พี่น้องที่รัก
อาทิตย์นี้เป็นอาทิตย์สมโภชนักบุญเปโตร
และ เปาโลอัครสาวก
ผู้เป็นผู้นำของพระศาสนจักรในยุคแรกและประดุจเสาหลักของพระศาสนจักร
ท่านนักบุญทั้งสองได้มีบทบาทสำคัญยิ่งในการวางรากฐานและเผยแผ่พระศาสนจักรในยุคแรก
วันนี้พระศาสนจักรทั่วโลกจึงรำลึกถึงพระสันตะปาปาสืบทอดอำนาจหน้าที่ของนักบุญเปโตร
ในการปกครอง ดูแล สั่งสอน
และคอยนำพระศาสนจักรไปสู่หนทางแห่งความรอดพ้นสำหรับมวลมนุษย์ ในวันนี้พระศาสนจักรทั่วโลกจึงร่วมใจกันรวบรวมเงินบริจาคที่เรียกว่า
St.Peter's Pence เพื่อพระสันตะปาปาจะนำไปทำประโยชน์สำหรับส่วนรวมตามพระประสงค์ของพระองค์
คุณพ่อสุพจน์
ความมหัศจรรย์ของพิธีบูชาขอบพระคุณ
(ต่อจากคราวที่แล้ว)
นักบุญหลุยส์ และ พิธีบูชาขอบพระคุณ
กษัตริย์หลุยส์แห่งประเทศฝรั่งเศส
อาจถือได้ว่าท่านเป็นกษัตริย์ที่น่ายกย่องที่สุดที่ปกครองประเทศฝรั่งเศส
ท่านเต็มเปี่ยมด้วยความเชื่อศรัทธาเป็นอย่างยิ่ง
หลายครั้งท่านอุทิศเวลาในการร่วมพิธีบูชาขอบพระคุณถึงวันละสองหรือสามครั้งทุกวัน
ชาวเมืองบางคนถึงกับถามว่า
ท่านเรียกเก็บภาษีตัวท่านเองด้วยการไปร่วมพิธีบูชาขอบพระคุณมากเกินไปหรือเปล่า
กษัตริย์หลุยส์ให้คำตอบว่า "ถ้าฉันใช้เวลาหมดไปกับการมุ่งแสวงหาความสนุกสนานเพลิดเพลิน
เจริญใจ ด้วยการชักชวนเพื่อนมางานจัดเลี้ยงหรูหรา ราคาแพง หรือ
ใช้เวลาวันละหลายๆชั่วโมงในท้องพระโรงเพื่อชมการแสดงละครทุกวัน
หรือไปร่วมแต่งานสังสรรค์ เพื่อความสนุกสนาน พวกท่านก็คงไม่มีใครเอ่ยปาก
ว่าฉันใช้เวลาสิ้นเปลืองไปกับการแสวงหาความสนุกสนานใส่ตัวเอง แต่ท่านคงลืมไปว่า
ด้วยการไปร่วมในพิธีบูชาขอบพระคุณนั้น
นอกเหนือไปจากพระพรมากมายที่เราจะได้รับอันจะทำให้ชีวิตวิญญาณของเราปลอดภัยแล้ว
ฉันยังสามารถที่จะวอนขอพระเจ้าเพื่อสิ่งที่จำเป็นและดีที่สุดสำหรับอาณาจักรของฉันได้อีก
ซึ่งดีกว่าจะไปทำโดยวิธีอื่น"
คำตอบของนักบุญหลุยส์ข้างต้น
น่าจะสื่อความไปถึงผู้คนอีกหลายพัน หลายหมื่นคน ที่ใจเย็นเฉย ละเลย
ไม่สนใจที่จะไปร่วมในพิธีบูชาขอบพระคุณประจำวัน
ทั้งที่เขาสามารถทำได้แต่ก็เฉยเมยเสีย
การไปร่วมพิธีบูชาขอบพระคุณประจำวัน
มีคุณค่าอย่างสูงส่งสำหรับทุกคน เพราะเขาจะได้รับพระพร และ
ผลดีมากมายต่อชีวิตของเขา เพราะไม่ใช่เรื่องของการเสียเวลา แต่พระเจ้าจะตอบแทนเขา ให้เขามั่งคั่ง
และ ให้เขาบรรลุถึงขีดขั้นแห่งความสุขสันติ ที่เขาเองคาดไม่ถึงว่าจะได้รับ (ต่อคราวหน้า)
................................................................................................................
พี่น้องที่รัก
ขอร่วมแสดงความยินดีกับคุณพ่อเปโตรสุพจน์
เจ้าอาวาส บรรดาคุณพ่อทั้งหลาย ที่มีศาสนนามนักบุญเปโตร และเปาโลทุกๆท่าน
ท่านทั้งสองได้พลีชีพเป็นมรณสักขีที่กรุงโรมตามคำสั่งของจักรพรรดิเนโร (ค.ศ. 54-68) เปโตรถูกตรึงกางเขนเอาหัวลงในปี
ค.ศ. 64 บนเนินวาติกันอันเป็นที่ตั้งของมหาวิหารนักบุญเปโตรในปัจจุบัน
ส่วนเปาโล ในฐานะพลเมืองโรมัน ถูกตัดศีรษะด้วยดาบประมาณปี ค.ศ. 67 บนเนินน้ำพุนอกกรุงโรม
ที่กลายเป็นที่ตั้งของมหาวิหารนักบุญเปาโลนอกกำแพงเมืองในปัจจุบัน
นักบุญเอากุสตินกล่าวไว้ในบทเทศน์ของท่านว่า “อัครสาวกทั้งสองมีวันฉลองวันเดียวกัน
เพราะว่าท่านทั้งสองเป็นหนึ่งเดียวกัน แม้ว่าจะพลีชีพเป็นมรณสักขีคนละวันก็ตาม”
ดังนั้นพระศาสนจักรจึงเฉลิมฉลองอัครสาวกทั้งสองในวันเดียวกัน ในฐานะที่เป็น
“ศิลารากฐาน” ของพระศาสนจักร ซึ่งท่านทั้งสองมีบทบาทสำคัญในการยืนยันความเชื่อถึงพระคริสตเจ้าสืบต่อมา อีกทั้งยังสอนหลักความจริงของพระคริสตเจ้า
และสละชีวิตของตนเป็นพยานยืนยันความจริงนั้นด้วย ซีโมนแม้จะเปลี่ยนชื่อ
เปลี่ยนอาชีพ แต่ก็ยังอ่อนแอ พลาดพลั้ง ท้อถอย ปฏิเสธพระเยซูเจ้าถึง 3 ครั้ง เคยหนีจากกรุงโรม จนได้พบกับพระเยซูเจ้า พระองค์จึงถามว่า “Quo
vadis? “ ท่านกำลังจะไปไหน เปโตรสำนึกได้ แล้วกลับไปกรุงโรม
ด้วยความกล้าหาญเด็ดเดี่ยว
ร้อนรนที่จะเป็นพยานถึงองค์พระเยซูด้วยการพลีชีพอย่างพระองค์
ท่านเซาโล เกิดที่เมืองทาร์ซัส
ในแคว้นซิเลียเซีย อยู่ในตระกูลเบนยามิน เป็นฟาริสีชั้นแนวหน้าในการตามล่าศิษย์ของพระเยซู
ท่านคิดว่าจะต้องกำจัดพวกมิจฉาทิฐิให้หมดสิ้นไป
แต่เมื่อพระองค์ได้สำแดงองค์แก่ท่าน ท่านได้เข้าใจอย่างถ่องแท้ว่า
บรรดาคริสตชนล้วนเป็นส่วนหนึ่งของอวัยวะในพระกายทิพย์ของพระคริสตเจ้า
ได้กลับใจรับศีลล้างจากอานาเนีย และกลายเป็นอัครสาวกที่ยิ่งใหญ่
ท่านเดินทางออกไปประกาศข่าวดีกับบาร์นาบัส
ข่าวดีแพร่สะพัดตลอดการเดินทางแพร่ธรรมทั้งสามครั้ง
ได้ประกาศพระนามของพระเยซูแก่ทั้งยิวและต่างศาสนา
ได้ตั้งกลุ่มคริสตชนในเมืองต่างๆทำให้ท่านเป็น “อัครสาวกของคนต่างศาสนา”
เป็นเครื่องมือนำพระนามของพระเยซูไปประกาศทั่วทุกแห่งหน แก่คนต่างศาสนา (กจ.9:15) ขอขอบคุณท่านทั้งสองที่เป็นเมล็ดพันธุ์แห่งความเชื่อที่ได้หว่านลงในใจของพวกเรา
ในวันรับศีลล้างบาป และโปรดบำรุงรักษาความเชื่อนี้ให้มั่นคงต่อๆไป
คพ.พงษ์เกษม
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น