วันเสาร์ที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2560

สารวัดวันอาทิตย์ที่ 26 มีนาคม 2017

พี่น้องที่รัก
                พ่อได้อ่านบทความเรื่อง Five great achievements Pope Francis first four years เขียนโดยคุณพ่อ โทมัส รีส ท่านเป็นนักวิเคราะห์อาวุโส และรู้เรื่องราวอย่างลึกซึ้งถึงสิ่งที่ดำเนินไปในวาติกัน พ่อขอนำมาถอดความถ่ายทอดให้พี่น้องได้อ่านกันในโอกาสครบรอบ 4 ปีแห่งการดำรงตำแหน่งผู้นำพระศาสนจักรของพระสันตะปาปาฟรังซิส
                พระสันตะปาปาฟรังซิส ได้ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำพระศาสนจักรคาทอลิกได้ 4 ปีแล้ว เวลาช่างผ่านไปอย่างรวดเร็ว แม้ว่าพระองค์ท่านจะไม่ได้เปลี่ยนจุดยืนด้านคำสอนของพระศาสนจักรในเรื่องสำคัญๆเช่น การคุมกำเนิด การถือโสด การบวชสตรีให้เป็นพระสงฆ์ การสมรสของคนรักร่วมเพศ แต่พระจริยวัตรของพระองค์ได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในพระศาสนจักรหลายด้าน
                ประการแรก พระสันตะปาปาเริ่มหนทางใหม่ในการประกาศข่าวดี พระองค์บอกว่าคำพูดแรกของการประกาศข่าวดีจะต้องเป็นเรื่องความเมตตาของพระเจ้า ไม่ใช่รายละเอียดในเรื่องข้อความเชื่อหรือกฏระเบียบที่ต้องนำมาปฏิบัติ พระองค์เทศน์สอนทุกวันเกี่ยวกับเรื่องความเมตตาสงสารและความรักของพระเจ้า เราจึงสมควรที่จะต้องแสดงความเมตตาสงสารและความรักไปยังเพื่อนพี่น้องชายหญิงของเรา  โดยเฉพาะผู้ยากไร้ พระองค์ไม่ได้เทศน์สอนแต่เพียงอย่างเดียวแต่ยังทรงปฏิบัติด้วยการช่วยเหลือผู้ลี้ภัย คนไร้บ้าน และคนป่วย
                ประการที่สอง พระสันตะปาปาฟรังซิส เปิดช่องทางให้มีการแสดงความคิดเห็นโต้แย้งในพระศาสนจักรได้ พระองค์ไม่แสดงอาการไม่พอใจในยามที่มีความคิดเห็นที่แตกต่างออกไป แม้ในเรื่องสำคัญเช่นข้อคำสอน ในอดีตที่ผ่านมามีเพียงระหว่างการสังคายนาวาติกันครั้งที่สองเท่านั้นที่พระศาสนจักรเปิดโอกาศให้มีการโต้แย้งเกิดขึ้นได้ในระหว่างการประชุม แต่ภายหลังจากนั้นมา พระศาสนจักรควบคุมวาระการประชุมอย่างเข้มงวด และมีการคัดกรองหัวข้อการประชุม ดังนั้นผลของการประชุมสมัชชาของพระสังฆราชที่น่าจะเป็นข้อเสนอเพื่อให้คำแนะนำพระสันตะปาปา ก็กลายเป็นเพียงเวทีของพระสังฆราชที่จะแสดงความจงรักภักดีต่อพระสันตะปาปาเท่านั้น แต่ภายใต้การนำของพระสันตะปาปาฟรังซิส ผู้เข้าร่วมสมัชชา ได้รับการส่งเสริมให้แสดงความคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมา ไม่ต้องเกรงว่าจะมีความคิดเห็นไม่ตรงกับพระสันตะปาปา ซึ่งบรรยากาศแบบนี้ไม่เคยมีในช่วงของพระสันตะปาปาองค์ก่อนๆ
                ประการที่สาม พระสันตะปาปาให้แนวคิดแบบใหม่เกี่ยวกับเรื่องศีลธรรมใน สมณสาส์น Amoris Laetitia พระองค์นำพาพระศาสนจักรจากความคิดทางด้านศีลธรรม ที่มีพื้นฐานบนกฏระเบียบที่เคร่งครัด ไปสู่ศีลธรรมที่มีพื้นฐานบนความสุขุมรอบคอบ ซึ่งหมายความว่า ข้อเท็จจริง สภาวะแวดล้อม และแรงจูงใจ มีส่วนสำคัญประกอบการพิจารณา บนพื้นฐานศีลธรรมเช่นนี้ แนวทางบรรทัดฐานของศีลธรรมแบบนี้ทำให้เราสามารถเข้าถึงความดีงามของชีวิตของบุคคลที่มีข้อบกพร่อง แม้แต่ในการสมรสที่ผิดไปจากกรอบประเพณีแบบเดิมๆ แนวคิดแบบนี้เราจะไม่มองโลกในแบบที่มีการแบ่งความดีกับความชั่วออกจากกันอย่างสิ้นเชิง แต่มองว่าเราทุกคนล้วนเป็นคนบาปที่มีบาดแผลที่ต้องชำระ พระศาสนจักรมีหน้าที่เป็นเสมือนสถานรักษาพยาบาล คอยเอาใจใส่ผู้เจ็บป่วย ศีลมหาสนิทคืออาหารที่ช่วยเยียวยารักษาผู้ป่วย ไม่ใช่รางวัลสำหรับผู้ดีพร้อม ดังนั้นยุคแห่งการขู่ผู้คนให้หวาดกลัวเพื่อจะเป็นคนดีคงผ่านพ้นไปแล้ว
                ประการที่สี่ พระสันตะปาปาได้ยกสถานะเรื่องสภาวะแวดล้อม เข้ามารวมอยู่ในแก่นสำคัญเรื่องความเชื่อแล้ว พระองค์ยอมรับว่า ภาวะโลกร้อนอาจเป็นประเด็นเรื่องศีลธรรมที่สำคัญที่สุดในศตวรรษที่ 21 ในพระสมณลิขิตของพระองค์ที่ชื่อว่า Laudato Si พระองค์บอกกับเราว่า "การดำเนินชีวิตตามกระแสเรียกในการเป็นผู้พิทักษ์สิ่งสร้างของพระเจ้าถือเป็นเรื่องสำคัญของชีวิตที่เปี่ยมไปด้วยฤทธิ์กุศล สิ่งนี้ไม่ใช่ทางเลือก และไม่ใช่เรื่องรองๆในการดำเนินชีวิตเป็นคริสตชนอีกต่อไป" พระสมณลิขิตฉบับนี้ของพระสันตะปาปา ได้รับการขานรับอย่างดีจากนักสภาวะแวดล้อมจำนวนมาก ผู้เคยมองพระศาสนจักรเป็นฝ่ายตรงข้าม เพราะจุดยืนของพระศาสนจักรในเรื่องการคุมกำเนิด ต่อไปนี้พระศาสนจักรจะเป็นพันธมิตรกับคนเหล่านี้ เพราะนักสภาวะแวดล้อมจะถือว่าศาสนาจะมีส่วนสำคัญในการจูงใจให้ผู้คนยอมเสียสละตัวเองเพื่อธำรงรักษาโลกของเราไว้
                ประการที่ห้า พระสันตะปาปาได้เริ่มต้นปฏิรูปโครงสร้างการปกครองของพระศาสนจักร แม้การปฏิรูปอย่างจริงจังเป็นไปอย่างช้าๆแต่ได้เริ่มขึ้นแล้ว โดยเฉพาะการปฏิรูปเรื่องเศรษฐกิจ โดยเริ่มจากธนาคารวาติกัน และไปสู่หน่วยงานต่างๆ การจัดการด้านงบประมาณในหน่วยงานต่างๆต้องผ่านการพิจารณาอย่างละเอียด สำนักงานหลายสำนักงานได้รับการปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น สิ่งต่างๆเหล่านี้ส่งผลดีต่อพระศาสนจักรโดยรวม ยังมีภารกิจอีกมากมายต้องดำเนินการก็จริงแต่งานเหล่านี้ได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว
                ประเด็นสำคัญก็คือ พระสันตะปาปาพยายามเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของนักบวชให้มีจิตตารมณ์แห่งการรับใช้ พระองค์ปรารถนาให้พระสังฆราช พระสงฆ์ นักบวชชายหญิง อุทิศตนทำงานรับใช้ประชากรของพระเจ้ามากกว่าที่จะดำรงตนเป็นเจ้าขุนมูลนาย ยิ่งไปกว่านั้น พระองค์ยังเปลี่ยนแปลงประเพณีการแต่งตั้งพระคาร์ดินัล จากเดิมที่เป็นการยกย่องส่งเสริมให้รางวัล กลับมาเป็นการพิจารณาพระสังฆราชที่ให้ความสำคัญกับนโยบายที่พระองค์จัดวางลำดับความสำคัญไว้เพื่อพระสังฆราชเหล่านี้จะได้รับการยกขึ้นเป็นพระคาร์ดินัล เพื่อสักวันหนึ่งพระคาร์ดินัลเหล่านี้จะมาทำหน้าที่เป็นผู้นำพระศาสนจักรในภายภาคหน้า 
พ่อสุพจน์
.........................................................................................

ข้างบัลลังก์นักบุญหลุยส์ :ก็อก ก็อก ก็อก เปิดประตู

ชายตาบอด แม้มองไม่เห็นแต่เขาได้ยิน
และยอมให้พระช่วย
ชาวฟาริสี แม้ตาไม่บอด แต่ใจเขาปิด
และไม่อยากจะเชื่อตามที่ตาเห็น

ไม่ใช่ใครที่ปิดตาของใจเรา แต่บ่อยบ่อยที่เราปิดตาใจเราเอง

ตาของกายมืดบอด
แม้รักษาไม่ได้ แต่ยังได้รับความรอดพ้นได้
ตาของกายไม่บอด แต่ตาของใจมืดบอด
แม้รักษาได้ แต่ไม่ยินยอมรับการรักษา
บางทีอาจรอดพ้นได้ หรือ ไม่ก็อาจไร้โอกาสรอดพ้นเลย

เพียงเพราะกฎบังตา อัตตา-ตัวตนสูงข่มความดี
เห็นสิ่งดีอยู่ตรงหน้า เห็นเรื่องราวดีดีอยู่ตรงหน้า ยังว่าร้ายได้
เพียงเพราะไม่ถูกใจ เพียงเพราะไม่ใช่พวกเรา เพียงเพราะแตกต่างจากเรา

ความดีจึงไปไม่ถึงใจ อคติปิดใจแน่นหนา
ชีวิตจึงทำทำไปแค่ตามตัวบท ตัวบัญญัติ ตามกฎที่ร่ำเรียนมา
มีปัญญาสูงส่ง สมองโต แต่กลับใจลีบ แขนลีบ ขาลีบ

มองเห็นตัวหนังสือ สำคัญกว่าความเป็นคน
มองเห็นแต่สิ่งที่ตัวต้องการ มากกว่าความต้องการของคนอื่น
คนอะไร...หูเปิด ตาเปิด ปากเปิด แต่ไม่เปิดใจ

#แล้วเราหละ

บาทหลวงบางกอก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น