วันเสาร์ที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2555

สารวัดวันอาทิตย์ที่ 17 มิถุนายน 2012



พิธีกรรมคืออะไร?
สวัสดีครับพี่น้อง
            เช้าวันอาทิตย์อีกแล้ว เราลุกขึ้นจากเตียง แต่งตัว ปลุกลูกๆให้ตื่น รวบรวมทุกคนขึ้นรถ แล้วเดินทางไปยังวัด เราพากันไปนั่งที่นั่งที่เราคุ้นเคย คุกเข่าลงสวดภาวนาสั้นๆ แล้วก็ยืนขึ้น เพราะถึงเวลาเริ่มพิธีพอดี เราทำแบบนี้จนเป็นกิจวัตร แต่ถามว่า พิธีกรรมเก่าแก่นี้คืออะไร? เรากำลังเข้าสู่พระธรรมล้ำลึกอะไรกัน!
พิธีกรรมเป็นการถวายคารวะกิจของพระศาสนจักร พิธีกรรมที่สำคัญที่สุดก็คือ พิธีบูชาขอบพระคุณ หรือ ที่เราเรียกกันมาแต่ดั้งเดิมว่า มิสซา นั่นเอง แต่เรายังมีพิธีกรรมอื่นๆอีก เช่น พิธีปลงศพ พิธีอวยพร และ พิธีศีลศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ คำว่า พิธีกรรม มีรากศัพท์มาจาก ภาษากรีกว่า “leitourgia” หมายความว่า “ผลงานของประชาชน” ผลงานนี้แท้ที่จริงแล้วเป็นงานของพระเจ้า แล้วพระองค์ทรงเชิญเราทุกคนให้มีส่วนร่วมในงานดังกล่าว
พิธีกรรมนั้น โดยธรรมชาติของมันแล้วเป็นการปฏิสัมพันธ์กัน หมายความว่า เราเข้าสู่ความสัมพันธ์กับพระตรีเอกภาพ และ กับกันและกัน นอกจากนี้ เรายังเข้ามีความสัมพันธ์กับคนอื่นๆทั่วโลก ที่มาอยู่รอบพระแท่นของพระวาจาของพระเยซู และศีลมหาสนิทของพระองค์ ดังนั้น การมารวมตัวกันนี้ จึงไม่ใช่การรวมผู้คน ให้มาสวดภาวนาในสถานที่แห่งเดียวกัน แต่เป็นประชาคมของสัตบุรุษ ผู้แสดงออกถึงความเชื่อในพระคริสตเจ้า ให้กับกันและกัน และนี่คือธรรมชาติที่แท้จริงของพระศาสนจักรและนี่คือพระธรรมล้ำลึกของพระเยซูคริสต์ ซึ่งเป็นเนื้อหาหลักของพิธีกรรมทุกอย่าง พระธรรมล้ำลึกแห่งปัสกาของพระองค์ หมายถึง ชีวิต การรับทนทรมาน ความตาย และ การกลับคืนพระชนม์ชีพของพระองค์พระเยซู และ การมีส่วนร่วมของเราในพระธรรมล้ำลึกนี้ อาจเป็นไปได้ว่าในส่วนที่สองนี้เราเข้าใจน้อยที่สุด นั่นคือ คำที่ว่า “โดยอาศัยการสิ้นพระชนม์ของพระองค์ พระองค์ทรงทำลายความตายของเราให้พินาศไป และโดยอาศัยการกลับคืนชีพของพระองค์ พระองค์ทรงทำให้เรากลับมีชีวิตใหม่” ด้วยเหตุนี้พิธีกรรมทุกอย่างจึงเป็นงานแห่งการไถ่กู้ที่ค่อยๆเป็นไปสำหรับเรา เราเพียงแต่ปฏิบัติตามคำสั่งที่ว่า “จงทำสิ่งนี้เพื่อระลึกถึงเรา” แต่เราต้องไม่ลืมว่าพระเยซูได้ทำอะไรเพื่อเรา เพราะพระองค์คือที่มาของพิธีกรรมทุกอย่าง และการระลึกถึงหรือจำได้นั้นทำให้ทุกสิ่งเป็นปัจจุบันอยู่เสมอ และเพื่อให้ผลงานที่ยิ่งใหญ่นี้บรรลุความสำเร็จได้ (งานแห่งการไถ่กู้ที่ค่อยเป็นไปสำหรับเรา) พระคริสตเจ้าจึงปรากฏอยู่ในพระศาสนจักรเสมอ โดยเฉพาะในการเฉลิมฉลองพิธีกรรมต่างๆ พระคริสตเจ้าประทับอยู่ไม่เพียงในศาสนบริกรของพระองค์ แต่ในศีลมหาสนิท พระองค์ ประทับอยู่ในศีลศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ และ ในพระวาจาของพระองค์ เพราะเป็นพระคริสตเจ้าเองผู้ตรัสกับเรา โดยทางพระวาจาที่เราอ่านในพิธีกรรม พระคริสตเจ้าจึงทรงประทับอยู่กับเราในการมาร่วมชุมนุมของเรา เพราะพระองค์ตรัสว่า “ที่ใดก็ตามที่มีสองหรือสามคนมารวมตัวกันในนามของเรา เราประทับอยู่ท่ามกลางเขา”
ดังนั้นเมื่อเรามาร่วมชุมนุมกัน เราจึงประกอบด้วย พระเยซู ฉัน และ เธอ เราถวายคำภาวนาแด่พระเจ้าพระบิดา พระองค์ผู้ทรงเป็นแหล่งที่มาของพิธีกรรมทั้งมวล เราต่างรับรู้ถึงสิ่งที่พระองค์ได้กระทำเพื่อเรา เราจึงขอบคุณพระองค์และถวายคำสรรเสริญพระองค์ เราจึงได้รับการดลใจโดยพระพรขององค์พระจิตเจ้า และ เราแสวงหาความโปรดปรานจากพระเจ้าโดยทางองค์พระบุตรของพระองค์คือพระเยซูคริสตเจ้า เราจึงภาวนาด้วยถ้อยคำที่แสดงออกถึงความเชื่อของเรา คำภาวนาเหล่านี้ได้รับการตกแต่งมาอย่างพิถีพิถันคำภาวนานี้ประกอบด้วยถ้อยคำที่เป็นธรรมประเพณีที่สืบเนื่องกันมาแต่โบราณกาล และ ถ้อยคำที่เสริมเข้ามาใหม่ เราจะไม่ภาวนาในสิ่งที่เราไม่เชื่อ และสิ่งที่เราไม่เชื่อนั้นเราก็จะไม่เอ่ยในคำภาวนา ในคำภาวนาของเรานั้นประกอบไปด้วยมิติต่างๆ เราคิดถึงอดีตกาล ปัจจุบันกาล และ อนาคต เรากล่าวถึงสิ่งที่ผ่านมาแล้ว และสิ่งที่เรากำลังรอคอย เรายังระลึกถึงสิ่งที่พระเจ้าได้ทรงกระทำเพื่อเรา ด้วยการรับรู้ถึงสิ่งที่พระองค์ยังคงกระทำเพื่อเราเสมอในปัจจุบัน และ เราคาดหมายถึงสิ่งที่เราจะได้รับในพระอาณาจักรสวรรค์ พิธีกรรมยังมีการแสดงออกด้วยอากัปกิริยาอื่นๆอีกด้วย นั่นคือการแสดงออกด้วยสัญลักษณ์ เครื่องหมาย ท่วงท่า ในความเงียบ และ ในบทเพลง ในสถาปัตยกรรม และ ศิลปะ สิ่งต่างๆเหล่านี้ช่วยให้เราแสดงออกถึงความเชื่อที่เรามีร่วมกัน
ดังนั้นเราทุกคนจึงได้รับคำเชิญให้มาร่วมพิธีกรรมนี้ โดยองค์พระเจ้าเอง และโดยอาศัยพิธีกรรมเราจึงสามารถพบปะกับพระองค์โดยวิธีพิเศษ และได้รับการบันดาลให้ศักดิ์สิทธิ์ด้วยพระพรของพระองค์ เราได้รับการหล่อเลี้ยงด้วยพระวาจาและศีลศักดิ์สิทธิ์ โดยทางศาสนบริกร และ โดยทางกันและกัน เมื่อจบพิธี เราก็จากกันจนกว่าเราจะกลับมาพบกันใหม่ในอาทิตย์หน้า หรือในโอกาสต่อๆไป หรืออาจเป็นไปได้ว่าในสวรรค์ เราได้รับการกล่าวลาว่า ท่านจงไปในสันติสุข เพื่อรักและรับใช้พระเจ้า หน้าที่ของเราก็คือกลับไปและประกาศข่าวดีของพระเจ้า

                                                                                                                                    พ่อสุพจน์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น