พี่น้องที่รัก
สัปดาห์นี้พระศาสนจักรคาทอลิกเทิดเกียรติสมโภชท่านนักบุญเปโตรและเปาโล
อัครสาวกผู้ก่อร่างสร้างพระศาสนจักรในยุคแรก
ท่านนักบุญทั้งสองเป็นบุคคลสำคัญที่ทำการเผยแผ่คำสอนของพระเยซูให้กว้างขวางออกไปจากดินแดนคานาอันไปสู่นานาประเทศ
เปโตรเป็นศิษย์ก้นกุฏิของพระเยซู
ท่านตอบรับการเรียกของพระเยซู จากการเป็นชาวประมงหาปลาพื้นบ้านมาสู่การเป็นผู้วางแหอวนรวบรวมวิญญาณมนุษย์เข้ามาในอ้อมอกของพระเจ้า
เปโตรทำทุกสิ่งด้วยใจใสซื่อของท่าน แม้จะหุนหันพลันแล่น แต่ก็มั่นคงเด็ดเดี่ยว
ท่านจึงกลายเป็นหลักศิลาที่มั่นคงวางรากฐานของพระศาสนจักรให้แข็งแรงเป็นปึกแผ่น
ท่านอุทิศชีวิตของท่านเพื่อประกาศข่าวดีของพระเยซูจนวาระสุดท้ายของชีวิต
และท่านได้สละชีวิตเป็นมรณสักขีเพื่อยืนยันความเชื่อความวางใจในองค์พระเจ้าของท่านโดยไม่หวั่นเกรงอันตรายใด
ๆ ชื่อของเปโตรได้รับการกล่าวเป็นลำดับต้นเสมอ ๆ ในพระวรสาร
แสดงให้เห็นว่าบรรดาศิษย์ของพระเยซูต่างยอมรับการเป็นผู้นำของท่าน ท่านจึงได้รับความไว้วางใจจากพระเยซูให้ทำหน้าที่เป็นผู้ปกครองพระศาสนจักรสืบต่อจากพระองค์
สัญลักษณ์สำคัญของเปโตรที่ปรากฏสืบเนื่องต่อมาคือ กุญแจสวรรค์
รูปปั้นของนักบุญเปโตรจึงมีกุญแจปรากฏอยู่ที่มือของท่านด้วยเสมอ
เปาโล
คืออัครสาวกอีกองค์หนึ่งที่นำข่าวดีของพระเยซูออกไปประกาศในดินแดนนอกเขตปาเลสไตน์ท่านเดินทางออกไปในแว่นแคว้นรอบทะเลเมดิเตอร์เรเนียน
เพื่อประกาศข่าวดีและตั้งกลุ่มคริสตชน ที่มีความเชื่อในองค์พระคริสต์
แม้ชีวิตของเปาโลจะเริ่มต้นด้วยการเป็นปฏิปักษ์กับพวกคริสตชนและมีส่วนในการเบียดเบียนคริสตชน
แต่ท่านก็หันเหและเปลี่ยนแปลงการดำเนินชีวิตแบบถอนรากถอนโคน
กลับกลายมาเป็นสาวกที่ทุ่มเทอุทิศตนให้กับการประกาศข่าวดีอย่างเต็มที่
ผลของการเปลี่ยนแปลงชีวิตของท่านทำให้พระศาสนจักรยุคแรกเผยแผ่ออกไปทั่วดินแดนอย่างรวดเร็ว
นักบุญเปาโลเขียนจดหมายเพื่อการอภิบาลกลุ่มคริสตชนหลายฉบับ เนื้อหาในจดหมายของท่านช่วยเราให้เข้าใจคำสอนที่สำคัญของพระเยซูอย่างลึกซึ้งมากมาย
ท้ายที่สุดชีวิตของเปาโลได้เป็นมรณะสักขีเช่นกัน ท่านถูกประหารชีวิตด้วยดาบ
เป็นการหลั่งโลหิตเพื่อยืนยันความเชื่อในองค์พระเจ้าอย่างเต็มภาคภูมิเช่นกัน
สัญลักษณ์สำคัญของเปาโลที่ปรากฏอยู่ที่รูปปั้นของท่านคือ
หนังสือพระคัมภีร์และมีดดาบ
เสาหลักที่สำคัญสองต้นของพระศาสนจักรนี้จึงค้ำจุนพระศาสนจักรเรื่อยมา
พระเยซูเคยตรัสเอาไว้ว่า "พระศาสนจักรของพระองค์จะไม่มีวันล่มสลาย"
เป็นคำพูดที่ยืนยันว่า
สมาชิกของพระศาสนจักรจะช่วยกันทุกวิถีทางเพื่อทำให้พระศาสนจักรตั้งมั่นคงอยู่เสมอไป
ด้วยการอุทิศตนยืนยันความเชื่อในองค์พระผู้เป็นเจ้าแม้จะต้องเผชิญกับการเบียดเบียนในรูปแบบต่าง
ๆ คริสตชนจะไม่ย่อท้อยอมอุทิศแม้ชีวิต เพื่อพระอาณาจักรของพระเจ้าจะดำรงคงอยู่เสมอไปในทุกยุคทุกสมัย
พ่อสุพจน์
....................................................................................................................................
ข้างบัลลังก์นักบุญหลุยส์ : ว่าด้วยเรื่องของบาป (1)
สงฆ์สัย : “คุณพ่อ ๆ ถ้าทำแบบนู้น แบบนี้ แบบนั้น... จะบาปไหม??”
สงฆ์รู้ : “………..” หยุดคิดครู่หนึ่ง
สงฆ์รู้ : “แล้วคุณคิดว่าบาปไหมครับ???”
สงฆ์สัย :“อ้าว!!!... ”
…………………………………………………
ตั้งแต่ก่อนบวช จนบวชแล้ว
เมื่อพูดถึงเรื่องบาป คำถามหนึ่งที่มักจะถูกถามเสมอ ๆ คือ “พ่อทำแบบนี้ แบบนู้น แบบนี้ บาปไหม??” // ซึ่งคำตอบของพ่อ
มักจะเป็นคำถามกลับไปยังผู้ถามเสมอด้วยเช่นเดียวกัน คือ “แล้วคิดว่าบาปไหม??” รีแอ็คชั่นที่กลับมาจากฝั่งผู้ถามพ่อ ก็มีหลายรูปแบบทีเดียว
บ้างก็ทำหน้างง ๆ ในใจอาจจะคิดไปด้วยว่า “ถ้ารู้ฉันจะมาถามพ่อทำไม??” หรืออาจจะงุนงวยว่า “อ้าวเป็นพระสงฆ์ยังบอกไม่ได้เลยเหรอ ว่าบาปหรือไม่บาป??”
อันที่จริง เวลาที่ตอบไปแบบนั้น ประการแรก ไม่ใช่ว่ากวน
หรือไม่อยากตอบ แต่สิ่งสำคัญในฐานะคริสตชนเหมือนกัน
พ่อเคารพในมโนธรรมของพี่น้องแต่ละคน ประการสอง พ่อเชื่อว่า พี่น้องทุกคนรักพระ รักเพื่อนพี่น้อง อย่างแน่นอน และสุดท้าย พ่อเชื่ออย่างหมดหัวใจว่า “ไม่มีใครหรือมนุษย์คนไหนอยากทำบาป!!! ทุกคนอยากทำดี
อยากเป็นคนดีกันทั้งนั้น”
ดังนั้น
บนพื้นฐานความคิดความเข้าใจแบบนั้น พ่อจึงตั้งสมมติฐานว่า “ทุกคนมีมโนธรรมที่ดี
ทุกคนรักพระและเพื่อนพี่น้อง ทุกคนอยากเป็นคนดี และไม่มีใครอยากทำบาป”
ในขณะเดียวกัน
พ่อก็เข้าใจหัวอกของคนที่มาถามคำถามทำนองนี้ด้วยเหมือนกันว่า ด้วยธรรมชาติของความเป็นมนุษย์ผู้เต็มไปด้วยอารมณ์และความรู้สึก
ความเขลาไม่รู้ ความอ่อนแอในธรรมชาติ ความจำกัด เราจึงผิดพลาดได้ เราจึงอ่อนแอเป็น แม้ด้วยความไม่ตั้งใจ หรือละเลย บางที อาจตั้งใจ แต่ไม่มีเจตนา
เพราะบางทีอารมณ์ ความรู้สึก ณ ขณะนั้น มันพาไป เราพลาดจึงตกไปในหลุมพรางของปีศาจ
บาป และความอ่อนแอตามธรรมชาติของมนุษย์ที่มี
แล้วสรุป เราจะรู้ได้อย่างไร
ว่า “ไอ่ที่ทำบาปหรือไม่บาป??”
ก่อนอื่น
เราต้องตอบกับตัวเองให้ได้ก่อนว่า “การกระทำหรือสิ่งที่เราทำนั้น มีผลทางศีลธรรมหรือไม่??”
การกระทำหรือสิ่งที่เรากระทำแบบมนุษย์นั้น
โดยปกติเราไม่สามารถบอกได้เลยในทันทีว่า บาป หรือ ไม่บาป ยกตัวอย่างเช่น กิน นอน
ดื่ม เดิน วิ่ง ฯลฯ เราเรียกว่า เป็นการกระทำแบบมนุษย์ (Act of Human) พูดกันง่าย ๆ ก็คือ อะไรที่มนุษย์ทั่ว ๆ
ไปทำ และไม่เกี่ยวข้องกับศีลธรรมนั่นเอง
ส่วนการกระทำที่มีผลทางศีลธรรม
หรือ การกระทำของมนุษย์ (Human Act) นั้น
กว่าจะบอกได้ว่าบาปหรือไม่บาปก็มีองค์ประกอบ หลายประการเพื่อพิจารณา เช่น เป้าประสงค์, เจตนา, แรงจูงใจ, จุดมุ่งหมายของผู้กระทำ, การกระทำที่สมัครใจ(เสรีภาพ), มีความรับผิดชอบต่อผลที่เกิด,
และสามารถแยกแยะถูกผิด กว่าจะบอกว่าอะไรบาปหรือไม่บาป
ก็ต้องพิจารณากันอย่างดี เตรียมตัวกันอย่างดี
ทั้งนี้ยังต้องพิจารณาและคำนึงถึงกรณีเฉพาะของแต่ละแวดล้อมปัจจัยในการกระทำนั้น ๆ
อีกด้วย อาจจะบอกได้ว่า แม้จะเป็นการกระทำแบบเดียวกัน เมื่อผ่านการพิจารณาอย่างดี โดยอาศัยองค์ประกอบต่าง ๆ ดังที่ได้กล่าวมาด้วยแล้ว
เหตุการณ์หนึ่งอาจจะถือว่าเป็นบาป แต่กับอีกเหตุการณ์อาจจะไม่ถือว่าเป็นบาปก็ได้
อย่างไรก็ตามการกระทำนั้น จะต้องไม่ใช่การกระทำที่ชั่วในตัวเอง (intrinsically evil acts) เช่น
การล่อลวงให้ผู้อื่นตกในบาป การฆ่าผู้บริสุทธิ์ที่ไม่สามารถปกป้องตนเองได้
เป็นต้น
คำถามคร่าว ๆ
ก่อนที่เราจะถามว่า “การกระทำของเราบาปหรือไม่บาป” จึงน่าจะเริ่มต้นด้วย “การกระทำนั้น ๆ
เกี่ยวกับศีลธรรมหรือไม่?” // “การกระทำนั้น ควรทำหรือไม่ควรทำ?” // “การกระทำนั้น ถูกหรือผิด?” // “เป้าหมายของการกระทำนั้นมีเป้าประสงค์คืออะไร?
ดีหรือไม่ดี?” // “ผู้กระทำมีเจตนาดีหรือร้าย?” // “การกระทำนั้นมีแรงจูงใจที่ดีหรือเปล่า?” // “ผู้กระทำมีเสรีภาพและไม่ถูกบังคับใช่หรือไม่?” // “ผู้กระทำมีความสามารถแยกแยะถูกผิดได้หรือไม่?”// ฯลฯ
ซึ่งก็มีสิ่งที่เราต้องพิจารณาไตร่ตรองพอสมควรทีเดียว
การพิจารณาตัดสินว่า
การกระทำใดบาปหรือไม่บาป? จึงไม่ควรเริ่มต้นด้วยคำถามปลายปิดที่ว่า “ไอ่ที่เราทำบาปหรือไม่บาป??” ยิ่งไม่ใช่การตัดสินการกระทำนั้น ด้วยอารมณ์หรือความรู้สึก
ยิ่งไม่ใช่การคิดเอง อ้างโดยขาดเหตุผล หรือการนั่งมโน จินตนาการไปเอง
แต่จำเป็นต้องได้รับการพิจารณาอย่างดี
อาจารย์ด้านศีลธรรมท่านหนึ่ง
เคยสรุปว่า “ถ้าการกระทำที่มีผลทางศีลธรรมใด
ทำให้เราเกิดความไม่แน่ใจ ความสงสัย ว่าจะเป็นบาปและเป็นการกระทำที่ไม่ดี ก็จงเลือกที่จะไม่กระทำสิ่งนั้นเลยดีกว่า”
บาทหลวงบางกอก
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น