วันศุกร์ที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2557

สารวัดวันอาทิตย์ที่ 27 เมษายน 2014

พี่น้องที่รัก
            วันนี้ตามที่พ่อได้ประชาสัมพันธ์กับพี่น้องล่วงหน้ามาสองสามครั้งแล้วว่า เป็นวันที่ต้องจารึกไว้ในโฉมหน้าประวัติศาสตร์ของพระศาสนจักรคาทอลิกอีกวันหนึ่ง เพราะเป็นวันที่พระศาสนจักรสากลทำพิธีสถาปนา พระสันตะปาปาสองพระองค์ขึ้นเป็นนักบุญ นั่นคือ สมเด็จพระสันตะปาปา จอห์นที่23 และ สมเด็จพระสันตะปาปา จอห์นปอลที่สอง พิธีนี้จัดขึ้นที่ลานหน้าพระวิหารนักบุญเปโตร กรุงวาติกัน ประเทศอิตาลี ในระหว่างเวลา ประมาณ บ่ายสามโมงถึงประมาณ 6 โมงเย็นตามเวลาในประเทศไทย เมื่อสัปดาห์ที่แล้วพ่อได้ลงประวัติโดยสังเขปของพระสันตะปาปาจอห์นที่ 23 ให้พี่น้องได้อ่านกันแล้ว สัปดาห์นี้พ่อขอนำประวัติโดยสังเขปของพระสันตะปาปาจอห์นปอลที่สองมาให้พี่น้องได้อ่านกันครับ
            ในส่วนของสมเด็จพระสันตะปาปาจอห์นปอลที่สองนั้น พ่อเชื่อว่าพี่น้องส่วนมากคงพอจะทราบกันอยู่แล้วเพราะพระองค์ท่านมีความใกล้ชิดกับเรามาก เนื่องจากสมณสมัยของพระองค์นั้นอยู่ไม่ห่างจากเรานัก อีกทั้งพระองค์เคยเสด็จมาเยือนประเทศไทย เมื่อ10 - 11พฤษภาคม ปี พ.. 2527 ซึ่งครบรอบ 30 ปีของการเสด็จเยือนประเทศไทยของเราในปีนี้พอดี
            18 พฤษภาคม ค.. 1920 พระองค์ได้รับเลือกเป็นพระสันตะปาปาเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม ค.. 1978 พระองค์อยู่ในตำแหน่งพระสันตะปาปา 26 ปีกว่า นับเป็นพระสันตะปาปาที่มีพระสมณสมัยยาวนานเป็นที่สองในประวัติศาสตร์ของพระศาสนจักรเลยทีเดียว
สมเด็จพระสันตะปาปาจอห์นปอลที่สอง เป็นชาวโปแลนด์ มีพระนามเดิมว่า คารอล โจเซฟ วอยตีวา เกิดเมื่อวันที่
            พระสันตะปาปาจอห์นปอลที่สองนับเป็นบุคคลที่มีอิทธิพลสำคัญที่สุดคนหนึ่งในฐานะผู้นำของยุคศตวรรษที่ 20 พระองค์มีส่วนอย่างมากในการช่วยให้ยุคของลัทธิคอมมิวนิสต์ปิดฉากลงในประเทศโปแลนด์ และ ในทวีปยุโรป พระองค์รื้อฟื้นความสัมพันธ์ระหว่างศาสนาคาทอลิก กับ ศาสนายิว ศาสนาอิสลาม และ พระศาสนจักรจารีตตะวันออกนิกายออร์โทดอกซ์ และ นิกายแองกลีกัน ที่ก่อนหน้านี้เคยมีข้อขัดแย้งในคำสอนเรื่องการคุมกำเนิดและการโปรดศีลบวชสตรีให้เป็นพระสงฆ์ นอกจากนี้พระองค์ยังออกคำสอนของพระศาสนจักรหลายฉบับเพื่อรักษาบทบาทการเป็นผู้นำของพระศาสนจักรในโลกยุคใหม่
            พระสันตะปาปาจอห์นปอลที่สองเป็นผู้นำพระศาสนจักรคาทอลิกที่ออกเดินทางเยี่ยมเยียนอภิบาลคริสตชนทั่วโลกมากที่สุดในประวัติศาสตร์ พระองค์เสด็จเยือน 129 ประเทศ พระองค์ประกาศสถาปนาบุญราศี 1,340 องค์ และ สถาปนานักบุญ 483 องค์ พระองค์เป็นผู้แต่งตั้งพระคาร์ดินัลเกือบทั้งหมดในคณะพระคาร์ดินัล นอกจากนี้พระองค์ได้อภิเษกพระสังฆราช และ บวชพระสงฆ์เป็นจำนวนมาก เป้าประสงค์สำคัญที่เด่นชัดของพระสมณสมัยของพระองค์คือการเปลี่ยนแปลงและปรับสถานะของพระศาสนจักรคาทอลิก พระองค์มีพระประสงค์ในการวางพระศาสนจักรคาทอลิกให้เป็นศูนย์กลางของหมู่มวลพี่น้องในศาสนาต่างๆ
            กระบวนการพิจารณาพระสันตะปาปาจอห์นปอลที่สองให้เป็นนักบุญเริ่มต้นในปีค.. 2005 ภายหลังจากการสิ้นพระชนม์ของพระองค์ไม่นานนัก อีก 5 ปีหลังจากนั้น พระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 16 ประกาศให้พระองค์เป็นบุคคลที่สมควรได้รับความเคารพยกย่อง และ สถาปนาพระองค์เป็นบุญราศี เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม ค.. 2011 ต่อมาคณะกรรมการที่พิจารณาการสถาปนานักบุญ ได้ประกาศว่ามีอัศจรรย์สองประการที่ได้รับการรับรอง สนับสนุนว่าพระองค์สมควรได้รับการสถาปนาให้เป็นนักบุญ พระสันตะปาปาจอห์นปอลที่สองจะได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นนักบุญในวันที่ 27 เมษายน 2557 พร้อมกับ สมเด็จพระสันตะปาปาจอห์นที่ 23

คุณพ่อสุพจน์
..........................................................................................................................
วันอาทิตย์สัปดาห์ที่ 2
เทศกาลปัสกา (ฉลองพระเมตตา)
วันนี้เป็นวันฉลองพระเมตตา เป็นพระเมตตาของพระเจ้าอย่างแท้จริงที่ในวันนี้พระองค์ได้ประทานแบบฉบับของมนุษย์ 2 ท่าน ที่เป็นพระสันตะปาปาในยุคของเรา ให้ได้เป็นนักบุญผู้ศักดิ์สิทธิ์ นั่นก็คือ สมเด็จพระสันตะปาปายอห์นที่ 23 และ สมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอล ที่ 2  ที่จะมีการสถาปนาเป็นนักบุญในวันนี้ (27เมษายน) ณ จัตุรัสนักบุญเปโตร กรุงโรม
เราทุกคนสามารถกล่าวได้อย่างเต็มปากว่า สมเด็จพระสันตะปาปายอห์นที่ 23 และ สมเด็จพระสันตะปาปา ยอห์น ปอล ที่ 2  คือของขวัญและพระพรอันล้ำค่าที่พระเจ้าทรงประทานให้แก่     พระศาสนจักรและให้แก่เราทุกคน
พระเกียรติคุณของสมเด็จพระสันตะปาปายอห์นที่ 23 ที่เด่นชัด นั่นก็คือ การเรียกประชุมสภาพระสังคายนาวาติกันครั้งที่ 2 จนทำให้พระศาสนจักรเปลี่ยนไปในทิศทางใหม่แห่งความศักดิ์สิทธิ์และคริสตชนทุกคนมีส่วนร่วมมากยิ่งขึ้น
พระเกียรติคุณของสมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอล ที่ 2 ที่เด่นชัด นั่นก็คือ พระองค์เป็นที่ยอมรับของนานาประเทศทั่วโลก พระองค์เสด็จเยี่ยมเยียนประเทศต่างๆ อย่างไม่รู้จักคำว่า เหน็ดเหนื่อย พระองค์เป็นที่รักของคนทุกชาติ เป็นแบบอย่างของผู้ที่เปี่ยมไปด้วยความรักและการอภัย พระองค์ทรงเป็นผู้นำด้านเสรีภาพ ด้านศีลธรรม ด้านงานอภิบาล และด้านสันติภาพผู้ยิ่งใหญ่ มิใช่เพียงสำหรับพระศาสนจักรโรมันคาทอลิกเท่านั้น แต่สำหรับทั่วโลกด้วย

ดังนั้น เพื่อเราทุกคนจะได้ขอบพระคุณพระเจ้าสำหรับพระพรและพระเมตตาของพระองค์ ที่ได้โปรดประทานท่านนักบุญผู้ศักดิ์สิทธิ์ ผู้เป็นแบบอย่างให้กับเราทุกคน สำหรับการอุทิศตน เสียสละ  ให้เราทุกคนจะได้ร่วมใจกันด้วยคำภาวนาของเรา เพื่อท่านนักบุญทั้ง 2 นี้จะได้เสนอวิงวอนพระเจ้าเพื่อเราในการดำเนินชีวิตที่ดี ศรัทธา และเปี่ยมไปด้วยความเชื่อที่มั่นคง และรักผู้อื่นมากขึ้น ดังเช่นท่านนักบุญทั้ง 2 ที่ได้เป็นแบบฉบับให้กับเรา    
ข้าแต่ท่านนักบุญยอห์นที่ 23 พระสันตะปาปา .. ช่วยวิงวอนเทอญ
ข้าแต่ท่านนักบุญยอห์น ปอล ที่ 2 พระสันตะปาปา .. ช่วยวิงวอนเทอญ
คพ.วิทยา

วันเสาร์ที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2557

สารวัดวันอาทิตย์ที่ 20 เมษายน 2014

พี่น้องที่รัก
            สุขสันต์วันปัสกาแด่พี่น้องทุกท่านครับ วันนี้เป็นวันสมโภชที่ยิ่งใหญ่และมีความหมายที่สุดสำหรับเราคริสตชนทุกคน เพราะเป็นวันที่พระเยซู พระอาจารย์เจ้าของเรา ทรงกลับฟื้นคืนชีพ มีชัยชนะเหนือความตาย พระองค์ทรงสิ้นพระชนม์ถวายพระองค์เป็นบูชาที่ยิ่งใหญ่แด่พระบิดาเจ้า เพื่อชำระล้างมลทินบาปของเรามนุษย์ทั้งหลาย ทำให้วิญญาณของเราได้รับการชำระให้บริสุทธิ์สะอาด อีกครั้ง ซึ่งยังผลให้เราแต่ละคนมีส่วนในมรดกนิรันดรที่พระเจ้าทรงจัดเตรียมไว้ให้กับบุตรของพระองค์ และนี่แหละคือเหตุผลที่ว่า วันสมโภชปัสกานี้เป็นวันสมโภชที่ยิ่งใหญ่และมีความหมายที่สุดสำหรับเราคริสตชนทุกคน
            ข่าวที่น่าชื่นชมยินดีอีกประการหนึ่งสำหรับเราทุกคนก็คือ การที่พระศาสนจักรจะทำพิธีสถาปนาสมเด็จพระสันตะปาปาจอห์นที่ 23 และ สมเด็จพระสันตะปาปาจอห์นปอลที่สอง ขึ้นเป็นนักบุญ พ่อขอถือโอกาสนี้แนะนำให้พี่น้องได้รู้จักประวัติโดยสังเขปของนักบุญใหม่ทั้งสองท่านนะครับ
            สมเด็จพระสันตะปาปาจอห์นที่ 23 มีพระนามเดิมว่า แองเจโล กุยเซ็ปเป รอนคัลลี เกิดเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน ค.. 1881 พระองค์ได้รับเลือกเป็นพระสันตะปาปาในวันที่ 28 ตุลาคม 1958 พระองค์เป็นบุตรคนที่ 4 ในจำนวนพี่น้อง 14 คน ครอบครัวของพระองค์มีอาชีพเกษตรกรอาศัยอยู่ในหมู่บ้านแห่งหนึ่งในแคว้นลอมบาร์ดี พระองค์ได้รับศีลบวชเป็นพระสงฆ์ วันที่ 10 สิงหาคม ค.. 1904  ได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบงานหลายตำแหน่ง ต่อมาได้รับแต่งตั้งให้เป็นสมณทูตในประเทศฝรั่งเศส และ เป็นตัวแทนของสันตะสำนักในประเทศบัลกาเรียและกรีซ พระองค์ได้รับการสถาปนาให้เป็นพระคาร์ดินัล เมื่อวันที่ 12 มกราคม ค.. 1953
            รอนคัลลี ได้รับการเลือกให้เป็นพระสันตะปาปา เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม ค.. 1958 เมื่อมีพระชนมายุ 76 พรรษา พระองค์ไม่คาดคิดมาก่อนว่าจะถูกเลือกให้เป็นพระสันตะปาปา เพราะพระองค์เดินทางมาร่วมการประชุมของหมู่พระคาร์ดินัลด้วยการจองตั๋วรถไฟแบบไป-กลับ จากเมืองเวนิสมายังกรุงโรม พระองค์เป็นพระสันตะปาปาองค์แรกในรอบ 500 ปีหลังสุด ที่เลือกนาม "จอห์น" มาเป็นชื่อของพระสันตะปาปาอีกครั้ง
           ภารกิจสำคัญที่พระองค์ได้กระทำในพระสมณสมัยของพระองค์คือ การเรียกประชุมสภาพระสังคายนาวาติกันครั้งที่สอง การสังคายนาครั้งนี้กินเวลาทั้งสิ้น 3 ปี ในระหว่าง ค.. 1962-1965 การประชุมครั้งแรกมีขึ้นในวันที่ 11 ตุลคม ค.. 1962 แต่กระนั้นพระสันตะปาปาจอห์นที่ 23 ก็ไม่ได้มีพระชนม์อยู่จนการประชุมพระสังคายนาเสร็จสิ้น พระองค์สิ้นพระชนม์ วันที่ 3 มิถุนายน ค.. 1963 ด้วยโรคมะเร็งในช่องท้อง พระสมณสมัยของพระองค์มีระยะเวลาเพียง สี่ปีครึ่งเท่านั้น ก่อนสิ้นพระชนม์สองเดือน พระองค์ได้ประกาศพระสมณสาร Pacem in Terris 

            คำกล่าวที่มีชื่อเสียงที่ผู้คนในยุคนั้นทราบดีคือ พระองค์เคยกล่าวเอาไว้ว่า "เราทุกคนต่างได้รับการสร้างมาตามพระฉายาของพระเจ้า ดังนั้น เราแต่ละคนจึงมีความละม้ายคล้ายกับพระเจ้าเหมือนๆกัน" เป็นทรรศนะที่แสดงให้เห็นว่า มนุษย์เรานั้นต่างมีความเท่าเทียมกัน
            ร่างของสมเด็จพระสันตะปาปา จอห์นที่ 23 ถูกบรรจุไว้ในสุสานใต้มหาวิหารนักบุญเปโตร เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน ค.. 1963 ต่อมาอีกสองปี ในสมัยสมเด็จพระสันตะปาปาเปาโลที่6กระบวนการพิจารณาเพื่อแต่งตั้งพระองค์เป็นนักบุญก็เริ่มขึ้น และในวันที่ 20 ธันวาคม ค.. 1999 พระศาสนจักรได้ประกาศว่าพระองค์เป็นผู้สมควรได้รับการเคารพยกย่อง  และพระองค์ได้รับการสถาปนาเป็นบุญราศี ในวันที่ 3 กันยายน ค.. 2000 โดยพระสันตะปาปา จอห์นปอลที่สอง จากนั้นได้มีการเคลื่อนย้ายพระศพของพระองค์มาไว้ยังพระแท่นของนักบุญเยโรม เพื่อให้สัตบุรุษจะได้สักการะบูชาได้สะดวกขึ้น สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิส จะทำพิธีสถาปนา พระสันตะปาปาจอห์นที่ 23 เป็นนักบุญในวันที่ 27 เมษายน ค.. 2014 คริสตชนทั่วไปขนานพระนามพระสันตะปาปาองค์นี้ว่า พระสันตะปาปาที่ดียอดเยี่ยม ตรงกับภาษาอิตาเลียนว่า "Il Papa Buono" วันฉลองของนักบุญองค์นี้เป็นวันที่ 11 ตุลาคม ซึ่งเป็นวันเริ่มต้นของการประชุมสภาพระสังคายนาวาติกันครั้งที่สองนั่นเอง
            ส่วนประวัติโดยสังเขปของพระสันตะปาปาจอห์นปอลที่สอง พ่อจะนำมาเสนอสัปดาห์หน้านะครับ

คุณพ่อสุพจน์
...................................................................................................................................................
                                     สมโภชปัสกาพระเยซูเจ้าทรงกลับคืนพระชนมชีพ
สุขสันต์วันปัสกา...แด่พี่น้องทุกท่าน”    ขอพระพรจากองค์พระเยซูคริสตเจ้าผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพ ได้อวยพระพรให้พี่น้อง มีความสุข มีสันติในจิตใจ และมีชีวิตที่ได้ใกล้ชิดกับพระเสมอไป

วันนี้เป็นวันอาทิตย์สมโภชปัสกา สิ่งหนึ่งที่พ่อคิดเองว่า..น่าจะมีคริสตชนจำนวนมากกลับเข้ามาในวัดอีกครั้งหนึ่งเหมือนทุกๆ ปี ที่โอกาสปัสกามาถึง    พวกเขาก็จะมาหาพระในโอกาสพิเศษ ซึ่งวันนี้ก็น่าจะเป็นวันที่เราทุกคนมีความสุขที่สุดวันหนึ่ง ที่จะได้เห็นพี่น้องจำนวนมาก มาเข้าวัด มาแก้บาปรับศีล มาร่วมในพิธีบูชามิสซาโอกาสสมโภชปัสกาอันสง่างามและมีความหมายอย่างยิ่งนี้ เราทุกคนมาวัด มาร่วมมิสซาก็เพื่อมาฟัง และมาประกาศเรื่องที่สำคัญที่สุดนั่นคือ พระเยซูเจ้าทรงกลับคืนพระชนมชีพ  ซึ่งมีความหมายว่า พระองค์ทรงชนะความตาย และสถิตอยู่กับเราเสมอไป  นี่แหละครับความหวังอันยิ่งใหญ่ของเรา เพราะเราเชื่อว่าวันหนึ่งเราทุกคนก็จะกลับเป็นขึ้นมาจากความตายเช่นเดียวกับพระองค์ และการกลับเป็นขึ้นมาคราวนี้ เราก็จะไม่มีวันตายเลย
ดังนั้น ขอให้การสมโภชพระเยซูเจ้าเสด็จกลับคืนพระชนมชีพในวันนี้ ได้ทำให้เราเปี่ยมไปด้วยความเชื่อในพระเจ้า มีความศรัทธาในพระองค์ และให้ชีวิตและจิตใจของเราคึกคัก กระชุ่มกระชวย และต้องสดชื่นอยู่เสมอ เพราะไม่เพียงแต่วันนี้เท่านั้น แต่ต้องเป็นทุกวันที่ชีวิตของเราต้องเต็มเปี่ยมไปด้วยพระพรของพระเจ้า เพราะทุกวันเป็นวันของพระเจ้า และพระเจ้าก็อวยพรเราทุกวันเช่นกัน

จงชื่นชมยินดีและไปประกาศให้ทราบทั่วกันว่า
พระคริสตเจ้าทรงกลับคืนพระชนมชีพแล้ว  อัลเลลูยา อัลเลลูยา

คพ.วิทยา

วันเสาร์ที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2557

สารวัดวันอาทิตย์ที่ 13 เมษายน 2014

พี่น้องที่รัก
            วันอาทิตย์นี้เป็นวันอาทิตย์ใบลาน ซึ่งในปีนี้ตรงกับวันฉลองเทศกาลสงกรานต์พอดี การเฉลิมฉลองทางพิธีกรรมในวันนี้เป็นวันที่เราระลึกถึงการเข้าสู่กรุงเยรูซาเล็มอย่างสง่าของพระเยซูเจ้า ก่อนที่พระองค์จะทรงรับทนทรมานแบกกางเขนและถูกตรึงตายบนไม้กางเขนถวายองค์เป็นเครื่องบูชาแด่พระเจ้าเพื่อไถ่บาปของมวลมนุษย์ให้ได้รับความรอดพ้น นอกจากนี้วันนี้ยังเป็นวันเริ่มต้นสัปดาห์ศักดิ์สิทธิ์ เพราะในช่วงสัปดาห์นี้เป็นช่วงสำคัญแห่งการระลึกถึงการเลี้ยงอาหารค่ำครั้งสุดท้ายของพระเยซูซึ่งเราจะกระทำพิธีฉลองนี้ในวันพฤหัสศักดิ์สิทธิ์ และ เราจะระลึกถึงการถูกพิพากษาประหารชีวิตด้วยการตรึงบนไม้กางเขนของพระเยซูในวันศุกร์ศักดิ์สิทธิ์ และที่สุดเราสมโภชการกลับคืนพระชนม์ชีพของพระเยซูเจ้าในวันเสาร์ศักดิ์สิทธิ์ และวันอาทิตย์ถัดไปก็เป็นวันสมโภชปัสกา
            สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิสตรัสว่า ถ้าปราศจากกางเขน ศาสนาคริสต์คงไม่ถือกำเนิดขึ้น ถ้าปราศจากกางเขน มลทินบาปในชีวิตของเราคงไม่ได้รับการชำระล้าง กางเขนนั้นไม่ใช่เป็นเพียงเครื่องประดับบนพระแท่น แต่กางเขนคือธรรมล้ำลึกแห่งความรักของพระเจ้าที่ทรงแบกรับเอาบาปของเรามนุษย์ไว้  พระสันตะปาปาตรัสอีกว่า เรามนุษย์ไม่สามารถที่จะปลดปล่อยตัวเองให้เป็นอิสระจากมลทินบาปได้ คริสตศาสนาไม่ใช่สารบบทางความคิดแบบปรัชญา ไม่ใช่ระบบทางการศึกษา เพื่อดำรงชีวิตให้อยู่รอด หรือ เป็นช่องทางในการสร้างสันติสุข เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นผลตามมาภายหลังเท่านั้น แต่ศาสนาคริสต์เป็นเรื่องราวของบุคคลที่ถูกยกขึ้นบนไม้กางเขน บุคคลที่ยอมสละละตนเองจนถึงที่สุดเพื่อช่วยเรามนุษย์ให้รอดพ้นจากมลทินของบาป เป็นเรื่องของพระเจ้าที่มารับสภาพมนุษย์ที่ต้องอยู่ในข้อจำกัดของธรรมชาติที่ต้องเสื่อมสลายไปที่ถูกยกขึ้น  เราจะไม่มีทางเข้าใจศาสนาคริสต์ได้อย่างลึกซึ้งถ้าไม่เข้าใจเรื่องของความนอบน้อมถ่อมตนอย่างถึงที่สุดขององค์พระบุตรของพระเจ้าผู้ยอมรับสภาพอันต่ำต้อยยอมรับความตาย โดยเฉพาะความตายบนไม้กางเขนเพื่อที่จะช่วยเราให้รอดพ้น และนี่แหละคือที่มาของคำสอนของนักบุญเปาโลที่ว่า แท้ที่จริงแล้ว เรามนุษย์ไม่มีอะไรจะโอ้อวดได้ นอกจากบาปทั้งมวลของเรา และนี่แหละสิ่งที่น่าสงสารของเรา แต่โดยอาศัยพระเมตตาของพระเจ้า เราคริสตชนจึงได้รับความชื่นชมยินดีผ่านทางองค์พระคริสตเจ้าผู้ทรงถูกตรึงบนไม้กางเขน เพราะโดยผ่านทางบาดแผลของพระองค์ มลทินบาปของเราได้รับการชำระล้างจนหมดสิ้น
            พี่น้องที่รัก ให้เราเริ่มต้นสัปดาห์ศักดิ์สิทธิ์ ด้วยความตั้งใจที่จะก้าวเดินไปบนเส้นทางชีวิตของเรา โดยมีไม้กางเขนของพระเยซูเป็นแรงบันดาลใจ ความยากลำบากที่ผ่านเข้ามาในชีวิตนั้น จะไม่ใช่อุปสรรคที่บั่นทอนกำลังใจของเราอีกต่อไป แต่จะเป็นพลังเสริมช่วยให้เราแน่วแน่ในการครองตนเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับคนรอบข้างต่อไปโดยไม่ย่อท้อ
คุณพ่อสุพจน์
 ................................................................................................................................................
วันอาทิตย์ใบลาน
      ในวันนี้ คริสตชนฉลองพระมหาทรมาน (อาทิตย์ใบลาน) พระคริสตเจ้า ได้เสด็จเข้ากรุงเยรูซาเล็มนครศักดิ์สิทธิ์ เพื่อรับทนทรมาน สิ้นพระชนม์และกลับคืนชีพ” (พิธีแห่) การเข้าอย่างผู้ชนะที่เราทำการฉลองในตอนต้นของอาทิตย์พระมหาทรมานเน้นว่า องค์ประกอบสามประการ คือพระมหาทรมาน การสิ้นพระชนม์ และการกลับคืนพระชนม์ชีพรวมเป็นความจริงเดียว การสิ้นพระชนม์ของพระเยซูเจ้าไม่ใช่เป็นความพ่ายแพ้แต่เป็นชัยชนะ
นักบุญอันดรูว์ แห่งครีต ได้กล่าวถึงวันอาทิตย์ใบลานไว้อย่างน่าจับใจว่า: 

     “เราจงออกไปต้อนรับพระคริสตเจ้าพร้อมกัน บนภูเขามะกอก วันนี้พระองค์เสด็จจากเบธานี ด้วยพระทัยอิสระของพระองค์ ดำเนินไปรับพระทรมานศักดิ์สิทธิ์ เพื่อให้ธรรมล้ำลึกแห่งความรอดของเราสำเร็จบริบูรณ์ พระองค์ได้เสด็จลงมาจากสวรรค์ เพื่อฉุดเราออกจากขุมบาป และยกขึ้นมากับพระองค์ ตามที่พระคัมภีร์กล่าวไว้ว่า เหนือความยิ่งใหญ่ อำนาจและฤทธิ์เดชทั้งหลาย และเหนือนามทั้งหลายที่อาจตั้งขึ้น พระองค์เสด็จมาด้วยพระทัยอิสระของพระองค์ สู่นครเยรูซาเล็ม พระองค์เสด็จมาโดยปราศจากความหรูหราและการแสดงตัวให้เด่น ผู้ประพันธ์เพลงสดุดีกล่าวว่า พระองค์จะไม่ทรงโต้เถียง ไม่ส่งเสียให้ได้ยินตามทาง พระองค์จะเป็นคนอื่นโยน และสุภาพและเสด็จเข้ามาอย่างเรียบๆ 

     พวกเราจงรีบไปต้อนรับพระองค์เหมือนพระองค์ทรงรีบมารับการทรมาน จงเอาอย่างประชาชนที่ได้มาต้อนรับพระองค์เมื่อครั้งกระโน้น แต่ไม่ใช่โดยการเอาเสื้อผ้ากิ่งมะกอกหรือใบลานปูตามทางที่พระองค์เสด็จ แต่โดยพยายามดำเนินชีวิตอย่างที่พระองค์ทรงปรารถนา โดยวิธีนี้แหละเราจะสามารถต้อนรับพระวจนาตถ์เมื่อพระองค์เสด็จมา พระเจ้าที่ไม่มีขอบเขตใดสามารถบรรจุพระองค์ พระองค์จะสถิตอยู่ในตัวเรา

     ด้วยความสุภาพถ่อมตัว พระคริสตเจ้าได้เสด็จมายังถิ่นที่มืดมนของโลกที่ตกต่ำ พระองค์ทรงมีความยินดีที่ได้กลับเป็นผู้สุภาพถ่อมตน เพราะเห็นแก่เรา ทรงมีความยินดีที่ได้เสด็จมาเจริญชีวิตอยู่ท่ามกลางเรา มีส่วนในธรรมชาติของเรา เพื่อจะยกเราขึ้นไปหาพระองค์ แม้ว่าพระองค์ได้เสด็จขึ้นสวรรค์แล้ว แน่นอนที่เป็นข้อพิสูจน์ว่า พระองค์ทรงมีอำนาจและเป็นพระเจ้า แต่ความรักของพระองค์ต่อมนุษย์ไม่หยุดยั้งจนกว่าจะได้ยกธรรมชาติของเราที่ผูกพันอยู่กับโลกให้สูงเกียรติขึ้นเป็นลำดับ จนกว่าจะได้เป็นหนึ่งเดียวกับพระองค์ในสรวงสวรรค์

     เราจะปูแทบพระบาทของพระองค์ ไม่ใช่เสื้อผ้าหรือกิ่งมะกอกที่ไม่มีชีวิตที่น่าดูอยู่ไม่กี่ชั่วโมงแล้วก็เหี่ยวแห้ง แต่เอาตัวของเราเองที่สวมใส่พระหรรษทาน หรือที่ถูกต้องคือ สวมใส่พระองค์ทั้งครบ เราที่ได้รับศีลล้างบาปในพระคริสตเจ้าแล้ว ต้องใช้ตัวเองเป็นเสื้อผ้าปูแทบพระบาทของพระองค์ บัดนี้ความสกปรกของบาปได้รับการชำระล้างแล้ว ด้วยน้ำ นำความรอดของศีลล้างบาป และเราได้กลับขาวสะอาดเหมือนขนแกะ ฉะนั้น เราจะนำอะไรมาถวายแด่พระองค์ ผู้ทรงพิชิตความตาย ใบลานเท่านั้นหรือ? จงถวายสิ่งที่เหมาะสมอย่างแท้จริงกับชัยชนะของพระองค์เถิด คือนำวิญญาณของเราไปต้อนรับแทนกิ่งไม้ ให้เราร่วมร้องเพลงกับเด็กที่อกมาต้อนรับว่า สาธุการแด่ผู้มาในพระนามของพระเจ้า สาธุการแด่กษัตริย์ของอิสราเอล (บทเทศน์ของนักบุญอันดรูว์ แห่งครีต)


 จาก www.catholic.or.th โดย itbkk

วันศุกร์ที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2557

สารวัดวันอาทิตย์ที่ 6 เมษายน 2014

พี่น้องที่รัก
            ช่วงนี้มีข่าวโศกนาฏกรรมที่มีผู้เสียชีวิตจำนวนมากเกิดขึ้นบ่อยๆ เริ่มตั้งแต่ สายการบินมาเลเซียแอร์ไลน์ เที่ยวบิน MH 370 ที่หายสาบสูญไปหลายอาทิตย์แล้ว ยังค้นหาไม่พบว่าไปลงจอดที่ไหน ซึ่งทุกคนก็เชื่อกันว่าคงจะประสบอุบัติเหตุตก ที่ใดที่หนึ่งในมหาสมุทรอินเดีย ซึ่งในเที่ยวบินดังกล่าวมีผู้โดยสาร ลูกเรือ พร้อมกับนักบินจำนวนสองร้อยกว่าคน ที่ต้องมาเสียชีวิตไปพร้อมๆกัน เรายังมีข่าวเกี่ยวกับรถบัสสองชั้นที่ประสบอุบัติเหตุตกลงเหวข้างทางที่จังหวัดตาก ทำให้ผู้โดยสารเกือบๆ 30 ชีวิตต้องมาจบชีวิตลง เราได้ยินข่าวการสูญเสียของนายร้อยตำรวจตรีสองนายที่ไปฝึกกระโดดร่มที่ชะอำ แต่เกิดอุบัติเหตุร่มไม่กางตกลงสู่พื้นเสียชีวิตต่อหน้าพ่อแม่ที่เดินทางไปให้กำลังใจ และเมื่อสองสามวันก่อน มีข่าวระเบิดขนาดใหญ่ที่เกิดระเบิดขึ้นในร้านรับซื้อขายของเก่าแถวๆลาดปลาเค้า ทำให้มีผู้เสียชีวิตอีกจำนวนหนึ่ง พร้อมกับบ้านเรือนรอบๆบริเวณที่เกิดเหตุเสียหายจำนวนมากเพราะแรงระเบิด โศกนาฏกรรมเหล่านี้ที่เกิดขึ้นนำมาซึ่งความสูญเสียของชีวิตจำนวนมาก โดยที่เหตุเกิดในลักษณะที่เป็นเรื่องฉับพลัน ไม่ทันตั้งตัว ไม่มีโอกาสได้เตรียมการล่วงหน้า การสูญเสียเช่นนี้นำมาซึ่งความเศร้าโศกเสียใจของ สมาชิกในครอบครัว ญาติพี่น้อง และบุคคลใกล้ชิดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เพราะต้องมาพลัดพรากจากกันในเวลาที่ยังไม่ควรจะเป็น
            ชีวิตมนุษย์ทุกชีวิตนั้นมีค่าสูงยิ่ง แต่ชีวิตก็เปราะบางเกินกว่าที่เรามนุษย์จะคาดคิด การพลัดพรากจากกันมักจะนำมาซึ่งความเศร้า และยิ่งเป็นการพลัดพรากจากกันด้วยความตายที่เกิดขึ้นโดยฉับพลัน ยิ่งนำมาซึ่งการสูญเสียที่ใหญ่หลวง เพราะต้องพลัดพรากจากผู้เป็นที่รักของเราไปอย่างชนิดที่ไม่มีวันหวนคืน ในความคิดของมนุษย์โดยทั่วไปความตายจึงเป็นต้นเหตุของความโศกเศร้าอันใหญ่หลวงนี้
            ความตายคืออะไรทำไมต้องตายด้วย? ตายแล้วไปไหน? คำถามนี้เป็นปริศนาที่มนุษย์พยายามแสวงหามาโดยตลอด มีคำอธิบายอะไรบ้างไหมที่พอจะช่วยให้เราพบคำตอบที่ให้ความหวังได้บ้าง ตรงนี้แหละที่พ่ออยากจะนำมากล่าวเพื่อให้เราได้พิจารณาขบคิดกัน คำสอนของพระศาสนจักรช่วยให้เราพบคำตอบที่ชัดเจนเกี่ยวกับเรื่องความตาย  ความตายคือการจบสิ้นลงของร่างกาย หรือ สังขารของเรา ซึ่งเป็นจบชีวิตฝ่ายวัตถุ หรือ ฝ่ายโลกของเรามนุษย์ เมื่อมนุษย์เกิดมาในโลก ซึ่งอยู่ภายใต้ของข้อจำกัดในธรรมชาติที่ไม่มีอะไรจีรังถาวร ทุกๆสิ่งในธรรมชาติต่างก็มีเวลาจำกัดด้วยกันทั้งนั้น ทุกสิ่งจึงมุ่งไปสู่ความเสื่อมสลาย และ จบสิ้นลงตามเงื่อนไขในธรรมชาติ ด้วยเหตุนี้ ความตายจึงเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตทุกชีวิตที่จะต้องพานพบ แต่พระเจ้าทรงสร้างมนุษย์มาให้มีวิญญาณที่สถิตอยู่ในร่างกาย ด้วยเหตุนี้ แม้ร่างกาย หรือ สังขารจะจบสิ้น หรือ ตายลง แต่วิญญาณซึ่งเป็นจิต อันเป็นตัวตนของบุคคลทุกบุคคล จะไม่ตายไปพร้อมกับสังขาร แต่ตรงกันข้ามจะได้รับการปลดปล่อยให้เป็นอิสระจากสังขารที่เสื่อมสลายได้นี้ ไปสู่ความเป็นนิรันดรภาพ ประตูแห่งความตายจึงเป็นก้าวใหม่ของสถานภาพของบุคคลที่วิญญาณนั้นเปิดไปสู่ชีวิตอันเป็นจิตที่ไม่อยู่ในขอบเขตุและข้อจำกัดของธรรมชาติของวัตถุอีกต่อไป ดังนั้นการมาถึงของความตายของบุคคลจึงไม่ใช่การสูญสิ้นที่สิ้นสูญ แต่เป็นการดับลงของสังขารเพื่อเข้าสู่สถานะใหม่ของชีวิตที่อยู่ในสภาวะจิต ซึ่งรอคอยการพิพากษาตัดสินของพระเจ้า ว่าสมควรจะได้ไปสวรรค์ เป็นสุขอยู่กับพระองค์ หรือ อยู่ในสถานะที่ห่างไกลจากพระเจ้า ห่างไกลจากความสุขสมบูรณ์ ที่วิญญาณใฝ่ฝันหา ซึ่งเราใช้คำว่า นรก เป็นคำที่สื่อความหมายถึงสถานะนั้น
            พระเยซูเจ้าทรงชนะความตาย และกลับมีชีวิต เป็นชีวิตที่สมบูรณ์ และ จะดำรงอยู่ตลอดไป พระองค์ตรัสว่า ในบ้านของพระบิดาของเรามีที่อยู่มากมาย เราไปเตรียมที่ให้กับท่าน ผู้ที่เชื่อในเราจะมีชีวิตนิรันดร ความเชื่อในพระเยซูเจ้าจะนำพาเราไปสู่ชีวิตอมตะที่เปี่ยมไปด้วยความสุข แม้ความตายของสังขารจะชวนให้เราตกอยู่ในความเศร้าหมอง  แต่ชีวิตอมตะที่พระเจ้าทรงสัญญาไว้กับผู้ที่มีความเชื่อในพระองค์ กลับนำความหวังที่ยิ่งใหญ่มาสู่เราทุกคน

คุณพ่อสุพจน์
...............................................................................................................................................
เราเชื่ออะไร
ผู้ที่มิใช่คริสตชนจะรับศีลมหาสนิทได้หรือไม่
            ศีลมหาสนิท เป็นการแสดงออกถึงความเป็นหนึ่งเดียวกันในพระกายของพระคริสตเจ้า การจะเป็นสมาชิกของพระศาสนจักรคาทอลิกได้ บุคคลนั้นต้องได้รับศีลล้างบาป ดำเนินชีวิต และมีส่วนร่วมในความเชื่อเดียวกันกับพระศาสนจักรก่อน ดังนั้น ดูจะเป็นเรื่องที่ขัดแย้งอยู่ หากพระศาสนจักรเชิญผู้ที่ยังไม่ได้มีส่วนร่วมในความเชื่อเดียวกันให้เข้ามารับศีลมหาสนิท เพราะจะเป็นการทำลายความน่าเชื่อถือต่อความเชื่อในเรื่องการประทับอยู่จริงของพระเยซูเจ้าในศีลมหาสนิทเสียมากกว่า

            อย่างไรก็ดี คริสตชนออโธดอกซ์ อาจขอรับศีลมหาสนิทในพิธีมิสซาของคาทอลิกได้ เนื่องจากพวกเขามีส่วนร่วมในความเชื่อเรื่องศีลมหาสนิทคล้ายกับของพระศาสนจักรคาทอลิก แม้คริสตจักรออโธดอกซ์จะยังมิได้เป็นหนึ่งเดียวกับพระศาสนจักรคาทอลิกอย่างสมบูรณ์ก็ตาม ส่วนกรณีสมาชิกในคริสตจักรอื่นๆ นั้น ก็อาจขอรับศีลมหาสนิทเป็นรายบุคคลได้ หากมีความจำเป็นเร่งด่วน และเขาเชื่อในการประทับอยู่ของพระเยซูเจ้าในศีลมหาสนิทอย่างแท้จริง

            ผลของการรับศีลมหาสนิท จะทำให้เราได้เป็นหนึ่งเดียวกับพระเยซูคริสตเจ้าลึกซึ้งยิ่งขึ้น เปลี่ยนตัวเราให้เป็นสมาชิกในพระกายพระคริสตเจ้า ที่จะมีความกระตือรือร้น มีชีวิตชีวา และมีพลังในการต่อสู้กับบาป พระเยซูเจ้าทรงสัญญาว่า สักวันหนึ่งเราจะได้นั่งร่วมโต๊ะกับพระองค์อีก ดังนั้น มิสซาจึงเป็นพระหรรษทานที่เต็มเปี่ยม และเป็นมัดจำแห่งความสุขนิรันดรในอนาคตด้วย
“การมีส่วนร่วมในพระกาย และพระโลหิตของพระคริสตเจ้า
ไม่มีจุดประสงค์อื่นใดมากไปกว่า การเปลี่ยนแปลงเราให้กลายเป็นสิ่งที่เราได้รับ”

                                  สมเด็จพระสันตะปาปา เลโอ (400-461)