วันศุกร์ที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

สารวัดวันอาทิตย์ที่ 31 กรกฏาคม 2016

พี่น้องที่รัก
                ความท้อแท้ประสบได้กับทุกคน แต่ที่สำคัญคือ "ท้อได้แต่ห้ามยอมแพ้" ใครกำลังเหนื่อยล้า อ่อนแรง หรือ หมดกำลังใจ ลองปฏิบัติตาม 20 ข้อง่ายๆนี้นะครับ พ่ออ่านเจอในโซเชียลมีเดีย เห็นว่ามีข้อคิดดีเลยเอามาฝากกันครับ
                1. รู้สึกเหนื่อยก็พักบ้าง รู้สึกหนักก็วาง
                2. อย่ามัวแต่สนใจคำดูถูกของคนอื่น จนลืมความฝันที่ตั้งไว้
                3. เราทำทุกอย่างไม่ได้ แต่เลือกทำสิ่งที่สำคัญได้
                4. หันกลับมามอง คนที่ดูแลเรามาทั้งชีวิต
                5. ออกไปท่องเที่ยว พบกับคนที่ไม่รู้จักและสนุกกับมัน
                6. บอกตัวเองเสมอว่า การที่เราลำบากวันนี้นั้นเป็นกำไรชีวิต
                7. คนที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในโลกคือคนที่เจอความผิดพลาดและความล้มเหลวมากกว่าคนอื่น
                8. พยายามออกห่างจากคนมองโลกในแง่ร้าย เพราะมันติดต่อกันได้ และจะทำให้คุณตกต่ำลงไปด้วย
                9. บอกกับตัวเองว่า "มันก็แค่วันแย่ๆอีกวัน พรุ่งนี้เริ่มใหม่"
                10. แบ่งปันสิ่งดีๆกับผู้อื่น รับรอยยิ้มเล็กๆน้อยๆ มาเติมแรงใจ
                11. โทรหาคนรู้ใจ และระบายทุกสิ่งทุกอย่างให้เขาฟัง
                12. ความอดทนเป็นคุณสมบัติของนักสู้
                13. ยิ่งปัญหามันยากเท่าไร ความสำเร็จยิ่งใหญ่เท่านั้น
                14. ถึงแม้จะผิดพลาด แต่อย่าลืมว่าคุณก็มีข้อดี
                15. ยิ้มให้กับตัวเองในเวลาท้อใจ
                16. อ่านหนังสือ ผ่อนคลาย จากความเหนื่อยล้า
                17. หางานอดิเรกใหม่ๆ ทำ
                18. ความผิดพลาดคือการเรียนรู้ คนที่ไม่เคยพลาด คือคนที่ไม่เคยทำอะไร
                19. ทุกปัญหามักมีคนที่เคยเจอมาก่อน ขอความช่วยเหลือจากเขา
                20. ทบทวนปัญหาที่พบเจอ เรียนรู้ แก้ไขและอยู่กับมันโดยไม่ท้อ

                สู้ๆนะทุกคน
                (ข้อความข้างต้นนำมาจาก SkillLane)

พ่อสุพจน์
...........................................................................................................................................................


ข้างบัลลังก์นักบุญหลุยส์ : โดราเอม่อน
                พระวรสารวันนี้ ทำให้ผมนึกถึงโดราเอม่อน
                เชื่อว่า คนวัยยี่สิบกลางๆ สามสิบต้นๆ หรือมากกว่านั้น คงรู้จัก
กับโดราเอม่อนถึงตรงนี้ บางคนอาจจะกำลังเถียงอยู่ในใจว่า ผม ฉัน
หนู ไม่ใช่อายุเท่านั้นก็รู้จักโดเรม่อนที่ผมกำลังพูดถึง ไม่ใช่เจ้าแมว
เหมียวหุ่นยนต์จาก ศตวรรษที่ 21 อันมีเพื่อนชื่อ โนบิตะ ชิซูกะ ไจแอนท์
หรือซูเนโอะ แต่ คือ โดราเอม่อนที่เป็นกล่อง กล่องละห้าบาทข้างใน
กล่องจะมีช็อคโกแล็ตเคลือบขนมปังลูกกลม ๆ ที่ซื้อมาแต่ไม่กิน เพราะ
เรารู้ว่า สิ่งที่มีมีค่ากว่า คือ สติ๊กเกอร์
                สติ๊กเกอร์นี้ ได้ภาพไม่ครบส่วน เพราะต้องนำไปปะติดปะต่อกับส่วนอื่นอีก เพื่อจะได้ภาพเต็ม โดยจะต้องนำไปแปะ
ไว้ในสมุดสะสมเล่มขนาดสองหน้าเอสี่ต่อกัน ถึงจะได้เป็นเรื่องเป็นราว เรื่องราวที่ให้สะสมกัน ก็ต้องเป็นเรื่องยอดฮิตอย่าง
ดราก้อนบอล แซด, เซนต์เซย่า, ซามูไรทรูเปอร์ ฯลฯ โดยเมื่อรวบรวมได้ครบเล่มแล้ว ก็สามารถนำไปแลกรางวัลได้ และบ่อย
ๆ ก็อาจจะต้องรวบรวมให้ได้มากกว่าหนึ่งเล่ม เพื่อจะได้นำไปแลกรางวัลที่ใหญ่กว่า
ของรางวัลล่อตาล่อใจเด็ก ๆ อย่างพวกเราในยุคสมัยนั้น ก็มีทั้งเครื่องเกมส์แฟมมิคอม เกมส์บอย เสื้อหรือ
ผลิตภัณฑ์ของหนังเรื่องนั้น ๆ ที่มีมูลค่ามากหน่อยก็มีพวกซาวน์อะเบ้าท์ หรือวอล์คแมน ที่ดึงดูดให้เด็กน้อยหนุ่มใหญ่ใน
สมัยนั้นต้องลงทุนลงแรงกับการเก็บสะสมชิ้นส่วนต่าง ๆ ของสติ๊กเกอร์จนเต็มเล่ม แทนที่จะเก็บสะตุ้งสตางค์เพื่อไปซื้อสินค้า
เหล่านั้นโดยตรงเลย
               
ถ้าใครที่พอจะมีสตางค์มากหน่อย ก็คงพอจะเก็บรวบรวม เก็บเล็กผสมน้อยด้วยเงินของตัวเองได้ เพื่อจะรวบรวมให้
ได้สติ๊กเกอร์มาเต็มเล่ม แต่ถ้าไม่มีเงินมากพอจะซื้อสะสมเองได้จนเต็มเล่ม ก็ต้องอาศัยวิธีการแลกเปลี่ยนสติ๊กเกอร์กับเพื่อน
บ้าง หรือการพนันขันต่อ ใช้วิธีแข่งขันกันแบบเด็ก ๆ อย่างเป่ากบ เล่นเขี่ย(ไพ่) เล่นดินน้ำมัน เล่นลูกข่าง แข่งบอล ฯลฯ โดยมี
สติ๊กเกอร์เป็นเดิมพัน เพื่อจะได้เพิ่มจำนวนสติ๊กเกอร์ ให้มีมากพอจนได้มาปะแปะจนครบเต็มเล่ม
                อันที่จริง ในเวลานี้ เมื่อมานั่งคิดทบทวนดูถึงประสบการณ์ของตัวเองในวันที่มีอายุเท่านั้น ก็ขำตัวเองว่า ทำไมเราไม่
เก็บรวบรวมเงินค่าขนมไปเรื่อย ๆ ให้ได้สตางค์พอจะไปซื้อของเหล่านั้น แทนที่จะใช้จ่ายไปทีละห้าบาทสิบบาทแบบเสี่ยง
โชค ไปซื้อโดราเอม่อนกล่องละห้าบาท แล้วก็รอลุ้น ภาวนาให้ได้สติ๊กเกอร์ในใบที่เรายังไม่มีเพื่อจะได้สะสมให้เต็มเล่มแบบ
นั้น จะอย่างไรก็แล้วแต่ ด้วยวัน, วัย, และเวลาตอนนั้น วิธีคิดแบบเด็กน้อย ก็ทำให้เราคิดได้แค่นั้น ว่านี่คือวิธีที่ดีที่สุด ที่ได้
ผลดีที่สุด แต่จนแล้วจนรอด เท่าที่จำได้ ผมและเพื่อน ๆ ในวัยเดียวกัน เพื่อนแถวบ้าน และเพื่อนในโรงเรียน ก็ไม่มีใครสะสม
ได้จนเต็มเล่มทันได้แลกรางวัล ก็วันหมดเขตจะมาถึงกันสักคน จนเราเคยคุยกันว่า บริษัทผู้ผลิต อาจจะเก็บสติ๊กเกอร์บาง
ใบไม่ปล่อยมันออกมาจนกระทั่งวันที่มันหมดเขตกำหนดแลกรางวัลแน่ ๆแต่ถึงกระนั้น พอมีโดราเอม่อนกล่องใหม่ รูปเล่ม
เรื่องใหม่ให้สะสมมาอีก เราก็ควักเงินออกจากกระเป๋ามาซื้อมันอีกจนได้ (เจ็บแต่ไม่จำ ผิดหวังแต่ไม่หมดหวังจริง ๆ สิเรา)
                คำพระวันนี้ ก็พูดเรื่องแบบนี้ เราสะสมหลายสิ่ง เราอดออมหลายอย่าง เราหวังว่า มันจะมีพอ มันจะมีเหลือ สิ่งที่เรา
สะสมจะพาเราไปพบความสุขสบายในบั้นปลายบนโลกนี้ เพราะเมื่อลงทุน โลกนี้ก็ให้ผลตอบแทนทันที จนเราเลือกสะสม
สติ๊กเกอร์แทนที่จะสะสมเงินเพื่อซื้อของรางวัล สติ๊กเกอร์กะเงิน อะไรมีค่ากว่ากัน โลกนี้หรือโลกหน้า, ชีวิตนี้หรือชีวิตนิรันดร
ที่เราต้องการ ผมคิดถึงประสบการณ์ของโดราเอม่อน แล้วก็ถามกับตัวเองว่า เป้าหมายแท้จริง รางวัลแท้จริง ชีวิตแท้จริง
ของเราอยู่ที่ไหน ประสบการณ์ในวัยเด็กได้สอนอะไรเราบ้างหรือเปล่านะ หรือว่าผมยังย่ำอยู่บนความคิดเดิม ๆ วิธีปฏิบัติ
แบบเดิม ๆ และเชื่อว่า ถ้าทำแบบนั้น เราจะได้ผลลัพธ์ใหม่?
ผมถามตัวเอง???
จริงของโดราเอม่อน

บางหลวงบางกอก

วันศุกร์ที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

สารวัดวันอาทิตย์ที่ 24 กรกฎาคม 2016

สวัสดีครับ พี่น้องที่รัก
                เหลือเวลาอีกเพียงประมาณ 1 เดือนเท่านั้นที่วันฉลองวัดเซนต์หลุยส์ของเราจะเวียนมาบรรจบอีกวาระหนึ่ง พ่อจึงอยากจะแจ้งประชาสัมพันธ์กับพี่น้องถึงการเตรียมการจัดฉลองวัดของเราให้พี่น้องทราบบ้าง
                ปีนี้วันฉลองวัดของเราคือวันอาทิตย์ที่ 28 สิงหาคม พ่อได้เรียนเชิญพระคาร์ดินัล ฟรังซิสเซเวียร์ เกรียงศักดิ์ โกวิทวาณิช มาเป็นประธานฉลองวัดของเรา จะว่าไปแล้วตั้งแต่พระคุณเจ้าได้รับการสถาปนาสมณศักดิ์เป็นพระคาร์ดินัล พระคุณเจ้ายังไม่เคยมาเป็นประธานในพิธีฉลองวัดของเราเลย ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่วัดเซนต์หลุยส์ของเราจะได้ต้อนรับพระคาร์ดินัล ฟรังซิสเซเวียร์ เกรียงศักดิ์ โกวิทวาณิช อย่างเป็นทางการครับ พิธีบูชาขอบพระคุณจะเริ่มในเวลา 10.00 . อยากเรียนเชิญพี่น้องมาร่วมพิธีกันมากๆเช่นเคยนะครับ
                ในแง่ของการเตรียมจิตใจของสัตบุรุษก่อนการฉลองวัด พ่อได้เรียนเชิญพระสงฆ์ที่ฉลองครบรอบ 25 ปีแห่งการเป็นพระสงฆ์มาเป็นประธานในพิธีและเทศน์เตือนใจพี่น้อง 3 สัปดาห์ล่วงหน้าก่อนฉลองวัดในพิธีรอบ 10.00 . ตามรายละเอียดดังนี้
                วันอาทิตย์ที่ 7 สิงหาคม คุณพ่อสุนัย สุขชัย
                วันอาทิตย์ที่ 14 สิงหาคม คุณพ่อประชาชาติ ปรีชาวุฒิ
                วันอาทิตย์ที่ 21 สิงหาคม คุณพ่อสมชาย อัญชลีพรสันต์
                วันเสาร์ที่ 27 สิงหาคม คุณพ่อวิทยา ลัดลอย ประธานในพิธีฉลองภายใน มิสซาเวลา 17.30 . หลังพิธีมีแห่พระรูปนักบุญหลุยส์รอบวัด
                วันอาทิตย์ที่ 28 สิงหาคม วันฉลองวัดเซนต์หลุยส์ ของเรา อยากเรียนเชิญพี่น้องทุกท่านมาร่วมในพิธีวันฉลองกันให้มากๆนะครับ เพื่อเทิดเกียรตินักบุญหลุยส์องค์อุปถัมภ์วัดของเรา เพื่อสดุดีชีวิตอันเป็นแบบอย่างแห่งความเชื่อ ความศรัทธาของท่าน ทั้งนี้ในวันนั้น จะไม่มีพิธีมิสซารอบ 8.00 . และ รอบ 12.00 . นะครับ คงมีเพียงพิธีในรอบ 6.00 . และ รอบ 17.30 . นอกเหนือจากพิธีในรอบ 10.00 . ซึ่งเป็นพิธีฉลองใหญ่
                ในแง่ของการจัดเลี้ยงอาหารสัตบุรุษ ก็มีการเตรียมอาหารเที่ยงไว้จัดเลี้ยงพี่น้องสัตบุรุษที่มาร่วมฉลองวัดภายในโรงเรียนเซนต์หลุยส์ศึกษาเช่นเคยครับ
                ในด้านสถานที่ เนื่องจากสถานที่โดยเฉพาะที่บริเวณศาลาหลุยส์มารี และ บริเวณลานหน้าบ้านพักพระสงฆ์กำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้าง ดังนั้นความกว้างขวางของพื้นที่ใช้สอยในบริเวณวัดของเราในปีนี้มีจำกัด อาจเกิดความคับแคบและไม่สะดวกในเรื่องต่างๆบ้าง เป็นเรื่องที่ต้องยอมรับ หวังว่าในปีหน้าเราจะมีพื้นที่จัดงานที่สวยงามและสะดวกกว่าปีนี้ครับ
                พ่อต้องถือโอกาสนี้ขอบคุณคณะกรรมการสภาภิบาลวัดเซนต์หลุยส์ที่ได้จัดเตรียมงานฉลองวัดกันตั้งแต่เนิ่นๆ ขอขอบคุณพี่น้องหลายท่านที่มีจิตศรัทธาเป็นเจ้าภาพจัดอาหารเลี้ยงสัตบุรุษ ขอบคุณคณะนักขับร้องที่เตรียมซ้อมขับร้องบทเพลงในพิธีกันล่วงหน้านับเป็นเวลาถึงเกือบสองเดือนทีเดียว นอกจากนี้ยังต้องรำลึกถึงผู้คนอีกมากมายหลายท่านที่ไม่สามารถเอ่ยชื่อกันได้หมด ณ ตรงนี้ที่มีส่วนช่วยในด้านต่างๆ เพื่อเตรียมการให้งานฉลองวัดของเราที่กำลังจะมาถึงได้เป็นไปอย่างราบรื่นเรียบร้อยอย่างที่เราหวังกันครับ

พ่อสุพจน์
..............................................................................................................


ข้างบัลลังก์นักบุญหลุยส์ : สุข(า)จ๋า อยู่หนใด 

เก็บทุกข์ไว้กับตัว 
ก็เหมือนเก็บของเสียไม่ได้ถ่าย 

อะไรที่มันหนัก ปลดมันไปบ้างก็ได้ 
ไม่จำเป็นต้องเก็บไปทุกอย่าง 
เพราะสมองคงไม่ว่างพอ 
จะจดจะจำไปซะทุกเรื่อง 

ทุกข์ที่หนัก บ้างก็จำต้องปลด 
จึงเรียกว่ารู้จัก ปลดทุกข์ 

เก็บทุกข์หนักไม่รู้จักปลด ระวังท้องจะผูก สมองจะพัง 
ปลดทุกข์เป็นประจำ จึงจักรู้ว่า สุข(า) 

#สุขากว้างใหญ่ 
#สุขภัณฑ์นั่งสบาย 






บาทหลวงบางกอก 


วันศุกร์ที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

สารวัดวันอาทิตย์ที่ 17 กรกฎาคม 2016

พี่น้องที่รัก
            วันนี้พ่อขอนำเอาข้อคิดสะกิดใจมาฝากกันครับ

            "เมื่อท่านเข้าไปในป่า แล้วมองไปยังหมู่แมกไม้นานาชนิด
            ท่านพบว่า ไม้แต่ละชนิดก็แตกต่างกันออกไป
            บ้างก็มีลำต้นโค้งงอบิดไปบิดมา
            บ้างก็มีลำต้นตรงขึ้นสู่ท้องฟ้า
            บ้างก็มีใบสีเขียวสดอยู่เสมอ
            บ้างก็มีลักษณะที่เป็นไปตามธรรมชาติของมัน
            ท่านมองแล้ว ก็เห็นว่าทุกอย่างเป็นไปตามธรรมชาติ
            ท่านเข้าใจทันทีว่า ที่ลำต้นของต้นไม้บางชนิด โอนเอนไม่ขึ้นตั้งตรง
            ก็เพราะว่ามันได้รับแสงสว่างไม่เพียงพอ มันพยายามแสวงหาช่องว่างเพื่อรับแสงแดด
            แล้วมันก็เป็นไปเช่นนั้น
            ท่านชื่นชมที่มันเป็นของมันอย่างนั้น
            ทุกอย่างดูกลมกลืนสวยงาม
                        แต่เมื่อท่านเข้าใกล้ผู้คน
            ท่านกลับมีความรู้สึกแตกต่างออกไป
            ได้แต่พูดบ่นออกมาว่า คนนี้ก็เป็นยังงี้มากไป คนนั้นก็เป็นอย่างนั้นเกินไป
            สมองเพียรเฝ้าตัดสิน คนนั้น คนนี้เรื่อยไป
                        ดังนั้น ฉันจึงเริ่มต้นฝึกฝนที่จะเปรียบผู้คนกับมวลแมกไม้ในธรรมชาติ
            หมายความว่า ชื่นชมเขา อย่างที่เขาเป็น"

            อ่านข้อความข้างต้นแล้วก็คิดได้ว่า ความหงุดหงิด ไม่สบอารมณ์ที่เกิดขึ้นอยู่บ่อย ๆ คงหายไปได้เยอะ ถ้ารู้จักปรับวิธีคิด ในการมองผู้อื่นด้วยความชื่นชม และ ยอมรับเขาอย่างที่เขาเป็น


พ่อสุพจน์
...............................................................................................................................
ข้างบัลลังก์นักบุญหลุยส์ : ว่าด้วยเรื่องของบาป (3) 

สงฆ์สัย :  “คุณพ่อ ๆ ผมไม่มีบาป ไม่ได้ทำบาปเลย จะสิบปีละ ต้องไปแก้บาปไหม?? 
สงฆ์รู้   :   “………..”  หยุดคิดครู่หนึ่ง คุกเข่าลงกับพื้นดิน  
สงฆ์รู้  :   “ขอท่านโปรดอวยพรให้พ่อคนบาปด้วยครับ เพราะท่านคงเป็นนักบุญแล้ว”  
สงฆ์สัย : “อ้าว!!!”  
………………………………………………… 
ในจดหมายนักบุญยอห์นฉบับที่ 1 เขียนไว้ว่า “ถ้าเราพูดว่า "เราไม่มีบาป" เรากำลังหลอกตนเอง และ "ความจริง" ไม่อยู่ในเรา พระองค์ทรงซื่อสัตย์และทรงเที่ยงธรรม   ถ้าเราสารภาพบาปพระองค์จะทรงอภัยบาปของเรา และจะทรงชำระเราให้สะอาดจากความอธรรมทั้งปวง ถ้าเราพูดว่า "เราไม่เคยทำบาป" เราก็ทำให้พระองค์ตรัสคำเท็จ และพระวาจาของพระองค์ไม่อยู่ในเรา ลูกที่รักทั้งหลาย ข้าพเจ้าเขียนเรื่องนี้ถึงท่าน เพื่อท่านจะได้ไม่ทำบาป แต่ถ้าใครทำบาป   เรายังมีทนายแก้ต่างให้เฉพาะพระพักตร์ของพระบิดา คือพระเยซูคริสตเจ้า ผู้ทรงเที่ยงธรรม พระองค์ทรงเป็นเครื่องบูชาชดเชยบาปของเราและไม่เพียงแต่ชดเชยเฉพาะบาปของเราเท่านั้น แต่ชดเชยบาปของมนุษย์ทั้งโลกด้วย” (1ยน 1:8-2:2) 
การคิดว่าจะต้องแก้บาปไหม? ทำให้พ่อตั้งสันนิษฐานได้ว่า ผู้ถามคงจะรู้ว่า ตนเองได้ทำบาป แต่ 1.อาจจะพิจารณาบาปไม่เป็น 2. ไม่รู้ว่าจะต้องบอกกับพระสงฆ์ยังไงเพราะไม่เจอคำจำกัดความในบทบัญญัติฯ 3. ไม่ใช่ว่าจะไม่มีบาป หรือไม่เคยทำบาป แต่เป็นผู้มีความเขลาและไม่รู้จริง ๆ ว่าสิ่งที่ได้กระทำนั้นเป็นบาป 4. คิดว่าเป็นบาปเล็กน้อย เลยไม่จำเป็นต้องบอก 5. มโนธรรมตายด้าน จึงไม่เห็นว่า ตนได้กระทำบาปอะไรเลย 6. มีความละอายที่จะต้องสารภาพความอ่อนแอ บาป หรือความไม่ดีที่ตนทำกับพระสงฆ์ นาน ๆ เข้า ลืมจำไม่ได้ ก็เลยเลือกที่จะไม่สารภาพบาปเลย 
ดังที่ท่านนักบุญยอห์นได้เขียนไว้ในจดหมายของท่าน แม้เรายังทำบาป เรายังมีพระเยซูผู้ทรงชดเชยใช้โทษบาปแทนเราแล้ว การพิจารณาบาป จึงไม่ใช่แค่การพิจารณาตามกฎบทบัญญัติของพระเจ้าเท่านั้น แต่ต้องพิจารณาถึงการกระทำต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันด้วย แม้ไม่ได้ปรากฏอยู่ในบทบัญญัติของพระเจ้า, บทบัญญัติของพระศาสนจักร, บาปต้น 7 ประการ ยกตัวอย่าง เช่น 
·                  บาปละเลย เช่น ในฐานะที่เป็นสามีภรรยากัน เราควรจะใส่ใจดูแลความเป็นอยู่ในบ้านตามฐานะที่มี แต่เราละเลยที่จะกระทำตามบทบาทหน้าที่ที่มี เป็นต้น สิ่งดีที่ควรทำ ความรักที่ควรปฏิบัติ แต่เราไม่ทำ ไม่ปฏิบัติ เมื่อมีโอกาส เราก็กำลังทำบาปละเลยอยู่  
·                  บาปของการเป็นที่สะดุด เช่น ในฐานะที่เป็นคริสตชน เราพึงต้องไปปฏิบัติศาสนกิจวันอาทิตย์ แต่เราละเลย ด้วยเหตุผลที่เบาบาง แล้วยังบอกกับลูกหลานเราด้วย ว่าถ้ามีธุระก็ไม่เป็นไร เราขาดวัดแบบง่าย ๆ แล้วยังสอนลูกหลานของเราด้วย เราก็กำลังทำตนเป็นที่สะดุด เป็นต้น เพราะว่าแทนที่เราจะเป็นแบบอย่างให้กับลูกหลาน นำพาเขาไปสู่ความดี แต่เราไม่ทำ และยังขวางกั้น ไม่สอนไม่บอกให้เขาปฏิบัติ เราก็เป็นเสมือนหินก้อนใหญ่ ที่ทำให้ลูกหลานของเราต้องสะดุดล้ม เพราะการกระทำของเรา  
·                  บทบาทหน้าที่ ก็เป็นสิ่งที่เราต้องพิจารณาด้วย  เช่น เราได้เอาเปรียบนายจ้างหรือเพื่อนร่วมงาน ด้วยการไม่ทำงาน เล่น Social เล่นเกมส์ โกงเวลางาน เป็นต้น    
อันที่จริง ก็ยังมีอีกหลายประเด็น ที่เราจะนำมาพิจารณาได้ เช่น ในฐานะที่เราเป็นคริสตชน เราได้ปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระเยซูเจ้าอย่างครบถ้วนหรือไม่? เป็นต้น คำถามก็คือ ที่คิดว่าไม่มีบาป ไม่ได้ทำบาป หรือ ไม่จำเป็นต้องแก้บาปนั้น เราคิดเข้าข้างตัวเองหรือเปล่าว่า สิ่งที่เราทำไม่ถือเป็นบาป เราได้ใช้เวลาอย่างดีในการพิจารณาการกระทำแบบถ้วนถี่หรือไม่  
นอกที่ฟังแก้บาปครั้งหนึ่ง พ่อเคยถูกถามว่า การที่เราพูดความจริงของคนอื่นบาปไหม?โดยตัวการกระทำ การพูดความจริง ไม่ใช่บาป แต่เมื่อพ่อชวนพิจารณาองค์ประกอบต่าง ๆ รวมกันกลับพบว่า การพูดความจริงนี้ เป็นบาปอย่างแน่นอน เพราะประการแรก ผู้พูดคิดไปเองว่า สิ่งที่พูดคือ ความจริง เพราะแท้จริง เป็นเพียงสิ่งที่ได้ยินต่อ ๆ กันมาในความไม่ดีของบุคคลที่ถูกกล่าวถึง ประการที่สอง แม้ว่า ดูเหมือนว่ามาจากเจตนาที่ดี คือ อยากให้ผู้ที่พูดถึงปรับปรุงตนเอง แต่วิธีการ คือ พูดสิ่งที่คิดว่าเป็นความจริงนี้ลับหลังเขา โดยเจ้าตัวไม่มีโอกาสล่วงรู้ และส่งผลให้เกิดความคิดในแง่ลบมากกว่า ประการสุดท้าย ผลลัพธ์ที่ได้มา ไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้ที่ถูกกล่าวถึง แต่เป็นการสร้างความเสียหายแก่บุคคลนั้น แม้ว่า ในกรณีนี้ เรื่องที่เราจะเป็นความจริง แต่วิธีการที่ทำก็เข้าข่ายการนินทา อันเป็นบาปอยู่ดี  
พี่น้องครับ วิธีการที่ผิดไม่สามารถเปลี่ยนการกระทำให้ถูกได้ และเพียงการกระทำเดียวนี้ เราพบว่า นี่ไม่ใช่บาปของการนินทาเท่านั้น แต่เป็นการตัดสินผู้อื่นด้วยเบาความ การใส่ความ และขาดความยุติธรรมและความรักต่อเพื่อนพี่น้องอีกด้วย    
พี่น้องครับ การพิจารณาบาปจึงไม่ใช่ความคิดแค่ว่า “ฉันได้ทำบาปหรือไม่? ฉันได้ทำบาปอะไร? หรือ ฉันไม่ได้ทำบาป”  แต่เราต้องพิจารณาด้วยว่า ในความดีที่เราพึงกระทำ-ในความรักที่เราต้องปฏิบัติ กับพระเจ้า กับเพื่อนมนุษย์บ้าน กับตัวเราเอง เราได้ทำหรือไม่ การไม่ทำชั่วทำบาป ไม่ใช่เครื่องการันตี ว่าเราเป็นคนดีแล้ว เพราะในฐานะที่เราเป็นบุตรของพระเจ้า พระองค์ประสงค์ให้เราได้ประกาศข่าวดีแห่งความรอดพ้นด้วย ผ่านทางการกระทำ ผ่านทางการดำเนินชีวิต ผ่านทางความดีและความรักที่เราจะส่งต่อไปให้กับทุก ๆ คนด้วย  
บางหลวงบางกอก

วันศุกร์ที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

สารวัดวันอาทิตย์ที่ 10 กรกฎาคม 2016

พี่น้องที่รัก
            การดำเนินการก่อสร้างและการปรับปรุงศาลาหลุยส์มารี ได้ก้าวหน้ามาหลายขั้นตอนแล้ว ขณะนี้ในส่วนของศาลาเอนกประสงค์ได้ทำฐานรากและหล่อเสาเสร็จแล้ว ฝ่ายก่อสร้างกำลังดำเนินการเชื่อมต่อโครงสร้างหลังคาที่ทำด้วยเหล็กตามที่พี่น้องคงพอจะเห็นแล้ว ในส่วนของศาลาหลุยส์มารีเดิม ก็มีการรื้อถอนพื้นกระเบื้องเดิมและเพดานออก เพื่อดำเนินการปรับปรุงการตกแต่งภายในใหม่ แม้พ่อจะรู้สึกว่าการดำเนินการก่อสร้างและปรับปรุงนี้ค่อนข้างจะล่าช้ากว่าที่ควรจะเป็น แต่ก็ยังหวังว่าผู้รับเหมาจะสามารถทำงานแล้วเสร็จตามกำหนดการเดิม ขอภาวนาให้เป็นเช่นนั้น
            โอกาสนี้พ่อและสภาภิบาลได้ร่วมกันหารือเพื่อช่วยกันในการรณรงค์เพื่อขอความร่วมมือจากพี่น้องผู้มีจิตศรัทธาทุกท่านได้ช่วยกันคนละไม้คนละมือในการประชาสัมพันธ์ และหาแนวร่วมเพื่อช่วยกันรวบรวมเงินบริจาคเพื่อสมทบทุนกับทางวัด ดำเนินการสร้างศาลาเอนกประสงค์และปรับปรุงศาลาหลุยส์มารีให้สวยงามพร้อมสำหรับการให้บริการ เป็นสถานที่จัดงานพิธีสวดภาวนาอุทิศแด่ผู้ล่วงลับ และใช้สำหรับกิจกรรมต่าง ๆ ของทางวัดอย่างที่เคยเป็นมา รวมไปถึงการปรับปรุงถนนทางเดินรอบวัดระบบไฟส่องสว่าง หลังคากันแดดกันฝนเชื่อมจากถนนสาทรมายังโรงเรียน และทางเชื่อมจากวัดมายังลานกาแฟ ทั้งนี้เมื่อโครงการสำเร็จเสร็จสิ้นแล้วจะช่วยอำนวยความสะดวกให้กับพี่น้องสัตบุรุษที่มาสวดภาวนาและร่วมกิจกรรมที่วัดเซนต์หลุยส์ได้ดียิ่งขึ้นกว่าเดิม
            แนวทางที่เป็นผลจากการหารือกันในสภาภิบาล คือ
            1. จัดตู้รับบริจาคไว้ในบริเวณวัดและทางเข้าออกวัด เพื่อพี่น้องที่มีจิตศรัทธาจะสามารถบริจาคเงินได้ที่ตู้รับบริจาคโดยตรง และวางตู้รับบริจาคไว้ตลอดจนถึงช่วงเวลาที่เห็นว่าเหมาะสม
            2. ทำซองบริจาคแจกจ่าย โดยมีข้อความอธิบายที่มาของโครงการ เพื่อจูงใจให้ผู้มีจิตศรัทธาร่วมบริจาค ซองบริจาคนี้จะช่วยให้พี่น้องสัตบุรุษสามารถช่วยกันบอกบุญไปยังญาติพี่น้องหรือผู้มีจิตศรัทธาที่อยู่ห่างไกลสามารถร่วมในบุญกุศลร่วมจัดสร้างได้ตามความศรัทธา
            3. จัดทำการแยกแยะค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างออกมาเป็นรายละเอียด เพื่อหาผู้มีจิตศรัทธาอุปถัมภ์จัดสร้างตามส่วนนั้น ๆ อาทิ เครื่องปรับอากาศ ระบบไฟ เสา คาน พื้น และการก่อสร้างในส่วนต่าง ๆ
            4. จัดกิจกรรมพิเศษขึ้นตามโอกาส โดยมีจุดประสงค์เพื่อหารายได้สมทบทุนการก่อสร้าง การดำเนินการรณรงค์เพื่อขอน้ำใจและเชิญชวนผู้มีจิตศรัทธาให้ร่วมบริจาคจะเริ่มดำเนินการตั้งแต่สัปดาห์นี้เป็นต้นไป โดยเริ่มจากการตั้งตู้บริจาคก่อน หลังจากนั้นจะเป็นการแจกจ่ายซองบริจาค และ หาผู้มีจิตศรัทธาอุปถัมภ์ค่าใช้จ่ายสำหรับการก่อสร้างส่วนต่าง ๆ
            ตามที่พ่อเคยประชาสัมพันธ์กับพี่น้องมาก่อนหน้านี้แล้วว่าค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างตามโครงการที่ได้ประเมินไว้มีมูลค่าประมาณ 16 ล้านบาท บัดนี้ได้มีผู้มีจิตศรัทธาได้ร่วมสร้างบุญสร้างกุศลร่วมบริจาคมาแล้ว สองล้านหนึ่งแสนเจ็ดหมื่นบาท พ่อจึงขอความร่วมมือร่วมใจมายังพี่น้องสัตบุรุษทุกท่านโปรดช่วยกันคนละไม้คนละมือ เพื่อในการประชาสัมพันธ์เชิญชวนรวมถึงช่วยกันบริจาคมากบ้างน้อยบ้างตามกำลังความสามารถในการกุศลครั้งนี้
            ถ้าพี่น้องมีข้อแนะนำหรือความคิดเห็นประการใดที่เห็นว่าเป็นประโยชน์สำหรับการเรี่ยรายบริจาคเพื่อการก่อสร้างและปรับปรุงศาลาหลุยส์มารีโปรดแจ้งให้พ่อทราบด้วยจักเป็นพระคุณอย่างยิ่ง
            ขอพระเจ้าทรงพระเมตตาตอบแทนพี่น้องร้อยเท่าพันทวีครับ

พ่อสุพจน์
.............................................................................................
ข้างบัลลังก์นักบุญหลุยส์ : ว่าด้วยเรื่องของบาป (2) 

สงฆ์สัย : “คุณพ่อ ๆ ผมจำบทแก้บาปไม่ได้ ต้องทำยังไงครับ ถ้าจะเข้าไปแก้บาป? 
สงฆ์รู้ : “………..”  หยุดคิดครู่หนึ่ง 
สงฆ์รู้ : “ก็บอกพ่อในที่ฟังแก้บาปไปแบบนั้นแหละครับ ว่าจำไม่ได้???”  
สงฆ์สัย : “ได้เหรอครับ!!!... ”  
………………………………………………… 
พ่อคิดว่า นี่เป็นหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้คริสตชนหลายคน ไม่กล้ามารับศีลอภัยบาป “จำบทแก้บาปไม่ได้? // การจำบทแก้บาปได้ ไม่ได้เป็นความผิดหรือเป็นบาป อันที่จริงแล้ว บทแก้บาป หรือ บทขออภัยบาป เป็นเสมือนเครื่องมือ ที่จะช่วยนำเราเพื่อจะได้สารภาพอย่างดีอย่างครบถ้วน เพื่อจะได้ไม่ลืมสารภาพในสิ่งที่จำเป็นต้องสารภาพ Easy way out หรือ ทางออกแบบง่ายที่สุด ก็คือ การบอกกับพระสงฆ์ผู้โปรดศีลอภัยบาป ไปตามตรงว่า “จำไม่ได้”//(อย่างไรก็ตาม กรณีแบบนี้  ไม่น่าจะเกิดขึ้นที่วัดของเรา เพราะว่า ในที่ฟังแก้บาป หรือ ที่โปรดศีลอภัยบาปของวัดเรา จะมีแผ่นกระดาษสีเหลือง ที่แปะไว้ตรงฝาแก้บาป เพื่อช่วยให้รู้ว่าจะต้องพูดอะไรบ้าง ซึ่งก็เป็นทางออกที่ดี สำหรับคนที่จำบทแก้บาปไม่ได้) แต่ในกรณีที่ไม่มีหละ!! จะต้องบอกอะไรบ้าง??  
ประการแรก เราเริ่มต้นด้วยการทำสำคัญมหากางเขน ภาษาบ้าน ๆ เรียก “การทำเดชะพระนาม” นั่นเอง ต่อด้วย การเกริ่นนำ คือ “คุณพ่อที่เคารพ โปรดอวยพรแก่ลูก (ข้าพเจ้า/ดิฉัน/ผม/หนู) เพื่อลูกจะได้รับศีลอภัยบาปอย่างดี” หรืออะไรทำนองนี้ และต่อมาก็คือ สิ่งที่เราจำเป็นจะต้องสารภาพ ได้แก่ 
·                ไม่ได้รับศีลอภัยบาปมานานเท่าไหร่คือ นับจากการแก้บาปครั้งสุดท้าย เป็นระยะเวลานานเท่าไหร่ 14 วัน หรือ 2 สัปดาห์ หรือ 1 เดือน ฯลฯ 
·                พระสงฆ์ได้อภัยบาปหรือยัง? และได้ทำกิจใช้โทษบาปหรือยัง 
    คือ เมื่อการสารภาพครั้งก่อนนั้น พระสงฆ์ได้ให้อภัยบาป หรือ โปรดบาปให้หรือไม่ ซึ่งโดยปกติ ถ้าไม่ได้มีบาปที่ถูกสงวนไว้ พระสงฆ์ก็จะอภัยบาปให้ทั้งหมด  
ส่วนกิจใช้โทษบาปนั้น คือ บทสวด กิจการดี การพลีกรรม ฯลฯ ที่พระสงฆ์ได้บอกให้พี่น้องได้ทำในการสารภาพบาปครั้งก่อน ซึ่งพี่น้องจำเป็นต้องบอกกับพระสงฆ์ในการรับศีลอภัยบาปครั้งนี้ด้วยว่า ได้กระทำหรือยัง ถ้าไม่ได้ทำเพราะอะไร? ซึ่งโดยปกติ ก็แนะนำให้ทำทันที หลังจากที่ได้รับศีลอภัยบาปแล้ว อันที่จริง ในเรื่องนี้ พี่น้องสามารถทำได้มากกว่าที่พระสงฆ์เสนอแนะ หรือบอกให้ทำหลังการรับศีลอภัยบาปได้ เพื่อเป็นการชดเชดใช้โทษบาป 
·                 การสารภาพบาป การสารภาพบาปนั้น คือ การบอกถึงบาปที่ได้ทำอย่างครบถ้วน คือ กรณีของบาปหนัก จำเป็นที่จะต้องสารภาพบาปที่ทำพร้อมกับจำนวนครั้งอย่างชัดเจน เช่น ขาดการร่วมพิธีบูชาขอบพระคุณในวันอาทิตย์ 3 ครั้ง / 3 เดือน / 3 ปี เป็นต้น รวมถึงการสารภาพบาปเบาที่ได้กระทำ พร้อมกับจำนวนด้วย เช่น โลภอาหาร 4 ครั้ง, โมโห หลายครั้ง เป็นต้น ในกรณีที่บาปนั้นเกิดขึ้นเป็นประจำจนไม่สามารถจำครั้งได้ ให้ประมาณ เช่น วันละ 3 ครั้ง หรือ อาทิตย์ละ 10 ครั้ง หรือ หากจำไม่ได้จริง ๆ ให้ประมาณ หรือ หากประมาณไม่ได้ ก็แจ้งกับพระสงฆ์ไปได้ว่า “หลายครั้ง” แล้วจึงจบด้วยประโยคที่ว่า “และขอสารภาพบาปอื่น ๆ ที่ได้ลืมไป และที่เคยสารภาพในครั้งก่อนด้วย” หรือประโยคทำนองนี้ 
หมายเหตุ ในกรณีที่มีบาปหนักที่ยังไม่ได้สารภาพ ก็ให้สารภาพด้วย แต่หากผู้สารภาพมีเจตนาหรือตั้งใจที่จะปิดบัง หรือ ปกปิดบาป ไม่สารภาพบาปทั้งหมด หรือ บาปบางประการ ถือว่า เป็นการทำทุรจารต่อศีลอภัยบาป เป็นบาปหนัก และจำเป็นต้องสารภาพกับพระสงฆ์คราวต่อไปด้วยว่า “ทำการทุรจารต่อศีลอภัยบาปโดยการปกปิดบาป”  
การรับศีลมหาสนิทโดยไม่อยู่ในสถานะพระหรรษทานอันเนื่องมาจากการทำบาปหนักนั้น ถือเป็นการทำทุรจารต่อศีลมหาสนิทด้วย 
ดังนั้น ก่อนจะถึงการสารภาพได้อย่างดี จึงจำเป็นต้องผ่านการพิจารณาและเป็นทุกข์ถึงบาปอย่างดี คือ การทบทวน ใคร่ครวญ ไตร่ตรอง ถึงสิ่งที่ตนกระทำตลอดระยะเวลานับตั้งแต่การแก้บาปครั้งสุดท้าย ว่าได้กระทำสิ่งใดบ้างต่อพระเจ้า ต่อเพื่อนพี่น้อง ต่อสิ่งสร้างของพระเจ้า และต่อตนเอง อันเป็นการกระทำที่ถือว่าเป็นบาป ขัดต่อบทบัญญัติแห่งความรัก บทบัญญัติพระเจ้า, บทบัญญัติพระศาสนจักร, บาปต้น 7 ประการ, บทบาทหน้าที่ที่เราพึงต้องกระทำในฐานะที่เป็นสมาชิกในครอบครัว สังคม ประเทศชาติ และพระศาสนจักร เป็นต้น 
…………………………………… 
การมารับศีลอภัยบาป ทั้ง ๆ ที่จำบทสูตร หรือ บทขออภัยบาป ไม่ได้ จึงไม่ใช่เรื่องน่ากลัวแต่อย่างใด  เพราะที่น่ากลัวกว่า คือ การเดินเข้าวัดมา แล้วก็เดินเข้าไปในที่ฟังแก้บาปเลย โดยไม่ได้ใช้เวลาอย่างดีในการพิจารณาบาปและเป็นทุกข์ถึงบาป นึกอะไรได้ก็บอก นึกไม่ออก ก็บอกว่าบาปไม่มี ทั้งที่จริง ๆ แล้วก็ทำ แต่ไม่ได้บอก เพราะไม่ได้พิจารณาบาปอย่างดี  
ศีลศักดิ์สิทธิ์ เป็นของประทาน เป็นพระพรจากพระ ไม่เป็นการดีแน่ ๆ ถ้าเราจะทำแบบขอไปที ทำแบบให้ผ่าน ๆ ไป ให้จบ ๆ ไป ทำแบบไม่ตั้งใจ ขอโทษพระและพี่น้องแบบขอไปที เพราะถ้ามีใครที่ขอโทษเราแบบนั้น เราก็คงไม่ชอบเหมือนกัน  

บาทหลวงบางกอก

วันศุกร์ที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

สารวัดวันอาทิตย์ที่ 3 กรกฎาคม 2016

พี่น้องที่รัก
            สัปดาห์นี้พระศาสนจักรคาทอลิกเทิดเกียรติสมโภชท่านนักบุญเปโตรและเปาโล อัครสาวกผู้ก่อร่างสร้างพระศาสนจักรในยุคแรก ท่านนักบุญทั้งสองเป็นบุคคลสำคัญที่ทำการเผยแผ่คำสอนของพระเยซูให้กว้างขวางออกไปจากดินแดนคานาอันไปสู่นานาประเทศ
            เปโตรเป็นศิษย์ก้นกุฏิของพระเยซู ท่านตอบรับการเรียกของพระเยซู จากการเป็นชาวประมงหาปลาพื้นบ้านมาสู่การเป็นผู้วางแหอวนรวบรวมวิญญาณมนุษย์เข้ามาในอ้อมอกของพระเจ้า เปโตรทำทุกสิ่งด้วยใจใสซื่อของท่าน แม้จะหุนหันพลันแล่น แต่ก็มั่นคงเด็ดเดี่ยว ท่านจึงกลายเป็นหลักศิลาที่มั่นคงวางรากฐานของพระศาสนจักรให้แข็งแรงเป็นปึกแผ่น ท่านอุทิศชีวิตของท่านเพื่อประกาศข่าวดีของพระเยซูจนวาระสุดท้ายของชีวิต และท่านได้สละชีวิตเป็นมรณสักขีเพื่อยืนยันความเชื่อความวางใจในองค์พระเจ้าของท่านโดยไม่หวั่นเกรงอันตรายใด ๆ ชื่อของเปโตรได้รับการกล่าวเป็นลำดับต้นเสมอ ๆ ในพระวรสาร แสดงให้เห็นว่าบรรดาศิษย์ของพระเยซูต่างยอมรับการเป็นผู้นำของท่าน ท่านจึงได้รับความไว้วางใจจากพระเยซูให้ทำหน้าที่เป็นผู้ปกครองพระศาสนจักรสืบต่อจากพระองค์ สัญลักษณ์สำคัญของเปโตรที่ปรากฏสืบเนื่องต่อมาคือ กุญแจสวรรค์ รูปปั้นของนักบุญเปโตรจึงมีกุญแจปรากฏอยู่ที่มือของท่านด้วยเสมอ
            เปาโล คืออัครสาวกอีกองค์หนึ่งที่นำข่าวดีของพระเยซูออกไปประกาศในดินแดนนอกเขตปาเลสไตน์ท่านเดินทางออกไปในแว่นแคว้นรอบทะเลเมดิเตอร์เรเนียน เพื่อประกาศข่าวดีและตั้งกลุ่มคริสตชน ที่มีความเชื่อในองค์พระคริสต์ แม้ชีวิตของเปาโลจะเริ่มต้นด้วยการเป็นปฏิปักษ์กับพวกคริสตชนและมีส่วนในการเบียดเบียนคริสตชน แต่ท่านก็หันเหและเปลี่ยนแปลงการดำเนินชีวิตแบบถอนรากถอนโคน กลับกลายมาเป็นสาวกที่ทุ่มเทอุทิศตนให้กับการประกาศข่าวดีอย่างเต็มที่ ผลของการเปลี่ยนแปลงชีวิตของท่านทำให้พระศาสนจักรยุคแรกเผยแผ่ออกไปทั่วดินแดนอย่างรวดเร็ว นักบุญเปาโลเขียนจดหมายเพื่อการอภิบาลกลุ่มคริสตชนหลายฉบับ เนื้อหาในจดหมายของท่านช่วยเราให้เข้าใจคำสอนที่สำคัญของพระเยซูอย่างลึกซึ้งมากมาย ท้ายที่สุดชีวิตของเปาโลได้เป็นมรณะสักขีเช่นกัน ท่านถูกประหารชีวิตด้วยดาบ เป็นการหลั่งโลหิตเพื่อยืนยันความเชื่อในองค์พระเจ้าอย่างเต็มภาคภูมิเช่นกัน สัญลักษณ์สำคัญของเปาโลที่ปรากฏอยู่ที่รูปปั้นของท่านคือ หนังสือพระคัมภีร์และมีดดาบ
            เสาหลักที่สำคัญสองต้นของพระศาสนจักรนี้จึงค้ำจุนพระศาสนจักรเรื่อยมา พระเยซูเคยตรัสเอาไว้ว่า "พระศาสนจักรของพระองค์จะไม่มีวันล่มสลาย" เป็นคำพูดที่ยืนยันว่า สมาชิกของพระศาสนจักรจะช่วยกันทุกวิถีทางเพื่อทำให้พระศาสนจักรตั้งมั่นคงอยู่เสมอไป ด้วยการอุทิศตนยืนยันความเชื่อในองค์พระผู้เป็นเจ้าแม้จะต้องเผชิญกับการเบียดเบียนในรูปแบบต่าง ๆ คริสตชนจะไม่ย่อท้อยอมอุทิศแม้ชีวิต เพื่อพระอาณาจักรของพระเจ้าจะดำรงคงอยู่เสมอไปในทุกยุคทุกสมัย


พ่อสุพจน์
....................................................................................................................................
ข้างบัลลังก์นักบุญหลุยส์ : ว่าด้วยเรื่องของบาป (1) 

สงฆ์สัย : “คุณพ่อ ๆ ถ้าทำแบบนู้น แบบนี้ แบบนั้น... จะบาปไหม?? 
สงฆ์รู้ : “………..”  หยุดคิดครู่หนึ่ง 
สงฆ์รู้ : “แล้วคุณคิดว่าบาปไหมครับ???”  
สงฆ์สัย :“อ้าว!!!... ”  
………………………………………………… 
ตั้งแต่ก่อนบวช จนบวชแล้ว เมื่อพูดถึงเรื่องบาป คำถามหนึ่งที่มักจะถูกถามเสมอ ๆ คือ “พ่อทำแบบนี้ แบบนู้น แบบนี้ บาปไหม?? // ซึ่งคำตอบของพ่อ มักจะเป็นคำถามกลับไปยังผู้ถามเสมอด้วยเช่นเดียวกัน คือ “แล้วคิดว่าบาปไหม??  รีแอ็คชั่นที่กลับมาจากฝั่งผู้ถามพ่อ ก็มีหลายรูปแบบทีเดียว บ้างก็ทำหน้างง ๆ ในใจอาจจะคิดไปด้วยว่า “ถ้ารู้ฉันจะมาถามพ่อทำไม?? หรืออาจจะงุนงวยว่า “อ้าวเป็นพระสงฆ์ยังบอกไม่ได้เลยเหรอ ว่าบาปหรือไม่บาป??  
อันที่จริง เวลาที่ตอบไปแบบนั้น ประการแรก ไม่ใช่ว่ากวน หรือไม่อยากตอบ แต่สิ่งสำคัญในฐานะคริสตชนเหมือนกัน พ่อเคารพในมโนธรรมของพี่น้องแต่ละคน ประการสอง พ่อเชื่อว่า พี่น้องทุกคนรักพระ รักเพื่อนพี่น้อง อย่างแน่นอน และสุดท้าย พ่อเชื่ออย่างหมดหัวใจว่า “ไม่มีใครหรือมนุษย์คนไหนอยากทำบาป!!! ทุกคนอยากทำดี อยากเป็นคนดีกันทั้งนั้น”  
ดังนั้น บนพื้นฐานความคิดความเข้าใจแบบนั้น พ่อจึงตั้งสมมติฐานว่า “ทุกคนมีมโนธรรมที่ดี ทุกคนรักพระและเพื่อนพี่น้อง ทุกคนอยากเป็นคนดี และไม่มีใครอยากทำบาป”   
ในขณะเดียวกัน พ่อก็เข้าใจหัวอกของคนที่มาถามคำถามทำนองนี้ด้วยเหมือนกันว่า ด้วยธรรมชาติของความเป็นมนุษย์ผู้เต็มไปด้วยอารมณ์และความรู้สึก ความเขลาไม่รู้ ความอ่อนแอในธรรมชาติ ความจำกัด เราจึงผิดพลาดได้ เราจึงอ่อนแอเป็น แม้ด้วยความไม่ตั้งใจ หรือละเลย บางที อาจตั้งใจ แต่ไม่มีเจตนา เพราะบางทีอารมณ์ ความรู้สึก ณ ขณะนั้น มันพาไป เราพลาดจึงตกไปในหลุมพรางของปีศาจ บาป และความอ่อนแอตามธรรมชาติของมนุษย์ที่มี 
แล้วสรุป เราจะรู้ได้อย่างไร ว่า “ไอ่ที่ทำบาปหรือไม่บาป?? 
ก่อนอื่น เราต้องตอบกับตัวเองให้ได้ก่อนว่า “การกระทำหรือสิ่งที่เราทำนั้น มีผลทางศีลธรรมหรือไม่?? 
การกระทำหรือสิ่งที่เรากระทำแบบมนุษย์นั้น โดยปกติเราไม่สามารถบอกได้เลยในทันทีว่า บาป หรือ ไม่บาป ยกตัวอย่างเช่น กิน นอน ดื่ม เดิน วิ่ง ฯลฯ เราเรียกว่า เป็นการกระทำแบบมนุษย์ (Act of Human) พูดกันง่าย ๆ ก็คือ อะไรที่มนุษย์ทั่ว ๆ ไปทำ และไม่เกี่ยวข้องกับศีลธรรมนั่นเอง 
ส่วนการกระทำที่มีผลทางศีลธรรม หรือ การกระทำของมนุษย์ (Human Act) นั้น กว่าจะบอกได้ว่าบาปหรือไม่บาปก็มีองค์ประกอบ หลายประการเพื่อพิจารณา เช่น เป้าประสงค์เจตนาแรงจูงใจจุดมุ่งหมายของผู้กระทำการกระทำที่สมัครใจ(เสรีภาพ)มีความรับผิดชอบต่อผลที่เกิด, และสามารถแยกแยะถูกผิด กว่าจะบอกว่าอะไรบาปหรือไม่บาป ก็ต้องพิจารณากันอย่างดี เตรียมตัวกันอย่างดี ทั้งนี้ยังต้องพิจารณาและคำนึงถึงกรณีเฉพาะของแต่ละแวดล้อมปัจจัยในการกระทำนั้น ๆ อีกด้วย อาจจะบอกได้ว่า แม้จะเป็นการกระทำแบบเดียวกัน เมื่อผ่านการพิจารณาอย่างดี โดยอาศัยองค์ประกอบต่าง ๆ ดังที่ได้กล่าวมาด้วยแล้ว เหตุการณ์หนึ่งอาจจะถือว่าเป็นบาป แต่กับอีกเหตุการณ์อาจจะไม่ถือว่าเป็นบาปก็ได้ อย่างไรก็ตามการกระทำนั้น จะต้องไม่ใช่การกระทำที่ชั่วในตัวเอง (intrinsically evil acts) เช่น การล่อลวงให้ผู้อื่นตกในบาป การฆ่าผู้บริสุทธิ์ที่ไม่สามารถปกป้องตนเองได้ เป็นต้น 
คำถามคร่าว ๆ ก่อนที่เราจะถามว่า “การกระทำของเราบาปหรือไม่บาป” จึงน่าจะเริ่มต้นด้วย “การกระทำนั้น ๆ เกี่ยวกับศีลธรรมหรือไม่? // “การกระทำนั้น ควรทำหรือไม่ควรทำ? // “การกระทำนั้น ถูกหรือผิด? // “เป้าหมายของการกระทำนั้นมีเป้าประสงค์คืออะไร? ดีหรือไม่ดี? // “ผู้กระทำมีเจตนาดีหรือร้าย? // “การกระทำนั้นมีแรงจูงใจที่ดีหรือเปล่า? // “ผู้กระทำมีเสรีภาพและไม่ถูกบังคับใช่หรือไม่? // “ผู้กระทำมีความสามารถแยกแยะถูกผิดได้หรือไม่?”// ฯลฯ ซึ่งก็มีสิ่งที่เราต้องพิจารณาไตร่ตรองพอสมควรทีเดียว 
การพิจารณาตัดสินว่า การกระทำใดบาปหรือไม่บาป? จึงไม่ควรเริ่มต้นด้วยคำถามปลายปิดที่ว่า “ไอ่ที่เราทำบาปหรือไม่บาป??  ยิ่งไม่ใช่การตัดสินการกระทำนั้น ด้วยอารมณ์หรือความรู้สึก ยิ่งไม่ใช่การคิดเอง อ้างโดยขาดเหตุผล หรือการนั่งมโน จินตนาการไปเอง แต่จำเป็นต้องได้รับการพิจารณาอย่างดี  
อาจารย์ด้านศีลธรรมท่านหนึ่ง เคยสรุปว่า “ถ้าการกระทำที่มีผลทางศีลธรรมใด ทำให้เราเกิดความไม่แน่ใจ ความสงสัย ว่าจะเป็นบาปและเป็นการกระทำที่ไม่ดี ก็จงเลือกที่จะไม่กระทำสิ่งนั้นเลยดีกว่า”  


บาทหลวงบางกอก