พี่น้องที่รัก
นับเป็นเรื่องที่น่ายินดีอย่างยิ่งใหญ่ของพระศาสนจักรคาทอลิกในประเทศไทยอีกคำรบหนึ่ง
ที่สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิส ทรงประกาศให้ทราบว่า พระองค์ท่านทรงเลือก พระคุณเจ้า
ฟรังซิสเซเวียร์ เกรียงศักดิ์ โกวิทวาณิช ให้เข้าสู่ทำเนียบพระคาร์ดินัล
ซึ่งนับเป็นพระคาร์ดินัลชาวไทยองค์ที่สอง ถัดมาจาก พระคาร์ดินัล ไมเกิ้ล มีชัย
กิจบุญชู
ให้เราร่วมใจกันโมทนาคุณพระเจ้า
สำหรับเกียรติที่ยิ่งใหญ่ของพระศาสนจักรคาทอลิกในประเทศไทย ที่สมเด็จพระสันตะปาปา
ได้มอบให้ในครั้งนี้ ขอพระนามพระเจ้าจงได้รับการสรรเสริญ
ขอให้การมีส่วนร่วมในความเป็นหนึ่งเดียวกันที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้นกับศูนย์กลางของพระศาสนจักร
เป็นโอกาสทำให้คริสตชนชาวไทยมีความเชื่อ ความศรัทธา
ความรักร้อนรนในองค์พระเจ้ามากขึ้น ด้วยเทอญ
คพ.พ่อสุพจน์
ความมหัศจรรย์ของพิธีบูชาขอบพระคุณ
(ต่อจากคราวที่แล้ว)
บทที่
5
จากเด็กที่น่าสงสาร
สู่การเป็นพระสังฆราช คาร์ดินัล และ นักบุญ
ปีเตอร์ ดาเมียน
ต้องสูญเสียพ่อและแม่บังเกิดเกล้าไปภายหลังจากลืมตาดูโลกได้ไม่นาน
พี่ของเขาคนหนึ่งเลี้ยงดูเขาภายหลังจากที่ต้องเป็นกำพร้า แต่เขาถูกบังคับให้ต้องทำงานหนัก
แต่มีอาหารการกินที่อัตคัตขัดสน เขามีเพียงเสื้อผ้าซอมซ่อปกปิดร่างกาย
วันหนึ่ง ปีเตอร์
โชคดีเจอเหรียญเงินที่ตกอยู่เหรียญหนึ่ง
เพื่อนของเขายุให้เขานำเหรียญนั้นไปใช้จ่าย
เพราะไม่สามารถหาเจ้าของเหรียญที่แท้จริงได้
ปีเตอร์ตกอยู่ในความสับสน
ว่าเขาจะนำเหรียญเงินเหรียญนั้นมาใช้เพื่อซื้อข้าวของที่เขามีความจำเป็นต้องใช้
เพราะเขาขัดสนทุกสิ่งดีหรือไม่
แต่มโนธรรมของปีเตอร์บอกกับเขาว่า
เขาควรจะเลือกทำในสิ่งที่เหมาะสมกว่านั้น
นั่นคือนำเหรียญเงินเหรียญนั้นไปขอมิสซาอุทิศให้วิญญาณในไฟชำระ โดยเฉพาะเพื่อดวงวิญญาณของบิดามารดาของเขา
เขาตัดสินใจทำตามสิ่งที่มโนธรรมเขาบอกกล่าว และ
ได้ขอมิสซาอุทิศให้กับดวงวิญญาณในไฟชำระ
หลังจากนั้นชีวิตของเขาก็เปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง
พี่คนโตของเขามาเยี่ยมเขาที่บ้าน
และ เห็นว่าเขาต้องทำงานอย่างหนัก ยากลำบากมาก พี่คนโตจัดการให้เขาไปอยู่ภายใต้ความดูแลของพี่คนโต
ซึ่งได้เอาใจใส่ เลี้ยงดูเขาอย่างดีด้วยความรัก เขาถูกส่งไปเรียนในโรงเรียน
นับตั้งแต่นั้นมา พระพรของพระเจ้าก็หลั่งไหลมายังชีวิตของปีเตอร์
ดาเมียนไม่หยุดยั้ง เขาได้รับการอบรมต่อในบ้านเณร และ ได้บรรลุถึงการเป็นพระสงฆ์
ไม่นานหลังจากนั้น เขาได้รับศีลบวชเป็นพระสังฆราช และ
ที่สุดก็ได้รับการยกขึ้นเป็นพระคาร์ดินัล เมื่อท่านล่วงลับไปได้ไม่นาน
ชื่อของท่านได้รับการเสนอให้พิจารณาให้เข้าสู่ทำเนียบนักบุญ และ
มีอัศจรรย์เกิดขึ้นเพื่อยืนยันความศักดิ์ของท่าน ในที่สุดพระศาสนจักรสถาปนาท่านเป็นนักบุญนักปราชญ์ของพระศาสนจักร
ผลบุญต่างๆเหล่านี้เกิดขึ้นเพียงเพราะ พิธีบูชาขอบพระคุณครั้งนั้นเพียงครั้งเดียว (ยังมีต่อ)
................................................................................................................
เป็นเรื่องน่ายินดียิ่ง เมื่อพระอัครสังฆราช ฟรังซิสเซเวียร์
เกรียงศักดิ์ โกวิทวาณิช พระสังฆราชของเราจะได้รับการสถาปนาเป็นพระคาร์ดินัล
ตามการประกาศของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิส โดยจะมีการสถาปนาพระคาร์ดินัลใหม่ขึ้นในวันเสาร์ที่
14
กุมภาพันธ์ 2015 นี้ ขอเราทุกคนจะได้ร่วมใจกันภาวนาเพื่อพระสังฆราชของเราด้วยเช่นกัน
[ เกร็ดความรู้เกี่ยวกับ “พระคาร์ดินัล” ]
ประมวลกฎหมายพระศาสนจักร กล่าวไว้ว่า “ผู้ที่ได้รับแต่งตั้งเป็นพระคาร์ดินัล
เป็นบุรุษที่พระสันตะปาปาคัดเลือกอย่างอิสระ อย่างน้อยเป็นผู้อยู่ในฐานันดรสงฆ์...
ผู้ที่ยังไม่เป็นพระสังฆราช ต้องได้รับการอภิเษกเป็นพระสังฆราช” (ม.351 วรรค 1)
ตำแหน่ง “พระคาร์ดินัล” เป็นสมณศักดิ์สูงสุดในพระศาสนจักรโรมันคาทอลิก
รองจากสมเด็จพระสันตะปาปา พระคาร์ดินัล
มีหน้าที่ช่วยเหลือให้คำปรึกษาแนะนำแก่พระสันตะปาปาในงานปกครองพระศาสนจักร
เปรียบเสมือนวุฒิสมาชิกหรือองคมนตรีของพระสันตะปาปา
นอกจากนั้นยังเป็นหัวหน้าบริหารสมณกระทรวง สมณองค์การ และหน่วยงานอื่นๆ ของพระศาสนจักร
“คณะพระคาร์ดินัล” ซึ่งรวมเรียกว่า“The Sacred College of Cardinals” ยังมีหน้าที่บริหารพระศาสนจักรในระหว่างที่ตำแหน่งพระสันตะปาปาว่างลง
(Sede Vacante) อีกด้วย หลังจากที่พระสันตะปาปาสิ้นพระชนม์
คณะพระคาร์ดินัลจะต้องมาประชุมกันเพื่อทำการเลือกตั้งพระคาร์ดินัลองค์หนึ่งขึ้นเป็นพระสันตะปาปาสืบต่อไป
ตำแหน่งพระคาร์ดินัลไม่ใช่ศีลบวช
การแต่งตั้งจึงไม่ใช่พิธีบวชอย่างที่บางท่านอาจจะเข้าใจ
แต่เป็นเพียงการเลื่อนสมณศักดิ์เท่านั้น
พิธีแต่งตั้งกระทำในการประชุมคณะพระคาร์ดินัลกับพระสันตะปาปา ที่เรียกว่า “Consistory” ซึ่งแยกเป็น “การประชุมภายใน” (Secret Consistory) ที่พระสันตะปาปาทรงแจ้งรายชื่อผู้ที่จะรับตำแหน่งพระคาร์ดินัลให้คณะพระคาร์ดินัลทราบ
การแจ้งนี้ทำให้พระคาร์ดินัลใหม่ได้รับสิทธิที่จะเข้าประชุมเลือกพระสันตะปาปาได้ทันที
รวมทั้งอภิสิทธิ์อื่นๆ ของพระคาร์ดินัล หลังจากนั้นจะมีพิธีมอบหมวกแดง (Biretta)
ซึ่งเป็นเครื่องหมายของพระคาร์ดินัลในการประชุมภายนอก (Public
Consistory) และหลังจากนั้นพระคาร์ดินัลก็จะไปกระทำพิธีเข้าครอบครองวัดประจำตำแหน่งในกรุงโรมตามโอกาส
ผู้ที่เป็นพระคาร์ดินัล นอกจากมีหน้าที่เลือกตั้งพระสันตะปาปา ในยามที่ตำแหน่งพระสันตะปาปาว่างลงแล้ว
บรรดาพระคาร์ดินัลยังเป็นที่ปรึกษาสำคัญของพระสันตะปาปา
และช่วยพระองค์บริหารปกครองพระศาสนจักร ส่วนกลาง
และหน้าที่ในการเอาใจใส่ดูแลพระศาสนจักรสากลด้วยเช่นกัน…
คพ.วิทยา
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น