พี่น้องที่รัก

ชีวิตมนุษย์ทุกชีวิตนั้นมีค่าสูงยิ่ง
แต่ชีวิตก็เปราะบางเกินกว่าที่เรามนุษย์จะคาดคิด
การพลัดพรากจากกันมักจะนำมาซึ่งความเศร้า
และยิ่งเป็นการพลัดพรากจากกันด้วยความตายที่เกิดขึ้นโดยฉับพลัน ยิ่งนำมาซึ่งการสูญเสียที่ใหญ่หลวง
เพราะต้องพลัดพรากจากผู้เป็นที่รักของเราไปอย่างชนิดที่ไม่มีวันหวนคืน
ในความคิดของมนุษย์โดยทั่วไปความตายจึงเป็นต้นเหตุของความโศกเศร้าอันใหญ่หลวงนี้
ความตายคืออะไร? ทำไมต้องตายด้วย? ตายแล้วไปไหน? คำถามนี้เป็นปริศนาที่มนุษย์พยายามแสวงหามาโดยตลอด
มีคำอธิบายอะไรบ้างไหมที่พอจะช่วยให้เราพบคำตอบที่ให้ความหวังได้บ้าง
ตรงนี้แหละที่พ่ออยากจะนำมากล่าวเพื่อให้เราได้พิจารณาขบคิดกัน
คำสอนของพระศาสนจักรช่วยให้เราพบคำตอบที่ชัดเจนเกี่ยวกับเรื่องความตาย ความตายคือการจบสิ้นลงของร่างกาย หรือ
สังขารของเรา ซึ่งเป็นจบชีวิตฝ่ายวัตถุ หรือ ฝ่ายโลกของเรามนุษย์
เมื่อมนุษย์เกิดมาในโลก ซึ่งอยู่ภายใต้ของข้อจำกัดในธรรมชาติที่ไม่มีอะไรจีรังถาวร
ทุกๆสิ่งในธรรมชาติต่างก็มีเวลาจำกัดด้วยกันทั้งนั้น
ทุกสิ่งจึงมุ่งไปสู่ความเสื่อมสลาย และ จบสิ้นลงตามเงื่อนไขในธรรมชาติ ด้วยเหตุนี้
ความตายจึงเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตทุกชีวิตที่จะต้องพานพบ
แต่พระเจ้าทรงสร้างมนุษย์มาให้มีวิญญาณที่สถิตอยู่ในร่างกาย ด้วยเหตุนี้
แม้ร่างกาย หรือ สังขารจะจบสิ้น หรือ ตายลง แต่วิญญาณซึ่งเป็นจิต
อันเป็นตัวตนของบุคคลทุกบุคคล จะไม่ตายไปพร้อมกับสังขาร แต่ตรงกันข้ามจะได้รับการปลดปล่อยให้เป็นอิสระจากสังขารที่เสื่อมสลายได้นี้
ไปสู่ความเป็นนิรันดรภาพ
ประตูแห่งความตายจึงเป็นก้าวใหม่ของสถานภาพของบุคคลที่วิญญาณนั้นเปิดไปสู่ชีวิตอันเป็นจิตที่ไม่อยู่ในขอบเขตุและข้อจำกัดของธรรมชาติของวัตถุอีกต่อไป
ดังนั้นการมาถึงของความตายของบุคคลจึงไม่ใช่การสูญสิ้นที่สิ้นสูญ
แต่เป็นการดับลงของสังขารเพื่อเข้าสู่สถานะใหม่ของชีวิตที่อยู่ในสภาวะจิต
ซึ่งรอคอยการพิพากษาตัดสินของพระเจ้า ว่าสมควรจะได้ไปสวรรค์ เป็นสุขอยู่กับพระองค์
หรือ อยู่ในสถานะที่ห่างไกลจากพระเจ้า ห่างไกลจากความสุขสมบูรณ์ ที่วิญญาณใฝ่ฝันหา
ซึ่งเราใช้คำว่า นรก เป็นคำที่สื่อความหมายถึงสถานะนั้น
พระเยซูเจ้าทรงชนะความตาย และกลับมีชีวิต เป็นชีวิตที่สมบูรณ์ และ
จะดำรงอยู่ตลอดไป พระองค์ตรัสว่า ในบ้านของพระบิดาของเรามีที่อยู่มากมาย
เราไปเตรียมที่ให้กับท่าน ผู้ที่เชื่อในเราจะมีชีวิตนิรันดร
ความเชื่อในพระเยซูเจ้าจะนำพาเราไปสู่ชีวิตอมตะที่เปี่ยมไปด้วยความสุข
แม้ความตายของสังขารจะชวนให้เราตกอยู่ในความเศร้าหมอง
แต่ชีวิตอมตะที่พระเจ้าทรงสัญญาไว้กับผู้ที่มีความเชื่อในพระองค์
กลับนำความหวังที่ยิ่งใหญ่มาสู่เราทุกคน
คุณพ่อสุพจน์
...............................................................................................................................................
เราเชื่ออะไร
ผู้ที่มิใช่คริสตชนจะรับศีลมหาสนิทได้หรือไม่
ศีลมหาสนิท
เป็นการแสดงออกถึงความเป็นหนึ่งเดียวกันในพระกายของพระคริสตเจ้า การจะเป็นสมาชิกของพระศาสนจักรคาทอลิกได้ บุคคลนั้นต้องได้รับศีลล้างบาป
ดำเนินชีวิต และมีส่วนร่วมในความเชื่อเดียวกันกับพระศาสนจักรก่อน ดังนั้น
ดูจะเป็นเรื่องที่ขัดแย้งอยู่
หากพระศาสนจักรเชิญผู้ที่ยังไม่ได้มีส่วนร่วมในความเชื่อเดียวกันให้เข้ามารับศีลมหาสนิท
เพราะจะเป็นการทำลายความน่าเชื่อถือต่อความเชื่อในเรื่องการประทับอยู่จริงของพระเยซูเจ้าในศีลมหาสนิทเสียมากกว่า
อย่างไรก็ดี
คริสตชนออโธดอกซ์ อาจขอรับศีลมหาสนิทในพิธีมิสซาของคาทอลิกได้
เนื่องจากพวกเขามีส่วนร่วมในความเชื่อเรื่องศีลมหาสนิทคล้ายกับของพระศาสนจักรคาทอลิก
แม้คริสตจักรออโธดอกซ์จะยังมิได้เป็นหนึ่งเดียวกับพระศาสนจักรคาทอลิกอย่างสมบูรณ์ก็ตาม
ส่วนกรณีสมาชิกในคริสตจักรอื่นๆ นั้น ก็อาจขอรับศีลมหาสนิทเป็นรายบุคคลได้
หากมีความจำเป็นเร่งด่วน
และเขาเชื่อในการประทับอยู่ของพระเยซูเจ้าในศีลมหาสนิทอย่างแท้จริง
ผลของการรับศีลมหาสนิท
จะทำให้เราได้เป็นหนึ่งเดียวกับพระเยซูคริสตเจ้าลึกซึ้งยิ่งขึ้น
เปลี่ยนตัวเราให้เป็นสมาชิกในพระกายพระคริสตเจ้า ที่จะมีความกระตือรือร้น
มีชีวิตชีวา และมีพลังในการต่อสู้กับบาป พระเยซูเจ้าทรงสัญญาว่า
สักวันหนึ่งเราจะได้นั่งร่วมโต๊ะกับพระองค์อีก ดังนั้น
มิสซาจึงเป็นพระหรรษทานที่เต็มเปี่ยม และเป็นมัดจำแห่งความสุขนิรันดรในอนาคตด้วย
“การมีส่วนร่วมในพระกาย และพระโลหิตของพระคริสตเจ้า
ไม่มีจุดประสงค์อื่นใดมากไปกว่า
การเปลี่ยนแปลงเราให้กลายเป็นสิ่งที่เราได้รับ”
สมเด็จพระสันตะปาปา เลโอ
(400-461)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น