วันศุกร์ที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2555

สารวัดวันอาทิตย์ที่ 16 กันยายน 2012

สวัสดีครับพี่น้องที่รัก
            ในระหว่างสัปดาห์ที่ผ่านมามีวันฉลองสำคัญวันหนึ่ง คือ วันฉลองเทิดทูนไม้กางเขน ซึ่งตรงกับวันที่ 14 กันยายน พ่อเห็นว่าวันฉลองนี้มีความเป็นมาที่น่าสนใจ จึงขอนำบทความที่คุณพ่อทัศไนย์ คมกฤส เขียนอธิบายไว้มาให้พี่น้องได้อ่านประเทืองความรู้นะครับ บทความนี้จะช่วยให้เราเห็นถึงความเป็นมาของธรรมประเพณีหลายอย่างของพระศาสนจักรคาทอลิกที่เราปฏิบัติกันอยู่ในปัจจุบันนี้ หวังว่าจะช่วยให้พี่น้องได้รับความรู้เพิ่มเติมในเชิงประวัติศาสตร์ของพระศาสนจักรมากขึ้นครับ

พ่อสุพจน์

วันฉลองเทิดทูนไม้กางเขน 14 กันยายน

คุณพ่อทัศไนย์ คมกฤส

                นับตั้งแต่ศตวรรษที่ 4 มาแล้ว คริสตชนทางตะวันออกของจักรวรรดิโรมัน ทำการฉลองไม้กางเขนอย่างสง่างาม ไม่แพ้วันสมโภชปัสกา นักบุญซีริลแห่งกรุงเยรูซาเล็มกล่าวไว้เมื่อปี 348 ว่า คริสตชนที่กรุงเยรูซาเล็ม แสดงคารวะต่อพระธาตุไม้กางเขนชิ้นเล็กๆ ในโอกาสนี้ ต่อมานางเอเจรีอา สุภาพสตรีคริสตชนจากประเทศสเปน ซึ่งมาแสวงบุญที่แผ่นดินศักดิ์สิทธิ์ และบันทึกเกี่ยวกับสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ที่เธอไปเยี่ยมและพิธีกรรมในสถานที่เหล่านั้นราวปี 383 หรือ 384 บอกให้เราทราบถึงการเฉลิมฉลองยิ่งใหญ่ ในเดือนกันยายนที่กรุงเยรูซาเล็ม เพื่อถวายเกียรติแด่ไม้กางเขน เป็นการระลึกถึงการอภิเษกพระวิหารบนเนินกลโกธา ซึ่งเรียกว่า “Martyrium” (การเป็นพยาน) และพระวิหารอีกหลังหนึ่งใกล้ๆกันที่เรียกว่า “Anastasis” (การกลับคืนพระชนม์) ณ สถานที่ที่เชื่อกันว่าพระเยซูเจ้าทรงกลับคืนพระชนมชีพที่นั่น พระวิหารทั้งสองได้รับการอภิเษกในวันเดียวกันคือในวันที่ 12 หรือ 13 กันยายน ปี 335         การฉลองระลึกถึงการอภิเษกจึงกระทำในวันที่ 13 และ 14 กันยายน และยังเชื่อกันอีกด้วยว่า ได้มีการค้นพบไม้กางเขนที่ตรึงพระเยซูเจ้า ในโอกาสที่มีการขุดสถานที่เพื่อก่อสร้างพระวิหารทั้งสองนี้เอง วันที่ 14 กันยายนจึงเป็นวันสำหรับแสดงคารวะต่อไม้กางเขนโดยเฉพาะ การเฉลิมฉลองเพื่อระลึกถึงการอภิเษกพระวิหารทั้งสอง รวมทั้งการค้นพบและแสดงคารวะต่อไม้กางเขนเป็นประจำทุกปีนี้ได้ขยายตัวจากกรุงเยรูซาเล็มไปยังคริสตจักรอื่นๆด้วย และวันฉลองซึ่งแต่เดิมเรียกว่า “วันอภิเษก” พระวิหาร (Encaenia) ก็ถูกเปลี่ยนไปเรียกว่า “วันเทิดทูนไม้กางเขน” ในศตวรรษที่ 6 (อเล็กซานเดอร์แห่งเกาะไซปรัส) และชื่อนี้ยังคงใช้มาจนทุกวันนี้ และการฉลองนี้ถูกนำเข้ามาในพิธีกรรมจารีตลาตินที่กรุงโรมในศตวรรษที่ 7
            เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม ค.. 614 ชาวเปอร์เซียเข้าโจมตีกรุงเยรูซาเล็มได้ และนำเอาพระธาตุไม้กางเขนเป็นของเชลยกลับไป ต่อมาเมื่อพระจักรพรรดิเฮราคลิอุส (575-641) ยึดพระธาตุไม้กางเขนนี้กลับคืนมาได้ในปี ค.. 629 พระองค์จึงจัดให้ประดิษฐานพระธาตุไม้กางเขนนี้ไว้ในพระวิหารดังเดิม และมีการเฉลิมฉลองอย่างสง่างาม และมีการฉลองระลึกถึง “การพบไม้กางเขน”ในวันที่ 3 พฤษภาคม   ต่อมาในศตวรรษที่ 8 พระศาสนจักรในประเทศโกล (หรือฝรั่งเศสในปัจจุบัน) ก็รับวันฉลอง “การพบไม้กางเขน” นี้เข้าในปฏิทินทางพิธีกรรมของจารีตกัลลีกัน เพื่อระลึกถึงการที่พระจักรพรรดิเฮราคลิอุส ยึดไม้กางเขนคืนมาได้จากชาวเปอร์เซียด้วย และในศตวรรษต่อมาการฉลองในวันที่ 3 พฤษภาคมนี้ ก็เข้ามาในปฏิทินทางพิธีกรรมของพระศาสนจักรที่กรุงโรมด้วย การฉลองในวันที่ 3 พฤษภาคมนี้ อยู่ในปฏิทินพิธีกรรมของพระศาสนจักรกรุงโรมมาจนถึงปี ค.. 1960 เมื่อพระสันตะปาปา ยอห์นที่ 23 ทรงตัดออกไปจากปฏิทินพิธีกรรม ทั้งๆ ที่ก่อนนั้นการฉลองในวันที่ 3 พฤษภาคมมีความสำคัญมากกว่า (Duplex secundae Classis) การฉลองในวันที่ 14 กันยายน (Duplex majus) เสียด้วย
            ตามปฏิทินพิธีกรรมของพระศาสนจักรกรุงโรมหลังสภาสังคายนาวาติกันที่ 2 การฉลอง “เทิดทูนไม้กางเขน” ในวันที่ 14 กันยายน นับเป็น “วันฉลอง” ซึ่งถ้าตรงกับวันอาทิตย์ ก็ถือเป็นการสมโภชแทนพิธีกรรมของวันอาทิตย์นั้นด้วย นับเป็นการรื้อฟื้นธรรมประเพณีโบราณ ของพระศาสนจักรทางตะวันออก ที่เฉลิมฉลองชัยชนะของไม้กางเขนอย่างสง่างามดังที่กล่าวแล้ว พระศาสนจักรกรีกยังฉลอง “การประจักษ์ของไม้กางเขน” แก่นักบุญซีริลแห่งกรุงเยรูซาเล็ม ในวันที่ 7 พฤษภาคม (ปี 351) และฉลอง “การนมัสการไม้กางเขน”ในวันที่ 1 สิงหาคม และในวันอาทิตย์ที่ 3 ในเทศกาลมหาพรตอีกด้วย ส่วนคริสตชนชาวอาร์เมเนียน ก็มีวันฉลองไม้กางเขนเป็นหนึ่งในฉลองสำคัญทั้งเจ็ด ในรอบปีในฤดูใบไม้ร่วง ใกล้กับสมโภชพระนางมารีย์ได้เกียรติยกขึ้นสวรรค์ด้วยเช่นกัน
            การถวายเกียรติแก่ไม้กางเขนในวันฉลองนี้ มิได้ให้ความสำคัญพิเศษแก่วัสดุไม้ ซึ่งเป็นเครื่องมือทรมานประหารพระเยซูเจ้า เท่ากับการระลึกว่า ไม้กางเขนเป็นสัญลักษณ์แห่งความรอดพ้น ที่พระเยซูเจ้าทรงนำมาให้เรามนุษย์ โดยสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขน และกลับคืนพระชนมชีพ
            ในพิธีกรรมของพระศาสนจักรจึงมีการตั้งไม้กางเขนไว้ใกล้กับพระแท่นบูชา (หรือบนพระแท่นบูชา) เตือนให้ระลึกถึงสัญลักษณ์แห่งความรอดพ้นนี้ซึ่งมี “รูปแบบ” อยู่แล้วในการที่โมเสสตั้งรูปงูทองสัมฤทธิ์ขึ้นบนเสาหลักในถิ่นทุรกันดาร ให้เป็นเครื่องหมายแห่งความรอดตายสำหรับชาวอิสราเอล (กดว 21:9; ยน 3:14-15) นักบุญยอห์นก็กล่าวถึงสัญลักษณ์ไม้กางเขนนี้อีกเช่นกัน เมื่อกล่าวถึงพระเยซูเจ้าบนไม้กางเขนว่า  “เขาจะมองดูผู้ที่เขาได้แทง” (ศคย 12:10; ยน 19:37)
            นอกจากนั้นคริสตชนยังใช้ “เครื่องหมายกางเขน” เพื่อแสดงความเชื่อของตนมาตั้งแต่สมัยแรกๆ ทีเดียว มีหลักฐานปรากฏตั้งแต่ศตวรรษที่ 2 แล้วว่า คริสตชนมีธรรมเนียมใช้นิ้วหัวแม่มือหรือนิ้วชี้ ทำเครื่องหมายกางเขนบนหน้าผาก แสดงความเชื่อเป็นกิจศรัทธาส่วนตัว และธรรมเนียมนี้เข้ามาในพิธีกรรมตั้งแต่ศตวรรษที่ นอกจากการทำเครื่องหมายกางเขนบนหน้าผากแล้ว เรายังพบว่า มีการทำเครื่องหมายกางเขนที่หน้าอกด้วย ราวปลายศตวรรษที่ 4 นั้นเอง และในศตวรรษที่ 8 ยังมีการกล่าวถึงการทำเครื่องหมายกางเขนที่ว่านี้ที่ริมฝีปากด้วย พิธีดังกล่าวตกทอดมาถึงเรา ซึ่งทำเครื่องหมายกางเขนบนตัวเราทั้งสามแห่ง เมื่อมีการอ่านพระวรสารในมิสซา
            ในคริสตจักรทางตะวันออกตั้งแต่ศตวรรษที่ 6 เป็นต้นมา คริสตชนมักนิยมทำเครื่องหมายกางเขนดังกล่าวโดยใช้ 2 นิ้ว (นิ้วหัวแม่มือและนิ้วชี้ควบกัน) หรือ 3 นิ้ว (เพิ่มนิ้วกลางเข้าไปด้วย) เพื่อยืนยันความเชื่อถึงพระธรรมชาติพระเจ้าและมนุษย์ของพระเยซูเจ้า หรือความเชื่อถึงสามพระบุคคลในพระตรีเอกภาพ ส่วนเครื่องหมายกางเขน “อย่างใหญ่” ที่หน้าผาก หน้าอกและไหล่ทั้งสองนั้นเริ่มมีมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 5 เริ่มโดยเป็นกิจศรัทธาส่วนตัวก่อน  แล้วต่อมาจึงเป็นที่นิยมกันตามอารามนักพรต อย่างน้อยในศตวรรษที่ 10 หรืออาจจะก่อนนั้นก็ได้ ในศตวรรษที่ 13 พระสันตะปาปาอินโนเชนต์ที่ 3 ทรงแนะนำคริสตชนให้ใช้ 3 นิ้ว (นิ้วหัวแม่มือ นิ้วชี้และนิ้วกลาง) รวมกันทำเครื่องหมายกางเขนโดยแตะที่หน้าผาก หน้าอก ไหล่ขวาและซ้าย ซึ่งคริสตชนจารีตตะวันออกก็ยังปฏิบัติอยู่จนทุกวันนี้ แต่ต่อมาคริสตชนทางตะวันตก ทำเครื่องหมายกางเขนโดยเหยียดนิ้วมือติดกัน และแตะหน้าผาก หน้าอก แล้วสลับจากไหล่ซ้ายมาไหล่ขวาดังที่เราปฏิบัติกันในปัจจุบัน
            การทำเครื่องหมายกางเขนบนตัวนี้ ตามปรกติก็มีคำสวดควบคู่ไปด้วย สูตรโบราณที่สุดก็คือสูตรที่เราใช้อยู่จนทุกวันนี้ คือ “เดชะพระนามพระบิดา พระบุตรและพระจิต อาเมน”     ในคริสตจักรทางตะวันออก มีสูตรที่ใช้หลายแบบด้วยกัน แบบหนึ่งใช้ว่า “ข้าแต่พระเจ้าผู้ศักดิ์สิทธิ์ ข้าแต่พระเจ้าผู้ทรงพลัง ข้าแต่พระเจ้าผู้อมต ขอทรงพระกรุณาข้าพเจ้าทั้งหลายเถิด” (Hagios o Theos, Hagios Ischyros, Hagios Athanatos, eleison imas)
            วันฉลองเทิดทูนไม้กางเขน จึงเป็นโอกาสให้เราระลึกถึงสัญลักษณ์แห่งความรอดพ้น เพื่อขอบพระคุณพระเจ้า ที่ทรงเรียกเราให้มารับความรอดพ้นที่พระเยซูเจ้าทรงนำมาให้มนุษย์ทุกคน โดยสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขน เราจะต้องไม่กลัวหรือย่อท้อที่จะแบกไม้กางเขนในชีวิตของเรา ซึ่งได้แก่ความทุกข์ยากลำบากต่างๆ ในชีวิต เดินติดตามพระคริสตเจ้าผู้นำของเราอย่างกล้าหาญ ดังที่พระองค์ตรัสไว้ว่า “ผู้ใดต้องการเป็นศิษย์ของเรา ก็ให้เขาปฏิเสธตนเอง แบกไม้กางเขนของตนทุกวันและตามเรามา” (ลก 9:23)ถ้าเรามีส่วนร่วมทุกข์กับพระองค์ในชีวิตนี้แล้ว   เราก็จะมีส่วนร่วมชัยชนะอันรุ่งเรืองของพระองค์ในสวรรค์ด้วย (1 ปต 4:13)
            ไม้กางเขนจะไม่ใช่เครื่องหมายแห่งความทรมาน ความพ่ายแพ้และความอัปยศอีกต่อไป แต่จะเป็นเครื่องหมายแห่งชัยชนะ และความรุ่งเรืองเช่นเดียวกับชัยชนะของพระคริสตเจ้า ซึ่ง “ทรงชัยบนไม้กางเขน” (พิธีกรรมวันศุกร์ศักดิ์สิทธิ์) อย่างแท้จริง ให้เรามีความภาคภูมิใจทำเครื่องหมายกางเขนทุกครั้งอย่างศรัทธา เพื่อแสดงความเชื่อของเราเสมอเถิด
.................................................................................................................................................................

สวัสดีพี่น้องที่รัก

ในหน้าของคุณพ่อปลัดเพียงสองอาทิตย์ต่อครั้งนี้ สำหรับพ่อที่ไม่ใช่คนที่ชอบขีดเขียนอะไรแล้วก็ต้องนับว่าแต่ละบรรทัดไม่ได้มาง่ายๆ เหมือนกัน อย่างไรก็แล้วแต่ อาทิตย์นี้พ่ออยากจะให้ข้อสังเกต ข้อแนะนำบอกกล่าวกับพี่น้องไว้สักข้อ นั่นคือเรื่องการรับศีลอภัยบาป
ในช่วงนี้คุณพ่อศวงก็จะให้ความรู้กับพี่น้องในเรื่องพิธีบูชาขอบพระคุณไปเรื่อยๆ ก็เลยขอเอาข้อสังเกตจากในมิสซามาเลยก็แล้วกัน จะเห็นได้ว่าที่วัดของเรานั้น มีคนมาแก้บาปมากมายในแต่ละอาทิตย์ คนกรุงเทพฯ ยังมีความเชื่อศรัทธาและการปฏิบัติศาสนกิจที่ดีอยู่มากจริงๆ มีผู้มาขอแก้บาปกันบางอาทิตย์ก็ลากยาวไปจนถึงรับศีลมหาสนิท มีครั้งหนึ่งที่พ่อฟังแก้บาปจนพิธีบูชาขอบพระคุณจบแล้ว..... เอ! แต่ทำไมเรายังฟังแก้บาปไม่จบอีกนะ พ่อดีใจกับความศรัทธาของพี่น้องนะครับ แต่ก็อยากจะแนะนำบางอย่างต่อไปนี้ด้วย
ในพิธีบูชาขอบพระคุณนั้นมี 2 แท่นที่สำคัญ คือ พระแท่นบูชาที่ใช้ในการประกอบพิธีศีลมหาสนิท และพระแท่นพระวาจา ก็สำคัญไม่แพ้กันด้วย
ดังนั้น จึงเห็นว่าเราจะสามารถออกมารับศีลฯ หรือได้รับมิสซาอย่างครบถ้วนก็ต้องมาร่วมมิสซาในวันนั้นให้ทันภาควจนพิธีกรรม อย่างน้อยทันฟังพระวรสารและบทเทศน์ของพระสงฆ์นั่นเอง คนที่รถติด ตื่นไม่ทันหรือสารพัดข้ออ้างก็ต้องเริ่มพิจารณามากขึ้นแล้วนะครับ
แล้วเกี่ยวกับศีลอภัยบาปอย่างไร? อย่างนี้ครับ— เนื่องจากพี่น้องมาแก้บาประหว่างมิสซา และแม้แต่ตอนฟังพระวรสารซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่สุดของพิธีมิสซา หลายคนก็ยังสารภาพบาปอยู่ พ่อจึงไม่แน่ใจว่าพี่น้องจะแก้บาปไปด้วย แล้วได้ยินได้ฟังพระวรสารอย่างดีไปด้วยมั้ย? ครั้งแรกๆ ที่พ่อมาเมื่อถึงตอนอ่านพระวรสาร จึงเคยบอกว่า “ขอให้หยุดก่อนเพื่อตั้งใจรับฟังพระวรสาร” สำคัญและจำเป็นจริงๆ นะครับ ที่พี่น้องจะได้รับการหล่อเลี้ยงจากพระวาจาของพระเจ้า ไม่ใช่แค่เพียงแต่ศีลมหาสนิทเท่านั้น...
หากเป็นที่อื่นอีกหลายที่ พอถึงพระวรสารคุณพ่อก็จะหยุดบริการศีลอภัยบาปทันทีเลย วัดเราคงไม่ต้องถึงกับทำอย่างนั้น พ่อขอเสนออย่างนี้แล้วกัน เมื่อถึงตอนฟังพระวรสาร เราน่าจะหยุดก่อนเพื่อรับฟังพระวรสารอย่างตั้งใจ เสร็จแล้วจึงค่อยแก้บาปต่อไป พ่อเองก็จะบอกพี่น้องด้วย เพื่อจะปฏิบัติกันดังนี้
ข้อสังเกตอีกอย่างที่สำคัญ พิธีบูชาขอบพระคุณจะจบครบสมบูรณ์ก็ต่อเมื่อพระสงฆ์กล่าวคำอวยพร และประกาศว่า “พิธีบูชาขอบพระคุณจบแล้ว......” เห็นมีหลายคน (ซึ่งอาจจะมีธุระจริงๆ ก็ไม่ว่ากัน) ยังไม่ทันที่พระสงฆ์จะอวยพรจบพิธีเลย รับศีลฯ เสร็จก็ขึ้นรถกลับบ้านแล้ว หรือระหว่างที่คุณพ่อประกาศข่าวสาร ก็เผ่นซะแล้ว สิ่งเหล่านี้เราน่าจะนำมาคิดและไตร่ตรองให้ดีนะครับ อุตส่าห์มามิสซาวันอาทิตย์แล้ว แต่ร่วมไม่จบมิสซา ไม่ได้รับพรเสียก่อน
พิธีกรรมทำให้ศาสนามีชีวิต และทุกขั้นตอน ทุกท่าทางมีความหมายและคุณค่าที่ซ่อนอยู่และเปิดเผย ขอเราจงได้ศึกษาทำความเข้าใจมากขึ้น เพื่อร่วมพิธีกรรมอย่างมีชีวิตชีวากันนะครับ พระเจ้าอวยพร.
                                                                                    คุณพ่อปลัดองค์เล็ก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น