วันศุกร์ที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2555

สารวัดอาทิตย์ที่ 9 กันยายน 2012


สวัสดีครับพี่น้อง
            เดือนกันยายนนี้มีวันฉลองหลายวันที่สำคัญที่ควรกล่าวถึง วันนี้พ่ออยากกล่าวถึงวันฉลองแม่พระบังเกิด ซึ่งตรงกับวันที่ 8 กันยายน เนื่องจากพระนางมารีย์เป็นบุคคลสำคัญที่พระเจ้าทรงเลือกสรรให้ทำหน้าที่เป็นมารดาของพระผู้ไถ่ พระศาสนจักรจึงถวายเกียรติแด่พระนางมารีย์ด้วยการกำหนดวันฉลองพระนางในหลายวาระ หลายโอกาสในรอบปฏิทินปีพิธีกรรม  พิธีการถวายคารวกิจแด่พระนางมารีย์ที่พระศาสนจักรจัดถวายนั้น แม้เป็นลำดับรองลงมาจากพระเจ้า แต่ก็ดูเหมือนจะพิเศษกว่าการฉลองนักบุญต่างๆ และ วันฉลองวันเกิดของพระนางมารีย์พรหมจารีย์ ก็เป็นวันฉลองวันหนึ่งในวันฉลองทั้งหมดที่พระศาสนจักรจัดถวายแด่พระนาง
            สิ่งที่จะกล่าวต่อไปคือคำถามที่ว่า แล้ววันเกิดของแม่พระนั้นยังประโยชน์อันใดให้กับมวลมนุษยชาติแล้วทำไมเรามนุษย์จึงเฉลิมฉลองวันเกิดของพระนางอย่างพิเศษ  คำตอบคือว่า แม้พระนางมารีย์นั้นเป็นมนุษย์อยู่ในธรรมชาติ แต่พระเจ้าก็เตรียมพระนางอย่างพิเศษกว่ามนุษย์คนอื่นๆ ด้วยการให้พระนางบังเกิดมาโดยปราศจากบาปกำเนิด ทำให้ชีวิตของพระนางนั้นมีคุณค่าพิเศษกว่ามนุษย์อื่นใด พระนางเป็นประดุจดอกลิลลี่ ที่บริสุทธิ์งดงาม อย่างหาที่เปรียบมิได้ ในค่ำคืนอันมืดมิดในดินแดนเนรเทศแห่งนี้ พระนางได้รับพระพรที่พระเจ้าทรงประทานให้กับพระนางอย่างเต็มเปี่ยม พระองค์ทรงบันดาลให้พระนางประกอบไปด้วยบุคลิกภาพที่งดงาม ด้วยเหตุนี้ พระนางจึงได้รับพระพรที่ยิ่งใหญ่และมีค่าสูงสุดที่พระเจ้าประทานให้อย่างที่ไม่เคยมีมนุษย์คนใดเคยได้รับมาก่อน และเพราะพระนางได้รับสถานะพิเศษให้พ้นจากบาปกำเนิด พระนางจึงได้รับมีความพร้อมที่จะใช้เหตุใช้ผลอย่างพร้อมมูลตั้งแต่พระนางปฏิสนธิในครรภ์มารดา ความคิดของพระนางนั้นสูงส่ง และ ครรภ์ของนักบุญอันนาที่เป็นสถานที่ปฏิสนธิของพระนางมารีย์นั้นเป็นประดุจวิหารที่โอบอุ้มพระนางไว้  ณ ที่นั้นพระนางวิงวอนขอเพื่อมวลมนุษยชาติ และ ภาวนาเพื่อเราด้วยปรีชาญาณสูงสุดที่เป็นพรที่ได้รับมาจากพระเจ้า สำหรับการบังเกิดมาของพระผู้ไถ่ พระนางจึงเป็นแหล่งที่มาของพระพรนานัปการที่สามารถช่วยเหลือเรามนุษย์ทุกคนได้ ในพระคัมภีร์บันทึกเอาไว้ว่า แม้แต่เสื้อคลุมกายที่พระเยซูทรงสวมใส่ยังช่วยให้ผู้สัมผัสแตะต้องได้รับพระพรแห่งการช่วยเหลือได้ เมื่อเป็นอย่างนี้ เราสามารถจินตนาการได้ว่า พระนางมารีย์ พระมารดาของพระผู้ไถ่ จึงเป็นที่มาของพระพรนานัปการสำหรับทุกคนที่เข้ามาหาพึ่งพระนาง และด้วยเหตุผลนี้แหละที่เราสามารถกล่าวได้ว่า วันเกิดของแม่พระนั้น เป็นวันที่ พระพรมากมายมหาศาลของพระเจ้า ได้ส่องแสงมายังมนุษยชาติ และ ความชั่วก็เริ่มถดถอยออกไปจากเรามนุษย์

            ในช่วงเวลาของการบังเกิดของพระนางนั้น โลกของเราถูกปล่อยให้ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของการไม่รู้จักพระเจ้า การนับถือเทพเจ้าเป็นที่แพร่หลายโดยทั่วไป ชัยชนะของความชั่วและปีศาจแผ่ขยายอาณาบริเวณออกไปโดยทั่ว แต่ในเวลานี้เองพระเจ้า ผู้ทรงพระทัยเมตตา ได้บันดาลให้พระนางได้บังเกิดมา ซึ่งเท่ากับว่า เป็นจุดเริ่มต้นของการล่มสลายของอาณาจักรแห่งความชั่ว
            วันเกิดของพระนางมารีย์ เป็นจุดเริ่มต้นของยุคใหม่ ถัดจากยุคพันธสัญญาเดิม ประวัติศาสตร์แห่งความรอดแห่งพันธสัญญาเดิมได้รอคอยการเสด็จมาของพระผู้ไถ่มาอย่างยาวนาน ภายหลังจากที่บิดามารดาเดิมของเรามนุษย์ตกในบาป มนุษยชาติรอองค์พระผู้ไถ่มานานถึง 3000 ปี หรืออาจมากกว่านั้น แต่ในจังหวะเวลานั้น พระญาณสอดส่องของพระเจ้า บันดาลให้สตรีผู้หนึ่งได้บังเกิดมา เพื่อให้พระผู้ไถ่ได้จุติมายังโลก การบังเกิดมาของพระนางแสดงถึง การเข้ามายังโลกเยี่ยงสิ่งสร้างที่สมบูรณ์ของพระเจ้าที่เต็มเปี่ยมด้วยพระพรเฉพาะพระพักตร์พระเจ้า ที่เปี่ยมด้วยกุศลเพียงพอที่จะทำให้การรอคอยอันยาวนานนั้นสิ้นสุดลง
            คำภาวนาทั้งมวล ความทุกข์ยากทั้งสิ้น และ ความสัตย์ซื่อของผู้ชอบธรรม ทั้งที่ยังมีชีวิตอยู่ และ ผู้ที่สิ้นใจไปแล้วได้บรรลุถึงจุดสูงสุดในการบังเกิดมาของพระนางมารีย์ โดยที่ก่อนหน้านี้ ทั้งบรรดาผู้นำความเชื่อ บรรดาประกาศก และ ผู้ชอบธรรมในมวลประชากรที่เลือกสรร รวมไปถึงผู้ชอบธรรมในพงศ์พันธุ์ของชนต่างชาติได้ร่วมกันภาวนาวิงวอน แม้ต้องเผชิญกับความยากลำบาก และ ได้รอคอยมานานแสนนาน ก็ยังไม่พอเพียงที่จะส่งผลให้เวลาแห่งการไถ่บาปมวลมนุษยชาติมาถึง แต่เมื่อพระเจ้าทรงมีพระประสงค์ พระองค์บันดาลให้สิ่งสร้างที่สมบูรณ์ได้บังเกิดมาเพื่อเป็นมารดาของพระผู้ไถ่ ด้วยเหตุนี้การบังเกิดมาในโลกของพระนางจึงเป็นจุดเริ่มของช่วงเวลาแห่งการไถ่บาปมวลมนุษย์ ความสัมพันธ์ของพระเจ้ากับมนุษย์เริ่มได้รับการปรับปรุง และ ประตูสวรรค์ที่เคยปิดสนิทได้เปิดแง้มขึ้นแล้ว เพื่อให้แสงสว่างและความสดชื่นแห่งความหวังได้ฉายแสงส่องผ่านออกมา
            ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น วันฉลองวันเกิดของพระนางมารีย์ จึงเป็นวันที่เรามีความชื่นชมยินดีเป็นอย่างยิ่ง ในฐานะที่เราเป็นลูกของพระนาง ไม่ใช่ด้วยเพราะคุณงามความดีของเราเอง แต่เป็นเพราะพระนางเลือกที่จะเป็นมารดาของชาวเรา วันนี้จึงเป็นวันที่เราควรวอนขอต่อพระนางเป็นพิเศษ ผู้มีความเชื่อศรัทธาแก่กล้าในพระเจ้าหลายคนเคยได้รับนิมิตของพระนางมารีย์กล่าวว่า วันฉลองแม่พระนั้น พระนางจะเสด็จไปเยี่ยมไฟชำระ เพื่อปลดปล่อยดวงวิญญาณมากมายให้เข้าสู่สวรรค์กับพระนาง  ด้วยเหตุนี้ในทุกวันฉลองของพระนางมารีย์ พระพรของพระนางจะโอบอุ้มเราและ ช่วยอุปถัมภ์ค้ำจุนเราอย่างเหลือประมาณ
            ขอพระแม่มารีย์พระมารดาพระเจ้า ราชินีแห่งสวรรค์ ช่วยวิงวอนเพื่อเราทุกคนเสมอไปเทอญ

คุณพ่อสุพจน์
..................................................................................................................................................................

พี่น้องที่รักทุกท่าน
             สืบเนื่องต่อจากครั้งที่แล้วที่กล่าวถึงการแห่เข้าของขบวนพระสงฆ์เข้ามาในวัด เมื่อมาถึงบริเวณพระแท่น พระสงฆ์จะเข้ามาคำนับพระแท่น ตามธรรมเนียมปฏิบัติของยุโรปจะใช้วิธีการจูบพระแท่น แต่ประเทศไทยได้ดัดแปลงมาใช้วิธีการพนมมือกราบบนพระแท่นแทน เพื่อให้เข้ากับขนบธรรมเนียมประเพณีของคนไทย พระแท่นเป็นเครื่องหมายถึงองค์พระคริสตเจ้าเอง ในสมัยกลางมีความนิยมนับถือมรณสักขีและขอให้ท่านช่วยอ้อนวอนพระเจ้าแทนมากขึ้น การคารวะพระแท่นจึงผันแปรไปเป็นการคารวะพระธาตุนักบุญซึ่งบรรจุบนพระแท่นแทน โดยลืมนึกไปว่าผู้ที่เขาควรคารวะก่อนอื่นใดหมดคือพระคริสตเจ้าซึ่งมีพระแท่นเป็นเครื่องหมายแทนพระองค์ จากนั้นอาจจะมีการถวายกำยานแด่พระแท่นด้วยก็ได้ การถวายกำยาน เป็นการแสดงออกถึงความเคารพ หมายถึงคำภาวนาซึ่งลอยขึ้นไปถึงพระเบื้องบน นอกนั้นควันกำยานที่ปกคลุมบริเวณสักการสถานทำให้เกิดบรรยากาศของความศักดิ์สิทธิ์อีกด้วย
เมื่อเพลงแห่เข้าจบลงแล้ว พระสงฆ์และที่ประชุมทั้งหมดต่างทำเครื่องหมายกางเขน ครั้นแล้วพระสงฆ์กล่าวทักทายสัตบุรุษเป็นการแสดงให้เห็นว่า พระผู้เป็นเจ้าสถิตอยู่ท่ามกลางพวกเขา โดยการทักทายและการตอบรับของสัตบุรุษ แสดงให้เห็นถึงธรรมล้ำลึกของพระศาสนจักรที่ร่วมชุมนุมกัน คำทักทายว่า “พระเจ้าสถิตกับท่าน” (Dominus Vobiscum) เป็นคำทักทายของพระคริสตเจ้าดั้งเดิมและนำมาใช้ในบูชามิสซาอีกหลายหน เช่น ก่อนอ่านพระวรสาร และตอนเริ่มบทเริ่มขอบพระคุณ ประโยคทักทายนี้มาจากพระคัมภีร์ (วนฉ 6: 12; ลก 1: 28) เป็นการยืนยันว่าพระเจ้าสถิตอยู่ท่ามกลางชุมนุมที่มาประชุมกันในมิสซานั้นๆ นอกจากนี้คำทักทายของพระสงฆ์ยังมีอีก 2 แบบ คือ “ขอให้ท่านจะได้รับพระหรรษทานของพระเยซูคริสตเจ้า ความรักของพระบิดา และความสัมพันธ์กับพระจิต” และ “ขอให้ท่านจงได้รับพระหรรษทานและสันติสุขจากพระเป็นเจ้า พระบิดา และจากพระเยซูคริสตเจ้า” ซึ่งทั้งสองแบบมาจากจดหมายของนักบุญเปาโล (2คร 13: 14; รม 1: 7) และต่อจากนั้นพระสงฆ์อาจให้คำนำความสั้นๆ เกี่ยวกับมิสซา เป็นการเชิญชวนสำหรับการฉลองและการมีส่วนร่วมพิธีมิสซาในวันนั้น
จะเห็นได้ว่าสิ่งที่เป็นศูนย์กลางของวัดหรือของที่ประชุมสัตบุรุษนั้นก็คือ พระแท่นซึ่งหมายถึงพระคริสตเจ้าเอง ฉะนั้นพระคริสตเจ้าจึงเป็นศูนย์กลางสำหรับเราทุกคน เป็นศูนย์รวมจิตใจของเราคริสตชนทุกคน ดึงดูดเราทุกคนให้เข้ามาหาพระองค์ในการนมัสการพระเจ้าและการร่วมเป็นหนึ่งเดียวกันกับพี่น้องสัตบุรุษ การทักทายของพระสงฆ์ว่า “พระเจ้าสถิตกับท่าน” เป็นการย้ำถึงการประทับอยู่ของพระคริสตเจ้าท่ามกลางเราทุกคน พระเจ้ารักเราทุกคนและมาประทับอยู่ท่ามกลางเรา เรารักพระเจ้ามากเพียงใดและเราให้เวลากับพระองค์มากน้อยเพียงใด...
                                                                                                                                    คุณพ่อศวง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น