พี่น้องที่รัก
พ่อเข้าใจว่าบทความนี้คงเป็นบทความสุดท้ายที่พ่อจะเขียนก่อนที่พ่อจะจบหน้าที่การเป็นเจ้าอาวาสที่วัดเซนต์หลุยส์แห่งนี้ครับ
พ่ออยากใช้พื้นที่ตรงนี้โมทนาคุณพระเจ้าสำหรับพระพรมากมายที่พระองค์โปรดประทานให้กับพ่อและพี่น้องสัตบุรุษวัดเซนต์หลุยส์ของเราตลอดช่วงเวลา
5 ปีที่ผ่านมา
พ่อภาวนาเสมอเพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่ของพ่ออยู่ภายใต้การส่องสว่างของพระเจ้า
พ่อเชื่อว่าพระเจ้าทรงนำเราเสมอในทุกกิจการถ้าเราถวายทุกสิ่งไว้ในการพิทักษ์รักษาของพระองค์
ด้วยเหตุที่ว่าเราคริสตชนเป็นหนึ่งเดียวกันบนความเชื่อเดียวกัน
พระองค์จึงทรงทำให้สิ่งดีๆ ที่เกิดขึ้นในหมู่เราเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมอย่างแท้จริง
ประการต่อมา
พ่อต้องขอขอบคุณคุณพ่อผู้ช่วยเจ้าอาวาสทุกๆท่านที่เคยได้ร่วมงานกันตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา
ตั้งแต่ คุณพ่อศวง วิจิตรวงศ์ คุณพ่อนัฎฐวี กังก๋ง คุณพ่อสหพล ตั้งถาวร
คุณพ่อวิทยา เลิศทนงศักดิ์ คุณพ่อพงษ์เกษม สังวาลย์เพ็ชร และคุณพ่อกรณ์
อดิเรกวุฒิกุล
คุณพ่อทุกท่านต่างร่วมแรงร่วมใจในการทำงานอภิบาลทางด้านศีลศักดิ์สิทธิ์
และการเป็นจิตตาธิการองค์กรคาทอลิกต่างๆร่วมกันกับพ่ออย่างแข็งขัน ช่วยให้ภารกิจต่างๆสำเร็จลุล่วงไปด้วยดีตลอดมา
พ่อได้ไปลองเปิดดูบัญชีศีลล้างบาปของวัดช่วงห้าปีที่ผ่านมานี้
พ่อได้โปรดศีลล้างบาปให้กับเด็กทารกและคริสตชนใหม่ จำนวน 279 คน และ
ในบัญชีศีลสมรสพ่อได้เป็นผู้แทนฝ่ายพระศาสนจักรคาทอลิกในพิธีศีลสมรสจำนวน 112
คู่ จากตัวเลขดังกล่าวพ่อพบว่าพระเจ้ามีส่วนอย่างมากในการสนับสนุนพ่อให้มีกำลังกายกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะพระสงฆ์
เพื่องานอภิบาลสัตบุรุษจะได้รับการสานต่อและดำเนินไป เพื่อพระอาณาจักรของพระเจ้าจะได้เผยแผ่ออกไปตามพระประสงค์ของพระองค์
พ่อถือโอกาสนี้ขอขอบคุณองค์กรคาทอลิกของวัดทุกองค์กร ตั้งแต่คณะกรรมการสภาภิบาล
นักขับร้อง พลมารี วินเซนเดอปอล เครดิตยูเนียน ชมรมผู้อาวุโส ผู้อ่านพระคัมภีร์
เยาวชน เด็กช่วยมิสซา รวมไปถึงกลุ่มที่รวมตัวกันในจุดประสงค์พิเศษต่างๆเช่น
กลุ่มแบ่งปันพระคัมภีร์ กลุ่มวิถีคริสตชน กลุ่มพระเมตตา
และบุคคลอื่นๆที่เสียสละมาทำงานเพื่อวัดในหน้าที่พิเศษต่างๆเช่นดูแลจำหน่ายศาสนภัณฑ์
ดอกไม้ และเจ้าหน้าที่ของวัด
ที่ได้มีส่วนร่วมอย่างใกล้ชิดกับกิจกรรมของวัดในด้านต่างๆ
พลังเหล่านี้แหละที่เข้ามาเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับวัดของเราอย่างแท้จริง
ท้ายที่สุด พ่อขอขอบคุณพี่น้องสัตบุรุษวัดเซนต์หลุยส์ทุกท่าน
ที่ร่วมใจกันมาปฏิบัติศาสนกิจด้วยความเลื่อมใสศรัทธา
ความเชื่อประสาคริสตชนของเราที่หลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกันในพิธีบูชาขอบพระคุณที่ประกอบขึ้นที่พระแท่นบูชา
จิตใจและคำภาวนาของเราแต่ละคนที่ล่องลอยสูงขึ้นไปพร้อมกับควันกำยานถวายแด่พระเจ้านั้นเป็นที่มาของพระพรที่ยิ่งใหญ่
ที่พระเจ้าประทานกลับลงมาสู่ดวงใจของเราทุกคน
ยังผลให้เราได้รับการหล่อเลี้ยงชีวิตฝ่ายจิตของเราให้เข้มแข็งยิ่งขึ้นด้วยพระวาจาของพระเจ้า
ที่ช่วยเราให้เราก้าวไปบนเส้นทางชีวิตอย่างมั่นคง
แม้จะต้องเผชิญกับอุปสรรคนานาประการ แต่แสงสว่างและการนำของพระเจ้าทำให้เรามีพลังก้าวไปข้างหน้าเสมอ
พ่อภาวนาเพื่อพี่น้องทุกคนจะยึดมั่นในคำสอนของพระเจ้า
พ่อภาวนาเพื่อทุกครอบครัวจะเป็นผู้สืบทอดมรดกแห่งความเชื่อนี้ไปสู่ชีวิตของคนรุ่นลูกรุ่นหลาน
พ่อภาวนาเพื่อวัดของเราจะเป็นจุดศูนย์รวมจิตใจของพี่น้องเสมอไป
พ่อสุพจน์
..............................................................................................
สวัสดีครับพี่น้อง
ภูมิประเทศของปาเลสไตน์ประกอบด้วยที่ราบสูงแคบ
ๆ เป็นแนวยาวจากเหนือจรดใต้ ในแคว้นยูเดีย ที่ราบสูงจากเมืองเบธเอล
ถึงเมืองเฮโบรนมีความยาวประมาณ 56 กม. กว้าง 22 - 27 กม.พ้นจากที่ราบสูง
ก็เป็นหน้าผาสูงชัน และถิ่นทุรกันดารในทะเลทราย พื้นที่ส่วนใหญ่บนที่ราบสูงเป็นหินขรุขระ
จึงเหมาะแก่การเลี้ยงสัตว์ มากกว่าการเพาะปลูก ภาพของ “คนเลี้ยงแกะ”
จึงเป็นที่คุ้นเคยของผู้คน บนดินแดนที่ราบสูงแห่งนี้คนเลี้ยงแกะ
มีหน้าที่รับผิดชอบแกะทุกตัวในฝูง ถ้าแกะหาย เขาต้องตามหาจนพบ ถ้าแกะตาย เขาต้องนำซากแกะกลับบ้าน เพื่อยืนยันว่าแกะตายและตายอย่างไร เพื่อป้องกันฝูงแกะจากเหตุร้าย
คนเลี้ยงแกะจึงต้องยืนพิงไม้เท้า อดตาหลับขับตานอน ตากแดดตากฝน
เพ่งตาเฝ้ามองฝูงแกะมิให้พลัดหลง หรือตกลงไปในซอกหินตามหน้าผา
อีกทั้งต้องพร้อมเสี่ยงชีวิต ป้องกันแกะจากขโมยและฝูงสุนัขป่า การตื่นเฝ้าระวังอยู่เสมอ
ความกล้าหาญไม่หวั่นเกรงอันตราย ตลอดจนความรัก และอดทนต่อฝูงแกะ เหล่านี้คือ
คุณสมบัติที่จำเป็นของคนเลี้ยงแกะ ด้วยภาพพจน์ที่ดีเลิศเช่นนี้เอง คนเลี้ยงแกะ
จึงมีบทบาทสำคัญยิ่ง ในประวัติศาสตร์ของชนชาติยิว ในพระธรรมเก่า
พระเจ้าได้รับการวาดภาพว่าเป็น “ผู้เลี้ยงแกะ” และชาวยิวคือฝูงแกะของพระองค์ “พระยาห์เวห์ทรงเลี้ยงดูข้าพเจ้าอย่างผู้เลี้ยงแกะ ข้าพเจ้าจึงไม่ขาดสิ่งใด” (สดด23:1) "ข้าพเจ้าทั้งหลาย
ผู้เป็นประชากรของพระองค์ และเป็นฝูงแกะที่ทรงเลี้ยงดู
จะขอบพระคุณพระองค์ตลอดไป"(สดด79:13) ประกาศก
ทำนายถึงพระเเมสสิยาห์ว่า จะเป็นดั่งผู้เลี้ยงแกะด้วยเช่นกัน “พระองค์ทรงเลี้ยงดูฝูงแกะของพระองค์ดั่งคนเลี้ยงแกะ
พระองค์ทรงรวบรวมบรรดาลูกแกะไว้ในอ้อมพระกร โอบอุ้มไว้แนบพระทรวง
พระองค์ทรงนำแม่แกะที่มีลูกอ่อนอย่างสุภาพ”(อสย40:11) บรรดากษัตริย์ของชาวยิวก็เป็นดังผู้เลี้ยงแกะของพระเจ้า
เพียงแต่ว่าส่วนใหญ่เป็นผู้เลี้ยงแกะที่ไม่ดี “วิบัติแก่บรรดาคนเลี้ยงแกะ
ซึ่งผลาญทำลาย และทำให้ลูกแกะในท้องทุ่งของเรากระจัดกระจายไป
เนื่องจากเจ้าขับไล่ไสส่งและไม่ได้ดูแลเอาใจใส่พวกเขา” (ยรม23:1-4)
ในพระธรรมใหม่
พระเยซูเจ้าเองทรงเป็น “ผู้เลี้ยงแกะที่ดี” พระองค์ทรงพร้อมจะเสี่ยงชีวิตตามหาและช่วยลูกแกะที่พลัดหลงให้ปลอดภัย “ถ้าชายคนหนึ่งมีแกะอยู่ร้อยตัว แล้วแกะตัวหนึ่งบังเอิญหลงทาง
เขาจะไม่ปล่อยแกะเก้าสิบเก้าตัวไว้บนภูเขา เพื่อค้นหาแกะตัวที่หลงไปหรือ”(มธ18:12; ลก 15:4) พระองค์ทรงสงสารประชาชน
“เพราะเขาเหล่านั้นเหน็ดเหนื่อยและท้อแท้ประดุจฝูงแกะที่ไม่มีคนเลี้ยง”(มธ9:36; มก 6:34) นอกจากนั้น
พระองค์ยังตรัสกับเปโตรว่า “จงเลี้ยงดูแกะของเราเถิด”
(ยน21:15-19) และเปโตรได้ขอร้องบรรดาผู้นำของพระศาสนจักรต่อมาว่า
“จงเลี้ยงดูฝูงแกะของพระเจ้าที่อยู่ในความดูแลของท่าน จงดูแลด้วยความเต็มใจตามพระประสงค์ของพระเจ้า
มิใช่ดูแลด้วยจำใจ
จงดูแลด้วยความสมัครใจ มิใช่ดูแลเพราะเห็นแก่อามิสสินจ้าง จงเป็นแบบอย่างแก่ฝูงแกะ
มิใช่เป็นเหมือนเจ้านายเหนือผู้ที่อยู่ใต้ปกครอง”(1ปต5:2-3) พระองค์ทรงเป็น “ทางใหม่ที่ให้ชีวิต”(ฮบ10:20) นอกจากตรัสว่า“เราเป็นประตู”แล้ว พระองค์ยังเสริมอีกว่า “ผู้ที่เข้ามาทางเราก็จะรอดพ้น เขาจะเข้าจะออกและจะพบทุ่งหญ้า”(ยน10:9) การ“เข้า-ออก”โดยไม่ได้รับอันตรายเป็นสำนวนพูดของชาวยิวหมายถึง “ชีวิตที่มั่นคงปลอดภัยสูงสุด” หากประชาชนสามารถเข้าออกประตูเมืองได้โดยไม่หวาดหวั่น ย่อมหมายความว่าเมืองนั้นปลอดภัย
มีขื่อมีแป มีความเป็นระเบียบเรียบร้อย และมีสันติสุข ผู้นำชาวอิสราเอล จึงมีหน้าที่
นำประชาชนออกไปและกลับเข้ามา (กดว27:17)
เราได้เป็นผู้นำผู้คนเข้ามาทางพระคริสต์ในชีวิตประจำวันอย่างดีแล้วหรือยัง?
คพ. พงษ์เกษม
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น