วันศุกร์ที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

สารวัดวันอาทิตย์ที่ 10 กรกฎาคม 2016

พี่น้องที่รัก
            การดำเนินการก่อสร้างและการปรับปรุงศาลาหลุยส์มารี ได้ก้าวหน้ามาหลายขั้นตอนแล้ว ขณะนี้ในส่วนของศาลาเอนกประสงค์ได้ทำฐานรากและหล่อเสาเสร็จแล้ว ฝ่ายก่อสร้างกำลังดำเนินการเชื่อมต่อโครงสร้างหลังคาที่ทำด้วยเหล็กตามที่พี่น้องคงพอจะเห็นแล้ว ในส่วนของศาลาหลุยส์มารีเดิม ก็มีการรื้อถอนพื้นกระเบื้องเดิมและเพดานออก เพื่อดำเนินการปรับปรุงการตกแต่งภายในใหม่ แม้พ่อจะรู้สึกว่าการดำเนินการก่อสร้างและปรับปรุงนี้ค่อนข้างจะล่าช้ากว่าที่ควรจะเป็น แต่ก็ยังหวังว่าผู้รับเหมาจะสามารถทำงานแล้วเสร็จตามกำหนดการเดิม ขอภาวนาให้เป็นเช่นนั้น
            โอกาสนี้พ่อและสภาภิบาลได้ร่วมกันหารือเพื่อช่วยกันในการรณรงค์เพื่อขอความร่วมมือจากพี่น้องผู้มีจิตศรัทธาทุกท่านได้ช่วยกันคนละไม้คนละมือในการประชาสัมพันธ์ และหาแนวร่วมเพื่อช่วยกันรวบรวมเงินบริจาคเพื่อสมทบทุนกับทางวัด ดำเนินการสร้างศาลาเอนกประสงค์และปรับปรุงศาลาหลุยส์มารีให้สวยงามพร้อมสำหรับการให้บริการ เป็นสถานที่จัดงานพิธีสวดภาวนาอุทิศแด่ผู้ล่วงลับ และใช้สำหรับกิจกรรมต่าง ๆ ของทางวัดอย่างที่เคยเป็นมา รวมไปถึงการปรับปรุงถนนทางเดินรอบวัดระบบไฟส่องสว่าง หลังคากันแดดกันฝนเชื่อมจากถนนสาทรมายังโรงเรียน และทางเชื่อมจากวัดมายังลานกาแฟ ทั้งนี้เมื่อโครงการสำเร็จเสร็จสิ้นแล้วจะช่วยอำนวยความสะดวกให้กับพี่น้องสัตบุรุษที่มาสวดภาวนาและร่วมกิจกรรมที่วัดเซนต์หลุยส์ได้ดียิ่งขึ้นกว่าเดิม
            แนวทางที่เป็นผลจากการหารือกันในสภาภิบาล คือ
            1. จัดตู้รับบริจาคไว้ในบริเวณวัดและทางเข้าออกวัด เพื่อพี่น้องที่มีจิตศรัทธาจะสามารถบริจาคเงินได้ที่ตู้รับบริจาคโดยตรง และวางตู้รับบริจาคไว้ตลอดจนถึงช่วงเวลาที่เห็นว่าเหมาะสม
            2. ทำซองบริจาคแจกจ่าย โดยมีข้อความอธิบายที่มาของโครงการ เพื่อจูงใจให้ผู้มีจิตศรัทธาร่วมบริจาค ซองบริจาคนี้จะช่วยให้พี่น้องสัตบุรุษสามารถช่วยกันบอกบุญไปยังญาติพี่น้องหรือผู้มีจิตศรัทธาที่อยู่ห่างไกลสามารถร่วมในบุญกุศลร่วมจัดสร้างได้ตามความศรัทธา
            3. จัดทำการแยกแยะค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างออกมาเป็นรายละเอียด เพื่อหาผู้มีจิตศรัทธาอุปถัมภ์จัดสร้างตามส่วนนั้น ๆ อาทิ เครื่องปรับอากาศ ระบบไฟ เสา คาน พื้น และการก่อสร้างในส่วนต่าง ๆ
            4. จัดกิจกรรมพิเศษขึ้นตามโอกาส โดยมีจุดประสงค์เพื่อหารายได้สมทบทุนการก่อสร้าง การดำเนินการรณรงค์เพื่อขอน้ำใจและเชิญชวนผู้มีจิตศรัทธาให้ร่วมบริจาคจะเริ่มดำเนินการตั้งแต่สัปดาห์นี้เป็นต้นไป โดยเริ่มจากการตั้งตู้บริจาคก่อน หลังจากนั้นจะเป็นการแจกจ่ายซองบริจาค และ หาผู้มีจิตศรัทธาอุปถัมภ์ค่าใช้จ่ายสำหรับการก่อสร้างส่วนต่าง ๆ
            ตามที่พ่อเคยประชาสัมพันธ์กับพี่น้องมาก่อนหน้านี้แล้วว่าค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างตามโครงการที่ได้ประเมินไว้มีมูลค่าประมาณ 16 ล้านบาท บัดนี้ได้มีผู้มีจิตศรัทธาได้ร่วมสร้างบุญสร้างกุศลร่วมบริจาคมาแล้ว สองล้านหนึ่งแสนเจ็ดหมื่นบาท พ่อจึงขอความร่วมมือร่วมใจมายังพี่น้องสัตบุรุษทุกท่านโปรดช่วยกันคนละไม้คนละมือ เพื่อในการประชาสัมพันธ์เชิญชวนรวมถึงช่วยกันบริจาคมากบ้างน้อยบ้างตามกำลังความสามารถในการกุศลครั้งนี้
            ถ้าพี่น้องมีข้อแนะนำหรือความคิดเห็นประการใดที่เห็นว่าเป็นประโยชน์สำหรับการเรี่ยรายบริจาคเพื่อการก่อสร้างและปรับปรุงศาลาหลุยส์มารีโปรดแจ้งให้พ่อทราบด้วยจักเป็นพระคุณอย่างยิ่ง
            ขอพระเจ้าทรงพระเมตตาตอบแทนพี่น้องร้อยเท่าพันทวีครับ

พ่อสุพจน์
.............................................................................................
ข้างบัลลังก์นักบุญหลุยส์ : ว่าด้วยเรื่องของบาป (2) 

สงฆ์สัย : “คุณพ่อ ๆ ผมจำบทแก้บาปไม่ได้ ต้องทำยังไงครับ ถ้าจะเข้าไปแก้บาป? 
สงฆ์รู้ : “………..”  หยุดคิดครู่หนึ่ง 
สงฆ์รู้ : “ก็บอกพ่อในที่ฟังแก้บาปไปแบบนั้นแหละครับ ว่าจำไม่ได้???”  
สงฆ์สัย : “ได้เหรอครับ!!!... ”  
………………………………………………… 
พ่อคิดว่า นี่เป็นหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้คริสตชนหลายคน ไม่กล้ามารับศีลอภัยบาป “จำบทแก้บาปไม่ได้? // การจำบทแก้บาปได้ ไม่ได้เป็นความผิดหรือเป็นบาป อันที่จริงแล้ว บทแก้บาป หรือ บทขออภัยบาป เป็นเสมือนเครื่องมือ ที่จะช่วยนำเราเพื่อจะได้สารภาพอย่างดีอย่างครบถ้วน เพื่อจะได้ไม่ลืมสารภาพในสิ่งที่จำเป็นต้องสารภาพ Easy way out หรือ ทางออกแบบง่ายที่สุด ก็คือ การบอกกับพระสงฆ์ผู้โปรดศีลอภัยบาป ไปตามตรงว่า “จำไม่ได้”//(อย่างไรก็ตาม กรณีแบบนี้  ไม่น่าจะเกิดขึ้นที่วัดของเรา เพราะว่า ในที่ฟังแก้บาป หรือ ที่โปรดศีลอภัยบาปของวัดเรา จะมีแผ่นกระดาษสีเหลือง ที่แปะไว้ตรงฝาแก้บาป เพื่อช่วยให้รู้ว่าจะต้องพูดอะไรบ้าง ซึ่งก็เป็นทางออกที่ดี สำหรับคนที่จำบทแก้บาปไม่ได้) แต่ในกรณีที่ไม่มีหละ!! จะต้องบอกอะไรบ้าง??  
ประการแรก เราเริ่มต้นด้วยการทำสำคัญมหากางเขน ภาษาบ้าน ๆ เรียก “การทำเดชะพระนาม” นั่นเอง ต่อด้วย การเกริ่นนำ คือ “คุณพ่อที่เคารพ โปรดอวยพรแก่ลูก (ข้าพเจ้า/ดิฉัน/ผม/หนู) เพื่อลูกจะได้รับศีลอภัยบาปอย่างดี” หรืออะไรทำนองนี้ และต่อมาก็คือ สิ่งที่เราจำเป็นจะต้องสารภาพ ได้แก่ 
·                ไม่ได้รับศีลอภัยบาปมานานเท่าไหร่คือ นับจากการแก้บาปครั้งสุดท้าย เป็นระยะเวลานานเท่าไหร่ 14 วัน หรือ 2 สัปดาห์ หรือ 1 เดือน ฯลฯ 
·                พระสงฆ์ได้อภัยบาปหรือยัง? และได้ทำกิจใช้โทษบาปหรือยัง 
    คือ เมื่อการสารภาพครั้งก่อนนั้น พระสงฆ์ได้ให้อภัยบาป หรือ โปรดบาปให้หรือไม่ ซึ่งโดยปกติ ถ้าไม่ได้มีบาปที่ถูกสงวนไว้ พระสงฆ์ก็จะอภัยบาปให้ทั้งหมด  
ส่วนกิจใช้โทษบาปนั้น คือ บทสวด กิจการดี การพลีกรรม ฯลฯ ที่พระสงฆ์ได้บอกให้พี่น้องได้ทำในการสารภาพบาปครั้งก่อน ซึ่งพี่น้องจำเป็นต้องบอกกับพระสงฆ์ในการรับศีลอภัยบาปครั้งนี้ด้วยว่า ได้กระทำหรือยัง ถ้าไม่ได้ทำเพราะอะไร? ซึ่งโดยปกติ ก็แนะนำให้ทำทันที หลังจากที่ได้รับศีลอภัยบาปแล้ว อันที่จริง ในเรื่องนี้ พี่น้องสามารถทำได้มากกว่าที่พระสงฆ์เสนอแนะ หรือบอกให้ทำหลังการรับศีลอภัยบาปได้ เพื่อเป็นการชดเชดใช้โทษบาป 
·                 การสารภาพบาป การสารภาพบาปนั้น คือ การบอกถึงบาปที่ได้ทำอย่างครบถ้วน คือ กรณีของบาปหนัก จำเป็นที่จะต้องสารภาพบาปที่ทำพร้อมกับจำนวนครั้งอย่างชัดเจน เช่น ขาดการร่วมพิธีบูชาขอบพระคุณในวันอาทิตย์ 3 ครั้ง / 3 เดือน / 3 ปี เป็นต้น รวมถึงการสารภาพบาปเบาที่ได้กระทำ พร้อมกับจำนวนด้วย เช่น โลภอาหาร 4 ครั้ง, โมโห หลายครั้ง เป็นต้น ในกรณีที่บาปนั้นเกิดขึ้นเป็นประจำจนไม่สามารถจำครั้งได้ ให้ประมาณ เช่น วันละ 3 ครั้ง หรือ อาทิตย์ละ 10 ครั้ง หรือ หากจำไม่ได้จริง ๆ ให้ประมาณ หรือ หากประมาณไม่ได้ ก็แจ้งกับพระสงฆ์ไปได้ว่า “หลายครั้ง” แล้วจึงจบด้วยประโยคที่ว่า “และขอสารภาพบาปอื่น ๆ ที่ได้ลืมไป และที่เคยสารภาพในครั้งก่อนด้วย” หรือประโยคทำนองนี้ 
หมายเหตุ ในกรณีที่มีบาปหนักที่ยังไม่ได้สารภาพ ก็ให้สารภาพด้วย แต่หากผู้สารภาพมีเจตนาหรือตั้งใจที่จะปิดบัง หรือ ปกปิดบาป ไม่สารภาพบาปทั้งหมด หรือ บาปบางประการ ถือว่า เป็นการทำทุรจารต่อศีลอภัยบาป เป็นบาปหนัก และจำเป็นต้องสารภาพกับพระสงฆ์คราวต่อไปด้วยว่า “ทำการทุรจารต่อศีลอภัยบาปโดยการปกปิดบาป”  
การรับศีลมหาสนิทโดยไม่อยู่ในสถานะพระหรรษทานอันเนื่องมาจากการทำบาปหนักนั้น ถือเป็นการทำทุรจารต่อศีลมหาสนิทด้วย 
ดังนั้น ก่อนจะถึงการสารภาพได้อย่างดี จึงจำเป็นต้องผ่านการพิจารณาและเป็นทุกข์ถึงบาปอย่างดี คือ การทบทวน ใคร่ครวญ ไตร่ตรอง ถึงสิ่งที่ตนกระทำตลอดระยะเวลานับตั้งแต่การแก้บาปครั้งสุดท้าย ว่าได้กระทำสิ่งใดบ้างต่อพระเจ้า ต่อเพื่อนพี่น้อง ต่อสิ่งสร้างของพระเจ้า และต่อตนเอง อันเป็นการกระทำที่ถือว่าเป็นบาป ขัดต่อบทบัญญัติแห่งความรัก บทบัญญัติพระเจ้า, บทบัญญัติพระศาสนจักร, บาปต้น 7 ประการ, บทบาทหน้าที่ที่เราพึงต้องกระทำในฐานะที่เป็นสมาชิกในครอบครัว สังคม ประเทศชาติ และพระศาสนจักร เป็นต้น 
…………………………………… 
การมารับศีลอภัยบาป ทั้ง ๆ ที่จำบทสูตร หรือ บทขออภัยบาป ไม่ได้ จึงไม่ใช่เรื่องน่ากลัวแต่อย่างใด  เพราะที่น่ากลัวกว่า คือ การเดินเข้าวัดมา แล้วก็เดินเข้าไปในที่ฟังแก้บาปเลย โดยไม่ได้ใช้เวลาอย่างดีในการพิจารณาบาปและเป็นทุกข์ถึงบาป นึกอะไรได้ก็บอก นึกไม่ออก ก็บอกว่าบาปไม่มี ทั้งที่จริง ๆ แล้วก็ทำ แต่ไม่ได้บอก เพราะไม่ได้พิจารณาบาปอย่างดี  
ศีลศักดิ์สิทธิ์ เป็นของประทาน เป็นพระพรจากพระ ไม่เป็นการดีแน่ ๆ ถ้าเราจะทำแบบขอไปที ทำแบบให้ผ่าน ๆ ไป ให้จบ ๆ ไป ทำแบบไม่ตั้งใจ ขอโทษพระและพี่น้องแบบขอไปที เพราะถ้ามีใครที่ขอโทษเราแบบนั้น เราก็คงไม่ชอบเหมือนกัน  

บาทหลวงบางกอก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น