วันศุกร์ที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2555

สารวัดอาทิตย์ที่ 26 สิงหาคม 2012


สวัสดีครับพี่น้อง
ประเพณีการฉลองวัด ถือเป็นธรรมเนียมที่ปฏิบัติสืบเนื่องกันมาแต่โบร่ำโบราณ นับแต่อดีตสืบมาจนปัจจุบัน สามารถกล่าวได้ว่า วันฉลองวัดเป็นวันสำคัญวันหนึ่งในรอบปีของชุมชนแห่งความเชื่อนั้นๆ ประการแรก วันฉลองวัดเป็นการให้ความสำคัญกับวัดในฐานะที่เป็นศูนย์รวมจิตใจของชุมนุมผู้มีความเชื่อในพระเจ้าแห่งนั้นๆ ซึ่งถือเป็นการเฉลิมฉลองประจำปีของหมู่บ้าน หรือ ของเมือง หรือ สถานที่ที่วัดนั้นๆตั้งอยู่ วัดจะไม่มีความสำคัญใดๆเลย ถ้าปราศจากสัตบุรุษที่มาร่วมกันสวดภาวนา ยกจิตใจขึ้นหาพระเจ้า ดังนั้นการฉลองวัดจึงเป็นเสมือนการฉลองความเป็นหนึ่งเดียวกันของหมู่มวลสัตบุรุษอันได้แก่จิตใจของเราที่เปิดให้พระเจ้าเข้ามาครอบครองนั่นเอง  ประการที่สอง การฉลองวัดเป็นโอกาสให้เราได้รำลึกถึงแบบอย่างของนักบุญองค์อุปถัมภ์ของวัดนั้นๆ ซึ่งวัดของเราก็มีนักบุญหลุยส์ หรือ พระเจ้าหลุยส์ที่ 9 กษัตริย์แห่งประเทศฝรั่งเศส เป็นองค์อุปถัมภ์ ท่านนักบุญได้รับการอบรมเลี้ยงดูอย่างเอาใจใส่จากพระมารดา ซึ่งมีนามว่า พระราชินี บลองซ์ เดอ คาสเตีย อิทธิพลของการปลูกฝังความเชื่อจากแม่ผู้มีความศรัทธามั่นคงในพระศาสนาเป็นผลให้ พระเจ้าหลุยส์ดำรงชีวิตเป็นคริสตชนที่ยึดมั่นในหลักธรรมที่พระเจ้าทรงสอน และแน่นอนที่สุดชีวิตของผู้ที่แน่วแน่มั่นคงในคำสอนของพระเจ้า แม้ว่าจะอยู่ในฐานะกษัตริย์ที่ปกครองประเทศ ก็ไม่ทำให้ท่านหันเหไปจากหนทางแห่งคุณงามความดี ซึ่งเป็นที่น่าชื่นชมยิ่งนัก เพราะหาได้ยากยิ่งนักที่จะพานพบกษัตริย์ที่ไม่หลงไหลไปกับอำนาจ คำสรรเสริญ การยกย่อง การเอาอกเอาใจ ของผู้คนทั้งที่หวังดี และ ไม่หวังดี พระเจ้าหลุยส์ได้อุทิศตนทำทุกสิ่งเพื่อพสกนิกร ดำรงไว้ซึ่งทศพิธราชธรรม และ เชิดชูศาสนา ทำให้ต่อมาท่านได้รับการขนานนามยกย่องว่าท่านคือนักบุญของพระศาสนจักรคาทอลิก นี่จึงเป็นข้อคิดสำหรับเราๆท่านๆว่า การให้ความสำคัญในการปลูกฝัง ถ่ายทอดความเชื่อของพ่อแม่ไปสู่รุ่นลูกนั้นเป็นสิ่งที่ทุกครอบครัวต้องสืบสานมรดกล้ำค่านี้ไปสู่รุ่นต่อไปให้ได้ ครอบครัวทุกครอบครัวต้องให้ความสำคัญกับเรื่องนี้
โอกาสฉลองวัดเซนต์หลุยส์ของเราในปีนี้ พ่อถือโอกาสนี้ต้อนรับสัตบุรุษจากวัดต่างๆที่มาร่วมฉลองวัดของเรา และขอขอบคุณพี่น้องสัตบุรุษวัดเซนต์หลุยส์ทุกท่าน ที่ได้มีส่วนร่วมสนับสนุน และ ช่วยเหลือการจัดการฉลองวัดของเราทั้งทางตรงและทางอ้อม ทั้งด้วยกำลังกาย และ ด้วยกำลังคำภาวนา เพื่อให้งานฉลองวัดของเราสำเร็จเป็นไปเกิดผลเป็นพระพรของพระเจ้าที่หลั่งไหลมาสู่เราทุกคนทั่วหน้าด้วยเถิด ขอนักบุญหลุยส์ กษัตริย์ องค์อุปถัมภ์ของวัดของเราได้เสนอวิงวอนพระเจ้าเพื่อเราทุกคนเทอญ

                                                                                                                        คุณพ่อสุพจน์
............................................................................................................

คำภาวนาสองบท
            เรือลำหนึ่งจมลงในทะเลในขณะที่มีลมพายุ มีชายสองคนเท่านั้นที่สามารถว่ายไปถึงเกาะเล็กๆได้
            ผู้รอดชีวิตทั้งสองคนไม่รู้ว่าจะทำอะไร ต่างเห็นเหมือนกันว่า ไม่มีอะไรดีไปกว่าการสวดภาวนาต่อพระเจ้า ด้วยความใคร่รู้ว่าคำภาวนาของใครจะศักดิ์สิทธิ์กว่า เขาจึงตกลงแบ่งพื้นที่กันและแยกกันอยู่คนละฝั่งของเกาะ
            สิ่งแรกที่เขาสวดภาวนาคือขออาหาร เช้าวันรุ่งขึ้นชายคนแรกเห็นต้นไม้ในเขตของเขามีผลมากมาย เขากินผลไม้เพื่อบรรเทาความหิว ชายอีกคนไม่เห็นผลไม้บนต้นไม้ในเขตของตนเลย
            หนึ่งอาทิตย์ผ่านไป ชายคนแรกรู้สึกเหงามาก เขาจึงสวดขอภรรยา วันรุ่งขึ้นมีเรืออีกลำอับปาง ผู้รอดชีวิตมีคนเดียว คือหญิงสาวซึ่งว่ายน้ำมาที่บริเวณชายฝั่งในเขตของชายคนแรก เขาได้เธอเป็นภรรยา ส่วนอีกด้านหนึ่ง ชายคนที่สองยังไม่มีอะไรเลย
            ต่อมาชายคนแรกภาวนาขอให้เขามีลูก มีบ้าน และเสื้อผ้า วันรุ่งขึ้น เขาได้รับทุกอย่างตามที่เขาภาวนาขอ ชายคนที่สองยังไม่ได้รับอะไรอีกเช่นเคย ในที่สุด ชายคนแรกสวดภาวนาขอให้มีเรือเพื่อเขาและครอบครัวจะได้ออกจากเกาะไป รุ่งเช้า เขาก็พบเรือลำหนึ่งจอดที่ใกล้ๆฝั่ง ชายคนแรกตัดสินใจเดินทางไปจากเกาะ โดยเขาจะทิ้งชายคนที่สองไว้ที่เกาะแต่เพียงลำพัง เนื่องจากคำภาวนาของชายคนที่สองไม่เกิดผลเลย ชายคนแรกจึงคิดว่าชายคนที่สองเป็นคนไม่มีค่าพอจะได้รับพระพรอะไร
            ขณะที่เขาจะขึ้นเรือและทิ้งชายคนที่สองไว้ เขาได้ยินเสียงจากสวรรค์ “ทำไมเจ้าทิ้งเพื่อนของเจ้าไว้” ชายคนแรกตอบ “พระพรของข้าพระองค์เป็นของข้าพระองค์ เพราะข้าพระองค์เป็นผู้ภาวนา เมื่อคำภาวนาของชายอีกคนไม่ได้รับคำตอบเลย เขาก็ไม่สมควรได้รับพระพรใด”
            “เจ้าเข้าใจผิด” เสียงจากสวรรค์ตำหนิเขา “ชายคนที่สองมีคำภาวนาเพียงอย่างเดียวที่ทำให้เราตอบคำภาวนาของเขา และถ้าไม่ใช่เพราะคำภาวนาของเขา เจ้าก็จะไม่ได้รับพระพรเลย”
            ชายคนแรกถาม “เขาสวดภาวนาขออะไรหรือข้าพระองค์ถึงต้องเป็นหนี้บุญคุณเขา” พระเจ้าตรัสว่า “เขาภาวนาขอให้คำภาวนาของเจ้าเป็นจริง”

                                                           คัดจากหนังสือเมล็ดพันธุ์แห่งปรีชาญาณเล่ม3

วันศุกร์ที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2555

สารวัดอาทิตย์ที่ 19 สิงหาคม 2012


สวัสดีครับพี่น้อง
วันอาทิตย์นี้ เป็นวันที่พระศาสนจักรในประเทศไทย กำหนดให้เป็นวันสมโภชพระนางมารีย์ รับเกียรติยกขึ้นสวรรค์ทั้งกายและวิญญาณ เพื่อให้คริสตชนชาวไทยได้มีโอกาสถวายเกียรติแด่พระนางมารีย์ พระมารดาของพระเจ้า แม่ฝ่ายวิญญาณของชาวเรา ในโอกาสนี้อย่างทั่วถึงกัน ที่จริงแล้ว วันฉลองตรงวันคือวันที่ 15 สิงหาคม ของทุกปี พ่อจึงอยากนำความเป็นมาของวันสมโภชนี้มากล่าวให้พี่น้องได้เห็นความเป็นมานับแต่อดีตว่ามีความเป็นมาอย่างไร ประการแรก วันสมโภชแม่พระรับเกียรติยกขึ้นสวรรค์นี้เป็นวันฉลองที่สำคัญที่สุดวันหนึ่งของวันฉลองแม่พระ เราคาทอลิกมีความเชื่อในการเสด็จสู่สวรรค์ของพระนางพรหมจารีย์มารีย์ เราเชื่อว่าเมื่อชีวิตในโลกนี้ของพระนางมารีย์ได้จบลง พระนางได้รับเกียรติยกขึ้นสู่สวรรค์ทั้งร่างกายและวิญญาณอย่างรุ่งโรจน์ เพื่อพระเจ้าจะได้ขนานนามพระนางเป็นราชินีแห่งสวรรค์ ประการที่สอง วันสมโภชนี้เป็นวันฉลองที่พระนางมารีย์ได้รับการปลดปล่อยจากธรรมชาติมนุษย์ที่ต้องตายและเน่าเปื่อยเสื่อมสลายไป เพราะมีสาเหตุมาจากบาปกำเนิด วันฉลองนี้ยังเป็นวันระลึกถึง การที่พระศาสนจักรน้อมรับประเพณีแต่โบร่ำโบราณของคริสตชน เกี่ยวกับการเสด็จขึ้นสู่สวรรค์ของพระมารดาแห่งเมืองสวรรค์ ในพระศาสนจักรออร์โทดอกซ์ มีวันฉลองที่เรียกว่า "คอยเมซิส" หรือ "วันฉลองแม่พระบรรทมซึ่งจัดขึ้นในวันที่ 15 สิงหาคม ทุกปีนับตั้งแต่ศตวรรษที่ 6 เป็นต้นมา ประเพณีการฉลองนี้ค่อยๆแพร่หลายมาทางตะวันตก และกลายเป็นวันฉลองพระนางมารีย์รับเกียรติยกขึ้นสวรรค์ทั้งกายและวิญญาณในที่สุด ต่อมาในศตวรรษที่ 13 บรรดานักเทววิทยาคาทอลิกส่วนใหญ่ต่างยอมรับความเชื่อเกี่ยวกับวันฉลองนี้ และบรรดาจิตกรที่มีฝีมือทั้งหลายในยุคฟื้นฟูศิลปวิทยา และ ยุคบาโร้คนิยมวาดภาพที่แสดงออกถึงความเชื่อประการนี้กันอย่างแพร่หลาย   ที่สุดในวันที่ 1 พฤศจิกายน ค.. 1950 สมเด็จพระสันตะปาปาปีโอที่ 12 ได้ประกาศอย่างเป็นทางการว่า ความเชื่อที่ว่าพระนางมารีย์ได้รับเกียรติยกขึ้นสวรรค์ทั้งกายและวิญญาณนั้น เป็นข้อความเชื่ออย่างเป็นทางการของพระศาสนจักรคาทอลิก
พ่อคิดว่าในโอกาสการสมโภชสำคัญนี้ เราทุกคนควรจะให้คำตอบต่อคำถามสองประการต่อไปนี้ ประการแรก วันฉลองพระนางมารีย์รับเกียรติยกขึ้นสู่สวรรค์ทั้งกายและวิญญาณนี้มีความหมายสำหรับเราอย่างไร? ประการที่สอง ทำไมเราเชื่อถึงการเสด็จสู่สวรรค์ของพระนางทั้งๆที่ไม่ได้มีข้อความใดๆในพระคัมภีร์กล่าวถึงความเชื่อประการนี้แต่อย่างใดความหมายของคำว่า "อัสสัมชัญ" หรือ อีกนัยหนึ่ง พระนางมารีย์รับเกียรติยกขึ้นสวรรค์ทั้งกายและวิญญาณนี้ หมายความว่า ภายหลังความตายของแม่พระ แม่พระได้รับการยกขึ้นสู่สวรรค์ ทั้งร่างกาย และวิญญาณ เพื่อเป็นรางวัลสำหรับการที่พระนางได้อุทิศตนร่วมในแผนการไถ่กู้ของพระเจ้าเพื่อความรอดของมวลมนุษย์อย่างเต็มกำลังความสามารถนั่นเอง ดังนั้น ให้เราร่วมใจกันขอบพระคุณพระเจ้า สำหรับพระคุณประการนี้ ที่พระองค์ได้โปรดให้พระนางมารีย์เป็นแม่ฝ่ายวิญญาณของเรา และให้เราภาวนาขอแม่พระเสมอๆเพื่อเราจะสามารถที่จะเลือกหนทางที่จะดำเนินชีวิตในโลกนี้อย่างถูกต้องเสมอ
สัปดาห์หน้าจะถึงวันฉลองนักบุญหลุยส์กษัตริย์ องค์อุปถัมภ์ของวัดเราแล้ว ขอพี่น้องร่วมใจกันภาวนาเพื่อการฉลองวัดของเราจะได้เป็นโอกาสให้เราทุกคนได้รับอานิสงส์ฝ่ายจิตใจ และ มีโอกาสร่วมกันเทิดเกียรตินักบุญหลุยส์อย่างสง่างาม สมกับที่ท่านนักบุญได้ดำเนินชีวิตเป็นแบบอย่างให้กับคริสตชนในรุ่นต่อๆมาได้เห็นแบบอย่างอันเปี่ยมไปด้วยคุณงามความดีของท่าน
                                                                                                                        คุณพ่อสุพจน์
............................................................................................................

สวัสดีครับพี่น้องที่รักทุกท่าน
             ในครั้งนี้เรายังคงอยู่ในเรื่องของพิธีมิสซากันนะครับ วันนี้จะนำเสนอเกี่ยวกับภาคต่างๆ ของพิธีมิสซาที่เราร่วมกันเป็นประจำสม่ำเสมออยู่แล้วว่าแต่ละภาคมีอะไรที่น่าสนใจบ้าง ก่อนอื่นภาคต่างๆ ของพิธีมิสซานั้นบางคนก็บอกว่ามี 4 ภาคบ้าง บางคนก็บอกมี 2 ภาคบ้าง สรุปแล้วเลยไม่รู้ว่ามิสซาแบ่งออกเป็นกี่ภาคกันแน่ อันที่จริงแล้วมิสซาถูกแบ่งออกเป็น 2 ภาคใหญ่ๆ คือ ภาควจนพิธีกรรม (ตั้งแต่บทอ่านในพระคัมภีร์บทแรกถึงบทภาวนาเพื่อมวลชน) และภาคพิธีศีลมหาสนิท (ตั้งแต่การเตรียมถวายเครื่องบูชาถึงบทภาวนาหลังรับศีล) ส่วนคนที่บอกว่ามี 4 ภาคนั้นเป็น ภาคนำ (ตั้งแต่เริ่มพิธีไปจนถึงบทภาวนาแรกของประธาน) และภาคปิดพิธีหรือส่งท้าย นั่นเอง
            วันนี้จะมาพูดถึงในส่วนของภาคนำซึ่งประกอบด้วย เพลงแห่เข้า คำทักทาย-การสารภาพความผิด-ข้าแต่พระเจ้าขอทรงพระกรุณาเทอญ(กีรีเอ) พระสิริรุ่งโรจน์(กลอรีอา) และบทภาวนาแรกของประธาน ซึ่งมีลักษณะของการเริ่มต้น นำ และเตรียมจุดประสงค์ของพิธีของวันนั้นๆ เพื่อให้บรรดาสัตบุรุษที่มาร่วมกันนั้นมีความรู้สึกถึงความเป็นชุมนุมชน และเพื่อโน้มนำให้รับฟังพระวาจาของพระเจ้าในโอกาสของการฉลองบูชาขอบพระคุณ
            เพลงแห่เข้า มีความสำคัญคือเพื่อเป็นการเปิดหรือเริ่มพิธีการฉลอง เพื่อให้สัตบุรุษได้ร่วมจิตใจกันเป็นหนึ่งเดียวกันมากขึ้น เพื่อชักนำจิตใจสัตบุรุษไปสู่ธรรมล้ำลึกแห่งเทศกาลหรือการฉลองนั้นๆ และเพื่อประกอบกับขบวนแห่ของพระสงฆ์และศาสนบริการทั้งหลาย เพลงแห่เข้านี้บางบทนำมาจากเพลงสดุดี บางบทนำมาจากบทจดหมายในมิสซาวันนั้นๆ และบางบทผู้แต่งเขียนเนื้อร้องขึ้นเองเพื่อกระตุ้นเตือนให้ระลึกถึงธรรมล้ำลึกที่ทำการฉลองในวันนั้นหรือในโอกาสพิเศษ เช่น ฉลองนักบุญ
            ดังนี้แล้วถึงแม้ว่าเพลงแห่เข้าสำหรับพิธีมิสซานั้นจะเป็นเพียงส่วนเล็กๆ เป็นเพียงส่วนประกอบของการเตรียมจิตใจบรรดาสัตบุรุษเพื่อการร่วมในพิธีมิสซา แต่ก็มีความสำคัญมิใช่น้อยที่จะทำให้บรรดาสัตบุรุษที่มาร่วมในพิธีมิสซาของวันนั้นๆ ได้รับการเตรียมจิตใจให้เป็นหนึ่งเดียวกันเพื่อการมีส่วนร่วมในพิธีกรรมอย่างมีความหมายที่สุด ดังนั้นจึงเป็นการเหมาะสมอย่างยิ่งที่บรรดาสัตบุรุษจะอยู่อย่างพร้อมเพรียงกันในวัดหรือในบริเวณพิธีที่ได้จัดเตรียมไว้อย่างเหมาะสมเพื่อร่วมกันขับร้องบทเพลงตั้งแต่เริ่มต้นพิธีมิสซา และทำให้เรามีจิตใจที่สงบและเป็นหนึ่งเดียวในการร่วมพิธีกรรมอย่างดีเสมอ เพื่อทำให้พิธีกรรมของการฉลองในวันนั้นๆ บังเกิดคุณค่าและความหมายสำหรับผู้ที่ตั้งใจร่วมพิธี สัปดาห์หน้าวัดของเราก็จะทำการฉลองนักบุญหลุยส์องค์อุปถัมภ์ของวัดแล้ว จึงอยากเชิญชวนพี่น้องสัตบุรุษของวัดทุกท่านได้เตรียมจิตใจให้พร้อมสำหรับการฉลองเทิดเกียรติท่านนักบุญหลุยส์ด้วยการแก้บาปและการร่วมพิธีมิสซาฉลองด้วยความตั้งใจตั้งแต่เริ่มพิธีมิสซาด้วยบทเพลงแห่เข้าพร้อมกับขบวนแห่ของพระสงฆ์และศาสนบริกรผู้ช่วยพิธีกรรมกันอย่างพร้อมหน้า
                                                                                                                                    คุณพ่อศวง

วันศุกร์ที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2555

สารวัดอาทิตยที่ 12 สิงหาคม 2012


สวัสดีครับพี่น้องที่รัก
            ช่วงเวลาประมาณสองอาทิตย์ที่ผ่านมา เราได้มีโอกาสชื่นชมกับความสามารถของนักกีฬาจากทั่วโลกกันอย่างเต็มอิ่ม ในโอลิมปิกส์เกมส์ 2012 ที่จัดขึ้นที่กรุงลอนดอน เมืองหลวงของประเทศอังกฤษ ครั้งนี้นับเป็นครั้งที่สามแล้วที่กรุงลอนดอนได้มีโอกาสเป็นเจ้าภาพต้อนรับนักกีฬาจากประเทศต่างๆทั่วโลก นอกเหนือจากการแข่งขันกีฬาในประเภทต่างๆแล้ว คนทั่วโลกยังประทับใจกับพิธีเปิดที่งดงามตระการตา มีการตระเตรียมเรื่องราวที่สื่อให้เห็นถึงประวัติศาสตร์ความเป็นมาของดินแดนแห่งนี้ สอดรับกับวัฒนธรรมประเพณีของประเทศเจ้าบ้าน รวมไปถึงการสื่อให้เห็นถึงอิทธิพลสำคัญที่สังคมอังกฤษมีต่อชาวโลก โดยเฉพาะในเรื่องบทเพลงสากลที่ได้รับความนิยมไปทั่วโลก ที่เด่นๆที่สุดเห็นจะเป็นวงเดอะบีทเทิลส์กระมัง แต่สิ่งที่น่าชื่นชมประการหนึ่งก็คือ การนำเสนอมุขตลกของมีสเตอร์บีนสอดแทรกลงไปในพิธีเปิดในช่วงของการแสดงเพลง chariot of fire เพลงเมนทีมของโอลิมปิกส์เกมส์ในครั้งนี้ที่บรรเลงโดยวงลอนดอนซิมโฟนี่ออร์เคสตร้า ดูแล้วขำลึกได้แบบคลาสสิกตามสไตล์มีสเตอร์บีนละครับ
ไฮไลท์ที่สำคัญของทุกโอลิมปิก ก็คือจะจุดคบเพลิงกันอย่างไร แน่นอน มีการอุบไต๋เก็บงำเอาไว้เป็นความลับ เพื่อให้เกิดความทึ่งตื่นเต้นที่สุด คราวนี้ก็ทำได้สวยงามน่าทึ่ง เดาไม่ออก บอกไม่ถูกกันเลยทีเดียว เพราะต้องมีการนำเอากรวยคบเพลิงที่แต่ละชาติค่อยๆถือออกมาในระหว่างที่เดินพาเหรดลงสนาม เอามาประกอบกันเข้าเป็นคบเพลิงนั่นแหละ เรียกว่าคนที่ออกไอเดียในการจุดคบเพลิงครั้งนี้คิดเอาไว้หลายชั้นหลายเชิงมากทีเดียว  เราได้เห็นภาพของนักกีฬาในอริยาบทที่แตกต่างกันมากมาย มีทั้งที่มีความยินดีเพราะประสบความสำเร็จกับชัยชนะ ได้เหรียญทอง เหรียญเงิน เหรียญทองแดง มีทั้งที่มีน้ำตา ร้องไห้ เพราะพลาดหวัง พ่ายแพ้ มีทั้งรอยยิ้ม มีทั้งหน้าเศร้า แต่โดยรวมแล้ว การมีโอกาสได้ไปร่วมแข่งขันกีฬาในเวทีระดับโอลิมปิกส์ก็นับว่าเป็นเกียรติยศสำหรับนักกีฬาทุกคนไม่น้อยอยู่แล้ว จึงน่าปรบมือให้กับนักกีฬาทุกคนที่มีส่วนร่วมในการสร้างความสุขใจให้กับชาวโลก บนพื้นฐานของความมีน้ำใจนักกีฬา รู้แพ้ รู้ชนะ รู้อภัย ซึ่งเป็นสปิริตที่มนุษย์ทุกคนในโลกพึงมี
แม้จะดูชักช้าไปสักหน่อยที่กล่าวถึงโอลิมปิกส์ แต่ ก็ทำให้รำลึกถึงถ้อยคำในพระคัมภีร์ที่จารึกไว้ในจดหมายนักบุญเปาโลถึงทิโมธี ฉบับที่สอง บทที่ 4 ข้อ 7-8 ที่กล่าวว่า “ข้าพเจ้าต่อสู้มาอย่างดีแล้ว ข้าพเจ้าวิ่งมาถึงเส้นชัยแล้ว ข้าพเจ้าได้รักษาความเชื่อไว้แล้ว เหลือเพียงมงกุฎแห่งความชอบธรรมที่พระเจ้าจะประทานให้ข้าพเจ้าในวันนั้น”  ชีวิตของเราคริสตชนแต่ละคนนั้น ต่างก็อยู่ในสนามแห่งการทดสอบในโลกนี้เพื่อรอวันที่จะได้รับรางวัลแห่งเกียรติมงคลที่พระเจ้าจะประทานให้กับผู้ที่สามารถรักษาความเชื่อมั่นคงในพระองค์ไว้จนถึงเวลาสุดท้ายที่เกมส์แห่งชีวิตจบลงนั่นแหละ โอกาสวันแม่ 12 สิงหาคม 2555 พ่อขอส่งความสุขความปรารถนาดีมายังคุณแม่ทุกๆท่านด้วยครับ

                                                                                                                        คุณพ่อสุพจน์
 .................................................................................................................................................................

บทบาทของพ่อแม่ในการช่วยฝึกลูกให้เป็นเด็กช่วยมิสซา (ต่อ)
สวัสดีครับพี่น้อง
พี่น้องน่าจะยังจำบรรยากาศกันได้ถึงพิธีการต้อนรับ แต่งตั้ง และรื้อฟื้นคำปฏิญาณของเด็กช่วยมิสซาวัดเซนต์หลุยส์ของเราเมื่อสองอาทิตย์ก่อนนะครับ พ่อซาบซึ้งและภาคภูมิใจแทนพี่น้องที่ได้สละให้ลูกหลานของตนได้มาฝึกระเบียบ การอยู่นิ่งๆ การประพฤติที่สมควรต่อการเป็นเด็กช่วยมิสซา พ่อยังคิดว่าการเรียนพิเศษก็ยังจำเป็นนะ แต่การได้มาเป็นเด็กช่วยมิสซาอย่างนี้ก็ช่วยเสริมความสามารถในการเรียนรู้วิชาการต่างๆ ของเขาได้เหมือนกัน เพราะเมื่อสมาธิเกิด สติปัญญาก็เกิด ดังนั้นวันนี้พ่อจึงอยากจะแนะนำวิธีการและบทบาทของพ่อแม่ในการช่วยฝึกอบรมเป็นเด็กช่วยมิสซาต่อให้จบ
สามารถแขวนเก็บชุดช่วยมิสซา รัดประคด ถุงเท้าและรองเท้าอย่างเป็นระเบียบ
            คุณพ่อคุณแม่สามารถฝึกให้ลูกๆ ของท่านแขวนเสื้อผ้าของตัวเอง และเก็บถุงเท้ารองเท้าอย่างเป็นระเบียบเมื่อกลับมาบ้าน ทำได้อย่างนี้แล้วเขาจะแขวนชุดช่วยมิสซาอย่างเป็นระเบียบเช่นกัน
สามารถควบคุมปากให้เงียบ และรู้จักพูดเมื่อจำเป็นเท่านั้น
            ลูกๆ ของท่านจำเป็นต้องฝึกควบคุมปากของตนจากการพูดไร้สาระ วิพากษ์วิจารณ์ ถามในสิ่งที่ไม่สำคัญและไม่จำเป็น (เช่น ทำไมวันนี้คุณพ่อใส่ชุดสีเขียว เป็นต้น) หรือบ่นเกี่ยวกับมิสซา ควรรู้ว่าจะพูดได้ในตอนก่อนหรือหลังมิสซาเรื่องนี้ต้องการแบบอย่างและการสั่งสอนจากคนในบ้านนะครับ
รู้จักอยู่กับที่นั่งของตนบนพระแท่น ไม่ลุกเดินเข้าเดินออกหลังวัด หรือเข้าห้องน้ำ
            เมื่อลูกๆ ของท่านอยู่ตรงที่นั่งในวัด ฝึกให้เขาสามารถอยู่ในวัดได้ตลอดมิสซา ไม่ไปเข้าห้องน้ำก่อน หากเขาทำได้เมื่ออยู่ในที่นั่งกับพ่อแม่ (เมื่อยังไม่ได้เป็นเด็กช่วยมิสซา หรือไม่ได้ทำหน้าที่) เขาจะสามารถทำได้บนแท่นเหมือนกัน
ไม่ง่วงหลับในระหว่างมิสซา
            ฝึกฝนกับลูกๆ ของท่านให้สามารถตื่น ไม่ง่วงเหงาหาวนอนได้ โดยที่พ่อแม่ไม่จำเป็นต้องไปปลุก เริ่มจากที่นั่งในวัดของตนก่อน และหากทำได้ เขาก็จะทำบนแท่นได้เหมือนกัน อาจให้เขาได้นอนก่อนเริ่มต้นมิสซาให้ร่างกายสดชื่นก่อนก็ได้
ไม่ทำเสียงดังหนวกหูในห้องแต่งตัว ห้องซาคริสเตีย หรือในวัด
            ฝึกฝนลูกๆ ของท่านที่บ้าน ในห้างร้าน หรือในโบสถ์ ไม่พูดหรือตะโกนจนดังเกินไป โดยเฉพาะเมื่อพวกเขาอยู่ด้วยกันกับเพื่อน ให้เขาเรียนรู้จักการเคารพสถานที่ และเคารพผู้อื่น
ไม่พูดคุยหรือเล่นโทรศัพท์อีกหลังบทภาวนาของช่วยเด็กมิสซา
            หลังบทภาวนาแล้วถือเป็นเวลาที่ต้องเงียบ เพื่อเตรียมตัว สนทนากับองค์พระผู้เป็นเจ้า ฝึกให้เขารู้จักสงบเงียบ ไม่นำเอาโทรศัพท์หรือไอแพดมาเล่นในเวลามิสซา เริ่มจากที่นั่งของตนกับพ่อแม่ในมิสซาก่อน เมื่อเขาเห็นพ่อแม่มาเข้าวัดก่อนเพื่อสงบจิตใจสนทนากับพระเจ้า เขาจะเรียนรู้และปฏิบัติตามได้ไม่ยากเมื่อขึ้นมาช่วยมิสซา
            แน่นอนว่ายังมีอีกหลายเรื่องที่จำเป็นต่อบทบาทการเป็นผู้รับใช้พระเจ้าบนพระแท่นของพวกเขา แต่เชื่อว่าพี่น้องเองก็สามารถฝึกฝนพวกเขาได้ตามความเหมาะสมเช่นกัน ขอย้ำบางประการว่า เมื่อมีการประชุมหรือสัมมนาเด็กช่วยมิสซานั้น ก็ขอพี่น้องเองได้ช่วยกันสนับสนุนอย่างที่เคยเป็นมานะครับ ขอให้พี่น้องมีความสุขกับการมาหาพระในวันอาทิตย์นะครับ
                                                                                    คุณพ่อปลัดองค์เล็ก

วันเสาร์ที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2555

สารวัดอาทิตย์ที่ 5 สิงหาคม 2012


สวัสดีครับพี่น้องที่รัก
นับเป็นช่วงเวลาพอสมควรแล้วที่มีการประกาศใช้บทภาวนาที่ได้รับการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงการใช้ถ้อยคำใหม่ เปลี่ยนไปจากเดิม จากการพิจารณาของคณะกรรมการคาทอลิกเพื่อพิธีกรรม เพื่อให้คริสตชนได้นำมาใช้สำหรับการสวดภาวนา ในระยะเริ่มแรก ทุกคนก็พากันบ่นว่า เปลี่ยนทำไมกันเนี่ย ไม่มีอะไรจะทำกันแล้วเหรอ แล้วตอนนี้จะสวดยังไงกัน เพราะต้องมาเริ่มต้นทำความคุ้นเคย ท่องจำกันใหม่ ถ้ายังเป็นเด็กๆก็ยังพอว่า แต่นี่อายุมากปูนนี้แล้ว การจะเรียนรู้ท่องจำใหม่มันไม่ง่ายเหมือนกับสมัยเด็กๆนะ บางคนถึงกับตัดพ้อต่อว่า สงสัยต้องเลิกเป็นคริสตัง เลิกสวดกันแล้ว เพราะสวดบทสวดแบบใหม่ไม่ได้ ทำไมของเก่ามันไม่ดียังไงเหรอ
คำตัดพ้อต่อว่า ต่อการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นมากมายในทำนองไม่เห็นด้วย มีหนาหูมากโดยเฉพาะในช่วงระยะเวลาเริ่มต้น แต่เมื่อเริ่มมีการนำบทภาวนาที่ปรับปรุงใหม่มาใช้ในการสวดในวัดได้สักช่วงระยะเวลาหนึ่ง ความกระท่อนกระแท่น ก็ค่อยๆหายไป คำบ่นว่าต่างๆก็เริ่มลดลง เพราะบทภาวนาหลักๆที่มักใช้สวดกันเป็นประจำ อาทิ บทข้าแต่พระบิดา บทวันทามารีอา บทพระสิริรุ่งโรจน์ ก็มีการเปลี่ยนแปลงไม่มาก เมื่อสวดซ้ำไปซ้ำมา ก็เกิดความคุ้นเคยขึ้นใจได้ไม่ยากนัก และเมื่อหันมาพิจารณาถ้อยคำที่เรียบเรียงขึ้นมาใหม่ ก็พบว่า มีการสื่อความหมายที่ชัดเจน กระชับ ให้ความหมายที่ดีกว่าเดิม แม้ว่า ยังพบปัญหาการใช้บทสวดภาวนาที่ยาวๆ อาทิ บทอัญเชิญพระจิต บทแสดงความเชื่อ และ บทอื่นๆนั้น ยังคงต้องให้เวลากับการปรับตัวของสัตบุรุษมากกว่านี้ แต่สำหรับเด็กๆรุ่นใหม่ๆ ก็เริ่มต้นท่องบทสวดแบบใหม่ได้ขึ้นใจคล่องแคล่วโดยไม่มีปัญหาแต่อย่างใด
ในทางปฏิบัติแล้ว พ่อพบว่า หลายคนยังคงต้องเผชิญกับ ความยากลำบากในการท่องขึ้นใจกับบทภาวนาทั้งหลายที่ได้รับการเปลี่ยนแปลงปรับปรุงถ้อยคำไปอีกพอสมควรทีเดียว ถ้าไม่มีอะไรมาเป็นเครื่องช่วยกระตุ้นให้มีการหันมาทำความคุ้นเคยให้เร็วขึ้นแล้ว ก็คงต้องปล่อยให้กาลเวลาช่วยให้ค่อยๆซึมซับเข้าสู่ความทรงจำไปแบบตามธรรมชาติ ซึ่งแน่นอนคงต้องใช้เวลาอีกยาวนานไม่น้อย สิ่งที่พอจะทำได้ในเวลานี้คือ เปิดใจรับ และ เริ่มต้นสวดภาวนาบทสำคัญๆ ให้ได้เสียก่อน แล้วค่อยๆเพิ่มเติมบทใหม่ๆ ให้มากขึ้น ทีละเล็กทีละน้อย ก็คงสำเร็จในเวลาไม่นาน
พ่อได้จัดทำตัวช่วยสำหรับการสวดสายประคำขึ้นโดยมีผู้มีน้ำใจดีสนับสนุนในการจัดทำครั้งนี้ เป็นแผ่นซีดีเสียงสวดสายประคำ เพื่อช่วยภาวนา โดยใช้บทข้าแต่พระบิดา บทวันทามารีอา บทพระสิริรุ่งโรจน์ ที่ได้รับการปรับปรุงใหม่ แผ่นซีดีนี้มีข้อรำพึงครบทั้ง 4 ธรรมล้ำลึก รวมถึงธรรมล้ำลึกภาคแสงสว่างที่เพิ่มเติมขึ้นมาโดยบุญราศีสมเด็จพระสันตะปาปาจอห์นปอล ที่สองอีกด้วย แผ่นซีดี “สายประคำ นำชีวิต” นี้ เหมาะสำหรับใช้นำสวดสายประคำ ในเวลาต่างๆที่อยากสวด เพียงขอให้มีเครื่องเล่นซีดีเอาไว้สักเครื่อง ก็เปิดนำสวดได้ทันที ไม่ว่าจะเป็นที่บ้าน ในรถ หรือที่ไหนๆก็ตาม น่าจะเป็นที่ชื่นชอบของ ผู้สูงอายุที่มีเวลาสวดมากๆ หรือ ผู้ป่วยที่ต้องการสำรวมจิตใจสวดภาวนา การสวดสายประคำตามแผ่นซีดีแผ่นนี้ใช้เวลาสวดสายละ เพียงไม่เกิน 20 นาทีเท่านั้น พี่น้องสามารถขอรับได้ฟรีไม่มีค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด พ่อเตรียมแผ่นซีดีไว้ 1,000 แผ่น น่าจะเพียงพอสำหรับวัดของเรา หวังว่าแผ่นซีดี “สายประคำ นำชีวิต” คงจะช่วยเพิ่มพูนความศรัทธาของพี่น้องต่อพระนางมารีย์ แม่พระของเรา และ ช่วยให้พี่น้องใกล้ชิดกับพระมากขึ้น
                                                                                                                        คุณพ่อสุพจน์
............................................................................................................


สวัสดีครับพี่น้องที่รักทุกท่าน
             เมื่อเราได้เข้าใจแล้วว่าพิธีบูชามิสซาคือ การระลึกถึงการถวายบูชาของพระเยซูเจ้าบนไม้กางเขน ซึ่งถือได้ว่าเป็นการถวายบูชาเดียวกันแต่มีรูปแบบที่เปลี่ยนไป กล่าวคือ การถวายบูชาบนไม้กางเขน พระเยซูเจ้าได้ทรงสิ้นพระชนม์และหลั่งพระโลหิตอย่างแท้จริง แต่ในพิธีบูชามิสซา พระองค์ได้ทรงถวายพระองค์เองแด่พระบิดาในรูปแบบที่มีโลหิต แต่เป็นธรรมล้ำลึก
            คำถามที่เกิดขึ้นคือ ในพิธีบูชามิสซาพระเยซูเจ้าทรงประทับอยู่อย่างแท้จริงหรือไม่ อย่างไร คำตอบคือ พระเยซูเจ้าทรงประทับอยู่ในพิธีบูชามิสซาอย่างแท้จริง ใน 3 วิธีการ คือ
1.   พระองค์ทรงประทับอยู่ในพระวาจา บทอ่านจากพระคัมภีร์ที่เราได้รับฟัง ถือได้ว่าเป็นพระเป็นเจ้าที่ตรัสกับเราโดยตรง เราจึงมีหน้าที่ที่จะต้องรับฟังด้วยความตั้งใจ และรำพึงให้พระวาจาของพระเจ้าได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเราโดยการนำเอาไปปฏิบัติตาม ดังนั้นเราจึงควรจะมีท่าทีที่รับฟังพระวาจาของพระเจ้าด้วยความตั้งใจ
2.   พระเยซูเจ้าทรงประทับอยู่ในการถวายบูชา คือระหว่างการเสกปังและเหล้าองุ่นให้เป็นพระกายและพระโลหิตของพระองค์ หรือที่เราเรียกว่าศีลมหาสนิท ดังนั้นในระหว่างการเสกนี้จึงเป็นเวลาศักดิ์สิทธิ์และงามสง่าที่สุด เราจึงควรให้ความเคารพอย่างสูงสุด
3.   และสุดท้ายพระเยซูเจ้าทรงประทับอยู่ในการรับศีลมหาสนิท ศีลมหาสนิทที่ได้รับการเสกแล้วนั้นเราถือว่ามีพระเยซูเจ้าทรงประทับอยู่อย่างแท้จริง คริสตชนจึงมีธรรมเนียมการเก็บศีลมหาสนิทที่เหลือจากการแจกให้สัตบุรุษแล้วไว้ในตู้ศีลเพื่อเป็นเสบียงสำหรับการแจกให้กับคนเจ็บป่วยที่ไม่สามารถมาวัดได้ และยังมีธรรมเนียมการเฝ้าศีลมหาสนิทด้วย
ท่านนักบุญเปาโลได้เตือนสอนชาวโครินทร์ถึงการรับศีลมหาสนิทอย่างเหมาะสม มีแต่บาปหนักเท่านั้นที่ขัดขวางมิให้สัตบุรุษรับศีลมหาสนิทได้ ส่วนการเตรียมตัวภายนอกที่พระศาสนจักรกำหนดไว้คือ จะต้องอดอาหารหนักและเครื่องดื่มอื่นๆ อย่างน้อย 1 ชั่วโมงก่อนการรับศีลมหาสนิท ยกเว้นน้ำเปล่าดื่มได้ทุกเวลา สำหรับผู้ป่วยและผู้สูงอายุมีการพิจารณาเป็นกรณีพิเศษ คือ เขาสามารถรับประทานยาได้ทุกเวลาก่อนการรับศีลมหาสนิท ให้อดอาหารหนัก 15 นาทีก่อนรับศีลมหาสนิท คำว่า ผู้สูงอายุนี้หมายถึง ผู้ที่อยู่กับบ้านไม่สามารถไปไหนมาไหนได้เพราะมีอายุมาก
ดังนั้นเราก็มีความเข้าใจที่เพิ่มมากขึ้นแล้วว่า พระเยซูเจ้าทรงประทับอยู่ในพิธีบูชามิสซาผ่านทาง 3 วิธีการด้วยกัน ซึ่งทำให้เราตระหนักได้ดียิ่งขึ้นถึงการประทับอยู่ของพระองค์ และมีการเตรียมตัวอย่างดีในการร่วมพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์ และการรับศีลมหาสนิทด้วยความตั้งใจ ซึ่งเป็นการถวายบูชาด้วยความรักที่พระเยซูเจ้าทรงมอบให้กับเรา เราจะไม่มักง่ายที่จะเข้ามารับพระองค์ด้วยการไม่ให้เกียรติกับพระองค์อย่างแน่นอน
                                                                                                                                    คุณพ่อศวง

สารวัดอาทิตย์ที่ 29 กรกฎาคม 2012


สวัสดีครับพี่น้อง
          วันนี้พ่อค้นหาประวัติของนักบุญหลุยส์ มาอ่านเพื่อรำลึกถึงท่าน เพราะก่อนหน้านี้ก็ทราบเลาๆว่า นักบุญหลุยส์ เป็นกษัตริย์ของประเทศฝรั่งเศส แต่รายละเอียดอื่นๆก็ไม่ชัดแจ้งนัก เลยสนใจอยากจะหารายละเอียดคร่าวๆของท่านนักบุญหลุยส์มาอ่านเพื่อประดับความรู้ เพราะในฐานะที่ได้รับแต่งตั้งให้มาทำหน้าที่เป็นเจ้าอาวาสวัดเซนต์หลุยส์ ถ้าไม่สนใจศึกษาประวัติของนักบุญองค์อุปถัมภ์ของวัดบ้าง ก็เห็นทีจะเป็นการละเลยในส่วนสำคัญไปไม่น้อยเลย เลยลองไปค้นหาดูประวัติของท่านในวิกิพีเดียจากกูเกิ้ล ก็ทำให้ความไม่ชัดแจ้งแต่แรกที่กล่าวไว้ ก็พอจะมีเนื้อหาอะไรที่ชัดเจนขึ้นมาบ้างว่านักบุญหลุยส์ นั้นคือ กษัตริย์หลุยส์ ที่ 9 ของประเทศฝรั่งเศส ในระหว่างปี ค.ศ. 1214 – 1270 ท่านเป็นกษัตริย์ของประเทศฝรั่งเศสเพียงพระองค์เดียวที่ได้รับการตราไว้ในสาระบบนักบุญของพระศาสนจักรคาทอลิก มีบันทึกเอาไว้ว่าท่านเป็นคาทอลิกที่มีความศรัทธาร้อนรนอย่างมาก ในระหว่างที่ดำรงตำแหน่งกษัตริย์ ท่านได้สร้างวัดน้อยเอาไว้ในบริเวณพระราชวังหลวงอย่างงดงาม ซึ่งต่อมาภายหลัง ได้ใช้เป็นสถานที่เก็บรักษา มงกุฏหนาม และ บางส่วนของกางเขนแท้ที่ตรึงพระเยซูเจ้า ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นพระธาตุสำคัญที่มีค่าอย่างยิ่ง นอกจากนี้ท่านได้อุทิศตนเป็นผู้ปกปักพระศาสนา ด้วยการทำสงครามครูเสดถึงสองครั้ง ในช่วงรัชสมัยของพระองค์นั้นถือว่าเป็นกษัตริย์ที่นำความเจริญก้าวหน้ามาให้กับประเทศฝรั่งเศสเป็นอย่างมาก ผู้คนภายหลังกล่าวว่าเป็นยุคทองของประเทศ ในเวลานั้นประเทศต่างๆในยุโรปให้ความสำคัญกับฝรั่งเศสเป็นอย่างสูง ในช่วงเวลานี้เอง กษัตริย์ฝรั่งเศสได้รับการยกย่องว่าเป็น “Primus inter pares” ภาษาละติน แปลว่า “เป็นที่หนึ่งในหมู่ผู้ที่เท่าเทียมกัน” คือเป็นพี่เบิ้มในหมู่กษัตริย์ของประเทศต่างๆ เพราะเป็นผู้มีกองทัพใหญ่กว่าใคร ปกครองประเทศที่ร่ำรวยกว่าใคร นอกจากนี้ ในเวลานั้นประเทศฝรั่งเศสยังเป็นศูนย์กลางของศิลปะและวิทยาการอีกด้วย  บุคลิกลักษณะส่วนตัวของกษัตริย์หลุยส์ก็มีลักษณะที่โดดเด่น เป็นแบบอย่างของเจ้าชายที่นับถือศาสนาคริสต์ ผู้คนทั่วไปมองเห็นชีวิตที่เปี่ยมไปด้วยความเป็นคริสตชนในตัวของท่านอย่างเต็มเปี่ยม ความเป็นนักบุญของท่านฉายแววออกมาตั้งแต่ในช่วงเวลาที่ท่านยังมีชีวิตอยู่แล้ว และด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น สามารถกล่าวได้ว่า กษัตริย์หลุยส์ที่ 9 ของฝรั่งเศส ผู้นี้ได้ทำหน้าที่ของผู้ปกครองประเทศฝรั่งเศส ซึ่งได้รับการยกย่องว่า เป็นลูกสาวคนโตของพระศาสจักร ได้อย่างสมบูรณ์ ต่อมาพระสันตะปาปาโบนิฟาซ ที่8 ได้ประกาศชื่อของท่านไว้ในสาระบบของนักบุญ ในปีค.ศ. 1927 ต่อมาภายหลังนักบุญหลุยส์ได้รับการขนานนามว่า เป็นแบบอย่างของราชวงศ์คริสตชน นามของท่านนักบุญหลุยส์ได้เลื่องลือ ได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง จนมีการนำนามชื่อของท่านไปตั้งเป็นชื่อของเมือง และสถานที่ต่างๆอีกมากมายหลายแห่ง
เรื่องราวพอสังเขปข้างต้น ถือได้ว่าเป็นข้อความที่เขียนขึ้นเพื่อให้พี่น้องได้รำลึกถึงท่านนักบุญหลุยส์ องค์อุปถัมภ์วัดของเรา ซึ่งเราจะฉลองวัดของเราในวันที่ 26 สิงหาคมนี้ เวลา 10.00 น. ก่อนพิธีฉลอง พ่อได้เชิญคุณพ่อสามท่านมาเทศน์ในวันอาทิตย์ก่อนหน้าวันฉลองเป็นเวลา 3 อาทิตย์ล่วงหน้า เพื่อเตรียมจิตใจของพี่น้อง คือในอาทิตย์ที่ 5 สิงหาคม ผู้เทศน์คือ คุณพ่อเดชา อาภรณ์รัตน์  อาทิตย์ที่ 12 สิงหาคม ผู้เทศน์คือ คุณพ่อถนอมศักดิ์ เลื่อนประไพ ในอาทิตย์ที่ 19 สิงหาคม ผู้เทศน์คือ คุณพ่อเอกรัตน์ หอมประทุม โดยคุณพ่อทุกท่านจะเทศน์ในทุกมิสซาในวันอาทิตย์ เริ่มตั้งแต่ มิสซารอบ 6.00 น. ไปจนถึงมิสซารอบ 17.30 น. และ ในวันที่ 25 สิงหาคม จะเป็นวันฉลองภายในสำหรับสัตบุรุษวัดของเราเอง มีมิสซาเวลา 17.30 น. โดยคุณพ่อวุฒิเลิศ แห่ล้อม หลังมิสซามีพิธีแห่รูปนักบุญหลุยส์รอบวัด ส่วนวันฉลองวัดก็ตรงกับวันที่ 26 สิงหาคม มิสซาเวลา 10.00 น. ประธานในพิธีโดย พระสงฆ์ผู้รับศีลบวชครบรอบ 25 ปี (งดมิสซารอบ 8.00 น. และ รอบ 12.00 น.) จึงเรียนให้พี่น้องทราบและขอคำภาวนาสำหรับการเตรียมงานฉลองวัดของเราให้สำเร็จลุล่วงไปอย่างราบรื่นด้วยครับ
                                                                                                                        พ่อสุพจน์
...........................................................................................................


บทบาทของพ่อแม่ในการช่วยฝึกลูกให้เป็นเด็กช่วยมิสซา
สวัสดีครับพี่น้อง
อาทิตย์นี้จะมีการต้อนรับ แต่งตั้ง และรื้อฟื้นของเด็กช่วยมิสซาฯ อันเป็นลูกๆ หลานๆของท่าน ดังนั้น พ่อจึงขอแสดงความยินดีกับผู้ปกครองหลายท่านที่ได้ส่งเสริมให้ลูกๆ ได้รับใช้พระเจ้าใกล้พระแท่น ด้วยการมาเป็นเด็กช่วยมิสซา และขอให้ข้อคิดว่า พ่อแม่สามารถช่วยฝึกลูกๆ ของตนให้พร้อมในการมาเป็นเด็กช่วยมิสซาได้ดังนี้

วางมือในท่าทางที่เหมาะสม
            ลูกๆ ของท่านต้องพนมมือในระหว่างมิสซาเป็นส่วนใหญ่ ประมาณ 20 นาทีในช่วงที่คุกเข่า 5 นาทีตอนเดิน และ 20 นาทีตอนยืน  ดังนั้น พ่อแม่สามารถช่วยฝึกลูกๆ เมื่ออยู่ในที่นั่งในวัด โดยบอกให้พนมมือขณะที่ยืนและคุกเข่าในระหว่างมิสซา และสามารถพักวางมือได้เมื่อนั่งลง

สายตามุ่งไปที่พระแท่น
            ลูกๆ ของท่านต้องสามารถจดจ่อไปที่พระแท่น ไม่วอกแวกหรือหันไปมาเพื่อมองพ่อแม่ หรือคนอื่นๆ ที่มาร่วมพิธีในวัด ไม่หันไปสนใจคนเดินถุงทาน หรือเด็กที่กำลังร้องไห้เสียงดัง และไม่นั่งเล่นเครื่องมือสื่อสาร เกม หรือ I-Pad ระหว่างมิสซา

ยินดีที่ได้รับใช้พระเจ้า
            หากลูกของท่านไม่เต็มใจมาช่วย อย่าบังคับเขา! เพราะจะเป็นการกดดันทำให้เขาไม่ประทับใจกับพิธีมิสซา และการมาวัด แต่ให้เขาเลือกอย่างอิสระว่าอยากจะเป็นเด็กช่วยมิสซา และหากเขามาเป็นเด็กช่วยมิสซาและไม่มีความสุขก็อย่างบังคับ เพราะนั่นเป็นเครื่องหมายบอกว่าเขายังไม่เข้าใจความหมายและต้องการการอบรมสัมมนาก่อน

ละเว้นจากการสนทนา พูดคุยกับเพื่อนในขณะช่วยมิสซา
            ลูกๆ ของท่านต้องสามารถละเว้นหรือหยุดพูดคุยกันในระหว่างมิสซา และต้องรู้จักห้ามปรามคนที่เริ่มพูดคุยก่อนด้วย

สามารถตั้งใจและให้ความสนใจกับบทตอบรับในมิสซา
            ลูกๆ ของท่านควรรู้พื้นฐานภาคต่างๆ ในพิธีมิสซา (ทำเดชะพระนาม, พิธีสำนึกบาป, บทอ่านที่ 1, บทสดุดีและสร้อย, บทอ่านที่ 2, อัลเลลูยา, พระวรสาร, บทเทศน์, บทยืนยันความเชื่อ, บทภาวนาเพื่อมวลชน, ภาคถวาย, บทนำ บทภาวนาขอบพระคุณ, ข้าแต่พระบิดา, ลูกแกะพระเจ้า, รับศีลมหาสนิท, บทภาวนาหลังรับศีล, อวยพรปิดพิธี) และสามารถตอบรับได้อย่างคล่องแคล่ว

ละเว้นจากการเล่นเครื่องแต่งกายเด็กช่วยมิสซา
            ลูกๆ ของท่านจะต้องได้รับการฝึกให้มืออยู่นิ่งๆ ไม่เล่น จับ หรือดึงรัดประคด ผม กางเขน และชุด พยายามฝึกให้เขาตรวจสอบการแต่งกายของตนก่อนออกจากห้องซาคริสเตีย

ละเว้นจากการใช้คำพูดหยาบคายไม่เหมาะสม
            การพูดหยาบคายและ คำสบถ สาปแช่งต่างๆ เป็นการละเมิดพระบัญญัติข้อ 2 ผู้เป็นพ่อแม่จึงไม่อาจใช้ภาษาเหล่านี้เมื่อพูดจา และสามารถห้ามปรามลูกของตนได้เมื่อเขาพูด เมื่ออยู่ในชุดเด็กช่วยมิสซาต้องละเว้นจากการเล่นวิ่งไล่กัน กระโดดขี่กัน
            ลูกๆ ของท่านต้องสามารถฝึกตนให้ออกห่างจากเพื่อนที่ประพฤติไม่ดี จงพูดกับพวกเขาให้รู้จักตัดสินใจหลีกเลี่ยงการไปในที่ที่เพื่อนไม่ดีพาไปกระทำผิด
            ส่วนวันนี้เนื้อที่หมดแล้ว โปรดติดตามตอนต่อไปนะครับ แล้วอย่าลืมสนับสนุนให้เด็กๆ ได้มารับใช้พระเจ้าเป็นเด็กช่วยมิสซากันเยอะๆ นะครับ
                                                                                    คุณพ่อปลัดองค์เล็ก