วันศุกร์ที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

สารวัดวันอาทิตย์ที่ 18 พฤศจิกายน 2012


สวัสดีครับพี่น้องที่รัก
            เมื่อสัปดาห์ที่แล้วพ่อพูดถึงการสวดภาวนาแบบยกจิตใจขึ้นหาพระเจ้าในชั่วขณะที่เราอยากจะสนทนากับพระองค์โดยพลัน ตามวิธีการของนักบุญเทเรซาแห่งพระกุมารเยซู ซึ่งเป็นวิธีการในการภาวนาแบบง่ายๆในชีวิตประจำวัน โดยไม่ต้องใช้เวลามากมาย เราจะภาวนาแบบฉับพลันนี้ที่ไหนก็ได้ เมื่อไหร่ก็ได้ นับว่าช่วยทำให้ชีวิตภาวนาและ ชีวิตประจำวันของเราสามารถดำเนินควบคู่ไปด้วยกันได้อย่างสนิทสนมกลมกลืน เราสามารถนำหลักการภาวนาแบบนี้ไปประยุกต์ใช้ได้ในทุกสถานะการณ์ของชีวิต อาทิ เมื่อทำงานสำเร็จ เราก็มองไปยังรูปพระแล้วบอกกับพระองค์ "ขอบคุณพระองค์นะ" หรือ เมื่อเราเหน็ดเหนื่อย พบความยากลำบากในการทำงาน เราก็ยกสายตาขึ้นสู่ที่สูงแล้วบอกกับพระองค์ว่า "โอย วันนี้ฉันพบอุปสรรคเยอะจังเลยนะพระองค์" หรือ ในยามที่เราพบกับความผิดหวังเพราะสาเหตุใดๆก็ตาม เราก็บอกกับพระองค์ว่า "ตอนนี้เศร้าใจ ขอพระองค์บรรเทาใจด้วย" หรือ ในยามที่เรากังวลใจกับอนาคตที่ยังไม่แน่นอน เราก็ภาวนากับพระองค์สั้นๆว่า "ขอฝากความหวังไว้กับพระองค์ แต่ถ้าน้ำพระทัยของพระองค์เป็นอย่างไร ก็ขอน้อมรับ"
            จะเห็นได้ว่า ไม่ยากเลยที่จะภาวนา ในชีวิตจริง เพียงแต่การภาวนาเช่นนี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อ เรามีความสัมพันธ์ที่ดีใกล้ชิด มิตรภาพแนบแน่นต่อกัน เราต้องไม่คิดว่า พระเจ้าอยู่ห่างไกลจากเรา พระองค์สูงส่งจนกระทั่งเราเอื้อมไม่ถึง แต่พระองค์อยู่ใกล้กับเรามากกว่าที่เราคิด ถ้าเราเคยแก้ตัวว่า ไม่มีเวลาสวดภาวนาเลย หรือ ยังหาโอกาสเหมาะๆสวดภาวนาไม่ได้ คำแก้ตัวนี้คงล้าสมัยไปซะแล้ว

พ่อสุพจน์
...................................................................................................................................................................

สวัสดีครับพี่น้องที่รักทุกท่าน
             วันนี้มาต่อกันที่ภาควจนพิธีกรรมซึ่งเป็นส่วนของภาคของพระวาจาของพระเจ้า ประกอบด้วย บทอ่านจากพระคัมภีร์หนึ่งหรือสองบท เพลงคั่นระหว่างบทอ่าน พระวรสาร การเทศน์เตือนใจ การประกาศยืนยันความเชื่อ และบทภาวนาเพื่อมวลชน ซึ่งภาควจนพิธีกรรมนี้พระศาสนจักรไม่ได้คิดค้นขึ้นมาเอง แต่นำมาจากการปฏิบัติของชาวยิวในพันธสัญญาเดิมที่ถือปฏิบัติกันในโรงธรรม
            การรับฟังบทอ่านจากพระคัมภีร์และการเทศน์เตือนใจของพระสงฆ์เป็นการแสดงให้เห็นว่าพระเป็นเจ้าทรงตรัสกับประชากรของพระองค์และทำให้เราทราบถึงธรรมล้ำลึกแห่งการช่วยให้รอดของพระองค์ พระองค์ทรงหล่อเลี้ยงวิญญาณของเราด้วยพระวาจาของพระองค์ และรวมถึงการแสดงถึงการประทับอยู่ของพระคริสตเจ้าท่ามกลางประชาสัตบุรุษ ดังนั้นในพิธีกรรมจะต้องแสดงออกให้เห็นถึงการแสดงความเคารพอย่างยิ่งต่อพระวรสารเป็นพิเศษกว่าบทอ่านจากพระคัมภีร์ด้วยการยืนฟังและพนมมืออย่างสำรวม
            การเทศน์เตือนใจเป็นการหล่อเลี้ยงชีวิตคริสตชนจะต้องเป็นการอธิบายบางแง่ในบทอ่านจากพระคัมภีร์ โดยคำนึงถึงธรรมล้ำลึกที่กำลังฉลองในวันนั้นๆ การเทศน์เตือนใจมีลักษณะพิเศษแตกต่างกว่าการเทศน์ในรูปแบบอื่น เช่น การเทศน์สอนเพื่อให้คนกลับใจ การสอนคำสอน การเทศน์เตือนใจนี้เป็นการอธิบายและโน้มน้าวจิตใจผู้ฟังให้ปฏิบัติตามพระวาจาของพระเจ้าที่ตรัสกับเราทางบทอ่านจากพระคัมภีร์ที่ได้รับฟังในวันนั้น
            การประกาศยืนยันความเชื่อไม่ใช่เพียงการท่องบทข้อความเชื่อของคริสตชนแต่เพียงอย่างเดียวแต่เป็นการประกาศยืนยันถึงความเชื่อความศรัทธาที่เรามีต่อพระเป็นเจ้าแต่เพียงผู้เดียว และความหวังที่จะมีส่วนร่วมพร้อมกับพระคริสตเจ้าในการกลับคืนชีพและชีวิตนิรันดร จึงมักจะมีการประกาศยืนยันความเชื่อในทุกวันอาทิตย์และวันสมโภชหรือวันฉลองสำคัญๆ
            บทภาวนาเพื่อมวลชนหรือการภาวนาของมวลชนนี้มักมีจุดประสงค์เพื่อความต้องการของพระศาสนจักร เพื่อผู้ประสบทุกข์ เพื่อผู้ปกครองบ้านเมืองและประโยชน์สุขของโลก และเพื่อชุมชนของวัดนั้นๆ เป็นที่น่าสังเกตว่าในบทภาวนานี้สัตบุรุษจะมีบทบาทโดยเฉพาะ เพราะเป็นหน้าที่ของคริสตชนที่จะต้องภาวนาเพื่อมนุษยโลก ดังนั้นบทภาวนาจึงมาจากความต้องการของสัตบุรุษโดยรวมเพื่อภาวนาวอนขอต่อพระเจ้าให้พระองค์ทรงสดับฟังคำภาวนาของมวลสัตบุรุษโดยพระสงฆ์ทำหน้าที่กล่าวนำและสรุปคำภาวนาของมวลชนต่อพระเจ้า
            ดังนั้นในภาควจนพิธีกรรมนี้จึงทำให้สัตบุรุษได้รับฟังพระวาจาของพระเจ้าเพื่อนำมาปฏิบัติในชีวิตประจำวันของเรา และพร้อมกับการเสนอคำภาวนาต่อพระเจ้าเพื่อขอพรจากพระองค์สำหรับเพื่อช่วยเหลือเราให้ซื่อสัตย์ต่อการปฏิบัติหน้าที่ของเราได้อย่างดี ฉะนั้นจึงเป็นสิ่งดีที่เราจะตั้งใจรับฟังพระวาจาของพระเจ้าเสมอๆ เพื่อจะได้นำมาเป็นแนวทางสำหรับการเจริญชีวิตของเราแต่ละคน
                                                                                                                                    คุณพ่อศวง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น