พี่น้องที่รัก
เดือนตุลาคมเดือนแม่พระลูกประคำกำลังจะผ่านพ้นไปแล้วครับ
แม้ว่าเรากำลังจะจบเดือนตุลาคม
แต่ก็ไม่อยากให้พี่น้องจบการสวดสายประคำไว้เพียงแค่เดือนนี้ของปีนะครับ
วันนี้พ่อขอนำคำแนะนำในการสวดภาวนาของนักบุญหลุยส์ มารีย์ เดอ มองฟอร์ต
ผู้มีความศรัทธาต่อแม่พระมากมาฝากพี่น้องครับ
ท่านนักบุญให้คำแนะนำว่า เมื่อเริ่มสวดภาวนา ให้ถวายคำอธิษฐานวิงวอนขอ
แด่แม่พระและตั้งใจสวดภาวนาอย่างดี ภาวนาด้วยหัวใจ ภาวนาด้วยความรักพระ
ภาวนาด้วยความสุภาพถ่อมตน และถ่อมใจ ภาวนาช้าๆ นึกถึงคำภาวนาแต่ละคำ
ให้แต่ละคำมีความหมายเต็มไปด้วยความรัก ออกมาจากหัวใจ เหมือนเราคุยกับคนที่เรารัก
ไม่สวดภาวนาแบบเคยชิน สวดภาวนาแต่ปากแต่ใจล่องลอย ไม่รีบสวดภาวนา ให้เรานึกเสมอว่า
ทุกอย่างที่เราทำนี้เพื่อพระ เพื่อผู้อื่น และเพื่อวิญญาณในไฟชำระ
ไม่ใช่ภาวนาเพื่อความดี หรือประโยชน์ของตนเอง
โดยเริ่มด้วยคำเสนอวิงวอนตามความต้องการสวดภาวนาขอพรพระให้กับผู้ใด เรื่องอะไรบ้าง
อธิษฐานวิงวอนตั้งแต่เริ่มต้นเลย และในเวลาภาวนา
ตั้งใจภาวนาอย่างเดียวไม่ต้องมัวพะวงเรื่องคำอธิษฐานวิงวอนขออีก เสร็จแล้ว
ตามด้วยการถวายคำภาวนาแด่แม่พระดังนี้....
“ข้าแต่พระแม่มารีอาพระมารดาที่สุดรักของลูก
ลูกขอถวายคำภาวนาและคำวอนขอของลูกนี้แด่พระแม่ ขอพระแม่ทรงตบแต่งให้สวยงาม
ขอพระจิตเจ้า ผู้ทรงสถิตอยู่ในพระแม่
บันดาลให้คำภาวนาและคำวอนขอของลูกนี้ศักดิ์สิทธิ์ไปและขอให้คำภาวนาและคำวอนขอของลูกร่วมสนิทเป็นหนึ่งเดียวกับพระจิตเจ้าและพระแม่
ขอพระแม่ทรงถวายคำภาวนาและคำวอนขอของลูกนี้
แด่พระเยซูเจ้าพระบุตรสุดที่รักของพระแม่ พระเป็นเจ้า พระผู้ไถ่ และพระเชษฐาของลูก
และขอพระเยซูเจ้าทรงถวายคำภาวนาและคำวอนขอของลูกนี้แด่พระบิดาเจ้าสวรรค์นิรันดร
ผู้ทรงพระทัยอารีและทรงรักลูก ขอพระองค์โปรดทรงพระเมตตากรุณาสงสาร
ตามพระประสงค์ของพระองค์ และโปรดสดับฟังคำวอนขอของลูกแล้วแต่จะทรงพระกรุณา
ลูกวอนขอทั้งนี้ในพระนามของพระเยซูเจ้าพระบุตรสุดที่รักของพระองค์
โดยคำเสนอวิงวอนของพระแม่มารีย์ เทวดา ทูตสวรรค์ นักบุญทั้งหลาย ท่านอารักขเทวดา
และวิญญาณในไฟชำระ ลูกขอให้คำภาวนาและคำวอนขอของลูกนี้
ร่วมเป็นหนึ่งเดียวกับของคริสตชนทั่วโลกผู้ศักดิ์สิทธิ์ผู้ที่รักพระองค์และผู้ที่สวดภาวนาทุกท่าน
อาแมน
นักบุญหลุยส์ มารีย์ เดอ มองฟอร์ต
ถวายคำภาวนาเช่นนี้ทำให้คำภาวนาของท่านนักบุญได้รับพระพร
และพระหรรษทานเพิ่มทวีคูณมหาศาล
เมื่อเราถวายคำภาวนาแด่แม่พระเช่นนี้ แม่พระจะเป็นผู้แจกจ่ายพระพร และ
พระหรรษทานแก่ผู้ที่ต้องการทุกคน ครอบครัวของเรา เพื่อนพี่น้องของเรา
ทุกคนที่เรารัก
และวิญญาณในไฟชำระไม่ต้องห่วงว่าผู้ที่เราสวดให้จะไม่ได้รับอย่างเพียงพอ เพราะแม่พระทรงทราบดีว่าใครต้องการมาก
ใครต้องการน้อย และแม่พระยังมีพระหรรษทานเพิ่มพูนให้
เมื่อบางคนต้องการมากและเราสวดให้ไม่พอ
แม่พระทรงเป็นผู้แจกจ่ายพระพรและพระหรรษทานที่ดีที่สุด
เพราะแม่พระทรงเปี่ยมด้วยพระหรรษทาน ทรงเปี่ยมด้วยความรัก ความเอาพระทัยใส่และความเมตตาสงสาร
แม่พระคอยดูแลลูกๆของแม่ในโลกนี้ แม่พระเป็นแม่สวรรค์ที่รักใคร่และห่วงใยลูกๆมาก
มากจนกระทั่งแม่ของเราในโลกนี้ไม่สามารถเปรียบได้เลย
วันจันทร์ที่ 31 ตุลาคม
ขอเรียนเชิญพี่น้องมาร่วมกันสรรเสริญ เทิดเกียรติแม่พระ
ในพิธีมิสซาบูชาขอบพระคุณเวลา 19.00 น. หลังพิธีมีการแห่พระรูปแม่พระรอบวัด และในวันพุธที่ 2 พฤศจิกายน
2559 เป็นวันระลึกถึงผู้ล่วงลับ
เรามาร่วมภาวนารำลึกถึงญาติพี่น้องของเราที่จากเราไปแล้วกันครับ พิธีเริ่มเวลา 19.00
น.
พ่อสุพจน์
......................................................................................................
สวัสดีครับ
เมืองเยรีโคตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำจอร์แดน
จึงเป็นศูนย์กลางเชื่อมเส้นทางระหว่างกรุงเยรูซาเล็มกับดินแดนทางตะวันออกของแม่น้ำจอร์แดนเข้าด้วยกัน
เยรีโคยังอุดมสมบูรณ์ไปด้วยต้นปาล์ม อินทผลัม ยางไม้หอม และกุหลาบ
จนได้รับการขนานนามว่า “เมืองแห่งต้นปาล์ม” โยเซฟุส นักประวัติศาสตร์ชาวยิวถึงกับเรียกเมืองเยรีโค
ว่าเป็น “ดินแดนของพระเจ้า” และ “เมืองที่มั่งคั่งที่สุดในปาเลสไตน์”
ด้วยเหตุที่เป็นศูนย์กลางของการเดินทางและการค้าขายกับดินแดนทางตะวันออก
กอปรกับธรรมชาติเอื้ออำนวยให้มีความอุดมสมบูรณ์
เยรีโคจึงเป็นศูนย์กลางการเก็บภาษีที่สำคัญที่สุดในปาเลสไตน์
เดิมทีโรมเก็บภาษีบรรดาเมืองขึ้นซึ่งรวมถึงปาเลสไตน์ด้วย โดย
“การให้สัมปทาน”
แต่ละเขตแก่ผู้ที่เสนอผลประโยชน์สูงสุดแก่โรม
ตราบใดที่ผู้ได้รับสัมปทานสามารถส่งภาษีได้ครบตามสัญญา
โรมจะให้สิทธิพวกเขาเก็บภาษีหรือขูดรีดอะไรก็ได้จากประชาชนที่อาศัยอยู่ในเขตนั้น
โดยที่ประชาชนแทบไม่รู้เลยว่าภาษีที่พวกเขาต้องจ่ายตามกฎหมายมีอะไรบ้าง
เพราะสมัยนั้นยังไม่มีหนังสือพิมพ์ วิทยุ หรือโทรทัศน์
แน่นอนว่าผู้รับสัมปทานแต่ละรายต่างนำสิทธิที่ได้รับจากโรมไปใช้ในทางที่ผิดจนเกิดปัญหาตามมามากมาย ที่สุดโรมจึงยกเลิกระบบดังกล่าวและหันมาจัดเก็บภาษีเอง
กระนั้นก็ตามคนเก็บภาษีซึ่งแม้จะทำงานให้โรมโดยตรงก็ยังไม่ยอมละทิ้งวัฒนธรรมดั้งเดิม
นั่นคือทั้งโลภ ทั้งโกง และทั้งแสวงหาผลประโยชน์ใส่ตน
ภาษีที่ต้องจ่ายมี 2 ประเภท
ประเภทแรกคือภาษีรัฐ ตัวอย่างเช่น ภาษีรายหัวที่ชายอายุ 14-65 ปีและหญิงอายุ 12-65
ปีทุกคนต้องจ่ายเป็นรายปี
ภาษีที่ดินร้อยละสิบหากปลูกข้าว ถ้าปลูกองุ่นและน้ำมันร้อยละยี่สิบ ภาษีเงินได้ร้อยละหนึ่ง เป็นต้น ภาษีประเภทนี้ไม่ค่อยมีการบิดเบือนมากนัก
ภาษีประเภทที่สองคือภาษีอากรที่เหลือทุกชนิด
เช่นภาษีการใช้ถนน ท่าเรือ ตลาด ภาษีนำเข้าและส่งออก
รวมถึงภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับสินค้าบางชนิดยกตัวอย่างเฉพาะภาษีการใช้ถนนซึ่งเรียกเก็บตามจำนวนล้อและชนิดของสัตว์ที่ใช้ลากจูงเกวียน
การลงบัญชีจำนวนล้อหรือชนิดของสัตว์ว่าก่อให้เกิดความเสียหายต่อถนนมากน้อยเพียงใด
ล้วนขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของคนเก็บภาษี นอกจากนั้นคนเก็บภาษียังมีอำนาจสั่งให้หยุดเกวียนกลางถนน
แล้วรื้อหีบห่อสินค้าต่าง ๆ เพื่อตรวจเก็บภาษีตามความพอใจ หากประชาชนมีเงินไม่พอจ่ายค่าภาษี
พวกเขายังเตรียมเงินไว้ให้กู้ยืมด้วยอัตราดอกเบี้ยที่แพงลิบลิ่ว คนเก็บภาษีจึงมีฐานะทางเศรษฐกิจร่ำรวยมาก
แต่ฐานะทางสังคมกลับตกต่ำที่สุด
เพราะชาวยิวพากันเกลียดชังและจัดชั้นพวกเขาให้อยู่กลุ่มเดียวกันกับโจรและฆาตกร
ที่สำคัญศักเคียสไม่ใช่คนเก็บภาษีธรรมดา
แต่เป็นถึงหัวหน้าคนเก็บภาษีของเมืองที่มั่งคั่งที่สุดในปาเลสไตน์
ความร่ำรวยของศักเคียสจึงไม่ต้องพูดถึง
และกับศักเคียสที่ชาวยิวถือว่าเลวเทียบเท่าโจรและฆาตกรนี้เอง
ที่พระเยซูเจ้าตรัสว่า “วันนี้ความรอดพ้นมาสู่บ้านนี้แล้ว” (ลก 19:9) เกิดอะไรขึ้นกับศักเคียสหรือ?
ประการแรก ศักเคียสร่ำรวยแต่ไม่มีความสุข
เขาโดดเดี่ยวเพราะเลือกอาชีพที่ไม่มีใครอยากคบหาสมาคมด้วย ความร่ำรวยไม่ช่วยให้เขามีความสุข เงินทองไม่ใช่คำตอบสุดท้ายสำหรับเขา
โชคดีที่เขาได้ยินมาว่าคนชื่อ “เยซู” ต้อนรับคนเก็บภาษีและคนบาป เขาจึงอยากรู้ว่าพระองค์จะตรัสกับเขาว่าอย่างไร
? ด้วยเหตุที่ผู้คนพากันดูหมิ่นและเกลียดชัง
ศักเคียสจึงพยายามแสวงหาความรักของพระเจ้ามาเติมเต็มชีวิตของเขา
ประการที่สอง เมื่อศักเคียสตั้งใจพบพระเยซูเจ้า
เขาไม่ยอมให้สิ่งใดมาหยุดยั้ง
ด้วยความที่เป็นคนร่างเตี้ยและเป็นที่เกลียดชังของผู้คนทั่วไป
การฝ่าฝูงชนมากมายเข้าพบพระเยซูเจ้าจึงต้องถือว่าเป็นคนกล้าหาญชาญชัยอย่างยิ่ง
เพราะฝูงชนคงไม่ยอมพลาดโอกาสทองที่จะประเคนทั้งศอก ทั้งเข่าใส่เขาอย่างเมามัน
และเขาคงต้องกลับบ้านพร้อมกับรอยฟกช้ำดำเขียวทั้งตัว แต่ศักเคียสไม่ยอมให้โอกาสที่จะพบพระเยซูเจ้าซึ่งอยู่ใกล้แค่เอื้อมหลุดลอยไปเด็ดขาด
แม้จะต้องเสี่ยงชีวิตฟันฝ่าอุปสรรคใหญ่หลวงเพียงใดก็ตาม “เขาจึงวิ่งนำหน้าไป
ปีนขึ้นต้นมะเดื่อเทศ เพื่อให้เห็นพระเยซูเจ้า” (ลก
19:4)ทั้งหมดนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยสำหรับคนร่างเตี้ยอย่างเขา
ประการที่สาม เมื่อได้พบพระเยซูเจ้า
ศักเคียสเปลี่ยนชีวิตใหม่หมดเมื่อพระองค์ตรัสกับเขาว่า “ศักเคียส รีบลงมาเถิด
เพราะเราจะไปพักที่บ้านท่านวันนี้”
(ลก 19:5) ศักเคียสค้นพบทันทีว่าเขาได้ “เพื่อนใหม่” ที่วิเศษสุดแล้ว
เขาตัดสินใจเปลี่ยนวิถีชีวิตทันที เขายกสมบัติครึ่งหนึ่งให้แก่คนจน อีกครึ่งหนึ่งที่เหลือก็ไม่ได้เก็บไว้ใช้เอง
แต่เพื่อชดใช้ความเสียหายสี่เท่าแก่คนที่เขาได้โกงมา (ลก 19:8)
การชดใช้ “สี่เท่า” ถือว่าเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้มาก กฎหมายกำหนดว่า “ถ้าผู้ใดขโมยโคหรือแกะไปฆ่าหรือขาย
ผู้นั้นจะต้องชดใช้ในอัตราโคห้าตัวต่อโคหนึ่งตัว (หนึ่งตัวทดแทนโคที่ถูกฆ่าหรือขาย
อีกสี่ตัวเป็นค่าปรับ - ผู้เขียน) แกะสี่ตัวต่อแกะหนึ่งตัว (ค่าปรับสามเท่า)”
(อพย 21:37) แต่ “ถ้าพบสัตว์ที่เขาขโมยไปยังมีชีวิตอยู่ไม่ว่าจะเป็นโค
ลาหรือแกะ เขาจะต้องชดใช้เป็นสองเท่า” (อพย
22:3)แต่ถ้าขโมยสำนึกผิดและนำสิ่งของที่ได้มา ไปคืนเจ้าของดังเช่นกรณีของศักเคียส
“เขาจะต้องนำทุกสิ่งที่เขาได้มาไปคืนแก่เจ้าของ
เพิ่มค่าปรับอีกหนึ่งในห้าของราคาสิ่งของเหล่านั้น” (อพย
5:24)แต่ศักเคียสพร้อมชดใช้ความเสียหายหรือค่าปรับสี่เท่าในทุกกรณี
ซึ่งเกินกว่ากฎหมายกำหนดถึงยี่สิบเท่า
ศักเคียสไม่เพียงเปลี่ยนแปลงความคิดและจิตใจเท่านั้น
แต่เขาเปลี่ยนแปลงการกระทำด้วย เขาทำให้เห็นว่า คำพูดยืนยันใด ๆ ย่อมไร้ค่าหากปราศจากการกระทำ
เช่นเดียวกัน พระเยซูเจ้าทรงเรียกร้องให้เราเปลี่ยนแปลงไม่ใช่เพียงคำพูด
แต่ต้องเปลี่ยนแปลงทั้งชีวิต สิ่งนี้แหละที่ทำให้พระองค์ตรัสว่า “วันนี้ ความรอดพ้นได้มาสู่บ้านนี้แล้ว”
คพ.พงษ์เกษม
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น