วันศุกร์ที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2556

สารวัดวันอาทิตย์ที่ 13 มกราคม 2013


สวัสดีครับพี่น้อง
            ตลอดอาทิตย์ที่ผ่านมา พวกเราพระสงฆ์สังกัดอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ ได้ไปใช้เวลาหลายวันในการเข้าเงียบเพื่อฟื้นฟูจิตใจประจำปี  ซึ่งจะมีระยะเวลายาวนานกว่าการเข้าเงียบประจำเดือนสักหน่อย ทั้งนี้เพื่อเป็นโอกาสให้คุณพ่อที่ทำงานตามที่ได้รับมอบหมายจากผู้ใหญ่สูงสุดของสังฆมณฑล ซึ่งได้แก่พระสังฆราช จะได้ใช้เวลามากขึ้นเป็นพิเศษพินิจพิจารณาเรื่องราวต่างๆตามที่ผู้เทศน์จะนำมากล่าวเชื้อเชิญให้เราพระสงฆ์ได้นำไปขบคิดหาข้อปฏิบัติเพื่อก้าวหน้าไปบนเส้นทางการเป็นพระสงฆ์เยี่ยงพระคริสตเจ้ามากยิ่งขึ้นในภารกิจที่คุณพ่อแต่ละองค์ได้รับมอบหมาย  การเข้าเงียบคราวนี้พวกเราพระสงฆ์มีโอกาสได้ฟังคำเทศน์ของคุณพ่อไพบูลย์ อุดมเดช พระสงฆ์สังกัดคณะพระมหาไถ่ ซึ่งท่านก็เป็นเจ้าอาวาสวัดมหาไถ่อีกด้วย พ่อถือโอกาสนี้นำข้อคิดที่ได้จากบทเทศน์ในวันอังคารที่ 8 มกราคม มาแบ่งปันกับพี่น้องครับ มีประเด็นหนึ่งที่พ่อคิดว่าน่าจะนำมาตีความเพิ่มเติมจากประเด็นที่คุณพ่อผู้เทศน์ได้นำมาแบ่งปันกับเราคือเรื่อง รางหญ้า คำๆนี้มีความหมายอย่างไรบ้าง คำว่ารางหญ้าสำหรับเรามีความหมายมากกว่าความหมายตามรากศัพท์ เพราะรางหญ้าในที่นี้ ไม่ใช่เป็นแต่เพียง รางหรือ ภาชนะที่ใช้บรรจุหญ้าที่เป็นอาหารของสัตว์เลี้ยงเท่านั้น  รางหญ้าในที่นี้คือ สถานที่ที่ได้รับเกียรติให้วางองค์พระกุมารเยซูที่พึ่งจะบังเกิดจากท้องของแม่คือพระนางมารีย์ การมาบังเกิดในรางหญ้า เป็นการบังเกิดที่เรียบง่าย ยากจน เป็นสัญลักษณ์ของการไม่ยึดติดกับข้าวของฝ่ายโลกใดๆ ไม่ว่าจะเป็นเกียรติยศ คำสรรเสริญเยินยอ ทรัพย์สมบัติต่างๆ ซึ่งในใจความนี้จะช่วยให้แนวทางแห่งการดำเนินชีวิตที่เหมาะสมยิ่งขึ้นในการดำรงชีวิตสำหรับผู้ที่อุทิศตนเพื่อพระอาณาจักรของพระเจ้า ไม่ว่าจะเป็นในฐานะพระสงฆ์ นักบวช หรือแม้แต่ฆราวาสเอง ใช่ไหมครับ
            การฉลองคริสต์มาสผ่านไปอย่างรวดเร็ว พ่อมีความรู้สึกว่าไม่อยากให้พระกุมารโตเลย เพราะเวลาที่เราเห็นพระกุมารนอนอยู่ในรางหญ้า ช่างเป็นภาพที่สวยงามน่าประทับใจ อาจเป็นเพราะว่าภาพของเด็กทารกคือความบริสุทธิ์ผุดผ่อง น่ารักน่าประทับใจ แต่นั่นก็สะท้อนให้เราเห็นว่า ในความเป็นจริงแล้วเด็กคือผ้าขาวที่พร้อมจะน้อมรับการหล่อหลอมหรือการวาดภาพที่งดงามไว้ในจิตใจของเด็กๆทุกคน เพื่อเขาจะมีรากฐานที่สวยงามของชีวิตที่พร้อมจะเรียนรู้ของเขา และเติบโตอย่างมีคุณค่า ความจริงประการนี้จึงเป็นสิ่งที่เราไม่ควรมองข้าม เราต้องไม่ละเลยในการจัดสภาพแวดล้อมต่างๆที่ดีที่เหมาะสมให้กับเด็กๆทุกคน เพื่อเขาจะได้เจริญเติบโตอย่างมีคุณค่า และถ้าเป็นไปได้ให้เขาทุกคนเติบโตขึ้นเป็นเยี่ยง "พระกุมารเยซูที่เจริญวัยแข็งแรงขึ้นทรงพระปรีชาญาณอย่างสมบูรณ์ และ พระหรรษทานของพระเจ้าสถิตอยู่กับพระองค์"(ลก.2:40)

พ่อสุพจน์
...............................................................................................................................................................

สวัสดีครับพี่น้องที่รักทุกท่าน
                วันนี้พระศาสนจักรทำการฉลองพระเยซูเจ้าทรงรับพิธีล้างจากท่านยอห์นที่แม่น้ำจอร์แดน ก่อนที่พระองค์จะทรงเริ่มปฏิบัติพันธกิจของพระองค์ คำว่า Baptism (ศีลล้างบาป) มาจากภาษากรีก แปลว่า การอาบน้ำ หรือชำระตัวให้สะอาด รูปแบบของพิธีกรรมที่ใช้น้ำเป็นสัญลักษณ์อันชัดเจนของการชะล้างคราบไคลของพฤติกรรมผิดๆ ในอดีตออกไป เมื่อเราต้องการเข้าสู่สถานะใหม่ของชีวิต ยอห์น บัปติสต์ เรียกร้องให้ประชาชนสำนึกผิดในวิถีชีวิตบาปของตน และแสดงเจตจำนงว่าต้องการเปลี่ยนวิถีชีวิตด้วยการเข้ารับพิธีล้างด้วยน้ำจากแม่น้ำจอร์แดน
            น้ำเป็นสัญลักษณ์ที่มีหลายความหมาย เราใช้น้ำล้างสิ่งสกปรกและเป็นสัญลักษณ์ของการชำระล้างความผิดให้หมดไป น้ำเป็นพลังแห่งความตาย แต่เป็นพลังแห่งชีวิตด้วย น้ำในอุทกภัยนำความหายนะและความตาย แต่ในแง่ของพลังแห่งชีวิตไม่มีสิ่งมีชีวิตรูปแบบใดที่รอดชีวิตอยู่ได้โดยปราศจากน้ำได้
            พิธีล้างด้วยน้ำของยอห์น กระตุ้นให้เกิดความคิดเรื่องพระแมสสิยาห์ในหมู่ประชาชน แต่ยอห์นรีบบอกให้ประชาชนคอยผู้ที่จะตามหลังเขามา ผู้ที่จะทำพิธีล้างมิใช่ด้วยน้ำเท่านั้น แต่ด้วยพระจิตเจ้าและไฟแห่งชีวิตพระเจ้า
            ในน้ำแห่งศีลล้างบาป เราเข้าสู่ความตายของพระเยซูเจ้าเพื่อชำระล้างบาปกำเนิด และบาปต่างๆ ที่เราทำก่อนรับศีลล้างบาป นักบุญเปาโลมองว่าการจุ่มตัวในน้ำแห่งศีลล้างบาป คือการเข้าสู่คูหาฝังศพพร้อมกับองค์พระผู้เป็นเจ้า จากนั้น เมื่อเราขึ้นจากน้ำและสวมใส่เสื้อผ้าสีขาวนั่นหมายความว่าเราได้มีส่วนร่วมในชีวิตของพระคริสตเจ้าผู้ทรงกลับคืนชีพ และก้าวออกมาจากคูหาฝังศพ คำว่า “คริสตชน” อาจเคยใช้เป็นฉายาที่เรียกกันเล่นๆ แต่ชื่อนี้กลับกลายเป็นชื่อที่ถูกต้องแล้วสำหรับบุคคลที่บัดนี้ได้มีส่วนร่วมในชีวิตของพระเยซูคริสตเจ้า และเป็นส่วนหนึ่งในพระวรกายที่มีชีวิตของพระองค์ในโลกนี้
            วันฉลองการรับพิธีล้างของพระเยซูเจ้าเป็นโอกาสให้เราคริสตชนได้เฉลิมฉลองที่เราได้มีส่วนร่วมในชีวิตของพระเจ้า อาศัยการรับศีลล้างบาปของเรา ขอให้เราได้ยินเหมือนที่พระบิดาตรัสกับพระเยซูเจ้าเมื่อพระองค์ทรงรับพิธีล้างแล้วว่า “ลูกคือบุตรสุดที่รักของเรา จงยินดีในพระคุณต่างๆ ที่เรามอบให้แก่ลูกเถิด”
(อ้างอิงจาก พระวาจากับชีวิต ปี C เล่ม 1)
                                                                                                            คุณพ่อศวง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น