีหลักฐานปรากฏตั้งแต่ศตวรรษที่ 2 แล้วว่า คริสตชนมีธรรมเนียมใช้นิ้วหัวแม่มือหรือนิ้วชี้ ทำเครื่องหมายกางเขนบนหน้าผาก แสดงความเชื่อเป็นกิจศรัทธาส่วนตัว และธรรมเนียมนี้เข้ามาในพิธีกรรมตั้งแต่ศตวรรษที่ นอกจากการทำเครื่องหมายกางเขนบนหน้าผากแล้ว เรายังพบว่า มีการทำเครื่องหมายกางเขนที่หน้าอกด้วย ราวปลายศตวรรษที่ 4 นั้นเอง และในศตวรรษที่ 8 ยังมีการกล่าวถึงการทำเครื่องหมายกางเขนที่ว่านี้ที่ริมฝีปากด้วย พิธีดังกล่าวตกทอดมาถึงเรา ซึ่งทำเครื่องหมายกางเขนบนตัวเราทั้งสามแห่ง เมื่อมีการอ่านพระวรสารในมิสซา
            ในคริสตจักรทางตะวันออกตั้งแต่ศตวรรษที่ 6 เป็นต้นมา คริสตชนมักนิยมทำเครื่องหมายกางเขนดังกล่าวโดยใช้ 2 นิ้ว (นิ้วหัวแม่มือและนิ้วชี้ควบกัน) หรือ 3 นิ้ว (เพิ่มนิ้วกลางเข้าไปด้วย) เพื่อยืนยันความเชื่อถึงพระธรรมชาติพระเจ้าและมนุษย์ของพระเยซูเจ้า หรือความเชื่อถึงสามพระบุคคลในพระตรีเอกภาพ ส่วนเครื่องหมายกางเขน “อย่างใหญ่” ที่หน้าผาก หน้าอกและไหล่ทั้งสองนั้นเริ่มมีมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 5 เริ่มโดยเป็นกิจศรัทธาส่วนตัวก่อน  แล้วต่อมาจึงเป็นที่นิยมกันตามอารามนักพรต อย่างน้อยในศตวรรษที่ 10 หรืออาจจะก่อนนั้นก็ได้ ในศตวรรษที่ 13 พระสันตะปาปาอินโนเชนต์ที่ 3 ทรงแนะนำคริสตชนให้ใช้ 3 นิ้ว (นิ้วหัวแม่มือ นิ้วชี้และนิ้วกลาง) รวมกันทำเครื่องหมายกางเขนโดยแตะที่หน้าผาก หน้าอก ไหล่ขวาและซ้าย ซึ่งคริสตชนจารีตตะวันออกก็ยังปฏิบัติอยู่จนทุกวันนี้ แต่ต่อมาคริสตชนทางตะวันตก ทำเครื่องหมายกางเขนโดยเหยียดนิ้วมือติดกัน และแตะหน้าผาก หน้าอก แล้วสลับจากไหล่ซ้ายมาไหล่ขวาดังที่เราปฏิบัติกันในปัจจุบัน
            การทำเครื่องหมายกางเขนบนตัวนี้ ตามปรกติก็มีคำสวดควบคู่ไปด้วย สูตรโบราณที่สุดก็คือสูตรที่เราใช้อยู่จนทุกวันนี้ คือ “เดชะพระนามพระบิดา พระบุตรและพระจิต อาเมน”     ในคริสตจักรทางตะวันออก มีสูตรที่ใช้หลายแบบด้วยกัน แบบหนึ่งใช้ว่า “ข้าแต่พระเจ้าผู้ศักดิ์สิทธิ์ ข้าแต่พระเจ้าผู้ทรงพลัง ข้าแต่พระเจ้าผู้อมต ขอทรงพระกรุณาข้าพเจ้าทั้งหลายเถิด” (Hagios o Theos, Hagios Ischyros, Hagios Athanatos, eleison imas)
            วันฉลองเทิดทูนไม้กางเขน จึงเป็นโอกาสให้เราระลึกถึงสัญลักษณ์แห่งความรอดพ้น เพื่อขอบพระคุณพระเจ้า ที่ทรงเรียกเราให้มารับความรอดพ้นที่พระเยซูเจ้าทรงนำมาให้มนุษย์ทุกคน โดยสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขน เราจะต้องไม่กลัวหรือย่อท้อที่จะแบกไม้กางเขนในชีวิตของเรา ซึ่งได้แก่ความทุกข์ยากลำบากต่างๆ ในชีวิต เดินติดตามพระคริสตเจ้าผู้นำของเราอย่างกล้าหาญ ดังที่พระองค์ตรัสไว้ว่า “ผู้ใดต้องการเป็นศิษย์ของเรา ก็ให้เขาปฏิเสธตนเอง แบกไม้กางเขนของตนทุกวันและตามเรามา” (ลก 9:23)ถ้าเรามีส่วนร่วมทุกข์กับพระองค์ในชีวิตนี้แล้ว   เราก็จะมีส่วนร่วมชัยชนะอันรุ่งเรืองของพระองค์ในสวรรค์ด้วย (1 ปต 4:13)
            ไม้กางเขนจะไม่ใช่เครื่องหมายแห่งความทรมาน ความพ่ายแพ้และความอัปยศอีกต่อไป แต่จะเป็นเครื่องหมายแห่งชัยชนะ และความรุ่งเรืองเช่นเดียวกับชัยชนะของพระคริสตเจ้า ซึ่ง “ทรงชัยบนไม้กางเขน” (พิธีกรรมวันศุกร์ศักดิ์สิทธิ์) อย่างแท้จริง ให้เรามีความภาคภูมิใจทำเครื่องหมายกางเขนทุกครั้งอย่างศรัทธา เพื่อแสดงความเชื่อของเราเสมอเถิด
.................................................................................................................................................................

สวัสดีพี่น้องที่รัก

ในหน้าของคุณพ่อปลัดเพียงสองอาทิตย์ต่อครั้งนี้ สำหรับพ่อที่ไม่ใช่คนที่ชอบขีดเขียนอะไรแล้วก็ต้องนับว่าแต่ละบรรทัดไม่ได้มาง่ายๆ เหมือนกัน อย่างไรก็แล้วแต่ อาทิตย์นี้พ่ออยากจะให้ข้อสังเกต ข้อแนะนำบอกกล่าวกับพี่น้องไว้สักข้อ นั่นคือเรื่องการรับศีลอภัยบาป
ในช่วงนี้คุณพ่อศวงก็จะให้ความรู้กับพี่น้องในเรื่องพิธีบูชาขอบพระคุณไปเรื่อยๆ ก็เลยขอเอาข้อสังเกตจากในมิสซามาเลยก็แล้วกัน จะเห็นได้ว่าที่วัดของเรานั้น มีคนมาแก้บาปมากมายในแต่ละอาทิตย์ คนกรุงเทพฯ ยังมีความเชื่อศรัทธาและการปฏิบัติศาสนกิจที่ดีอยู่มากจริงๆ มีผู้มาขอแก้บาปกันบางอาทิตย์ก็ลากยาวไปจนถึงรับศีลมหาสนิท มีครั้งหนึ่งที่พ่อฟังแก้บาปจนพิธีบูชาขอบพระคุณจบแล้ว..... เอ! แต่ทำไมเรายังฟังแก้บาปไม่จบอีกนะ พ่อดีใจกับความศรัทธาของพี่น้องนะครับ แต่ก็อยากจะแนะนำบางอย่างต่อไปนี้ด้วย
ในพิธีบูชาขอบพระคุณนั้นมี 2 แท่นที่สำคัญ คือ พระแท่นบูชาที่ใช้ในการประกอบพิธีศีลมหาสนิท และพระแท่นพระวาจา ก็สำคัญไม่แพ้กันด้วย
ดังนั้น จึงเห็นว่าเราจะสามารถออกมารับศีลฯ หรือได้รับมิสซาอย่างครบถ้วนก็ต้องมาร่วมมิสซาในวันนั้นให้ทันภาควจนพิธีกรรม อย่างน้อยทันฟังพระวรสารและบทเทศน์ของพระสงฆ์นั่นเอง คนที่รถติด ตื่นไม่ทันหรือสารพัดข้ออ้างก็ต้องเริ่มพิจารณามากขึ้นแล้วนะครับ
แล้วเกี่ยวกับศีลอภัยบาปอย่างไร? อย่างนี้ครับ— เนื่องจากพี่น้องมาแก้บาประหว่างมิสซา และแม้แต่ตอนฟังพระวรสารซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่สุดของพิธีมิสซา หลายคนก็ยังสารภาพบาปอยู่ พ่อจึงไม่แน่ใจว่าพี่น้องจะแก้บาปไปด้วย แล้วได้ยินได้ฟังพระวรสารอย่างดีไปด้วยมั้ย? ครั้งแรกๆ ที่พ่อมาเมื่อถึงตอนอ่านพระวรสาร จึงเคยบอกว่า “ขอให้หยุดก่อนเพื่อตั้งใจรับฟังพระวรสาร” สำคัญและจำเป็นจริงๆ นะครับ ที่พี่น้องจะได้รับการหล่อเลี้ยงจากพระวาจาของพระเจ้า ไม่ใช่แค่เพียงแต่ศีลมหาสนิทเท่านั้น...
หากเป็นที่อื่นอีกหลายที่ พอถึงพระวรสารคุณพ่อก็จะหยุดบริการศีลอภัยบาปทันทีเลย วัดเราคงไม่ต้องถึงกับทำอย่างนั้น พ่อขอเสนออย่างนี้แล้วกัน เมื่อถึงตอนฟังพระวรสาร เราน่าจะหยุดก่อนเพื่อรับฟังพระวรสารอย่างตั้งใจ เสร็จแล้วจึงค่อยแก้บาปต่อไป พ่อเองก็จะบอกพี่น้องด้วย เพื่อจะปฏิบัติกันดังนี้
ข้อสังเกตอีกอย่างที่สำคัญ พิธีบูชาขอบพระคุณจะจบครบสมบูรณ์ก็ต่อเมื่อพระสงฆ์กล่าวคำอวยพร และประกาศว่า “พิธีบูชาขอบพระคุณจบแล้ว......” เห็นมีหลายคน (ซึ่งอาจจะมีธุระจริงๆ ก็ไม่ว่ากัน) ยังไม่ทันที่พระสงฆ์จะอวยพรจบพิธีเลย รับศีลฯ เสร็จก็ขึ้นรถกลับบ้านแล้ว หรือระหว่างที่คุณพ่อประกาศข่าวสาร ก็เผ่นซะแล้ว สิ่งเหล่านี้เราน่าจะนำมาคิดและไตร่ตรองให้ดีนะครับ อุตส่าห์มามิสซาวันอาทิตย์แล้ว แต่ร่วมไม่จบมิสซา ไม่ได้รับพรเสียก่อน
พิธีกรรมทำให้ศาสนามีชีวิต และทุกขั้นตอน ทุกท่าทางมีความหมายและคุณค่าที่ซ่อนอยู่และเปิดเผย ขอเราจงได้ศึกษาทำความเข้าใจมากขึ้น เพื่อร่วมพิธีกรรมอย่างมีชีวิตชีวากันนะครับ พระเจ้าอวยพร.
                                                                                    คุณพ่อปลัดองค์เล็ก

วันศุกร์ที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2555

สารวัดอาทิตย์ที่ 9 กันยายน 2012


สวัสดีครับพี่น้อง
            เดือนกันยายนนี้มีวันฉลองหลายวันที่สำคัญที่ควรกล่าวถึง วันนี้พ่ออยากกล่าวถึงวันฉลองแม่พระบังเกิด ซึ่งตรงกับวันที่ 8 กันยายน เนื่องจากพระนางมารีย์เป็นบุคคลสำคัญที่พระเจ้าทรงเลือกสรรให้ทำหน้าที่เป็นมารดาของพระผู้ไถ่ พระศาสนจักรจึงถวายเกียรติแด่พระนางมารีย์ด้วยการกำหนดวันฉลองพระนางในหลายวาระ หลายโอกาสในรอบปฏิทินปีพิธีกรรม  พิธีการถวายคารวกิจแด่พระนางมารีย์ที่พระศาสนจักรจัดถวายนั้น แม้เป็นลำดับรองลงมาจากพระเจ้า แต่ก็ดูเหมือนจะพิเศษกว่าการฉลองนักบุญต่างๆ และ วันฉลองวันเกิดของพระนางมารีย์พรหมจารีย์ ก็เป็นวันฉลองวันหนึ่งในวันฉลองทั้งหมดที่พระศาสนจักรจัดถวายแด่พระนาง
            สิ่งที่จะกล่าวต่อไปคือคำถามที่ว่า แล้ววันเกิดของแม่พระนั้นยังประโยชน์อันใดให้กับมวลมนุษยชาติแล้วทำไมเรามนุษย์จึงเฉลิมฉลองวันเกิดของพระนางอย่างพิเศษ  คำตอบคือว่า แม้พระนางมารีย์นั้นเป็นมนุษย์อยู่ในธรรมชาติ แต่พระเจ้าก็เตรียมพระนางอย่างพิเศษกว่ามนุษย์คนอื่นๆ ด้วยการให้พระนางบังเกิดมาโดยปราศจากบาปกำเนิด ทำให้ชีวิตของพระนางนั้นมีคุณค่าพิเศษกว่ามนุษย์อื่นใด พระนางเป็นประดุจดอกลิลลี่ ที่บริสุทธิ์งดงาม อย่างหาที่เปรียบมิได้ ในค่ำคืนอันมืดมิดในดินแดนเนรเทศแห่งนี้ พระนางได้รับพระพรที่พระเจ้าทรงประทานให้กับพระนางอย่างเต็มเปี่ยม พระองค์ทรงบันดาลให้พระนางประกอบไปด้วยบุคลิกภาพที่งดงาม ด้วยเหตุนี้ พระนางจึงได้รับพระพรที่ยิ่งใหญ่และมีค่าสูงสุดที่พระเจ้าประทานให้อย่างที่ไม่เคยมีมนุษย์คนใดเคยได้รับมาก่อน และเพราะพระนางได้รับสถานะพิเศษให้พ้นจากบาปกำเนิด พระนางจึงได้รับมีความพร้อมที่จะใช้เหตุใช้ผลอย่างพร้อมมูลตั้งแต่พระนางปฏิสนธิในครรภ์มารดา ความคิดของพระนางนั้นสูงส่ง และ ครรภ์ของนักบุญอันนาที่เป็นสถานที่ปฏิสนธิของพระนางมารีย์นั้นเป็นประดุจวิหารที่โอบอุ้มพระนางไว้  ณ ที่นั้นพระนางวิงวอนขอเพื่อมวลมนุษยชาติ และ ภาวนาเพื่อเราด้วยปรีชาญาณสูงสุดที่เป็นพรที่ได้รับมาจากพระเจ้า สำหรับการบังเกิดมาของพระผู้ไถ่ พระนางจึงเป็นแหล่งที่มาของพระพรนานัปการที่สามารถช่วยเหลือเรามนุษย์ทุกคนได้ ในพระคัมภีร์บันทึกเอาไว้ว่า แม้แต่เสื้อคลุมกายที่พระเยซูทรงสวมใส่ยังช่วยให้ผู้สัมผัสแตะต้องได้รับพระพรแห่งการช่วยเหลือได้ เมื่อเป็นอย่างนี้ เราสามารถจินตนาการได้ว่า พระนางมารีย์ พระมารดาของพระผู้ไถ่ จึงเป็นที่มาของพระพรนานัปการสำหรับทุกคนที่เข้ามาหาพึ่งพระนาง และด้วยเหตุผลนี้แหละที่เราสามารถกล่าวได้ว่า วันเกิดของแม่พระนั้น เป็นวันที่ พระพรมากมายมหาศาลของพระเจ้า ได้ส่องแสงมายังมนุษยชาติ และ ความชั่วก็เริ่มถดถอยออกไปจากเรามนุษย์

            ในช่วงเวลาของการบังเกิดของพระนางนั้น โลกของเราถูกปล่อยให้ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของการไม่รู้จักพระเจ้า การนับถือเทพเจ้าเป็นที่แพร่หลายโดยทั่วไป ชัยชนะของความชั่วและปีศาจแผ่ขยายอาณาบริเวณออกไปโดยทั่ว แต่ในเวลานี้เองพระเจ้า ผู้ทรงพระทัยเมตตา ได้บันดาลให้พระนางได้บังเกิดมา ซึ่งเท่ากับว่า เป็นจุดเริ่มต้นของการล่มสลายของอาณาจักรแห่งความชั่ว
            วันเกิดของพระนางมารีย์ เป็นจุดเริ่มต้นของยุคใหม่ ถัดจากยุคพันธสัญญาเดิม ประวัติศาสตร์แห่งความรอดแห่งพันธสัญญาเดิมได้รอคอยการเสด็จมาของพระผู้ไถ่มาอย่างยาวนาน ภายหลังจากที่บิดามารดาเดิมของเรามนุษย์ตกในบาป มนุษยชาติรอองค์พระผู้ไถ่มานานถึง 3000 ปี หรืออาจมากกว่านั้น แต่ในจังหวะเวลานั้น พระญาณสอดส่องของพระเจ้า บันดาลให้สตรีผู้หนึ่งได้บังเกิดมา เพื่อให้พระผู้ไถ่ได้จุติมายังโลก การบังเกิดมาของพระนางแสดงถึง การเข้ามายังโลกเยี่ยงสิ่งสร้างที่สมบูรณ์ของพระเจ้าที่เต็มเปี่ยมด้วยพระพรเฉพาะพระพักตร์พระเจ้า ที่เปี่ยมด้วยกุศลเพียงพอที่จะทำให้การรอคอยอันยาวนานนั้นสิ้นสุดลง
            คำภาวนาทั้งมวล ความทุกข์ยากทั้งสิ้น และ ความสัตย์ซื่อของผู้ชอบธรรม ทั้งที่ยังมีชีวิตอยู่ และ ผู้ที่สิ้นใจไปแล้วได้บรรลุถึงจุดสูงสุดในการบังเกิดมาของพระนางมารีย์ โดยที่ก่อนหน้านี้ ทั้งบรรดาผู้นำความเชื่อ บรรดาประกาศก และ ผู้ชอบธรรมในมวลประชากรที่เลือกสรร รวมไปถึงผู้ชอบธรรมในพงศ์พันธุ์ของชนต่างชาติได้ร่วมกันภาวนาวิงวอน แม้ต้องเผชิญกับความยากลำบาก และ ได้รอคอยมานานแสนนาน ก็ยังไม่พอเพียงที่จะส่งผลให้เวลาแห่งการไถ่บาปมวลมนุษยชาติมาถึง แต่เมื่อพระเจ้าทรงมีพระประสงค์ พระองค์บันดาลให้สิ่งสร้างที่สมบูรณ์ได้บังเกิดมาเพื่อเป็นมารดาของพระผู้ไถ่ ด้วยเหตุนี้การบังเกิดมาในโลกของพระนางจึงเป็นจุดเริ่มของช่วงเวลาแห่งการไถ่บาปมวลมนุษย์ ความสัมพันธ์ของพระเจ้ากับมนุษย์เริ่มได้รับการปรับปรุง และ ประตูสวรรค์ที่เคยปิดสนิทได้เปิดแง้มขึ้นแล้ว เพื่อให้แสงสว่างและความสดชื่นแห่งความหวังได้ฉายแสงส่องผ่านออกมา
            ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น วันฉลองวันเกิดของพระนางมารีย์ จึงเป็นวันที่เรามีความชื่นชมยินดีเป็นอย่างยิ่ง ในฐานะที่เราเป็นลูกของพระนาง ไม่ใช่ด้วยเพราะคุณงามความดีของเราเอง แต่เป็นเพราะพระนางเลือกที่จะเป็นมารดาของชาวเรา วันนี้จึงเป็นวันที่เราควรวอนขอต่อพระนางเป็นพิเศษ ผู้มีความเชื่อศรัทธาแก่กล้าในพระเจ้าหลายคนเคยได้รับนิมิตของพระนางมารีย์กล่าวว่า วันฉลองแม่พระนั้น พระนางจะเสด็จไปเยี่ยมไฟชำระ เพื่อปลดปล่อยดวงวิญญาณมากมายให้เข้าสู่สวรรค์กับพระนาง  ด้วยเหตุนี้ในทุกวันฉลองของพระนางมารีย์ พระพรของพระนางจะโอบอุ้มเราและ ช่วยอุปถัมภ์ค้ำจุนเราอย่างเหลือประมาณ
            ขอพระแม่มารีย์พระมารดาพระเจ้า ราชินีแห่งสวรรค์ ช่วยวิงวอนเพื่อเราทุกคนเสมอไปเทอญ

คุณพ่อสุพจน์
..................................................................................................................................................................

พี่น้องที่รักทุกท่าน
             สืบเนื่องต่อจากครั้งที่แล้วที่กล่าวถึงการแห่เข้าของขบวนพระสงฆ์เข้ามาในวัด เมื่อมาถึงบริเวณพระแท่น พระสงฆ์จะเข้ามาคำนับพระแท่น ตามธรรมเนียมปฏิบัติของยุโรปจะใช้วิธีการจูบพระแท่น แต่ประเทศไทยได้ดัดแปลงมาใช้วิธีการพนมมือกราบบนพระแท่นแทน เพื่อให้เข้ากับขนบธรรมเนียมประเพณีของคนไทย พระแท่นเป็นเครื่องหมายถึงองค์พระคริสตเจ้าเอง ในสมัยกลางมีความนิยมนับถือมรณสักขีและขอให้ท่านช่วยอ้อนวอนพระเจ้าแทนมากขึ้น การคารวะพระแท่นจึงผันแปรไปเป็นการคารวะพระธาตุนักบุญซึ่งบรรจุบนพระแท่นแทน โดยลืมนึกไปว่าผู้ที่เขาควรคารวะก่อนอื่นใดหมดคือพระคริสตเจ้าซึ่งมีพระแท่นเป็นเครื่องหมายแทนพระองค์ จากนั้นอาจจะมีการถวายกำยานแด่พระแท่นด้วยก็ได้ การถวายกำยาน เป็นการแสดงออกถึงความเคารพ หมายถึงคำภาวนาซึ่งลอยขึ้นไปถึงพระเบื้องบน นอกนั้นควันกำยานที่ปกคลุมบริเวณสักการสถานทำให้เกิดบรรยากาศของความศักดิ์สิทธิ์อีกด้วย
เมื่อเพลงแห่เข้าจบลงแล้ว พระสงฆ์และที่ประชุมทั้งหมดต่างทำเครื่องหมายกางเขน ครั้นแล้วพระสงฆ์กล่าวทักทายสัตบุรุษเป็นการแสดงให้เห็นว่า พระผู้เป็นเจ้าสถิตอยู่ท่ามกลางพวกเขา โดยการทักทายและการตอบรับของสัตบุรุษ แสดงให้เห็นถึงธรรมล้ำลึกของพระศาสนจักรที่ร่วมชุมนุมกัน คำทักทายว่า “พระเจ้าสถิตกับท่าน” (Dominus Vobiscum) เป็นคำทักทายของพระคริสตเจ้าดั้งเดิมและนำมาใช้ในบูชามิสซาอีกหลายหน เช่น ก่อนอ่านพระวรสาร และตอนเริ่มบทเริ่มขอบพระคุณ ประโยคทักทายนี้มาจากพระคัมภีร์ (วนฉ 6: 12; ลก 1: 28) เป็นการยืนยันว่าพระเจ้าสถิตอยู่ท่ามกลางชุมนุมที่มาประชุมกันในมิสซานั้นๆ นอกจากนี้คำทักทายของพระสงฆ์ยังมีอีก 2 แบบ คือ “ขอให้ท่านจะได้รับพระหรรษทานของพระเยซูคริสตเจ้า ความรักของพระบิดา และความสัมพันธ์กับพระจิต” และ “ขอให้ท่านจงได้รับพระหรรษทานและสันติสุขจากพระเป็นเจ้า พระบิดา และจากพระเยซูคริสตเจ้า” ซึ่งทั้งสองแบบมาจากจดหมายของนักบุญเปาโล (2คร 13: 14; รม 1: 7) และต่อจากนั้นพระสงฆ์อาจให้คำนำความสั้นๆ เกี่ยวกับมิสซา เป็นการเชิญชวนสำหรับการฉลองและการมีส่วนร่วมพิธีมิสซาในวันนั้น
จะเห็นได้ว่าสิ่งที่เป็นศูนย์กลางของวัดหรือของที่ประชุมสัตบุรุษนั้นก็คือ พระแท่นซึ่งหมายถึงพระคริสตเจ้าเอง ฉะนั้นพระคริสตเจ้าจึงเป็นศูนย์กลางสำหรับเราทุกคน เป็นศูนย์รวมจิตใจของเราคริสตชนทุกคน ดึงดูดเราทุกคนให้เข้ามาหาพระองค์ในการนมัสการพระเจ้าและการร่วมเป็นหนึ่งเดียวกันกับพี่น้องสัตบุรุษ การทักทายของพระสงฆ์ว่า “พระเจ้าสถิตกับท่าน” เป็นการย้ำถึงการประทับอยู่ของพระคริสตเจ้าท่ามกลางเราทุกคน พระเจ้ารักเราทุกคนและมาประทับอยู่ท่ามกลางเรา เรารักพระเจ้ามากเพียงใดและเราให้เวลากับพระองค์มากน้อยเพียงใด...
                                                                                                                                    คุณพ่อศวง

สารวัดอาทิตย์ที่ 2 กันยายน 2012


สวัสดีครับพี่น้องที่รัก
มีหลายครั้งที่พ่อได้รับคำถามว่า คาทอลิก กับ คริสเตียนต่างกันอย่างไร? คำถามนี้แม้จะได้ยินบ่อยๆ แต่ก็แสดงให้เห็นว่ายังมีคนอีกมากมายที่ยังสงสัย และ สับสน กับเรื่องนี้มากทีเดียว วันนี้จึงอยากกล่าวถึงเรื่องนี้สักหน่อย เพื่อให้เกิดความกระจ่างชัด ประการแรก อยากกล่าวว่า ทุกคนที่ได้รับศีลล้างบาปในนามของพระเจ้าพระบิดา พระบุตร และพระจิตนั้นได้ชื่อว่า เป็น"ชาวคริสต์" หรือ อีกนัยหนึ่งเป็น "คริสตชน" ในภาษาอังกฤษเรียกรวมๆกันโดยใช้คำว่า  “Christian”  (อ่านว่า คริสเตียน) ประการต่อมาที่อยากให้คำอธิบายเพิ่มเติมก็คือ คาทอลิก ออร์โทดอกซ์ และ โปรแตสตัน คือนิกายหลักสำคัญๆที่มีมวลสมาชิกศาสนิกรวมกันแล้วมีจำนวนมากถือเป็นส่วนใหญ่ของชาวคริสต์ทั้งหมดในโลกของเรา ประเด็นต่อมาก็คือ คาทอลิก และ ออร์โทดอกซ์ เป็นสองนิกายที่มีความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องศีลศักดิ์สิทธิ์ เรื่องบทบาทสำคัญของพระสงฆ์และ พระสังฆราช ตรงกันมากที่สุด แตกต่างกันเพียงเรื่องบทบาทของพระสันตะปาปาผู้นำพระศาสนจักร ด้วยเหตุนี้ในส่วนของออร์โทดอกซ์นั้นจึงไม่ได้ยอมรับคำสอนของทางคาทอลิกอย่างสมบูรณ์ในทุกเรื่อง  การแบ่งแยกระหว่างคาทอลิกกับออร์โทดอกซ์นั้นเกิดขึ้นในช่วงเวลาหลายศตวรรษระหว่างยุคกลาง แต่ในที่สุดในปี ค.. 1054 พระสันตะปาปากับพระอัยกาแห่งคอนแสตนติโนเปิ้ลผู้ทำหน้าที่สูงสุดของออร์โทดอกซ์ ต่างก็มีความเห็นตรงกันว่าจะต้องหยุดปัญหาที่ทำให้เกิดความแตกแยกกันเอาไว้ให้ได้  นับตั้งแต่นั้นมาคาทอลิกและออร์โทดอกซ์จึงพยายามทำคริสตศาสนจักรสัมพันธ์กันเรื่อยมา
มาถึงเรื่องความแตกต่างระหว่างคาทอลิกกับโปรแตสแตนท์นั้น มีความแตกต่างกันมากทีเดียว มีข้อน่าสังเกตอยู่อย่างหนึ่งว่า ในประเทศไทยกลับไปใช้คำเรียกกลุ่มโปรแตสแตนท์รวมๆกันไปว่า"คริสเตียน" ซึ่งไม่น่าจะถูกต้องตรงตามความหมายเดิมในภาษาอังกฤษ  ที่เรียกว่ากลุ่มโปรแตสแตนท์ ก็เพราะว่าในกลุ่มนี้สามารถแยกออกได้อีกหลากหลายกลุ่มย่อยมากมายเลยทีเดียว โดยทั่วไปแล้ว โปรแตสแตนท์ไม่เห็นด้วยกับความเชื่อที่คาทอลิกสอนหลายเรื่องทีเดียว ยกตัวอย่างเช่น คำสอนเรื่องพระเยซูประทับอยู่จริงในศีลมหาสนิท เรื่องบทบาทของพระสงฆ์ในการโปรดศีลอภัยบาป เรื่องไฟชำระ และเรื่องพระนางมารีย์และบรรดานักบุญในสวรรค์เสนอวิงวอนเพื่อมนุษย์ที่ยังมีชีวิตอยู่ในโลก  จุดเริ่มต้นของกลุ่มโปรแตสแตนท์นั้นเกิดขึ้นในศตวรรษที่ 16 โดยการนำของมาร์ติน ลูเทอร์ จอห์น คาลวิน และ กลุ่มที่ประท้วงคัดค้านอำนาจของพระศาสนจักรคาทอลิก กลุ่มคนเหล่านี้เรียกตัวเองว่า "คณะปฏิรูป" พวกเขามีความคิดว่าพระศาสนจักรคาทอลิกในยุคนั้นมีเรื่องเสื่อมเสียมากมายเกิดขึ้น พวกเขาจึงประท้วงโต้แย้งและปฏิเสธไม่ยอมรับแนวปฏิบัติหลายอย่างที่คาทอลิกสอนในเวลานั้น แต่สิ่งที่น่าเสียใจก็คือว่า พวกเขาไม่เพียงแต่โต้แย้งเฉพาะในประเด็นที่เป็นเรื่องเสื่อมเสียเท่านั้น แต่ยังปฏิเสธไม่ยอมรับความจริงสำคัญๆในคำสอนของคาทอลิกหลายเรื่อง และทำให้พระศาสนจักรต้องสูญเสียเอกภาพอีกด้วย  พ่อขอสรุปความในเรื่องนี้ว่า ประการแรก เราควรมีความยินดีที่ คริสตชนทุกคนผู้ได้รับศีลล้างบาปนั้น ยังมีความเป็นหนึ่งเดียวกันในเรื่องของการเทิดทูนพระคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ และ ความเชื่อที่ว่า พระมหาทรมาน ความตายและการกลับคืนชีพของพระเยซูเจ้านั้นช่วยให้เราได้รับความรอด ประการที่สอง เราทุกคนต่างก็เสียใจในเรื่องของความแตกแยกที่เกิดขึ้นในหมู่คริสตชน ดังนั้นในเวลานี้เราทุกคนจึงควรร่วมมือกัน เพื่อทำให้คริสตชนทุกคนได้ก้าวเข้ามายอมรับความจริงที่สมบูรณ์ขององค์พระคริสตเจ้าโดยทั่วหน้ากัน
                                                                                                                        คุณพ่อสุพจน์
..................................................................................................................................................................

การทำสิ่งที่แย่นั้นไม่ต้องละเมิดกฎหรอก เพียงแค่ปฏิบัติตามตัวอักษรก็พอ
สวัสดีครับพี่น้อง
            มูลัน นัสรูดิน เก็บแหวนเพชรได้จากข้างถนน แต่ตามกฎแล้ว ผู้ที่หาเจอหรือเก็บของได้นั้นจะเอาไว้เป็นของตนเองได้ก็ต่อเมื่อได้ประกาศหาเจ้าของในที่สาธารณะชนเสียก่อน เป็นจำนวนสามครั้งต่างโอกาสกัน นัสรูดินเองก็ไม่อยากทำผิดกฎศาสนาเองเสียด้วย แต่ก็โลภจนไม่อยากเสี่ยงให้ต้องเสียแหวนเพชรนั้นไป เขาจึงได้อาศัยช่วงค่ำคืนเมื่อมั่นใจว่าคงไม่มีใครตื่นมาได้ยิ่งเขาประกาศหาเจ้าของแหวนด้วยเสียงเบาที่สุด “ท่านทั้งหลาย ฉันพบแหวนเพชรนี้ที่ถนน ใครที่เป็นเจ้าของให้มาติดต่อรับของที่ฉันได้ทันที”
            ไม่มีใครเลยได้ยินเสียงพูดพึมพำของนัสรูดิน เว้นแต่ชายคนหนึ่งที่เผอิญยืนอยู่ที่หน้าต่างในคืนที่สาม ชายคนนั้นจึงรีบไปหานัสรูดินและถามว่าเขากำลังทำอะไรดึกๆ ดื่นๆ และได้พูดอะไรไป นัสรูดินตอบว่า “ไม่มีกฎข้อใดบอกให้ฉันต้องบอกนายสักหน่อย แต่ฉันจะบอกให้ก็แล้วกัน ฉันเป็นคนเคร่งศาสนา ฉันออกไปที่นั่นตอนกลางคืนเพื่อป่าวประกาศตามกฎบัญญัติ” เมื่อพูดเสร็จเขาก็เก็บแหวนเพชรเข้ากระเป๋าแล้วเดินจากไปทันที
            กฎเกณฑ์ จารีต ระเบียบ พิธีการ ล้วนเป็นสิ่งที่ดี แต่นั่นไม่ใช่จุดสิ้นสุด แต่เป็นเพียงวิธีการที่นำไปสู่เป้าหมายปลายทาง ดังนั้น หากสิ่งเหล่านี้ไม่ได้ทำหน้าที่ตามจุดประสงค์ของมันแล้วก็สามารถละเว้นไม่ทำได้
พระวรสารในวันนี้ พระเยซูเจ้าทรงตำหนิธรรมาจารย์และฟาริสีที่ปฏิบัติตามกฎตามตัวหนังสือมากเกินไป จนละเลยข้อบัญญัติใหญ่ คือบัญญัติแห่งรัก “จงรักพระเจ้าสุดจิตสุดใจ และรักเพื่อนมนุษย์เหมือนรักตนเอง” ดังนั้น จึงไม่ใช่เพียงแต่ธรรมจารย์และฟาริสีเท่านั้นที่ทำตัวแบบนี้ คนปัจจุบันนี้หรือแม้แต่ตัวเราเองก็เช่นกันที่อาจถือกฎระเบียบตามตัวอักษรมากเกินไป นำภาระหนักไปไว้บนบ่าคนอื่นให้ต้องปฏิบัติมากเกินไป แต่เมื่อถึงคราวตัวเองกลับขยับ ไม่ทำอะไรเลย จะทำก็เฉพาะอยู่ต่อหน้าคนอื่นเท่านั้น อย่างนี้เราเรียกว่า “หน้าไหว้ หลังหลอก”
พระวรสารตลอดทั้งอาทิตย์ที่ผ่านมาเลยก็ว่าได้ ถ้าไม่มีวันระลึกถึงนักบุญยอห์นบัปติส ถูกตัดศีรษะเข้ามาแทรกแล้ว ทั้งหมดพูดถึงท่าทีของพวกหน้าซื่อใจคดนี้ โดยที่พระองค์ใช้คำว่า “วิบัติ” กับพวกเขาที่กระทำเช่นนั้น แล้วพระองค์ก็ยกเรื่องเปรียบเทียบมาบอกกับเราให้เตรียมพร้อมรับวันเวลาของเรา เพราะเราไม่รู้ว่าจะมาถึงเมื่อไร สิ่งนี้คือการบอกว่า “ถือกฎระเบียบตามจิตตารมณ์” นั่นเอง แล้วกฎของคริสตชนเราก็คือกฎแห่งความรักและความเมตตาที่เราต้องมีต่อเพื่อนพี่น้อง และทุกคนที่เราได้พบเห็น
ขอพระเจ้าโปรดเพิ่มพลังให้กับเราทุกคนได้ยินดีที่จะรักและเมตตาต่อเพื่อนพี่น้อง เหมือนกับที่ลูกทั้งหลายต้องการความเมตตาจากพระองค์ หากว่าพระองค์ไม่ทรงเมตตาแล้ว ลูกคงไม่อาจมีความสุขแท้นิรันดรกับพระองค์ในอาณาจักรสวรรค์ได้เป็นแน่ ลูกวอนของพระองค์ดังนี้ด้วยใจสุภาพพร้อมเสมอที่จะถือบัญญัติของพระองค์ อาแมน.
                                                                                                            คุณพ่อปลัดองค์เล็ก