วันศุกร์ที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2557

สารวัดวันอาทิตย์ที่ 16 มีนาคม 2014

พี่น้องที่รัก
            เมื่อสัปดาห์ที่แล้วพ่อนำ ข้อคิดเรื่อง "15 ข้อ ฝึกหาความสุขแบบตัดตรง (ไม่หรูหราแต่ได้ผลจริง)” มาลงให้พี่น้องได้อ่านไป 5 ข้อแล้ว คราวนี้พ่อขอนำส่วนต่อไป มาเพิ่มเติมให้พี่น้องได้อ่านกันอีกนะครับ

พ่อสุพจน์
"ข้อคิด 15 ข้อ ฝึกหาความสุขแบบตัดตรง"(ไม่หรูหราแต่ได้ผลจริง) ต่อจากคราวที่แล้ว
6. ฝึกให้ตัวเองเข้าใจเรื่องของการนินทา
            หมายความว่า เราเกิดมาก็ต้องรู้ตัวว่า เราต้องถูกนินทา แน่นอน ดังนั้น เมื่อถูกนินทาขอให้รู้ว่า "เรามาถูกทางแล้ว" แปลว่า เรายังมีตัวตนอยู่บนโลก คนที่ชอบเต้นแร้งเต้นกา กับคำนินทา ก็คือคนไม่รู้เท่าทันโลก แม้แต่คนเป็นพ่อแม่ ก็ยังนินทาลูก คนเป็นลูกก็ยังนินทาพ่อแม่ นับประสาอะไรกับคนอื่น ถ้าเราห้ามตัวเอง ไม่ให้นินทาคนอื่นได้เมื่อไหร่ ค่อยมาคิดว่า เราจะไม่ถูกนินทา ขอให้รู้ว่า คำนินทาคือของคู่กับมนุษย์โลก มีมาช้านานแล้ว แม้แต่ นักบุญ คนที่สร้างคุณงามความดีไว้กับโลกมากมายยังถูกนินทา แล้วเราเป็นใครจะไม่ถูกนินทา ดังนั้น อย่าไปใส่ใจให้มาก ถ้าอะไรที่ดีเก็บไว้ปรับปรุงตัว อะไรที่ไม่ดี ทิ้งมันไว้ไม่ต้องไปตีราคา สร้างค่าให้คำพูดไร้สาระ ส่วนตัวเราเอง ก็สมควรอย่างยิ่งที่จะต้องฝึกตนเองให้เป็นผู้ไม่นินทาคนอื่นเช่นกัน
7. ฝึกให้ตัวเองพ้นไปจากความเป็นขี้ข้าของเงิน
            หมายความว่า เราต้องหัดพอใจกับสิ่งที่ตัวเองมีอยู่ รถยนต์ใช้อะไรอยู่ ก็หัดพอใจกับมัน นาฬิกาใช้อะไรอยู่ ก็หัดพอใจกับมัน เสื้อผ้าใช้อะไรอยู่ ก็หัดพอใจกับมัน การที่คนเราจะเลิกเป็นขี้ข้าเงินได้ ต้องเริ่มจากการรู้จักเพียงพอก่อน เมื่อรู้จักพอแล้ว ก็ไม่ต้องหาเงินมาก เมื่อไม่ต้องหาเงินมาก ชีวิตก็มีโอกาสทำอะไรที่มากกว่าการหาเงิน การยุติความเป็นขี้ข้าของอำนาจเงินนี้ พูดง่ายแต่ทำยาก แต่ก็ต้องทำ เพราะถ้าไม่ทำ ชีวิตทั้งชีวิตของเรา ก็จะเป็นชีวิตที่เกิดมาแล้วตายไปเปล่าๆ ด้วยเหตุที่ว่า ใช้เวลาหมดไปกับการสะสมเงินทองที่เอาไปไม่ได้แม้แต่บาทเดียว
8. ฝึกให้ตัวเองเสียสละ และยอมเสียเปรียบ
            หมายความว่า การที่คนๆ หนึ่งยอมเสียเปรียบผู้อื่นบ้าง เป็นเรื่องจำเป็น ใครก็ตามที่บ้าความถูกต้อง บ้าเหตุบ้าผล ไม่ยอมเสียเปรียบอะไรเลย ไม่ช้า คนๆ นั้นก็จะเป็นบ้าสติแตก กลายเป็นคนที่ถูกทุกอย่าง แต่ไม่มีความสุข เพราะต้องสู้รบกับคนรอบข้างเต็มไปหมด เพื่อความถูกต้องที่ตนเองยึดมั่นถือมั่น ซึ่งส่วนใหญ่มันก็เป็นเพียงความถูกต้องที่กิเลสของตัวเองลากไป ไม่ได้เป็นเรื่องที่ถูกต้องตรงธรรมอย่างแท้จริง ดังนั้น การยอมเสียเปรียบ การให้ผู้อื่นด้วยความเบิกบาน จึงเป็นสิ่งจำเป็นมากกว่าที่เราคิดกัน มีแรงให้เอาแรงช่วย มีเงินให้เอาเงินช่วย มีความรู้ก็เอาความรู้เข้าไปช่วย ในหนึ่งวัน เราควรถามตัวเองว่า วันนี้เราได้ช่วยใครไปแล้วหรือยัง เราได้เสียเปรียบใครหรือยัง ถ้าคำตอบคือ "ยัง" ให้รู้เอาไว้เลยว่า เราเป็นอีกคนที่มีแนวโน้ม จะหาความสุขได้ยากเต็มที
9. ฝึกตัวเองให้เป็นแสงสว่างในที่มืด
            หมายความว่า ตรงไหนที่มันมืด เราควรไปเป็นดวงไฟ ส่องทางให้เขา ตรงไหนที่ไม่มีคนช่วย เราควรไปทำ เช่น ลองหาเวลาไป รับประทานอาหารร้านที่ไม่มีลูกค้าเข้า อย่ามุ่งแต่เรื่องกิน ให้การกินของเรามันเป็นการช่วยเหลือผู้อื่นบ้าง ร้านเขาไม่มีลูกค้า แล้วเราเข้าไปนั่ง มันไม่ใช่แค่เงิน แต่มันหมายถึงกำลังใจ อย่าคิดถึงการบริการที่ดีที่สุด อย่าคิดถึงรสชาติของอาหารให้มากนัก ให้คิดว่า เรากำลังเป็นผู้ให้ เดินเข้าร้านหนังสือ หนังสือเล่มไหน เก่าที่สุด เราอ่านเนื้อหาแล้วสนใจ หยิบมันขึ้นมา แล้วจ่ายเงิน นำมันกลับบ้าน เหลือหนังสือเล่มสวยๆ ไว้ให้คนอื่นๆ ได้ซื้อได้อ่าน อย่าไปบ้ากับการเก็บสิ่งที่ดีที่สุด อย่าไปบ้ากับการปรนเปรอสิ่งที่ดีที่สุดให้ตนเอง แต่ให้เน้นจิตใจที่ดีที่สุด ใช้วัตถุ ใช้เงินเป็นเครื่องมือในการซื้อจิตใจดีๆ สูงๆ สะอาดๆ ของเรากลับคืนมา วัตถุเป็นเรื่องไม่จีรัง แต่จิตใจดีๆ นั้นเป็นทั้งหมดของชีวิต เป็นสิ่งสำคัญที่เราต้องรู้จัก รักษาดูแลเอาไว้ไม่ให้เกิดความเสียหาย
10. ฝึกให้ตัวเองไม่ไหลไปตามอำนาจวัตถุนิยม

            หมายความว่า ต้องรู้จักยับยั้งช่างใจ และมีปัญญาในการมองเห็นว่า อะไรคือสิ่งจำเป็น อะไรคือสิ่งที่เราถูกโฆษณาหลอก เรากำลังเป็นตัวของตัวเอง หรือเรากำลังบ้ากระแสสังคมอย่างไม่ลืมหูลืมตา ลดความจำเป็นเรื่องแฟชั่น ลดความจำเป็นเรื่องโทรศัพท์ ลดความจำเป็นเรื่องสิ่งของเครื่องใช้ ก่อนจะซื้อ ก่อนจะอยากได้ ให้ลองถามตัวเองว่า เราอยากได้เพราะอะไร เพราะมันจำเป็น เพราะอยากเท่ อยากดูดี ในสายตาของอื่น หรือเพราะอะไรกันแน่  ตอบตัวเองให้ได้ชัดๆ ในเรื่องของความจำเป็นนี้ พูดได้เลยว่า ของในชีวิตส่วนใหญ่ที่เราครอบครองกันอยู่ มีไว้โชว์ มากกว่ามีไว้ใช้
...........................................................................................................
เราเชื่ออะไร
ไปสารภาพบาปได้หรือไม่ แม้มิได้กระทำบาปหนักใด

            แม้โดยทั่วไปแล้ว บาปที่ต้องนำไปสารภาพก็คือ บาปหนักทุกประการที่จำได้ อย่างไรก็ดี พระศาสนจักรแนะนำอย่างเคร่งครัดให้สัตบุรุษไปสารภาพบาปอย่างน้อยปีละครั้ง

            คาทอลิกต้องสารภาพบาปหนักของตน เมื่อถึงอายุที่สามารถรู้ผิดชอบ หากรู้ตัวว่าได้กระทำบาปหนัก เขาต้องไปสารภาพบาปก่อนที่จะรับศีลมหาสนิท เพราะบาปหนักที่ทำไปโดยรู้ตัวและเต็มใจของเขานั้น ได้ทำลายอำนาจความรักของพระเจ้าในหัวใจของเขา จนคิดต่อต้าน และยอมตัดขาดจากพระเจ้า ดังนั้น เพื่อเยียวยารักษาแผลอันเกิดจากบาปหนักนี้ พวกเขาต้องกลับมาคืนดีกับพระก่อนผ่านทางการสารภาพบาปกับพระสงฆ์อย่างจริงใจ
            ขณะที่บาปเบา สามารถขอโทษพระเจ้าได้โดยตรงเลย เพราะถือเป็นการกระทำอย่างไม่เต็มใจ หรือทำไปโดยไม่มีความรู้อย่างเต็มที่ถึงความร้ายแรงของสิ่งที่ตนทำ ผลของบาปพวกนี้ได้ทำลายความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างมนุษย์กับพระเจ้าก็จริง แต่มิได้ถึงกับยอมตัดขาดจากพระองค์เหมือนอย่างบาปหนัก

            อย่างไรก็ดี แม้มิได้กระทำบาปหนัก ก็สามารถไปสารภาพบาปเบาได้ เพราะการสารภาพบาปถือเป็นพระพรอันยิ่งใหญ่แห่งการเยียวยารักษา ซึ่งจะนำเราใกล้ชิดกับพระมากขึ้น แม้แต่บรรดานักบุญก็ยังไปสารภาพบาปอย่างสม่ำเสมอ เพื่อเติบโตในความสุภาพถ่อมตน และเพื่อรับความรักความเมตตาจากพระเจ้า แต่เหนืออื่นใดหมด พระไม่ได้ทรงปรารถนาให้เราแค่บอกบาป ต้องไม่ลืมว่า เราควรสำนึกถึงบาปอย่างแท้จริง และปรารถนาจะปรับปรุงตนเองให้ดีขึ้นด้วย  เพราะนี่คือหัวใจของการมาสารภาพบาป
“เฉพาะผู้ที่รำพึงอย่างจริงจังว่า ไม้กางเขนนั้นหนักมากเพียงใดเท่านั้น
 จึงจะเข้าใจดีว่า บาปของตนนั้นหนักหนาเพียงใด”

                   นักบุญ อัลเซล์ม แห่งแคนเทอเบอรี (1034-1109)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น