วันศุกร์ที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2555

สารวัดอาทิตย์ที่ 19 สิงหาคม 2012


สวัสดีครับพี่น้อง
วันอาทิตย์นี้ เป็นวันที่พระศาสนจักรในประเทศไทย กำหนดให้เป็นวันสมโภชพระนางมารีย์ รับเกียรติยกขึ้นสวรรค์ทั้งกายและวิญญาณ เพื่อให้คริสตชนชาวไทยได้มีโอกาสถวายเกียรติแด่พระนางมารีย์ พระมารดาของพระเจ้า แม่ฝ่ายวิญญาณของชาวเรา ในโอกาสนี้อย่างทั่วถึงกัน ที่จริงแล้ว วันฉลองตรงวันคือวันที่ 15 สิงหาคม ของทุกปี พ่อจึงอยากนำความเป็นมาของวันสมโภชนี้มากล่าวให้พี่น้องได้เห็นความเป็นมานับแต่อดีตว่ามีความเป็นมาอย่างไร ประการแรก วันสมโภชแม่พระรับเกียรติยกขึ้นสวรรค์นี้เป็นวันฉลองที่สำคัญที่สุดวันหนึ่งของวันฉลองแม่พระ เราคาทอลิกมีความเชื่อในการเสด็จสู่สวรรค์ของพระนางพรหมจารีย์มารีย์ เราเชื่อว่าเมื่อชีวิตในโลกนี้ของพระนางมารีย์ได้จบลง พระนางได้รับเกียรติยกขึ้นสู่สวรรค์ทั้งร่างกายและวิญญาณอย่างรุ่งโรจน์ เพื่อพระเจ้าจะได้ขนานนามพระนางเป็นราชินีแห่งสวรรค์ ประการที่สอง วันสมโภชนี้เป็นวันฉลองที่พระนางมารีย์ได้รับการปลดปล่อยจากธรรมชาติมนุษย์ที่ต้องตายและเน่าเปื่อยเสื่อมสลายไป เพราะมีสาเหตุมาจากบาปกำเนิด วันฉลองนี้ยังเป็นวันระลึกถึง การที่พระศาสนจักรน้อมรับประเพณีแต่โบร่ำโบราณของคริสตชน เกี่ยวกับการเสด็จขึ้นสู่สวรรค์ของพระมารดาแห่งเมืองสวรรค์ ในพระศาสนจักรออร์โทดอกซ์ มีวันฉลองที่เรียกว่า "คอยเมซิส" หรือ "วันฉลองแม่พระบรรทมซึ่งจัดขึ้นในวันที่ 15 สิงหาคม ทุกปีนับตั้งแต่ศตวรรษที่ 6 เป็นต้นมา ประเพณีการฉลองนี้ค่อยๆแพร่หลายมาทางตะวันตก และกลายเป็นวันฉลองพระนางมารีย์รับเกียรติยกขึ้นสวรรค์ทั้งกายและวิญญาณในที่สุด ต่อมาในศตวรรษที่ 13 บรรดานักเทววิทยาคาทอลิกส่วนใหญ่ต่างยอมรับความเชื่อเกี่ยวกับวันฉลองนี้ และบรรดาจิตกรที่มีฝีมือทั้งหลายในยุคฟื้นฟูศิลปวิทยา และ ยุคบาโร้คนิยมวาดภาพที่แสดงออกถึงความเชื่อประการนี้กันอย่างแพร่หลาย   ที่สุดในวันที่ 1 พฤศจิกายน ค.. 1950 สมเด็จพระสันตะปาปาปีโอที่ 12 ได้ประกาศอย่างเป็นทางการว่า ความเชื่อที่ว่าพระนางมารีย์ได้รับเกียรติยกขึ้นสวรรค์ทั้งกายและวิญญาณนั้น เป็นข้อความเชื่ออย่างเป็นทางการของพระศาสนจักรคาทอลิก
พ่อคิดว่าในโอกาสการสมโภชสำคัญนี้ เราทุกคนควรจะให้คำตอบต่อคำถามสองประการต่อไปนี้ ประการแรก วันฉลองพระนางมารีย์รับเกียรติยกขึ้นสู่สวรรค์ทั้งกายและวิญญาณนี้มีความหมายสำหรับเราอย่างไร? ประการที่สอง ทำไมเราเชื่อถึงการเสด็จสู่สวรรค์ของพระนางทั้งๆที่ไม่ได้มีข้อความใดๆในพระคัมภีร์กล่าวถึงความเชื่อประการนี้แต่อย่างใดความหมายของคำว่า "อัสสัมชัญ" หรือ อีกนัยหนึ่ง พระนางมารีย์รับเกียรติยกขึ้นสวรรค์ทั้งกายและวิญญาณนี้ หมายความว่า ภายหลังความตายของแม่พระ แม่พระได้รับการยกขึ้นสู่สวรรค์ ทั้งร่างกาย และวิญญาณ เพื่อเป็นรางวัลสำหรับการที่พระนางได้อุทิศตนร่วมในแผนการไถ่กู้ของพระเจ้าเพื่อความรอดของมวลมนุษย์อย่างเต็มกำลังความสามารถนั่นเอง ดังนั้น ให้เราร่วมใจกันขอบพระคุณพระเจ้า สำหรับพระคุณประการนี้ ที่พระองค์ได้โปรดให้พระนางมารีย์เป็นแม่ฝ่ายวิญญาณของเรา และให้เราภาวนาขอแม่พระเสมอๆเพื่อเราจะสามารถที่จะเลือกหนทางที่จะดำเนินชีวิตในโลกนี้อย่างถูกต้องเสมอ
สัปดาห์หน้าจะถึงวันฉลองนักบุญหลุยส์กษัตริย์ องค์อุปถัมภ์ของวัดเราแล้ว ขอพี่น้องร่วมใจกันภาวนาเพื่อการฉลองวัดของเราจะได้เป็นโอกาสให้เราทุกคนได้รับอานิสงส์ฝ่ายจิตใจ และ มีโอกาสร่วมกันเทิดเกียรตินักบุญหลุยส์อย่างสง่างาม สมกับที่ท่านนักบุญได้ดำเนินชีวิตเป็นแบบอย่างให้กับคริสตชนในรุ่นต่อๆมาได้เห็นแบบอย่างอันเปี่ยมไปด้วยคุณงามความดีของท่าน
                                                                                                                        คุณพ่อสุพจน์
............................................................................................................

สวัสดีครับพี่น้องที่รักทุกท่าน
             ในครั้งนี้เรายังคงอยู่ในเรื่องของพิธีมิสซากันนะครับ วันนี้จะนำเสนอเกี่ยวกับภาคต่างๆ ของพิธีมิสซาที่เราร่วมกันเป็นประจำสม่ำเสมออยู่แล้วว่าแต่ละภาคมีอะไรที่น่าสนใจบ้าง ก่อนอื่นภาคต่างๆ ของพิธีมิสซานั้นบางคนก็บอกว่ามี 4 ภาคบ้าง บางคนก็บอกมี 2 ภาคบ้าง สรุปแล้วเลยไม่รู้ว่ามิสซาแบ่งออกเป็นกี่ภาคกันแน่ อันที่จริงแล้วมิสซาถูกแบ่งออกเป็น 2 ภาคใหญ่ๆ คือ ภาควจนพิธีกรรม (ตั้งแต่บทอ่านในพระคัมภีร์บทแรกถึงบทภาวนาเพื่อมวลชน) และภาคพิธีศีลมหาสนิท (ตั้งแต่การเตรียมถวายเครื่องบูชาถึงบทภาวนาหลังรับศีล) ส่วนคนที่บอกว่ามี 4 ภาคนั้นเป็น ภาคนำ (ตั้งแต่เริ่มพิธีไปจนถึงบทภาวนาแรกของประธาน) และภาคปิดพิธีหรือส่งท้าย นั่นเอง
            วันนี้จะมาพูดถึงในส่วนของภาคนำซึ่งประกอบด้วย เพลงแห่เข้า คำทักทาย-การสารภาพความผิด-ข้าแต่พระเจ้าขอทรงพระกรุณาเทอญ(กีรีเอ) พระสิริรุ่งโรจน์(กลอรีอา) และบทภาวนาแรกของประธาน ซึ่งมีลักษณะของการเริ่มต้น นำ และเตรียมจุดประสงค์ของพิธีของวันนั้นๆ เพื่อให้บรรดาสัตบุรุษที่มาร่วมกันนั้นมีความรู้สึกถึงความเป็นชุมนุมชน และเพื่อโน้มนำให้รับฟังพระวาจาของพระเจ้าในโอกาสของการฉลองบูชาขอบพระคุณ
            เพลงแห่เข้า มีความสำคัญคือเพื่อเป็นการเปิดหรือเริ่มพิธีการฉลอง เพื่อให้สัตบุรุษได้ร่วมจิตใจกันเป็นหนึ่งเดียวกันมากขึ้น เพื่อชักนำจิตใจสัตบุรุษไปสู่ธรรมล้ำลึกแห่งเทศกาลหรือการฉลองนั้นๆ และเพื่อประกอบกับขบวนแห่ของพระสงฆ์และศาสนบริการทั้งหลาย เพลงแห่เข้านี้บางบทนำมาจากเพลงสดุดี บางบทนำมาจากบทจดหมายในมิสซาวันนั้นๆ และบางบทผู้แต่งเขียนเนื้อร้องขึ้นเองเพื่อกระตุ้นเตือนให้ระลึกถึงธรรมล้ำลึกที่ทำการฉลองในวันนั้นหรือในโอกาสพิเศษ เช่น ฉลองนักบุญ
            ดังนี้แล้วถึงแม้ว่าเพลงแห่เข้าสำหรับพิธีมิสซานั้นจะเป็นเพียงส่วนเล็กๆ เป็นเพียงส่วนประกอบของการเตรียมจิตใจบรรดาสัตบุรุษเพื่อการร่วมในพิธีมิสซา แต่ก็มีความสำคัญมิใช่น้อยที่จะทำให้บรรดาสัตบุรุษที่มาร่วมในพิธีมิสซาของวันนั้นๆ ได้รับการเตรียมจิตใจให้เป็นหนึ่งเดียวกันเพื่อการมีส่วนร่วมในพิธีกรรมอย่างมีความหมายที่สุด ดังนั้นจึงเป็นการเหมาะสมอย่างยิ่งที่บรรดาสัตบุรุษจะอยู่อย่างพร้อมเพรียงกันในวัดหรือในบริเวณพิธีที่ได้จัดเตรียมไว้อย่างเหมาะสมเพื่อร่วมกันขับร้องบทเพลงตั้งแต่เริ่มต้นพิธีมิสซา และทำให้เรามีจิตใจที่สงบและเป็นหนึ่งเดียวในการร่วมพิธีกรรมอย่างดีเสมอ เพื่อทำให้พิธีกรรมของการฉลองในวันนั้นๆ บังเกิดคุณค่าและความหมายสำหรับผู้ที่ตั้งใจร่วมพิธี สัปดาห์หน้าวัดของเราก็จะทำการฉลองนักบุญหลุยส์องค์อุปถัมภ์ของวัดแล้ว จึงอยากเชิญชวนพี่น้องสัตบุรุษของวัดทุกท่านได้เตรียมจิตใจให้พร้อมสำหรับการฉลองเทิดเกียรติท่านนักบุญหลุยส์ด้วยการแก้บาปและการร่วมพิธีมิสซาฉลองด้วยความตั้งใจตั้งแต่เริ่มพิธีมิสซาด้วยบทเพลงแห่เข้าพร้อมกับขบวนแห่ของพระสงฆ์และศาสนบริกรผู้ช่วยพิธีกรรมกันอย่างพร้อมหน้า
                                                                                                                                    คุณพ่อศวง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น