สวัสดีครับพี่น้องที่รัก
ตามที่พ่อได้บอกบุญกับพี่น้องเพื่อขอความช่วยเหลือจากพี่น้องให้กับอารามอาคาร์แมลแห่งหนึ่งที่ออสเตรเลีย
บัดนี้พ่อได้ติดต่อกับคุณแม่อธิการของอารามแห่งนี้ ซึ่งมีชื่อว่า
ซิสเตอร์เบเนดิกตา
คุณแม่ได้ส่งจดหมายมาขอบคุณพี่น้องชาววัดเซนต์หลุยส์ทุกท่านความว่า
อารามแห่งนี้เป็นอารามชีลับที่มีกระแสเรียกในการสวดภาวนา เพื่อพระศาสนจักร
เพื่อพระสงฆ์ และ เพื่อทุกๆคน ปัจจุบันมีซิสเตอร์อยู่ในอาราม 14 รูป ตั้งอยู่ที่
ถนน เจโลรัป ทางใต้ของเมืองเพิร์ธ ทางตะวันตกของทวีปออสเตรเลีย อารามแห่งนี้
แยกตัวมาจากอารามคาร์แมลที่กรุงเทพฯ ในปีค.ศ.
1976 โดยมี คุณแม่แอน
ซึ่งเป็นอธิการรุ่นบุกเบิก มีอายุแปดสิบกว่าปีแล้ว ต้องนอนป่วยอยู่บนเตียงตลอดเวลา
ซิสเตอร์อีกรูปหนึ่ง มีอายุ 91 ปี
นอกจากนี้ยังมีซิสเตอร์อีกรูปหนึ่งล้มป่วยเป็นโรคมะเร็งขั้นที่ 4 ซึ่งซิสเตอร์ทั้งสามรูปนี้ต้องมีผู้ดูแลใกล้ชิดตลอดเวลา
ซิสเตอร์ที่เหลือก็มีอายุลดหลั่นกันลงมา ความจำเป็นสำหรับอารามแห่งนี้คือ
ต้องมีการจัดการขยายห้องดูแลผู้ป่วยให้มีขนาดที่กว้างขวางกว่าเดิม
เพื่อจะสามารถรองรับซิสเตอร์ที่เจ็บป่วยและมีอายุมาก ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้
เพิ่มขึ้น ซึ่งคาดว่าจะมีค่าใช้จ่ายประมาณ 1,500,000.00 บาท
ทั้งนี้อารามได้ขอการสนับสนุนจากพระศาสนจักรท้องถิ่นในออสเตรเลียเอง และ
จากผู้มีน้ำใจดีในเมืองไทย ทางอารามจึงขอถือโอกาสนี้แสดงความขอบคุณต่อผู้มีน้ำใจดีทุกท่าน
โดยเฉพาะสัตบุรุษวัดเซนต์หลุยส์กรุงเทพฯ ที่ได้ร่วมบริจาคช่วยเหลืออารามในครั้งนี้
ขณะนี้พ่อได้รวบรวมน้ำใจบริจาคของพี่น้องวัดเซนต์หลุยส์เพื่อจุดประสงค์ดังกล่าวเป็นเงินไทย
529,350 บาท(ห้าแสนสองหมื่นเก้าพันสามร้อยห้าสิบบาท) เงินสกุล ยูโร 20 ยูโร เงิน สวิสฟรัง 1000ฟรัง และ เงินเหรียญสหรัฐ 2200
เหรียญ เงินทั้งหมดนี้จะจัดส่งให้กับซิสเตอร์โดยการโอนไปยังธนาคาร WESTPAC
BANKING CORPRRATION ชื่อบัญชี CARMELITESISTERS, GELORUP หมายเลขบัญชี 036-122-231 397
ทั้งนี้ พ่อจะจัดส่งรายชื่อผู้บริจาค และ
จุดประสงค์สำหรับคำภาวนาที่พี่น้องระบุมา ให้กับซิสเตอร์ทางอีเมล์ ต่อไปครับ
ขอขอบพระคุณพี่น้องทุกท่านมา
ณ โอกาสนี้ด้วย
พ่อสุพจน์
...................................................................................................................................................................
สวัสดีครับพี่น้องที่รักทุกท่าน
วันนี้ขอเสนอความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องการสารภาพความผิดและการอ้อนวอนขอพระเมตตาจากพระเจ้าในพิธีบูชาขอบพระคุณ
หลังจากที่พระสงฆ์กล่าวทักทายสัตบุรุษแล้ว
พระสงฆ์จะเชิญชวนให้พี่น้องสัตบุรุษที่มาร่วมในพิธีได้สารภาพความผิดซึ่งจะกระทำในรูปแบบของการสารภาพความผิดร่วมกัน
โดยการสวดบทข้าพเจ้าขอสารภาพบาป และต่อจากนั้นพระสงฆ์จะลงท้ายด้วยการให้อภัยบาป
ความคิดนี้เริ่มมาจากในสมัยแรกๆ
คริสตชนต่างรู้สึกว่าจะต้องชำระจิตใจให้สะอาดหมดจดก่อนที่จะมีส่วนร่วมในพิธีบูชาขอบพระคุณ
ซึ่งเป็นการติดต่อสัมพันธ์กับพระเป็นเจ้าผู้ศักดิ์สิทธิ์
ดังนั้นเราทุกคนที่เข้ามาร่วมในพิธีจำเป็นที่จะต้องเป็นผู้ที่สะอาดบริสุทธิ์ด้วย
ในหนังสือ Didache
ซึ่งเป็นหนังสืออ้างอิงฉบับโบราณเขียนขึ้นประมาณปี ค.ศ. 100 ได้กล่าวไว้ในบทที่ 14
ว่า “พวกเขาร่วมประชุมกันในวันพระเจ้า กระทำพิธีบิขนมปังและขอบพระคุณพระเจ้า
ผู้ที่ผิดพ้องหมองใจกับใครจะต้องไม่ให้เข้าร่วมประชุมจนกว่าจะคืนดีกันเสียก่อน
มิเช่นนั้น จะทำให้บูชาของท่านแปดเปื้อนมีมลทิน” และนักบุญเปาโลยังเขียนไว้ว่า
“ทุกคนจะต้องพิจารณาตัวเอง (หมายถึงพิจารณามโนธรรม) ก่อนจะรับพระกายและดื่มพระโลหิต”
(1 คร 11: 28)
และนอกจากการสารภาพความผิดโดยใช้บทข้าพเจ้าขอสารภาพบาปแล้ว ยังมีแบบอื่นอีก 2 แบบ
ซึ่งพระสงฆ์จะเลือกใช้ตามความเหมาะสม เพื่อไม่ให้เกิดความจำเจน่าเบื่อ
ต่อจากการสารภาพความผิดแล้วจะเป็นการอ้อนวอนขอพระเมตตาจากพระเจ้า
หรือที่เราขับร้อง “ข้าแต่พระเจ้า ขอทรงพระกรุณาเทอญ” (Kyrie eleison)
ซึ่งเป็นภาษากรีก เมื่อนำมาใช้ในภาษาละตินก็ยังคงรักษาคำกรีกนี้ไว้
แต่เดิมคำร้องขอพระเมตตานี้จะอยู่หลังจากบทภาวนาเพื่อมวลชน
ซึ่งเราจะสังเกตเห็นได้ในพิธีกรรมของวันศุกร์ศักดิ์สิทธิ์ เมื่อมีการประกาศ
“ให้เราภาวนา – เชิญคุกเข่า .....สวดให้สมเด็จพระสันตะปาปา...” แล้วสัตบุรุษตอบรับ
“ข้าแต่พระเจ้าขอทรงพระกรุณาเทอญ”
ครั้นมาในสมัยพระสันตะปาปาเกรโกรี่พระองค์ปรับปรุงรูปแบบให้สั้นลง
โดยตัดการประกาศขอความต้องการออกรวมทั้งบทภาวนาอื่นด้วย คงเหลือไว้แค่ “กีรีเอ
เอเลอิซอน” และนำมาแทรกไว้ในพิธีสารภาพความผิด
ซึ่งเราจะเห็นว่าทั้งพิธีสารภาพความผิดและการอ้อนวอนขอพระเมตตานี้สามารถกระทำแยกออกจากกันหรือกระทำพร้อมกันก็ได้
ขึ้นอยู่กับการสลับใช้ตามความเหมาะสม
มีบางคนถามว่าการมาร่วมพิธีบูชาขอบพระคุณควรจะมาอย่างช้าที่เวลาใดจึงจะสามารถเข้าไปรับศีลมหาสนิทได้
บางคนบอกว่าเมื่อมาวัดช้าก็เพียงแค่สวดบทสารภาพความผิด เป็นทุกถึงบาป
จากนั้นก็สามารถรับศีลมหาสนิทได้แล้ว
จะว่าไปก็สามารถทำได้หากว่าเป็นเหตุสุดวิสัยจริงๆ
หรือบางคนบอกว่าเมื่อมีการสารภาพความผิดในมิสซาแล้วจึงไม่จำเป็นต้องไปแก้บาปก็ได้เพราะก็เหมือนๆ
กัน
ความจริงแล้วไม่เหมือนกันเพราะการสารภาพความผิดในมิสซานี้มีไว้เฉพาะสำหรับผู้ที่มีบาปเบาเท่านั้น
ส่วนผู้ที่มีบาปหนักยังคงต้องไปแก้บาปกับพระสงฆ์ก่อน
และสำหรับผู้ที่คิดว่าตนเองมีแต่บาปเบาก็เลยไม่ไปแก้บาปกับพระสงฆ์เลยเป็นระยะเวลานานๆ
ก็ไม่ถูกต้องอีกเพราะการปล่อยให้ตัวเราตกอยู่ในบาปนานๆ นั้นไม่ดี
จำเป็นที่เราจะต้องกำหนดเวลาที่เหมาะสมเพื่อการรับศีลอภัยบาปจากพระสงฆ์ด้วย
เพราะทุกครั้งที่เรารับศีลอภัยบาปเราได้รับพระหรรษทานความช่วยเหลือจากพระเจ้าสำหรับการต่อสู้กับการผจญของปีศาจด้วยเสมอ
ฉะนั้นจึงเป็นสิ่งที่ดีที่เราจะหมั่นไปรับศีลอภัยบาปอย่างสม่ำเสมอ
เพื่อให้การร่วมพิธีบูชาขอบพระคุณของพระเป็นสิ่งที่มีคุณค่าอย่างสูงสุดสำหรับชีวิตของเรา
คุณพ่อศวง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น