สวัสดีครับพี่น้อง
วันนี้พ่อค้นหาประวัติของนักบุญหลุยส์
มาอ่านเพื่อรำลึกถึงท่าน เพราะก่อนหน้านี้ก็ทราบเลาๆว่า นักบุญหลุยส์
เป็นกษัตริย์ของประเทศฝรั่งเศส แต่รายละเอียดอื่นๆก็ไม่ชัดแจ้งนัก
เลยสนใจอยากจะหารายละเอียดคร่าวๆของท่านนักบุญหลุยส์มาอ่านเพื่อประดับความรู้
เพราะในฐานะที่ได้รับแต่งตั้งให้มาทำหน้าที่เป็นเจ้าอาวาสวัดเซนต์หลุยส์
ถ้าไม่สนใจศึกษาประวัติของนักบุญองค์อุปถัมภ์ของวัดบ้าง
ก็เห็นทีจะเป็นการละเลยในส่วนสำคัญไปไม่น้อยเลย
เลยลองไปค้นหาดูประวัติของท่านในวิกิพีเดียจากกูเกิ้ล
ก็ทำให้ความไม่ชัดแจ้งแต่แรกที่กล่าวไว้
ก็พอจะมีเนื้อหาอะไรที่ชัดเจนขึ้นมาบ้างว่านักบุญหลุยส์ นั้นคือ กษัตริย์หลุยส์
ที่ 9 ของประเทศฝรั่งเศส ในระหว่างปี ค.ศ. 1214 – 1270
ท่านเป็นกษัตริย์ของประเทศฝรั่งเศสเพียงพระองค์เดียวที่ได้รับการตราไว้ในสาระบบนักบุญของพระศาสนจักรคาทอลิก
มีบันทึกเอาไว้ว่าท่านเป็นคาทอลิกที่มีความศรัทธาร้อนรนอย่างมาก
ในระหว่างที่ดำรงตำแหน่งกษัตริย์ ท่านได้สร้างวัดน้อยเอาไว้ในบริเวณพระราชวังหลวงอย่างงดงาม
ซึ่งต่อมาภายหลัง ได้ใช้เป็นสถานที่เก็บรักษา มงกุฏหนาม และ
บางส่วนของกางเขนแท้ที่ตรึงพระเยซูเจ้า
ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นพระธาตุสำคัญที่มีค่าอย่างยิ่ง
นอกจากนี้ท่านได้อุทิศตนเป็นผู้ปกปักพระศาสนา ด้วยการทำสงครามครูเสดถึงสองครั้ง
ในช่วงรัชสมัยของพระองค์นั้นถือว่าเป็นกษัตริย์ที่นำความเจริญก้าวหน้ามาให้กับประเทศฝรั่งเศสเป็นอย่างมาก
ผู้คนภายหลังกล่าวว่าเป็นยุคทองของประเทศ
ในเวลานั้นประเทศต่างๆในยุโรปให้ความสำคัญกับฝรั่งเศสเป็นอย่างสูง
ในช่วงเวลานี้เอง กษัตริย์ฝรั่งเศสได้รับการยกย่องว่าเป็น “Primus inter pares” ภาษาละติน
แปลว่า “เป็นที่หนึ่งในหมู่ผู้ที่เท่าเทียมกัน” คือเป็นพี่เบิ้มในหมู่กษัตริย์ของประเทศต่างๆ
เพราะเป็นผู้มีกองทัพใหญ่กว่าใคร ปกครองประเทศที่ร่ำรวยกว่าใคร นอกจากนี้
ในเวลานั้นประเทศฝรั่งเศสยังเป็นศูนย์กลางของศิลปะและวิทยาการอีกด้วย บุคลิกลักษณะส่วนตัวของกษัตริย์หลุยส์ก็มีลักษณะที่โดดเด่น
เป็นแบบอย่างของเจ้าชายที่นับถือศาสนาคริสต์
ผู้คนทั่วไปมองเห็นชีวิตที่เปี่ยมไปด้วยความเป็นคริสตชนในตัวของท่านอย่างเต็มเปี่ยม
ความเป็นนักบุญของท่านฉายแววออกมาตั้งแต่ในช่วงเวลาที่ท่านยังมีชีวิตอยู่แล้ว
และด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น สามารถกล่าวได้ว่า กษัตริย์หลุยส์ที่ 9 ของฝรั่งเศส
ผู้นี้ได้ทำหน้าที่ของผู้ปกครองประเทศฝรั่งเศส ซึ่งได้รับการยกย่องว่า
เป็นลูกสาวคนโตของพระศาสจักร ได้อย่างสมบูรณ์ ต่อมาพระสันตะปาปาโบนิฟาซ ที่8
ได้ประกาศชื่อของท่านไว้ในสาระบบของนักบุญ ในปีค.ศ. 1927
ต่อมาภายหลังนักบุญหลุยส์ได้รับการขนานนามว่า เป็นแบบอย่างของราชวงศ์คริสตชน
นามของท่านนักบุญหลุยส์ได้เลื่องลือ ได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง
จนมีการนำนามชื่อของท่านไปตั้งเป็นชื่อของเมือง และสถานที่ต่างๆอีกมากมายหลายแห่ง
เรื่องราวพอสังเขปข้างต้น
ถือได้ว่าเป็นข้อความที่เขียนขึ้นเพื่อให้พี่น้องได้รำลึกถึงท่านนักบุญหลุยส์
องค์อุปถัมภ์วัดของเรา ซึ่งเราจะฉลองวัดของเราในวันที่ 26 สิงหาคมนี้ เวลา 10.00
น. ก่อนพิธีฉลอง
พ่อได้เชิญคุณพ่อสามท่านมาเทศน์ในวันอาทิตย์ก่อนหน้าวันฉลองเป็นเวลา 3
อาทิตย์ล่วงหน้า เพื่อเตรียมจิตใจของพี่น้อง คือในอาทิตย์ที่ 5 สิงหาคม
ผู้เทศน์คือ คุณพ่อเดชา อาภรณ์รัตน์
อาทิตย์ที่ 12 สิงหาคม ผู้เทศน์คือ คุณพ่อถนอมศักดิ์ เลื่อนประไพ
ในอาทิตย์ที่ 19 สิงหาคม ผู้เทศน์คือ คุณพ่อเอกรัตน์ หอมประทุม
โดยคุณพ่อทุกท่านจะเทศน์ในทุกมิสซาในวันอาทิตย์ เริ่มตั้งแต่ มิสซารอบ 6.00 น.
ไปจนถึงมิสซารอบ 17.30 น. และ ในวันที่ 25 สิงหาคม
จะเป็นวันฉลองภายในสำหรับสัตบุรุษวัดของเราเอง มีมิสซาเวลา 17.30 น.
โดยคุณพ่อวุฒิเลิศ แห่ล้อม หลังมิสซามีพิธีแห่รูปนักบุญหลุยส์รอบวัด
ส่วนวันฉลองวัดก็ตรงกับวันที่ 26 สิงหาคม มิสซาเวลา 10.00 น. ประธานในพิธีโดย
พระสงฆ์ผู้รับศีลบวชครบรอบ 25 ปี (งดมิสซารอบ 8.00 น. และ รอบ 12.00 น.)
จึงเรียนให้พี่น้องทราบและขอคำภาวนาสำหรับการเตรียมงานฉลองวัดของเราให้สำเร็จลุล่วงไปอย่างราบรื่นด้วยครับ
พ่อสุพจน์
...........................................................................................................
บทบาทของพ่อแม่ในการช่วยฝึกลูกให้เป็นเด็กช่วยมิสซา
สวัสดีครับพี่น้อง
อาทิตย์นี้จะมีการต้อนรับ แต่งตั้ง และรื้อฟื้นของเด็กช่วยมิสซาฯ
อันเป็นลูกๆ หลานๆของท่าน ดังนั้น
พ่อจึงขอแสดงความยินดีกับผู้ปกครองหลายท่านที่ได้ส่งเสริมให้ลูกๆ
ได้รับใช้พระเจ้าใกล้พระแท่น ด้วยการมาเป็นเด็กช่วยมิสซา และขอให้ข้อคิดว่า
พ่อแม่สามารถช่วยฝึกลูกๆ ของตนให้พร้อมในการมาเป็นเด็กช่วยมิสซาได้ดังนี้
วางมือในท่าทางที่เหมาะสม
ลูกๆ ของท่านต้องพนมมือในระหว่างมิสซาเป็นส่วนใหญ่ ประมาณ
20 นาทีในช่วงที่คุกเข่า 5 นาทีตอนเดิน และ 20 นาทีตอนยืน ดังนั้น พ่อแม่สามารถช่วยฝึกลูกๆ
เมื่ออยู่ในที่นั่งในวัด โดยบอกให้พนมมือขณะที่ยืนและคุกเข่าในระหว่างมิสซา
และสามารถพักวางมือได้เมื่อนั่งลง
สายตามุ่งไปที่พระแท่น
ลูกๆ ของท่านต้องสามารถจดจ่อไปที่พระแท่น
ไม่วอกแวกหรือหันไปมาเพื่อมองพ่อแม่ หรือคนอื่นๆ ที่มาร่วมพิธีในวัด
ไม่หันไปสนใจคนเดินถุงทาน หรือเด็กที่กำลังร้องไห้เสียงดัง
และไม่นั่งเล่นเครื่องมือสื่อสาร เกม หรือ I-Pad ระหว่างมิสซา
ยินดีที่ได้รับใช้พระเจ้า
หากลูกของท่านไม่เต็มใจมาช่วย อย่าบังคับเขา! เพราะจะเป็นการกดดันทำให้เขาไม่ประทับใจกับพิธีมิสซา
และการมาวัด แต่ให้เขาเลือกอย่างอิสระว่าอยากจะเป็นเด็กช่วยมิสซา
และหากเขามาเป็นเด็กช่วยมิสซาและไม่มีความสุขก็อย่างบังคับ
เพราะนั่นเป็นเครื่องหมายบอกว่าเขายังไม่เข้าใจความหมายและต้องการการอบรมสัมมนาก่อน
ละเว้นจากการสนทนา
พูดคุยกับเพื่อนในขณะช่วยมิสซา
ลูกๆ ของท่านต้องสามารถละเว้นหรือหยุดพูดคุยกันในระหว่างมิสซา
และต้องรู้จักห้ามปรามคนที่เริ่มพูดคุยก่อนด้วย
สามารถตั้งใจและให้ความสนใจกับบทตอบรับในมิสซา
ลูกๆ ของท่านควรรู้พื้นฐานภาคต่างๆ ในพิธีมิสซา
(ทำเดชะพระนาม, พิธีสำนึกบาป, บทอ่านที่ 1, บทสดุดีและสร้อย, บทอ่านที่ 2, อัลเลลูยา,
พระวรสาร, บทเทศน์, บทยืนยันความเชื่อ, บทภาวนาเพื่อมวลชน, ภาคถวาย, บทนำ
บทภาวนาขอบพระคุณ, ข้าแต่พระบิดา, ลูกแกะพระเจ้า, รับศีลมหาสนิท,
บทภาวนาหลังรับศีล, อวยพรปิดพิธี) และสามารถตอบรับได้อย่างคล่องแคล่ว
ละเว้นจากการเล่นเครื่องแต่งกายเด็กช่วยมิสซา
ลูกๆ ของท่านจะต้องได้รับการฝึกให้มืออยู่นิ่งๆ ไม่เล่น จับ
หรือดึงรัดประคด ผม กางเขน และชุด
พยายามฝึกให้เขาตรวจสอบการแต่งกายของตนก่อนออกจากห้องซาคริสเตีย
ละเว้นจากการใช้คำพูดหยาบคายไม่เหมาะสม
การพูดหยาบคายและ คำสบถ สาปแช่งต่างๆ
เป็นการละเมิดพระบัญญัติข้อ 2 ผู้เป็นพ่อแม่จึงไม่อาจใช้ภาษาเหล่านี้เมื่อพูดจา
และสามารถห้ามปรามลูกของตนได้เมื่อเขาพูด เมื่ออยู่ในชุดเด็กช่วยมิสซาต้องละเว้นจากการเล่นวิ่งไล่กัน
กระโดดขี่กัน
ลูกๆ
ของท่านต้องสามารถฝึกตนให้ออกห่างจากเพื่อนที่ประพฤติไม่ดี
จงพูดกับพวกเขาให้รู้จักตัดสินใจหลีกเลี่ยงการไปในที่ที่เพื่อนไม่ดีพาไปกระทำผิด
ส่วนวันนี้เนื้อที่หมดแล้ว โปรดติดตามตอนต่อไปนะครับ
แล้วอย่าลืมสนับสนุนให้เด็กๆ ได้มารับใช้พระเจ้าเป็นเด็กช่วยมิสซากันเยอะๆ นะครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น