สวัสดีครับพี่น้องที่รัก
พี่น้องคงจำได้นะครับว่า เมื่อวันเสาร์ที่ 29 กันยายน
ที่ผ่านมาเป็นวันฉลองอัครเทวดาสามองค์คือ มีคาแอล คาเบรียล และ ราฟาแอล
ในสารวัดเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว พ่อได้กล่าวเกี่ยวกับอัครเทวดามีคาแอลไปแล้ว
สัปดาห์นี้พ่อจะกล่าวถึงอัครเทวดาอีกสององค์ที่เหลือคือ คาเบรียล และ ราฟาแอล
คำว่า คาเบรียล มีความหมายว่า "พระเจ้าคือพละกำลังของข้าพเจ้า"
พระคัมภีร์กล่าวถึงท่านเทวดาองค์นี้สามครั้ง
โดยที่ท่านทำหน้าที่เป็นผู้สื่อสารอันเป็นข่าวสำคัญ ท่านถูกส่งไปหาดาเนียล
เพื่อช่วยให้ดาเนียลได้เข้าใจถึงภาพพจน์ของพระแมสซีอาห์พระผู้ไถ่ว่าเป็นอย่างไร
และ ท่านได้ถูกส่งไปหา ซากาเรีย (หรือเศคาริยาห์) ในขณะที่ซากาเรียทำหน้าที่ถวายเครื่องบูชาอยู่ในพระวิหาร
เพื่อบอกกล่าวถึงการมาบังเกิดของท่านยอห์นบัปติสต์ซึ่งเป็นบุตรชายของซากาเรีย และ
ภารกิจที่สำคัญที่สุดของคาเบรียลคือการไปแจ้งข่าวเรื่องการบังเกิดมาของพระผู้ไถ่ให้พระนางมารีย์ได้ทราบ
ดังนั้นหน้าที่สำคัญของเทวดาคาเบรียลก็คือ การสื่อสาร การแจ้งข่าว
ท่านจึงได้รับการยกย่องให้เป็นองค์อุปถัมภ์ของบรรดาผู้ที่ทำงานในวงการทูต
งานด้านสื่อสารมวลชน การบังเกิดมาของทารก สถาบันนักบวช งานอภิบาล งานประชาสัมพันธ์
ส่วนอัครเทวดาองค์ต่อไปที่จะกล่าวถึงก็คือ ราฟาแอล
ความรู้เกี่ยวกับอัครเทวดาองค์นี้มาจากหนังสือโทบิต
เทวดาองค์นี้ได้รับภารกิจให้ทำการบำบัดรักษา และ ทำหน้าที่เป็นเพื่อนในการเดินทางของโทเบีย
และมีบทบาทในการช่วยเหลือโทเบียในช่วงเวลาวิกฤติอีกด้วย นอกจากนี้
ตามประเพณีโบราณยังเชื่อว่า
ราฟาแอลคือเทวดาที่คอยทำให้น้ำในสระเบธเธสดากระเพื่อมเพื่อรักษาผู้ป่วยที่ลงไปแช่ตัวในสระน้ำแห่งนั้น
ชื่อราฟาแอลมีความหมายว่า "พระเจ้าได้ทรงบำบัดรักษา"
เทวดาองค์นี้จึงได้รับการยกย่องให้เป็นองค์อุปถัมภ์ของคนตาบอด
ผู้ป่วย ผู้ให้คำปรึกษา เภสัชกร ผู้ตรวจสุขภาพ เวชบุคคล คนเลี้ยงแกะ
พระศาสนจักรยังมีธรรมเนียมในการสวดบททูตสวรรค์ของพระเจ้า
เวลาได้ยินเสียงย่ำระฆังเวลา 6 โมงเช้า เที่ยง แล้วก็ 6
โมงเย็นอีกด้วย ถ้าบ้านของเราอยู่ในหมู่บ้านที่มีวัดเป็นศูนย์กลางของหมู่บ้าน
เราก็คงได้ยินเสียงระฆังที่คอยเรียกเราให้สวดภาวนาอยู่เสมอ
แต่ว่าเราส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ
ดังนั้นคงไม่ค่อยได้มีโอกาสได้ยินเสียงระฆังจากหอระฆังของวัดบ่อยนัก
แต่เราก็ควรที่จะฝากตัวของเราไว้ในความอารักขาของเทวดารักษาตัวของเรา และ
หมั่นสวดภาวนาเสมอๆนะครับ
พ่อสุพจน์
...................................................................................................................................................................
...................................................................................................................................................................
สวัสดีครับพี่น้องที่รักทุกท่าน
วันนี้ขอพักเรื่องบูชามิสซาไว้ก่อนนะครับ
พอดีมีเรื่องที่น่าสนใจมานำเสนอให้พี่น้องได้ทราบกันคือ เรื่องการขอมิสซา
ซึ่งได้เคยนำมาติดประกาศกันบ้างแล้วแต่เห็นว่ามันมีเนื้อหาที่ยาวและคงไม่มีใครสนใจอ่านสักเท่าไร
เลยคิดที่จะนำมาเขียนลงในสารวัดดีกว่าเพื่อพี่น้องจะได้อ่านกันได้มากขึ้น (ขอขอบคุณคุณพ่อวุฒิเลิศ
แห่ล้อมที่ให้ข้อมูลนี้)
เราทราบกันดีแล้วว่า มิสซาคือ
การภาวนาที่สำคัญและมีคุณค่าที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเพราะเป็นบูชาที่มีพระเยซูเจ้าทรงเป็นผู้ถวายและเราเป็นผู้ร่วมในบูชานั้นโดยพระสงฆ์เป็นตัวแทนของพระเยซูเจ้าที่เป็นผู้ถวายมิสซา
ดังนั้นการขอมิสซาจึงเป็นการขอให้พระสงฆ์ถวายคำภาวนาตามจุดประสงค์ของผู้ที่ขอมิสซา
ซึ่งแยกออกเป็น 2 ประเภทคือ มิสซาสุขสำราญ เป็นมิสซาวอนขอสำหรับผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่
เช่น เพื่อสุขภาพ หน้าที่การงาน การเดินทาง หรือเพื่อโมทนาขอบพระคุณแม่พระ
พระเยซูเจ้า นักบุญต่างๆ และมิสซาอุทิศให้ผู้ล่วงลับ
เป็นมิสซาวอนขอพระเมตตาสำหรับผู้ที่ตายไปแล้ว เช่น วิญญาณในไฟชำระ บรรพบุรุษของเรา
และวิญญาณที่ไม่มีใครคิดถึง
วิธีการขอมิสซา
กระทำได้โดยการกรอกรายละเอียดต่างๆ
ที่เป็นจุดประสงค์ของการขอมิสซาลงในซองมิสซาที่ทางวัดจัดทำขึ้น เน้นย้ำว่าให้กรอกโดยละเอียดและเขียนตัวบรรจงให้สามารถอ่านออกได้
เพราะถ้าไม่สามารถอ่านออกได้จะหาทางออกโดยการเขียนว่า “ตามจุดประสงค์ของผู้ขอ”
เพราะพระเป็นเจ้าทรงทราบอยู่แล้ว
เมื่อเราขอมิสซาแล้วให้เราสบายใจได้ว่าเราได้ทำในส่วนของเราเรียบร้อยสมบูรณ์แล้ว
ส่วนที่เหลือเป็นหน้าที่ของพระสงฆ์ที่จะต้องทำตามจุดประสงค์ที่ขอ
หลายคนสงสัยว่าจะต้องขอมิสซาด้วยจำนวนเงินเท่าไร ข้อนี้ตอบว่า
เงินทำบุญมิสซาไม่สามารถกำหนดตายตัวได้เพราะคุณค่าของมิสซามิอาจตีราคาได้
แต่เป็นเรื่องของคุณค่าของพระพรของพระเจ้า
ฉะนั้นจึงแนะนำว่าให้ทำบุญมิสซาตามความเหมาะสมหรือตามกำลังความศรัทธา
จะมากน้อยไม่ใช่เรื่องสำคัญ
แต่ไม่ใช่ว่าเราใช้จ่ายฟุ่มเฟือยแต่พอทำบุญกับทำบุญนิดหน่อยอย่างนี้ก็ต้องเรียกว่าไม่เหมาะสม
โดยปกติพระสงฆ์จะนำเงินมิสซาไปเป็นค่าใช้จ่ายต่างๆ
ของวัด เพื่อการบริหารจัดการต่างๆ ของวัด เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าแอร์ ค่าจ้างคนงาน
ค่าก่อสร้าง ค่าบำรุงรักษา ฯลฯ
แต่พระศาสนจักรก็อนุญาตให้พระสงฆ์นำเงินไปใช้ส่วนตัวได้เหมือนกัน
ซึ่งอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ กำหนดให้พระสงฆ์นำไปใช้ได้วันละ 100 บาท
มีข้อสังเกตอยู่ว่า
ที่มุมของซองจะมีช่องที่ทำเครื่องหมายว่าจะให้นำซองมิสซานี้ไปถวายมิสซาที่ใด เช่น ถวายที่วัดเซนต์หลุยส์
ก็จะถูกนำมาจัดเข้าตามตารางมิสซาของวัดทั้งวันธรรมดาและวันอาทิตย์
ซึ่งตรงนี้เราสามารถกำหนดวันและเวลาที่ต้องการให้ถวายมิสซาได้
เพราะเราจะได้สามารถมาร่วมในมิสซาที่เราขอไว้ ให้รวมจุดประสงค์ได้
หมายถึงให้สามารถถวายมิสซารวมกับจุดประสงค์อื่นได้ด้วย (โดยปกติ 1 มิสซาจะมี 1
จุดประสงค์มิสซา) ซึ่งเมื่อมีการขอมิสซามากๆ
จะไม่สามารถจัดมิสซาให้ทันได้ต้องรอไปนานมาก ทางออกคือ
ผู้ขอมิสซาอนุญาตให้รวมจุดประสงค์ได้ และให้ส่งไปถวายที่วัดอื่นได้
เพื่อเป็นการแจกจ่ายมิสซาไปยังวัดอื่นๆ
ได้และเงินทำบุญมิสซานั้นก็จะไปมอบให้กับวัดที่ถวายมิสซาให้
ทั้งนี้พระสงฆ์จะเป็นผู้ส่งซองมิสซาที่สามารถนำไปถวายที่วัดอื่นได้ให้กับอัครสังฆมณฑลเพื่อจัดสรรไปยังวัดที่มีการขอมิสซาน้อยกว่า
และสุดท้ายการขอมิสซากับพระสงฆ์เป็นการส่วนตัวเพื่อถวายเงินให้กับพระสงฆ์ใช้เป็นค่าใช้จ่ายส่วนตัว
สามารถทำได้แต่พี่น้องจะต้องระบุให้ชัดเจนด้วยว่าสำหรับส่วนตัวของพระสงฆ์และนำส่งให้พระสงฆ์ท่านนั้น
จึงจะสามารถรับไว้ได้
คำแนะนำสุดท้ายคือ
เมื่อเราขอมิสซาแล้วควรที่เราจะมาร่วมในมิสซาที่เราขอไว้ด้วยมิใช่ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของพระสงฆ์เท่านั้น
หากไม่สามารถมาร่วมมิสซาได้ก็ต้องสวดภาวนาระลึกถึงตามจุดประสงค์ที่ได้ขอไปด้วย
คุณพ่อศวง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น