พี่น้องที่รัก
พ่อจำได้ว่าเมื่อประมาณสี่สิบปีที่แล้ว
วัดเซนต์หลุยส์ของเรามีจำนวนสามเณรในบ้านเณรยอแซฟ
มากเป็นอันดับสองของเณรจากวัดต่าง ๆ ทั้งหมด
แม้จะจำไม่ได้ชัดเจนว่ามีจำนวนเท่าไรกันแน่ แต่ก็มีไม่น้อยกว่า 15 คนซึ่งนับว่าเป็นจำนวนมากทีเดียว
ในเวลานั้นสามเณรส่วนใหญ่ของวัดเซนต์หลุยส์ก็เริ่มต้นมาจากการเป็นเด็กช่วยมิสซา
ช่วยพิธีกรรม นักขับร้อง ที่สุดเมื่อคุณพ่อเจ้าอาวาสเห็นว่าเหมาะสม
ก็ส่งให้เด็กเหล่านั้นเข้าไปฝึกฝนตัวเองในบ้านเณร เพื่อเป็นพระสงฆ์
เรื่องที่น่ายินดีก็คือ
ในปีนี้มีพระสงฆ์ลูกวัดเซนต์หลุยส์ของเราที่บวชเป็นพระสงฆ์มาครบ 25 ปี จำนวนถึงสามองค์ครับ ซึ่งได้แก่ คุณพ่อปิยะชาติ มะกรครรภ์
คุณพ่อสุรนันท์ กวยมงคล และ คุณพ่ออนุรัตน์ ณ สงขลา
คุณพ่อทั้งสามท่านเคยเป็นเด็กช่วยมิสซาที่วัดแห่งนี้ และ
เจริญเติบโตขึ้นภายใต้การเอาใจใส่ของพระสงฆ์ในสมัยก่อน ตั้งแต่สมัยคุณพ่อลังเยร์
คุณพ่อลาบอรี่ และ พ่อเจ้าวัดองค์ต่อ ๆ มา อาทิ คุณพ่อลออ สังขรัตน์ คุณพ่อดาเนียล
พ่อเองมีความเห็นว่า
การที่บุคคลคนหนึ่งตอบรับกระแสเรียกการเป็นพระสงฆ์ที่พระเจ้าประทานให้
ด้วยการเริ่มต้นจากการสมัครเข้าบ้านเณรเพื่อฝึกฝนตัวเอง และ
พิจารณาตนอย่างถ่องแท้ถึงภารกิจที่พระเจ้าจะประทานให้ ก็เป็นสิ่งที่น่ายกย่องแล้ว
แต่สำหรับสามเณรที่สามารถตอบรับเสียงเรียกของพระเจ้าและก้าวต่อจนไปถึงขั้นการสมัครใจขอรับศีลบวชเป็นพระสงฆ์นั้นเป็นสิ่งที่น่าสรรเสริญ
และยิ่งไปกว่านั้น สำหรับพระสงฆ์ที่ดำเนินชีวิตรับใช้พี่น้องสัตบุรุษ
โดยสละละความปรารถนาส่วนตัวทิ้งไปเสียเป็นเวลานานถึง 25 ปีนั้น
เป็นเรื่องที่เราสมควรที่จะแสดงออกอย่างชัดเจนออกมาภายนอกว่า ขอขอบพระคุณพระเจ้า
ที่พระองค์โปรดประทานพระสงฆ์ให้กับเรา เพื่อเป็นผู้นำฝ่ายจิตใจของเรา
เป็นคนกลางระหว่างเรากับพระเจ้า นำการอภัยของพระองค์มาสู่เรา
เป็นผู้ช่วยนำพาเราให้ก้าวไปบนเส้นทางแห่งความศักดิ์สิทธิ์ที่พระเจ้าทรงเรียกเราทุกคนให้ก้าวไป
เป็นผู้ช่วยประคับประคองเราให้ผ่านเส้นทางชีวิตบนโลกนี้ ไปสู่ชีวิตนิรันดรที่พระเจ้าทรงจัดเตรียมไว้สำหรับผู้ที่รักพระองค์ทุกคน
ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น
สภาภิบาลวัดเซนต์หลุยส์ของเราจึงร่วมใจกันจัดงาน ฉลองครบรอบ 25 ปีชีวิตสงฆ์ให้กับคุณพ่อลูกวัดของเราทั้งสาม
รวมไปถึงพระสงฆ์ร่วมรุ่นที่ได้รับศีลบวชพร้อมกันอีกสี่องค์ ซึ่งได้แก่
คุณพ่อพงศ์เทพ ประมวลพร้อม คุณพ่อพรชัย บรัศวกุล คุณพ่ออนุรักษ์ ประจงกิจ และ
ตัวพ่อเอง พ่อสุพจน์ ฤกษ์สุจริต
ทั้งนี้เราจะมีพิธีบูชาขอบพระคุณ โมทนาคุณพระเจ้า ในเย็นวันเสาร์ที่ 30
พฤษภาคม 2558 เวลา 17.30 น. หลังจากพิธีจบแล้ว
จะมีการทานอาหารโต๊ะจีนร่วมกันในบริเวณโรงเรียนเซนต์หลุยส์ศึกษาครับ
พ่อจึงขอประชาสัมพันธ์ให้พี่น้องทราบโดยทั่วกัน
และขอเรียนเชิญพี่น้องทุกท่านครับ
คพ.สุพจน์
..........................................................................................................................................
พี่น้องที่รัก
“ไม่มีใครเอาชีวิตไปจากเราได้ แต่เราเองสมัครใจสละชีวิตนั้น” (ยน. 10:18)จากพระวาจาของพระเจ้าประโยคนี้
เป็นสิ่งที่พระองค์ทรงแยกความแตกต่างระหว่างคนเลี้ยงแกะสองประเภทอยู่ตรงที่
คนเลี้ยงแกะจริง ๆ เกิดมาเพื่อเลี้ยงแกะโดยเฉพาะ ทันทีที่มีอายุพอสมควร
พวกเขาจะถูกส่งออกไปอยู่กับฝูงแกะ และคลุกคลีอยู่กับแกะ
จนแกะกลายเป็นเพื่อนและเป็นเหมือนหุ้นส่วนชีวิต
ที่พวกเขาคิดถึงก่อนจะคิดถึงตัวเองเสียอีก ส่วนคนเลี้ยงแกะที่เป็นลูกจ้างนั้น...
พวกเขาไม่ได้มีกระแสเรียกเป็นคนเลี้ยงแกะตั้งแต่เริ่มแรก
สาเหตุเดียวที่ทำให้พวกเขาเข้าสู่วงการเลี้ยงแกะคือความต้องการ
"งานและเงิน"
พวกเขาจึงขาดสำนึกและความรับผิดชอบต่อหน้าที่อันสูงส่งเช่นนี้ ดังนั้น
หากสุนัขป่าเข้าโจมตีฝูงแกะ ลูกจ้างเลี้ยงแกะจะลืมทุกสิ่งทุกอย่างหมด นอกจากการวิ่งหนีเอาชีวิตรอดเท่านั้น สิ่งที่พระองค์ทรงสะท้อนให้กับเรา คือ
หากเราทำงานเพียงเพราะหวัง "รางวัล" เราจะคิดถึง
"เงิน"เป็นส่วนใหญ่ แต่ถ้าเราทำงานเพราะ "ใจรัก" เราจะคิดถึง
"คน" ที่เราตั้งใจรับใช้ ดังนั้น แบบอย่างของพระองค์ซึ่ง
เป็นผู้เลี้ยงแกะที่ดี ทำให้เราได้ ใคร่ครวญ 2 ประการด้วยกัน คือ
1.
พระเยซูเจ้าคือผู้เลี้ยงแกะที่ดี คำว่า "ดี" ในภาษากรีกใช้ 2 คำ คือ
- agathos (อากาธอส)
หมายถึงสิ่งที่มีคุณภาพ หรือ มีคุณสมบัติทางด้านศีลธรรมอยู่ในเกณฑ์ดี
- kalos (คาลอส)
หมายถึงนอกจาก "ดี" แบบ "อากาธอส" แล้ว ยังมีความน่ารัก
น่าชื่นชมแฝงอยู่ด้วย
และพระองค์ทรงเลือกใช้คำ
"คาลอส" เพื่อบอกว่าทรงเป็นผู้เลี้ยงแกะที่ "ดี" หมายความว่า
พระเยซูเจ้านอกจากจะเป็นผู้เลี้ยงแกะที่ดี
มีประสิทธิภาพและซื่อสัตย์ต่อการปกป้องฝูงแกะของพระองค์แล้ว
พระองค์ยังมีความน่ารักอีกด้วย เหมือนเวลาเราบอกว่า "คุณพ่อคนนี้ดี"
หรือ "คุณหมอคนนั้นดี" เราไม่ได้หมายความเพียงว่า คุณพ่อหรือคุณหมอคนนั้นเก่งเพียงอย่างเดียว
แต่เราคิดถึงความใจดี ความเอื้ออาทร ความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น
อันเป็นคุณสมบัติที่น่ารัก น่าชื่นชมของท่านเหล่านั้นด้วย
2.
คนรับจ้างเลี้ยงแกะคืออันตรายใหญ่สุด ฝูงแกะคือพระศาสนจักร อันตรายของพระศาสนจักร
(ครอบครัวของเรา) มีทั้งจากภายนอก คือสุนัขป่า ขโมย และโจร จากภายใน คือ
คนรับจ้างเลี้ยงแกะที่ไม่รับผิดชอบและพร้อมทอดทิ้งแกะให้เผชิญภยันตรายตามลำพัง
หากผู้เลี้ยงแกะมองกระแสเรียกของตนเป็น "อาชีพ" มากกว่าเป็น
"การรับใช้" แกะย่อมตกอยู่ในอันตรายอย่างใหญ่หลวง
เพราะศัตรูจากภายนอกสามารถจู่โจมเข้าทำลายฝูงแกะได้โดยง่าย
สิ่งที่เป็นข้อคิดสำหรับเราแต่ละคน
คือ ให้เราได้ตระหนักถึงพระพรของพระ (ตามแบบอย่างขององค์พระเยซูเจ้า
ผู้เลี้ยงแกะที่ดี) ที่เรียกเรามาเป็นคริสตชน (ให้เรามีหน้าที่บทบาทต่างๆ
เป็นพ่อแม่ อาชีพต่างๆของเรา พระสงฆ์ นักบวช กระแสเรียก คือ
สิ่งที่พระเจ้าทรงเรียกเราให้มาทำหน้าที่ต่างๆ)
ซึ่งนี่มิใช่เป็นเพียงหน้าที่เท่านั้น แต่เป็นพระพรที่ยิ่งใหญ่
เราจะได้ดำเนินชีวิตคริสตชนของเราได้อย่างดี “ด้วยการรักและรับใช้” ดังที่องค์พระเยซูเจ้าได้กระทำเป็นแบบอย่างแก่เรา
จงรู้จักฟังเสียงของพระองค์ แล้วตามพระองค์ไปเสมอแล้วจะไม่มีใครเอาชีวิตเราไปได้นอกจากพระเจ้า
ผู้ทรงเป็นชีวิตแท้ของเรา
พ่อพงษ์เกษม