วันศุกร์ที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

สารวัดวันอาทิตย์ที่ 2 มีนาคม 2014

พี่น้องที่รัก
            ตามที่พี่น้องทราบแล้วว่า วันพุธที่ 5 มีนาคม ที่จะถึงนี้เป็นวันพุธรับเถ้า ซึ่งถือเป็นวันเริ่มต้นของช่วงเวลาในเทศกาลมหาพรต ซึ่งมีระยะเวลาประมาณ 40 วัน ก่อนการเฉลิมฉลองการเสด็จกลับคืนชีพของพระเยซูเจ้า หรือ การสมโภชปัสกา สิ่งซึ่งเป็นข้อกำหนดให้เราคริสตชนได้ปฏิบัติเป็นพิเศษในวันพุธรับเถ้าคือ การถือศีลอดอาหาร ซึ่งในทางปฏิบัติหมายถึง คริสตชนที่มีอายุครบ 14 ปีบริบูรณ์ต้องงดรับประทานเนื้อสัตว์ในวันดังกล่าว และ คริสตชนที่มีอายุครบ 18 ปีบริบูรณ์ ไปจนถึงอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ต้องถือศีลอดอาหาร ซึ่งในทางปฏิบัติหมายความว่า เราสมัครใจที่จะละเว้นจากการรับประทานอาหารตามปกติ เพื่อให้จิตใจที่เข้มแข็งสามารถควบคุมความปรารถนาฝ่ายร่างกายได้ ทั้งนี้ เราสามารถรับประทานอิ่มได้ 1 มื้อ ส่วนมื้อที่เหลือให้ทานได้นิดหน่อย หรือ ถ้าเป็นไปได้ ก็ละเว้นจากการรับประทานเลย
            การถือศีลอดอาหารนั้น ถือเป็นการทำกิจใช้โทษบาปอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นจิตตารมณ์สำคัญของเทศกาลมหาพรต มีความหมายว่าเราสมัครใจที่จะละเว้นจากการรับประทานอาหารซึ่งตามปกติแล้วเราจะรับประทานเป็นประจำ อาทิ เรายินดีที่จะงดรับประทานขนม ของว่างที่เรามักกินเล่นในระหว่างวันอยู่เป็นกิจวัตร หรือ ในกรณีที่เราต้องการเข้าร่วมในการถือศีลอดอย่างจริงจัง ด้วยการงดรับประทานอาหารทั้งหมดในวันที่กำหนดไว้ แม้พระศาสนจักรมีข้อกำหนดให้คริสตชนถือศีลอดอาหาร และ อดเนื้อในวันพุธรับเถ้า และ วันศุกร์ศักดิ์สิทธิ์ อยู่แล้วก็ตาม แต่ในเทศกาลมหาพรต เราสามารถที่จะนำจิตตารมณ์การถือศีลอดมาปฏิบัติได้ตลอดเทศกาล เช่นเราตั้งใจว่า ในทุกวันศุกร์ตลอดเทศกาลนี้ เราจะงดรับประทานเนื้อสัตว์ หรือ ตลอดเทศกาลนี้เราจะงดรับประทานไอศครีม ขนม หรือ งดดื่มน้ำอัดลม เป็นต้น
            สิ่งซึ่งพระศาสนจักรแนะให้เราได้ฝึกฝนปฏิบัติในช่วงเทศกาลมหาพรตนี้เป็นพิเศษได้แก่ การสวดภาวนา การถือศีลอดอาหาร การทำบุญบริจาคให้ทาน ทั้งนี้เพื่อเป็นโอกาสให้เราได้ฝึกการควบคุมกิเลสและความปรารถนาฝ่ายร่างกาย โดยอาศัยการใช้โทษมลทินบาปในดวงวิญญาณด้วยการสวดภาวนา และ การละเว้นจากการรับประทาน หรือ เสพความอยากต่างๆ โดยสะสมรวบรวมเงินที่เก็บได้จากการละเว้นจากการบริโภคตามความอยากของเราไว้ เพื่อมอบให้กับผู้ที่ขัดสนกว่าเรา และถ้าเราปฏิบัติในข้อแนะนำของพระศาสนจักรทั้งสามประการแล้ว ก็จะทำให้ช่วงเวลาของเทศกาลมหาพรตผ่านไปอย่างมีคุณค่ายิ่งสำหรับชีวิตวิญญาณของเรา

คุณพ่อ สุพจน์
............................................................................................................................................... 
เราเชื่ออะไร
ศีลเจิมผู้ป่วยมีผลอย่างไร 
            ผู้ป่วยจำนวนมากมีความกลัวศีลเจิมผู้ป่วย หรือที่สมัยก่อนเรียกศีลนี้ว่า “ศีลทาสุดท้าย” โดยมักจะผัดผ่อนไปจนนาทีสุดท้าย กว่าจะตัดสินใจเชิญพระสงฆ์มา เพราะพวกเขาอาจคิดว่าเป็นเหมือนคำตัดสินให้ถึงแก่ความตาย ใครที่ได้รับศีลนี้แล้วก็ต้องตายกันทุกคน แต่ความจริงตรงกันข้าม ศีลเจิมผู้ป่วยเป็นเหมือนการประกันชีวิต ไม่ว่าจะต้องจากโลกนี้ไป หรือมีชีวิตอยู่ต่อก็จะได้รับพระหรรษทานจากพระองค์ นี่เองจึงไม่มีสิ่งใดสำคัญกับผู้ป่วยในขณะนี้มากไปกว่าการจะได้รับพระเยซูเจ้าโดยทันที และปราศจากเงื่อนไขใดๆ อีกแล้ว เพราะพระองค์คือผู้ที่เคยชนะความตายมาแล้ว และสามารถทำให้ทุกคนมีชีวิตอันนิรันดรได้
           

            บางครั้งการที่เราต้องเจ็บป่วย ก็เพื่อตระหนักอย่างแท้จริงว่า ไม่ว่าเราจะมีสุขภาพดีหรือเจ็บป่วย สิ่งที่เราต้องการมากกว่าสิ่งใดก็คือพระเจ้า เรามีชีวิตได้ก็ในพระองค์เท่านั้น ด้วยเหตุนี้ ทั้งคนเจ็บและคนบาป ต่างมั่นใจว่ามีแต่พระเยซูเจ้าเท่านั้น ที่มีพระเมตตา และสามารถรักษาพวกเขาทั้งร่างกายและวิญญาณได้ พิธีกรรมที่จำเป็นของการโปรดศีลนี้ ประกอบด้วยการเจิมน้ำมันศักดิ์สิทธิ์บนหน้าผาก และที่มือทั้งสองข้าง พร้อมกับการสวดภาวนาของพระสงฆ์ ผู้ป่วยจะได้รับพระหรรษทาน และมีพละกำลังในการต่อสู้ ทั้งด้านร่างกายและจิตใจ และหากนี่คือระยะสุดท้ายของชีวิต ในทุกกรณี ศีลเจิมผู้ป่วยนี้ก็มีผลในการให้อภัยบาปด้วย

            บุคคลหนึ่งสามารถรับศีลเจิมผู้ป่วยได้หลายครั้งในชีวิต บางครั้งอาจเป็นคนหนุ่มสาวที่ขอรับศีลศักดิ์สิทธิ์ประการนี้ ซึ่งมีเหตุผลสมควรเช่นต้องเข้ารับการผ่าตัดใหญ่ ในสถานการณ์เช่นนี้ คริสตชนทุกคนที่คิดว่าตนอยู่ในสถานะวิกฤต และปรารถนาไปพบพระเจ้าด้วยมโนธรรมที่บริสุทธิ์ สามารถสารภาพบาปพร้อมกับรับศีลเจิมผู้ป่วยได้ หากกรณีการผ่าตัดเกิดล้มเหลว
“การเอาใจใส่ดูแลผู้ป่วย ต้องมีความสำคัญเหนือสิ่งอื่นใด พวกเขาควร
 ได้รับการปรนนิบัติประหนึ่งว่าเป็นองค์พระคริสตเจ้าอย่างแท้จริง”
                                        St. Benedict of Nursia (480-547)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น