วันอาทิตย์ที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

สารวัดวันอาทิตย์ที่ 15 กุมภาพันธ์ 2015

พิจารณาไตร่ตรองประเด็นเด่นจากสาส์นมหาพรต ปี 2015/2558
ของ สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิส
“จงทำจิตใจให้เข้มแข็งเถิด” (ยก 5:8)
โดย คุณพ่อเฉลิม กิจมงคล

            เทศกาลมหาพรตเป็นเวลาฟื้นฟูชีวิตสำหรับพระศาสนจักรทั้งหมด สำหรับแต่ละชุมชน และสำหรับทุกบุคคล ข้อความเริ่มต้นของสาส์นปีนี้ทำให้คริสตชนทุกคน ตระหนักถึงความสำคัญที่จะต้องหันกลับมาพิจารณาตนเอง ในฐานะเป็นบุคคลหนึ่งที่มีความสัมพันธ์กับชุมชนที่ตนสังกัดอยู่ อีกทั้งยังมีความเป็นคาทอลิกที่มีสายใยกับสมาชิกของพระศาสนจักรทั่วโลก มิติความเป็นสากลนี่เอง ต้องทำให้คริสตชนรู้สึกอบอุ่นและเป็นหนึ่งเดียวกับสมาชิกทั่วโลกอีกประมาณกว่า 1000 ล้านคน
                มหาพรตเป็นช่วงเวลาเฉพาะซึ่งมีระยะเวลา 40 วัน ที่ชวนให้ระลึกถึงประวัติศาสตร์แห่งความรอด ซึ่งระบุว่าโมเสสและเอลียาห์ได้พบปะกับพระเป็นเจ้าบนภูเขาเป็นเวลา 40 วัน ชาวอิสราแอลประชากรของพระเจ้า ใช้เวลารอนแรมอยู่ในที่เปลี่ยวถึง 40 ปี และที่สำคัญคือ เป็นโอกาสให้เราเป็นหนึ่งเดียวกับพระคริสตเจ้า ผู้ที่เคยทรงจำศีลอดอาหาร 40 วันในที่เปลี่ยว อย่างไรก็ตาม เราต้องข้ามผ่านด้านช่วงเวลาไปสู่จิตตารมณ์มหาพรต ซึ่งเป็นเวลาฟื้นฟูชีวิต คำนึงถึงช่วงการเดินทางของชีวิตฝ่ายจิต ซึ่งในเทศกาลมหาพรตนี้ พระศาสนจักรเชิญชวนให้ไตร่ตรองกิจศรัทธา 3 เส้า คือ การสวดภาวนา การให้ทาน และการอดอาหาร อันเป็นเครื่องมือที่ทรงคุณค่าในการพิจารณาไตร่ตรองชีวิต ที่จะช่วยให้มีส่วนร่วมในการสิ้นพระชนม์และการกลับคืนพระชนมชีพในวันฉลองปัสกาปีนี้ อีกทั้งเป็นการเตรียมตัวไปสู่การฉลองปัสกานิรันดรกับพระคริสตเจ้าผู้ทรงชัยด้วย
                มหาพรตยังเป็นช่วง “เวลาแห่งพระหรรษทาน”(2คร 6:2)ซึ่งมีความสำคัญยิ่ง เพราะในสภาพสังคมปัจจุบัน เรามนุษย์มักลืมไปว่า สิ่งต่างๆที่เรามีหรือเป็นอยู่ในขณะนี้ ล้วนแต่เป็นสิ่งที่ได้รับมาจากพระเจ้าทั้งสิ้น ยิ่งมนุษย์มีความสามารถในการผลิตสิ่งต่างๆ ที่เป็นนวตกรรมใหม่ๆขึ้นมา ยิ่งทำให้มนุษย์หลงตนเองคิดว่าตนเองยิ่งใหญ่ จนกระทั่งลืมพระเจ้าไป อันที่จริง พระเป็นเจ้าทรงอยู่ใกล้ชิดเรา หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ เราแต่ละคนมีที่ในดวงพระหฤทัยของพระองค์ พระองค์ทรงรู้จักชื่อเรา รู้จักความเป็นบุคคลที่พระองค์ทรงสร้างเรามาแบบไม่ซ้ำกัน พระองค์ทรงใส่พระทัยเรา ทุกครั้งที่เราหลงทางหรือทอดทิ้งพระองค์ไป พระองค์ทรงเป็นผู้เริ่มต้นก่อน เปิดโอกาสให้เราได้กลับมาหาพระองค์ ในพระวัติศาสตร์แห่งความรอด เราค้นพบว่าแทนที่มนุษย์จะกลับใจ แต่เป็นพระเป็นเจ้าต่างหากที่เปลี่ยนพระทัย
                ประสบการณ์ของมนุษย์ประการหนึ่งที่เราคุ้นชินคือ เมื่อเรามีสุขภาพดีและกินอยู่สบาย เรามักลืมคนอื่น เราไม่ใส่ใจว่าใครมีปัญหาอะไร ใจเราเย็นชาต่อความทุกข์หรือความอยุติธรรมที่คนอื่นได้รับ ยิ่งเราไม่เจ็บไข้ได้ป่วยและสะดวกสบาย เรายิ่งไม่คิดถึงคนที่ด้อยกว่าเราที่อยู่ชายขอบของสังคม ในสาส์นมหาพรตปีนี้ พระสันตะปาปาฟรังซิสทรงห่วงใย และเกรงว่าคริสตชนจะติดเชื้อโรคโลกาภิวัตน์แห่งความเย็นชา เพิกเฉย ด้วยว่าในขณะนี้ ความไม่ใส่ใจใยดี การไม่รู้ร้อนรู้หนาวต่อความเป็นไปในชีวิตของผู้อื่น การไม่อนาทรร้อนใจในความทุกข์ของผู้อื่น กำลังแพร่หลายไปทั่วโลก ค่านิยมด้านลบนี้กำลังเกี่ยวโยงและมีผลกระทบต่อชีวิต ซึ่งก่อให้เกิดทัศนคติที่เห็นแก่ตัวไปทั่วทั้งโลก อันที่จริง เราตระหนักดีว่าพระเจ้าทรงรักโลกจนกระทั่งประทานพระบุตรของพระองค์ ซึ่ง “แม้ว่าพระองค์ทรงมีธรรมชาติพระเจ้า พระองค์ก็มิได้ทรงถือว่า ศักดิ์ศรีเสมอพระเจ้านั้นเป็นสมบัติที่จะต้องหวงแหน แต่ทรงสละพระองค์จนหมดสิ้น ทรงรับสภาพดุจทาส เป็นมนุษย์ดุจเรา ทรงแสดงพระองค์ในธรรมชาติมนุษย์ ทรงถ่อมพระองค์จนถึงกับยอมรับความตาย เป็นความตายบนไม้กางเขน”(ฟป2:6-8) สุดยอดแห่งความรักของพระองค์ คือการสิ้นพระชนม์และการกลับคืนพระชนมชีพ ซึ่งเป็นการเปิดประตูระหว่างพระเจ้าและมนุษย์ และระหว่างสวรรค์และนรก ปัจจุบันนี้พระศาสนจักรก็ทำให้การเปิดประตูดังกล่าวนี้เป็นปัจจุบัน ด้วยการประกาศพระวาจาให้ทราบถึงประวัติศาสตร์แห่งความรอด ที่พระเจ้าทรงกระทำต่อมนุษย์เสมอมา ด้วยการโปรดศีลศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ โดยเฉพาะศีลมหาสนิทเพื่อมวลมนุษย์จะได้สัมผัสผลแห่งการไถ่กู้หรือการเปิดประตูช่วยให้รอดพ้น อีกทั้งด้วยการดำเนินชีวิตเชิงประจักษ์ ทำให้ความเชื่อนั้นสัมผัสได้ อาศัยกิจกรรมแห่งความรักต่างๆ(เทียบ กท5:6)
                ด้วยเหตุดังกล่าวข้างต้นนี้ คริสตชนทุกคนจะต้องทำการฟื้นฟูจิตใจอย่างเข้มข้นในเทศกาลมหาพรต เพราะจิตใจเป็นกลไกสำคัญที่จะบันดาลให้เกิดการกระทำต่างๆ จิตใจของแต่ละคนต้องได้รับการชำระให้หลุดพ้นจากเชื้อโรคที่ไม่ใยดีต่อผู้อื่น ที่ทำให้มัวแต่สาละวนอยู่แต่เรื่องของตนเองอย่างเดียว พระสันตะปาปาทรงเสนอกระบวนการไตร่ตรอง เพื่อการฟื้นฟูจิตวิญญาณดังนี้
                1.มิติด้านพระศาสนจักร พระองค์ทรงย้ำเตือนว่า “ถ้าอวัยวะหนึ่งเป็นทุกข์ อวัยวะอื่นๆทุกส่วนก็ร่วมเป็นทุกข์ด้วย”(1คร12:26) มหาพรตจึงเป็นช่วงเวลาที่เราจะต้องเปิดโอกาสให้พระคริสตเจ้าสวมใส่ชีวิตเรา ด้วยความรัก ความดีงามและความเมตตาของพระองค์ ซึ่งจะเข้าไปชำระล้างและทำลายการคิดถึงและสนใจแต่เรื่องส่วนตัวจนกระทั่งไม่ใยดีต่อผู้อื่น พระองค์ให้ข้อคิดจากพิธีล้างเท้าในคืนวันพฤหัสบดีศักดิ์สิทธิ์ว่า “ถ้านักบุญเปโตรไม่ต้องการให้พระองค์ทรงล้างเท้าก็เท่ากับว่า เปโตรก็จะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับพระองค์”(ยน13:8) โดยเฉพาะในภารกิจแห่งการรับใช้ผู้อื่น เทศกาลมหาพรตจึงเป็นช่วงเวลาที่ต้องอนุญาตให้พระคริสตเจ้าทรงล้างเท้าและทรงให้บริการเรา โดยผ่านทางการรับฟังพระวาจาและรับศีลศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ โดยเฉพาะศีลมหาสนิท ซึ่งเป็นพระกายของพระคริสตเจ้า และเมื่อเราอยู่ในร่างกายของพระองค์แล้ว หัวใจเราก็จะไม่มีที่ให้แก่การไม่ใส่ใจใยดีต่อผู้อื่น ทุกข์และสุขของเพื่อนพี่น้องที่อยู่ในพระรหัสกายเดียวกันกับพระคริสตเจ้า ก็จะกลายเป็นทุกข์และสุขของเราแต่ละคนด้วย
                พระศาสนจักรคือความสัมพันธ์เป็นหนึ่งเดียวของผู้ศักดิ์สิทธิ์ และของเรื่องที่ศักดิ์สิทธิ์ต่างๆเช่น ความรักของพระเจ้า ที่พระคริสตเจ้านำมาเปิดเผยแก่เรา รวมถึงพระพรนานาประการ ดังนั้น ผู้ที่ได้รับความรักและพระพรต่างๆเหล่านั้น ต้องไม่เก็บไว้กับตนหรือทำตนเป็นเจ้าของและยึดเป็นของตน แต่ต้องแบ่งปันแก่ผู้ที่อยู่ห่างไกลหรือผู้ที่พระพรของพระเจ้าไปไม่ถึง ต้องสำนึกว่าความรักและพระพรที่รับเหล่านั้น พระเจ้าทรงมีพระประสงค์ให้เรานำไปทำให้แผนการแห่งความรอดของพระองค์สำเร็จไป
                2.มิติด้านวัดและชุมชน พระองค์ทรงเชิญชวนให้ไตร่ตรองประโยคจากพระคัมภีร์ที่ว่า “น้องชายของเจ้าอยู่ที่ไหน”(ปฐก4:9) โดยตั้งประเด็นให้เราถามตนเองว่า เราแต่ละคนที่เป็นส่วนหนึ่งในพระรหัสกายของพระคริสตเจ้า มีความสำนึกไหมว่าเราเป็นส่วนหนึ่งในร่างกายนี้ ถ้าสำนึกและเชื่อจริงแล้ว เราคิดไหมว่าสิ่งที่ได้รับมานั้น มาจากพระเจ้าผู้ที่ประสงค์ให้เราแบ่งปันแก่ผู้อื่น เราทำตนเช่นเศรษฐีที่อยู่สุขสบายส่วนตัว โดยไม่ใยดีต่อลาซารัสที่อยู่หน้าประตูชีวิตของเราแต่ละวันหรือไม่(ลก16:19-31) ในสังคมปัจจุบัน ผู้ที่มีชีวิตเช่นลาซารัสมีจำนวนมากมาย ทั้งอ่อนแอ ยากจนและแทบไม่มีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ และที่ทำให้เราต้องคิดหนักคือ ขนาดสุนัขยังเห็นศักดิ์ศรีของลาซารัสและเลียแผลให้ แต่เศรษฐีไม่ได้เหลียวแลเลย เศรษฐีคนนั้นไม่ได้รับการเอ่ยชื่อในเนื้อเรื่องซึ่งน่าจะเป็นใครก็ได้ อาจเป็นเราก็ได้ใช่หรือไม่ และยิ่งน่าสะพรึงกลัวมากขึ้น หากเราเป็นเช่นกาอินที่ฆ่าน้องชายแล้วยังทำเป็นไม่รู้จักและไม่ใยดี ขนาดพระเจ้าทรงถามเขาว่า “น้องชายของเจ้าอยู่ไหน”(ปฐก.4:9) เขายังกล้าตอบเลยว่า “ข้าพเจ้าไม่ทราบ ข้าพเจ้าเป็นผู้ดูแลน้องหรือ”(ปฐก4:9) เพื่อช่วยให้เรามีสำนึกที่จะใช้สิ่งที่พระเจ้าประทานให้บังเกิดผลอย่างสมบูรณ์ พระสันตะปาปาทรงเสนอแนะวิธี 2 ประการ

ประการแรก ให้เราเป็นหนึ่งเดียวกับพระศาสนจักรในสวรรค์ อาศัยการภาวนา เพราะในขณะที่ร่วมเป็นหนึ่งเดียวกับบรรดาผู้ศักดิ์สิทธิ์ที่พบความบริบูรณ์ในพระเจ้า เราก็ร่วมในความสนิทสัมพันธ์กับผู้ที่ใช้ความรักเอาชนะความไม่สนใจใยดี อันที่จริง พระศาสนจักรในสวรรค์ยังไม่ได้มีชัยชนะอย่างสิ้นเชิง ถ้าหากท่านเหล่านั้นมีความสุขกับการได้แยกตัวเองออกไป และหันหลังให้กับความทุกข์ทรมานที่ยังคงมีอยู่ในโลกนี้  แต่ทว่าบรรดาผู้ศักดิ์สิทธิ์เหล่านั้น ยังคงเป็นเพื่อนร่วมทางกับเราบนเส้นทางแห่งการจาริกบนโลกนี้ จนกระทั่งชัยชนะแห่งความรักจะซึมซับไปทั่วทุกสัดส่วนของโลกทั้งหมด นักบุญเทเรซาแห่งพระกุมารเยซูจึงได้ตั้งปณิธานว่า “ข้าพเจ้ามั่นใจอย่างเต็มที่ว่า ข้าพเจ้าจะไม่อยู่นิ่งเฉยในสวรรค์ ความปรารถนาของข้าพเจ้าคือ ทำงานต่อไปเพื่อพระศาสนจักรและเพื่อวิญญาณ” (จดหมายฉบับที่ 254 เขียนวันที่ 14 กรกฎาคม 1897)
                พระพรและความยินดีของบรรดาผู้ศักดิ์สิทธิ์ในขณะนี้เป็นความชื่นชมยินดีในชัยชนะของพระคริสตเจ้าผู้กลับคืนชีพ ท่านเหล่านั้นจะส่งพระพรและพลังดังกล่าว เพื่อช่วยให้เราได้พยายามดิ้นรน ต่อสู้ และเอาชนะการรู้สึกไม่ใส่ใจใยดีและดวงใจที่แข็งกร้าวทั้งหลาย
                ประการที่สอง เราต้องสร้างสำนึกว่า เราทุกคนที่เป็นสมาชิกของพระศาสนจักรมีธรรมชาติเป็นธรรมทูต ทุกคนและทุกชุมชนคริสตชนต้องตระหนักว่า เราถูกส่งให้ออกไปสู่สังคมที่กว้างขึ้น โดยเฉพาะบรรดาผู้ยากจน พันธกิจด้านธรรมทูตนี้จะต้องปรากฏออกมาในชีวิตเชิงประจักษ์ที่เพียรทน ความรักที่แท้จริงต้องเป็นพลวัตรไม่อยู่นิ่งเฉย แต่จะเป็นพลังที่ส่งไปถึงมนุษย์ทุกคน เราต้องตระหนักและมั่นใจว่า พระคริสตเจ้าทรงสิ้นพระชนม์และเสด็จกลับคืนพระชนมชีพเพื่อมวลมนุษย์ทั้งสิ้น เรายังต้องเตือนสติบุคคลอื่นให้มีความสำนึกแบบเดียวกันกับเรา แต่เราจำเป็นต้องมีชีวิตเชิงประจักษ์ก่อน ความสำนึกอีกประการหนึ่งคือ ทุกสิ่งทุกอย่างบนโลกนี้ที่พระเจ้าทรงสร้างมาให้ทุกคน ทุกคนจึงมีสิทธิเป็นเจ้าของ กล่าวคือเป็นของทุกคน บุคคลที่มีมากกว่าผู้อื่นและมีมากเกินความจำเป็น ผู้นั้นต้องมีสำนึกว่าสิ่งเหล่านั้น เป็นของผู้อื่นที่กำลังขาดแคลนสิ่งที่จำเป็น แต่พระเจ้าทรงฝากไว้ที่เขา เขาจึงต้องนำไปคืนแก่เพื่อนพี่น้องที่ขัดสน การทำบุญให้ทานแก่ผู้ที่ขาดสิ่งจำเป็น จึงมิใช่เรื่องอะไรใหญ่โต เป็นเพียงแต่นำสิ่งที่ควรเป็นของเขา ไปคืนให้แก่เขาเท่านั้น
                พระสันตะปาปายังทรงเชิญเราคริสตชน ให้ทำตนเป็นหมู่เกาะแห่งความเมตตากรุณา ท่ามกลางมหาสมุทรแห่งการไม่ใส่ใจใยดีต่อกัน ให้เราตอบสนองพระองค์ ด้วยการสร้างหมู่คนที่มีชีวิตเช่นพระคริสตเจ้า ผู้ที่พระสันตะปาปาพระองค์นี้ทรงสะท้อนภาพในชีวิตของพระองค์ และให้เราเกาะเกี่ยวกันให้แน่น เป็นพลังที่จะทำให้พระวรสารกลายเป็นความชื่นชมยินดีของผู้ที่อยู่ชายขอบสังคม
                3. มิติด้านปัจเจกบุคคล พระองค์ทรงเชิญชวนให้ไตร่ตรองประเด็นของสาส์นมหาพรตปีนี้ว่า “จงทำจิตใจให้เข้มแข็งเถิด” (ยก 5:8) เพราะเรามักถูกทำให้รู้สึกว่า มีความทุกข์ทรมานของผู้คนจำนวนมากมายจนทำให้เรารู้สึกสิ้นหวัง และไม่สามารถช่วยเหลือได้หมด
                ประการแรก เราต้องไม่ลดคุณค่าและอำนาจของการภาวนา เพราะการภาวนาทำให้ความเป็นหนึ่งเดียวของพระศาสนจักรในสวรรค์และในโลกเกิดพลัง ด้วยเหตุนี้ พระองค์จึงทรงเชิญชวนให้พระศาสนจักรใช้เวลา 24 ชั่วโมงเพื่อพระคริสตเจ้า ระหว่างวันที่ 13-14 มีนาคมนี้
                ประการที่สอง เราต้องเริ่มแสดงความห่วงใยด้วยกิจการแห่งความรักที่แม้เล็กน้อย แต่สามารถจับต้องได้ อีกทั้งยังสามารถช่วยเหลือผู้ที่อยู่ห่างไกล ผ่านองค์กรการกุศลมากมายของพระศาสนจักร
                ประการที่สาม เราต้องกลับใจและเปลี่ยนแปลงชีวิตเพราะความทุกข์และความขัดสนของผู้อื่นต้องทำให้นึกถึงความไม่แน่นอนของชีวิต เราไม่อาจวางใจในวัตถุสิ่งของ แต่ต้องมอบความไว้ใจในพระเจ้า และในบางกรณีเราอาจต้องพึ่งพาเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน หากเราถ่อมตนวิงวอนขอพระหรรษทานจากพระเจ้าและยอมรับข้อจำกัดของเรา เราจะไว้ใจในความสามารถที่ไร้ขอบเขตซึ่งพระเจ้าจะประทานให้เรา เราสามารถต่อต้านกับการผจญของปีศาจที่ทำให้เราคิดว่า เราสามารถช่วยโลกและตัวเองให้รอดพ้นด้วยความพยายามของเรา
                พระสันตะปาปาเชิญชวนเราให้ดำเนินชีวิตตามคำแนะนำของพระสันตะปาปา เบเนดิกต์ที่ 16 ว่าด้วยเรื่องความแตกต่างในกิจเมตตาธรรมของพระศาสนจักร ตามพระสมณสาส์น “พระเจ้าคือองค์ความรัก” ข้อที่ 31 ด้วยว่าหัวใจที่มีเมตตามิใช่ที่อ่อนแอ ใครก็ตามที่ปรารถนาจะเป็นผู้เมตตา จะต้องมีหัวใจที่เข้มแข็งและมั่นคง และต้องไม่ลืมว่า หัวใจที่ยากจนนั้นจะตระหนักถึงความยากจนของตนเอง และจะมอบตนเองให้แก่ผู้อื่นด้วยใจอิสระ
                ระหว่างมหาพรตปีนี้ ขอให้เราสวดเร้าวิงวอนพระคริสตเจ้า โปรดบันดาลให้ใจของเราละม้ายคล้ายคลึงกับดวงพระหฤทัยของพระองค์ เพื่อจิตใจของเราจะได้เข้มแข็ง เมตตา ใจกว้างไม่ปิด ไม่เป็นเหยื่อและไม่ใยดีต่อโลกาภิวัตน์ที่ไม่ใยดีต่อผู้อื่น

                พระสันตะปาปาสัญญาจะภาวนาเพื่อให้เทศกาลมหาพรตปีนี้ เกิดประโยชน์ฝ่ายจิตแก่ทุกคน ทุกชุมชน และทั่วพระศาสนจักรผู้มีความเชื่อ และดังเช่นทุกครั้งที่จะจบการปราศรัย พระองค์ขอให้เราภาวนาเพื่อพระองค์ด้วย
............................................................................................................
พี่น้องที่รัก
ท่านอยากหายเป็นปกติหรือเปล่า? เป็นคำถามที่พระเยซูทรงถามเราทุกคนในวันนี้ที่เรามานมัสการพระองค์ทุกวันอาทิตย์ระหว่างช่วงเวลาเทศกาลที่เต็มไปด้วยความปีติในเยรูซาเล็ม พระผู้ช่วยให้รอดทรงละจากฝูงชนออกเสาะหาผู้ที่ขัดสนที่สุด พระองค์พบพวกเขาที่เบธไซดา สระน้ำที่มีศาลาห้าหลังที่ริมประตูแกะซึ่งเป็นที่รู้กันว่าเป็นที่รวมของคนทุกข์ยากจำนวนมากพระกิตติคุณของนักบุญยอห์นสอนเราว่าใกล้สระน้ำนั้น มีคนป่วยจำนวนมาก มีทั้งคนตาบอด คนง่อย และคนเป็นอัมพาตนอนอยู่ คอยน้ำกระเพื่อมเพราะมีทูตสวรรค์องค์หนึ่งของพระเจ้าลงมากวนน้ำในสระเป็นครั้งคราว และเมื่อน้ำกระเพื่อมอยู่ ใครก้าวลงไปในน้ำก่อนก็จะหายจากโรคร้ายที่เขาเป็นอยู่นั้น” (ยอห์น 5:34)
การมาเยือนของพระผู้ช่วยให้รอดถูกพรรณนาไว้อย่างสวยงามในภาพวาดของคาร์ล บล็อค ชื่อภาพว่า พระคริสต์ทรงรักษาคนป่วยที่เบธไซดา บล็อควาดภาพพระเยซูกำลังยกกันสาดชั่วคราวขึ้นเพื่อมองเห็น คนป่วยคนนั้น” (ยอห์น 5:7) ผู้นอนอยู่ใกล้สระและรอคอย คำว่า คนป่วย ในที่นี้หมายถึงคนที่หมดกำลังและเน้นให้เห็นถึงพระเมตตาและพระกรุณาธิคุณของพระผู้ช่วยให้รอด ผู้เสด็จมาอย่างเงียบๆ เพื่อปฏิบัติศาสนกิจแก่คนที่ไม่สามารถช่วยตนเองได้ในภาพวาดนี้ ชายผู้ทุกข์ยากนอนในร่มเงาบนพื้น เหน็ดเหนื่อยสิ้นหวังจากการทนทุกข์ในความเจ็บป่วยเป็นเวลาถึง 38 ปี
ขณะที่พระผู้ช่วยให้รอดยกผ้าคลุมขึ้นมือหนึ่ง พระองค์กวักมือเรียกอีกข้างหนึ่ง และถามตรงๆ ว่า ท่านอยากจะหายเป็นปกติหรือเปล่า?”สำหรับชายคนนี้แล้วดูเหมือนว่าเป็นการท้าทายที่เป็นไปไม่ได้ แต่พระเยซูทรงตอบอย่างลึกซึ้งและเหนือความคาดหมายว่าลุกขึ้นเถิด จงยกแคร่ของท่านเดินไป ทันใดนั้นเขาก็หายเป็นปกติและยกแคร่ของเขาเดินไป” (ยอห์น 5:89)
มีอีกครั้งหนึ่งเกี่ยวกับความอ่อนโยนนี้ ลูกาบอกเราว่าพระผู้ช่วยให้รอดขณะที่เดินทางไปยังเยรูซาเล็ม ทรงพบคนโรคเรื้อน 10 คน เพราะการเจ็บป่วยของเขา พวกเขา ยืนอยู่แต่ไกล” (ลูกา 17:12) พวกเขาถูกขับไล่ ไม่สะอาดและไม่เป็นที่ต้องการพวกเขาร้องขึ้น เยซู นายเจ้าข้า โปรดเมตตาเราเถิด” (ลูกา 17:13) ถ้าจะพูดอีกนัยหนึ่งก็คือ มีอะไร ที่พระองค์จะช่วยพวกเราบ้างได้ไหม?”แพทย์ผู้ยิ่งใหญ่พระองค์นี้ เต็มไปด้วยสงสาร และยังรู้ว่าศรัทธาจะทำให้เกิดปาฏิหาริย์ ดังนั้นพระองค์จึงบอกพวกเขาว่า จงไปสำแดงตัวต่อพวกปุโรหิตเถิด” (ลูกา 17:14)
เมื่อเขาจากไปโดยศรัทธา ปาฏิหาริย์จึงเกิดขึ้น พวกท่านจินตนาการได้ไหมถึงปีติที่เปี่ยมล้นในแต่ละย่างก้าว เมื่อเขาได้รับพยานในช่วงเวลานั้นจริงๆ เมื่อร่างกายถูกชำระให้สะอาด การรักษาให้หาย และได้รับการฟื้นฟูต่อหน้าต่อตา?“คนหนึ่งในพวกนั้นเมื่อเห็นว่าตัวเองหายโรคแล้ว จึงกลับมาสรรเสริญพระเจ้าด้วยเสียงดังและกราบลงที่พระบาท [ของพระอาจารย์] ขอบพระคุณพระองค์ แล้ว พระเยซูตรัสกับคนนั้นว่า จงลุกขึ้นและไปเถิด ความเชื่อของท่านทำให้ท่านหายปกติแล้ว” (ลูกา 17:1516, 19)
ท่านจำได้ไหมเมื่อท่านศรัทธาและความปีติของท่านก็ล้นปรี่ ท่านจำพระได้ในขณะที่ท่านพบประจักษ์พยานด้วยตัวของท่านเอง เมื่อพระผู้เป็นเจ้ายืนยันกับท่านว่าท่านเป็นบุตรหรือธิดาของพระองค์และพระองค์ทรงรักท่านมากท่านก็รู้สึกว่าหายเป็นปกติ หากช่วงเวลานั้นหายไป ท่านจะหาพบได้อีกเป็นพระองค์ที่เป็นพระผู้ช่วยให้รอดทรงแนะนำเราว่าทำอย่างไรจึงหายเป็นปกติ สมบูรณ์ หรือรักษาหาย 
จงกลับมาติดตามเรา” (ลูกา 18: 22) เชื้อเชิญให้เราทิ้งชีวิตเก่าและความปรารถนาฝ่ายโลกไว้เบื้องหลังและมาเป็นคนใหม่ผู้ซึ่ง สิ่งสารพัดที่เก่าๆ ก็ล่วงไป และ นี่แน่ะกลายเป็นสิ่งใหม่ทั้งนั้น” (2 โครินธ์ 5:17) แม้ด้วยหัวใจดวงใหม่ที่ซื่อสัตย์ และเราจะหายเป็นปกติ
คพ.พงษ์เกษม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น