พี่น้องที่รัก
วันนี้พ่อขอนำเอาข้อคิดสะกิดใจมาฝากกันครับ
"เมื่อท่านเข้าไปในป่า
แล้วมองไปยังหมู่แมกไม้นานาชนิด
ท่านพบว่า
ไม้แต่ละชนิดก็แตกต่างกันออกไป
บ้างก็มีลำต้นโค้งงอบิดไปบิดมา
บ้างก็มีลำต้นตรงขึ้นสู่ท้องฟ้า
บ้างก็มีใบสีเขียวสดอยู่เสมอ
บ้างก็มีลักษณะที่เป็นไปตามธรรมชาติของมัน
ท่านมองแล้ว ก็เห็นว่าทุกอย่างเป็นไปตามธรรมชาติ
ท่านเข้าใจทันทีว่า
ที่ลำต้นของต้นไม้บางชนิด โอนเอนไม่ขึ้นตั้งตรง
ก็เพราะว่ามันได้รับแสงสว่างไม่เพียงพอ
มันพยายามแสวงหาช่องว่างเพื่อรับแสงแดด
แล้วมันก็เป็นไปเช่นนั้น
ท่านชื่นชมที่มันเป็นของมันอย่างนั้น
ทุกอย่างดูกลมกลืนสวยงาม
แต่เมื่อท่านเข้าใกล้ผู้คน
ท่านกลับมีความรู้สึกแตกต่างออกไป
ได้แต่พูดบ่นออกมาว่า
คนนี้ก็เป็นยังงี้มากไป คนนั้นก็เป็นอย่างนั้นเกินไป
สมองเพียรเฝ้าตัดสิน
คนนั้น คนนี้เรื่อยไป
ดังนั้น
ฉันจึงเริ่มต้นฝึกฝนที่จะเปรียบผู้คนกับมวลแมกไม้ในธรรมชาติ
หมายความว่า ชื่นชมเขา
อย่างที่เขาเป็น"
อ่านข้อความข้างต้นแล้วก็คิดได้ว่า
ความหงุดหงิด ไม่สบอารมณ์ที่เกิดขึ้นอยู่บ่อย ๆ คงหายไปได้เยอะ
ถ้ารู้จักปรับวิธีคิด ในการมองผู้อื่นด้วยความชื่นชม และ ยอมรับเขาอย่างที่เขาเป็น
พ่อสุพจน์
...............................................................................................................................
ข้างบัลลังก์นักบุญหลุยส์ : ว่าด้วยเรื่องของบาป (3)
สงฆ์สัย : “คุณพ่อ ๆ ผมไม่มีบาป ไม่ได้ทำบาปเลย จะสิบปีละ
ต้องไปแก้บาปไหม??”
สงฆ์รู้ : “………..” หยุดคิดครู่หนึ่ง
คุกเข่าลงกับพื้นดิน
สงฆ์รู้ : “ขอท่านโปรดอวยพรให้พ่อคนบาปด้วยครับ
เพราะท่านคงเป็นนักบุญแล้ว”
สงฆ์สัย : “อ้าว!!!”
…………………………………………………
ในจดหมายนักบุญยอห์นฉบับที่ 1 เขียนไว้ว่า “ถ้าเราพูดว่า "เราไม่มีบาป" เรากำลังหลอกตนเอง และ "ความจริง"
ไม่อยู่ในเรา พระองค์ทรงซื่อสัตย์และทรงเที่ยงธรรม ถ้าเราสารภาพบาปพระองค์จะทรงอภัยบาปของเรา
และจะทรงชำระเราให้สะอาดจากความอธรรมทั้งปวง ถ้าเราพูดว่า
"เราไม่เคยทำบาป" เราก็ทำให้พระองค์ตรัสคำเท็จ และพระวาจาของพระองค์ไม่อยู่ในเรา
ลูกที่รักทั้งหลาย ข้าพเจ้าเขียนเรื่องนี้ถึงท่าน เพื่อท่านจะได้ไม่ทำบาป
แต่ถ้าใครทำบาป เรายังมีทนายแก้ต่างให้เฉพาะพระพักตร์ของพระบิดา
คือพระเยซูคริสตเจ้า ผู้ทรงเที่ยงธรรม พระองค์ทรงเป็นเครื่องบูชาชดเชยบาปของเราและไม่เพียงแต่ชดเชยเฉพาะบาปของเราเท่านั้น
แต่ชดเชยบาปของมนุษย์ทั้งโลกด้วย” (1ยน 1:8-2:2)
การคิดว่าจะต้องแก้บาปไหม? ทำให้พ่อตั้งสันนิษฐานได้ว่า ผู้ถามคงจะรู้ว่า
ตนเองได้ทำบาป แต่ 1.อาจจะพิจารณาบาปไม่เป็น 2. ไม่รู้ว่าจะต้องบอกกับพระสงฆ์ยังไง? เพราะไม่เจอคำจำกัดความในบทบัญญัติฯ 3. ไม่ใช่ว่าจะไม่มีบาป หรือไม่เคยทำบาป แต่เป็นผู้มีความเขลาและไม่รู้จริง ๆ ว่าสิ่งที่ได้กระทำนั้นเป็นบาป 4. คิดว่าเป็นบาปเล็กน้อย เลยไม่จำเป็นต้องบอก 5. มโนธรรมตายด้าน จึงไม่เห็นว่า
ตนได้กระทำบาปอะไรเลย 6. มีความละอายที่จะต้องสารภาพความอ่อนแอ
บาป หรือความไม่ดีที่ตนทำกับพระสงฆ์ นาน ๆ เข้า ลืมจำไม่ได้
ก็เลยเลือกที่จะไม่สารภาพบาปเลย
ดังที่ท่านนักบุญยอห์นได้เขียนไว้ในจดหมายของท่าน แม้เรายังทำบาป
เรายังมีพระเยซูผู้ทรงชดเชยใช้โทษบาปแทนเราแล้ว การพิจารณาบาป
จึงไม่ใช่แค่การพิจารณาตามกฎบทบัญญัติของพระเจ้าเท่านั้น
แต่ต้องพิจารณาถึงการกระทำต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันด้วย แม้ไม่ได้ปรากฏอยู่ในบทบัญญัติของพระเจ้า,
บทบัญญัติของพระศาสนจักร, บาปต้น 7 ประการ ยกตัวอย่าง เช่น
·
บาปละเลย เช่น ในฐานะที่เป็นสามีภรรยากัน
เราควรจะใส่ใจดูแลความเป็นอยู่ในบ้านตามฐานะที่มี
แต่เราละเลยที่จะกระทำตามบทบาทหน้าที่ที่มี เป็นต้น สิ่งดีที่ควรทำ
ความรักที่ควรปฏิบัติ แต่เราไม่ทำ ไม่ปฏิบัติ เมื่อมีโอกาส
เราก็กำลังทำบาปละเลยอยู่
·
บาปของการเป็นที่สะดุด เช่น
ในฐานะที่เป็นคริสตชน เราพึงต้องไปปฏิบัติศาสนกิจวันอาทิตย์ แต่เราละเลย
ด้วยเหตุผลที่เบาบาง แล้วยังบอกกับลูกหลานเราด้วย
ว่าถ้ามีธุระก็ไม่เป็นไร เราขาดวัดแบบง่าย ๆ แล้วยังสอนลูกหลานของเราด้วย
เราก็กำลังทำตนเป็นที่สะดุด เป็นต้น เพราะว่าแทนที่เราจะเป็นแบบอย่างให้กับลูกหลาน
นำพาเขาไปสู่ความดี แต่เราไม่ทำ และยังขวางกั้น ไม่สอนไม่บอกให้เขาปฏิบัติ
เราก็เป็นเสมือนหินก้อนใหญ่ ที่ทำให้ลูกหลานของเราต้องสะดุดล้ม
เพราะการกระทำของเรา
·
บทบาทหน้าที่ ก็เป็นสิ่งที่เราต้องพิจารณาด้วย เช่น เราได้เอาเปรียบนายจ้างหรือเพื่อนร่วมงาน ด้วยการไม่ทำงาน เล่น Social เล่นเกมส์ โกงเวลางาน เป็นต้น
อันที่จริง
ก็ยังมีอีกหลายประเด็น ที่เราจะนำมาพิจารณาได้ เช่น ในฐานะที่เราเป็นคริสตชน
เราได้ปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระเยซูเจ้าอย่างครบถ้วนหรือไม่? เป็นต้น คำถามก็คือ
ที่คิดว่าไม่มีบาป ไม่ได้ทำบาป หรือ ไม่จำเป็นต้องแก้บาปนั้น เราคิดเข้าข้างตัวเองหรือเปล่าว่า สิ่งที่เราทำไม่ถือเป็นบาป เราได้ใช้เวลาอย่างดีในการพิจารณาการกระทำแบบถ้วนถี่หรือไม่
นอกที่ฟังแก้บาปครั้งหนึ่ง พ่อเคยถูกถามว่า
การที่เราพูดความจริงของคนอื่นบาปไหม?โดยตัวการกระทำ การพูดความจริง ไม่ใช่บาป แต่เมื่อพ่อชวนพิจารณาองค์ประกอบต่าง ๆ รวมกันกลับพบว่า การพูดความจริงนี้ เป็นบาปอย่างแน่นอน เพราะประการแรก ผู้พูดคิดไปเองว่า สิ่งที่พูดคือ ความจริง เพราะแท้จริง เป็นเพียงสิ่งที่ได้ยินต่อ ๆ
กันมาในความไม่ดีของบุคคลที่ถูกกล่าวถึง ประการที่สอง แม้ว่า ดูเหมือนว่ามาจากเจตนาที่ดี คือ อยากให้ผู้ที่พูดถึงปรับปรุงตนเอง
แต่วิธีการ คือ พูดสิ่งที่คิดว่าเป็นความจริงนี้ลับหลังเขา
โดยเจ้าตัวไม่มีโอกาสล่วงรู้ และส่งผลให้เกิดความคิดในแง่ลบมากกว่า ประการสุดท้าย ผลลัพธ์ที่ได้มา
ไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้ที่ถูกกล่าวถึง
แต่เป็นการสร้างความเสียหายแก่บุคคลนั้น แม้ว่า ในกรณีนี้ เรื่องที่เราจะเป็นความจริง แต่วิธีการที่ทำก็เข้าข่ายการนินทา
อันเป็นบาปอยู่ดี
พี่น้องครับ
วิธีการที่ผิดไม่สามารถเปลี่ยนการกระทำให้ถูกได้ และเพียงการกระทำเดียวนี้ เราพบว่า
นี่ไม่ใช่บาปของการนินทาเท่านั้น แต่เป็นการตัดสินผู้อื่นด้วยเบาความ การใส่ความ และขาดความยุติธรรมและความรักต่อเพื่อนพี่น้องอีกด้วย
พี่น้องครับ การพิจารณาบาปจึงไม่ใช่ความคิดแค่ว่า “ฉันได้ทำบาปหรือไม่? ฉันได้ทำบาปอะไร? หรือ ฉันไม่ได้ทำบาป” แต่เราต้องพิจารณาด้วยว่า
ในความดีที่เราพึงกระทำ-ในความรักที่เราต้องปฏิบัติ กับพระเจ้า กับเพื่อนมนุษย์บ้าน
กับตัวเราเอง เราได้ทำหรือไม่ การไม่ทำชั่วทำบาป ไม่ใช่เครื่องการันตี
ว่าเราเป็นคนดีแล้ว เพราะในฐานะที่เราเป็นบุตรของพระเจ้า
พระองค์ประสงค์ให้เราได้ประกาศข่าวดีแห่งความรอดพ้นด้วย ผ่านทางการกระทำ
ผ่านทางการดำเนินชีวิต ผ่านทางความดีและความรักที่เราจะส่งต่อไปให้กับทุก ๆ คนด้วย
บางหลวงบางกอก
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น