คริสตชนคาทอลิกกับความรับผิดชอบต่อบ้านเมือง
ในฐานะพลเมืองของชาติ
บทนำ
1. ในประเทศที่มีระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย
เมื่อเกิดสถานการณ์ความขัดแย้งและวุ่นวาย โดยเฉพาะมีความคิดเห็นที่แตกต่างอันนำไปสู่ความแตกแยกอย่างรุนแรงในสังคม
ดังเช่นที่ประเทศไทยของเราในปัจจุบันที่กำลังเผชิญปัญหานี้อยู่ พระศาสนจักรคาทอลิกถือว่าเป็นหน้าที่ที่จะให้แนวทางปฏิบัติจากคำสอนพระศาสนจักรเรื่องความรับผิดชอบต่อประเทศชาติแก่พี่น้องคริสตชน
ในฐานะที่เราเป็นพลเมืองคนหนึ่งของชาติที่พึงใส่ใจในความรับผิดชอบต่อสังคม ต่อแผ่นดินถิ่นเกิด
และต่อมนุษยชาติ ความรับผิดชอบต่อบ้านเมือง และสังคม
2. ความรับผิดชอบต่อบ้านเมืองเป็นหน้าที่ของพลเมืองทุกคนในชาติ
เพื่อปกป้องและส่งเสริม “ความดีส่วนรวม” (common
good) ซึ่งเป็นความรับผิดชอบที่ยิ่งใหญ่และจำเป็นที่ต้องเข้าใจอย่างถ่องแท้ถึงเรื่องกฎแห่งศีลธรรม
(Moral law) ในความรับผิดชอบต่อบ้านเมือง เมื่อเราคิดถึงเรื่องราวของกาอินที่ฆ่าน้องตนเอง
ชื่ออาแบล (เทียบ ปฐก.4:1-16) พระเจ้าถามเขาในความรับผิดชอบว่าน้องเจ้าอยู่ไหน?
แต่เขากลับตอบว่า “ข้าพเจ้าไม่รู้ ข้าพเจ้าต้องเป็นผู้ดูแลน้องด้วยหรือ? (ปฐก.4:9) กาอินปฏิเสธความรับผิดชอบที่เขากระทำผิด
แต่แบบอย่างและคำตอบที่แท้จริงเรื่องความรับผิดชอบต่อเพื่อนพี่น้องนั้นต้องปฏิบัติตามที่พระเยซูคริสต์ทรงสอนเป็นคำอุปมาเรื่องชาวซามาเรียผู้มีจิตใจดี
(เทียบ ลก.10:25-37) ซึ่งอาจประยุกต์ได้ว่า
เราต้องรับผิดชอบต่อเพื่อนพี่น้องชาย/หญิงทั้งในประเทศชาติและในโลกด้วยแบบไม่มีขอบเขต
ปราศจากอคติใดๆ และไม่มีความจำกัดเฉพาะกลุ่มของตน
3. คำสอนของพระศาสนจักรเรื่องความรับผิดชอบต่อบ้านเมืองต้องมีพื้นฐานอยู่บนความเชื่อในพระเยซูคริสต์
ผู้เป็นนายชุมพาบาลที่ดี นำความปีติยินดีและความหวังโดยการนำของพระจิตเจ้า เพื่อความเป็นปึกแผ่นและสามัคคีท่ามกลางเพื่อนพี่น้องที่กำลังอยู่ในภาวะที่โศกเศร้า
ท้อแท้ และกระวนกระวายใจ (เทียบธรรมนูญเรื่อง การอภิบาลของพระศาสนจักรในโลกปัจจุบัน
ความปีติยินดี และความหวัง Gaudium et Spes ข้อ 1)
4. คริสตชนมีฐานะเป็นทั้ง
ประชากรแห่งสวรรค์และแห่งโลกนี้ เราจำเป็นต้องแสดงความรับผิดชอบต่อหน้าที่ทางบ้านเมืองและสังคมอย่างซื่อสัตย์
ตามจิตตารมณ์ของพระวรสาร (เทียบ Guadium et Spes
n.43a) ในขณะที่สถานการณ์ที่มีความสับสนทางการเมืองอยู่นี้ คริสตชนหลายคนอยากจะทราบว่า
ตนเองควรยืนอยู่จุดไหน? ควรเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมืองหรือไม่?
แน่นอนพระศาสนจักรสนับสนุนให้คริสตชนมีส่วนร่วมในทางการเมืองตามสิทธิและหน้าที่ที่ระบุไว้ในกฎหมาย
โดยมีพื้นฐานจากพระวรสารเป็นหลักคือ รักและรับใช้ผู้อื่น ด้วยเหตุนี้ เราจึงต้องตระหนักว่า
ในฐานะผู้มีความเชื่อจำเป็นต้องสลัดความเห็นแก่ตัวและการยึดถือปัจเจกบุคคลและจำเป็นต้องยึดหลักการว่ารักพระเจ้าและรักเพื่อนมนุษย์
โดยการแสดงออกต่อหน้าที่ทางบ้านเมือง โดยพิจารณาจากมโนธรรมอันถูกต้องบนหลักความจริง
เป็นการตอบคำถามที่เราอาจสงสัยต่อสถานการณ์ที่สับสนมโนธรรมของมนุษย์
5. มโนธรรม คือ เสียงของพระเจ้าที่อยู่ภายในตัวเรา
เพื่อดลใจและช่วยเราให้รู้จักเลือกสิ่งที่ดีงามและหลีกเลี่ยงสิ่งชั่วร้ายตามกฎของพระเจ้า
มโนธรรมที่เที่ยงตรงจะช่วยนำทางเราให้รู้จักว่า อะไรคือสิ่งจริงและถูกต้อง และไม่ตกอยู่ในภาวะหลอกลวงตนเอง
ซึ่งอาจมีอิทธิพลมาจากเล่ห์เหลี่ยมของผู้อื่น และจากการประจญของอำนาจใฝ่ต่ำที่ไม่ถูกต้องเหล่านี้อันนำไปสู่การทรยศต่อความจริงเกี่ยวกับตัวเราเอง
และสถานการณ์ที่เผชิญอยู่ในโลกที่สับสนอลหม่าน มโนธรรมนี้แหละจะเป็นตัวนำไปสู่ความประพฤติ
ต้องตัดสินใจในการเลือกความดีงามหรือหลีกเลี่ยงสิ่งเลวร้ายดังนั้น การมีมโนธรรมที่ถูกต้อง
เที่ยงธรรม และการตัดสินใจอย่างกล้าหาญ จึงจำเป็นต่อผู้ที่มีความรับผิดชอบฐานะพลเมืองของชาติ
(เทียบ คำสอนพระศาสนจักรสากล หรือ CCC ข้อ
1777-1778)
6. เนื่องจากธรรมชาติของมโนธรรมอันศักดิ์สิทธิ์อยู่ในตัวมนุษย์
เราต้องมีความภูมิใจในสิทธิที่จะเลือกในสิ่งที่ถูกต้องตามที่มโนธรรมชี้นำ เราต้องมีเสรีภาพในการตัดสินใจเพื่อจะกระทำสิ่งที่ถูกต้องและหลีกเลี่ยงความชั่วร้าย
ซึ่งต้องสอดคล้องกับความจริงที่พระเจ้าเปิดเผยผ่านทางพระวาจาของพระองค์ในพระคัมภีร์
เราจำเป็นต้องเรียนรู้อย่างถูกต้องทั้งกฎของพระเจ้าและกฎของธรรมชาติ โดยผ่านทางการสั่งสอนจากอำนาจของพระศาสนจักร
(เทียบ CCC ข้อ 1783-1785) การตัดสินใจที่ผิดพลาดนั้นหลายครั้ง เกิดขึ้นจากการขาดความรู้และความเข้าใจในเรื่องความจริงหรือการเพิกเฉยต่อการแสดงความจริง
จึงเป็นหน้าที่ของพระศาสนจักรที่ต้องสอนสัตบุรุษให้มีมโนธรรมอันถูกต้องตรงกับความจริง
เพื่อยืนหยัดและไม่หลงผิดตามกระแสของสถานการณ์ที่สับสนและการใช้อำนาจในทางที่ผิด
(เทียบCCC.1790-1794) การพิจารณามโนธรรมอย่างถูกต้องในพระจิตเจ้าเป็นหนทางที่จะนำไปสู่การปฏิบัติในชีวิตจริงเพื่อสร้างสันติ
(เทียบ CCC. ข้อ 1785)การเลือกระบอบการปกครองและผู้นำประเทศ
7. ทั้งจากเอกสารของสภาสังคายนาวาติกัน
ที่ 2 เรื่อง ธรรมนูญการอภิบาลทางสังคมในโลกปัจจุบัน ความปีติยินดีและความหวัง
(Gaudium et Spes) และคำแถลงการณ์เรื่อง สิทธิมนุษยชนขององค์การสหประชาชาติ
ย้ำว่า มนุษย์ทุกคนมีสิทธิ เสรีภาพ และเป็นหน้าที่ที่จะเลือกผู้นำประเทศของตนเอง ดังที่สมเด็จพระสันตะปาปา
ยอห์น ปอล ที่ 2 ในพระสมณสาสน์ “โอกาสครบ
100 ปี ของสมณสาสน์ Rerum Novarum” ประกาศเมื่อ
1 พ.ค.1991 ข้อ
46 ซึ่งน่าจะเป็นแรงบันดาลใจให้พวกเราที่เป็นคาทอลิกไทยและรวมถึงพี่น้องชาวไทยทุกคนผู้มีความปรารถนาดีว่าดังนี้
“พระศาสนจักรเห็นคุณค่าอันแท้จริงของการปกครองระบอบประชาธิปไตย ดังนั้น
ระบอบนี้ต้องทำให้พลเมืองทุกคนที่มีสิทธิได้เข้าร่วมในการเลือกตั้งผู้แทนทางการเมืองอย่างยุติธรรม
และผู้ทำหน้าที่ในการเลือกตั้งนั้น ทำหน้าที่ใช้สิทธิ์อย่างดียิ่งยวด โดยเฉพาะในช่วงที่มีการถ่ายโอนอำนาจการปกครอง
ต้องให้เป็นไปด้วย
สันติวิธีและเหมาะสม ทั้งสิทธิและหน้าที่นี้เป็นส่วนหนึ่งของความรับผิดชอบในฐานะเป็นพลเมืองของชาติ
และต้องมีความเคารพต่ออำนาจทางการเมืองที่มีอยู่เพื่อการรับใช้สังคม และเพื่อความดีของส่วนรวมจริงๆ (เทียบ CCC.ข้อ 1902)
8. เพื่อให้ประเทศชาติได้ผู้นำที่ดีเข้ามาบริหารประเทศและมีวิสัยทัศน์
เพื่อความดีส่วนรวมนั้นเป็นหน้าที่ของคริสตชนผู้มีมโนธรรมที่ถูกต้องจึงจะบรรลุถึงเป้าหมายที่ปรารถนา
เพื่อผลรวมอันดีงามของสภาพสังคมที่เผชิญอยู่ (เทียบGaudium
et Spes n. 26a) พระศาสนจักรย้ำเตือนประการแรก คือ เรื่องความยุติธรรมในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งเพื่อการได้มาซึ่งบุคคลที่ดีเหมาะสม
มีคุณภาพกับหน้าที่และตำแหน่ง บุคคลที่ได้รับเลือกนั้นต้องมีความแน่วแน่ในอุดมการณ์ต้องทำหน้าที่
“เพื่อความดีส่วนรวม” เท่านั้น ถ้าหากเลือกเขาด้วยเหตุผลอื่นๆ
หรือการชักนำแบบผิดๆ อาจจะนำมาซึ่งภัยพิบัติ และความหายนะมาสู่ประเทศชาติได้
(เทียบCCC. ข้อ 2238)
9. พระศาสนจักรคาทอลิกสั่งสอนเสมอว่า
การเลือกระบอบการปกครองประเทศ รวมทั้งการเลือกผู้ปกครองทางการเมืองนั้นต้องมาจากการตัดสินใจอย่างอิสระของประชากรของประเทศ
(เทียบ Gaudium et Spes n. 74) คริสตชนต้องมีความสำนึกในหน้าที่รับผิดชอบต่อสภาพสังคมทางการเมืองด้วย
และจะต้องเป็นแบบอย่างที่ดีในสังคมที่แสดงเจตนารมณ์เพื่อความดีส่วนรวม และความมั่นคงถาวรของประเทศ
ต้องมีความเคารพซึ่งกันและกันเพื่อความเป็นเอกภาพในความแตกต่าง ส่วนผู้ที่เป็นนักการเมืองนั้น
พระศาสนจักรสอนว่า พวกเขาจะต้องตระหนักถึงความถูกต้องตามกฎหมาย การฟังความคิดเห็นของคนในสังคมที่มีความแตกต่าง
โดยเฉพาะในการแก้ไขรากเหง้าของปัญหาที่กำลังเผชิญอยู่ด้วยความเคารพสิทธิและเสียงของประชาชน
แม้แต่เป็นเพียงกลุ่มหนึ่งที่ปกป้องสิทธิของพวกเขาโดยวิธีการที่ถูกต้องและซื่อสัตย์
ในส่วนของพรรคการเมือง พวกเขาต้องส่งเสริมและนำมาซึ่งความดีของส่วนรวมอันเป็นหัวใจการปกครอง
ขจัดความไม่ถูกต้องในการแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัว หรืออีกนัยหนึ่ง คือ มิให้ความสำคัญของส่วนตัวมีอิทธิพลเหนือไปกว่าความดีงามของส่วนรวม
(เทียบ Gaudium et Spesn.75) ดังนั้น หน้าที่ของคริสตชนที่ดี
คือ เป็นผู้ที่ถามตนเองว่า คุณภาพของบุคคลที่เราจะเลือกให้เป็นผู้นำนั้นมีลักษณะเช่นไร?
(เทียบ อพย. 18:21-22)ข้อเตือนใจของพระสันตะปาปาฟรังซิส
10. เมื่อวันที่
16 กันยายน 2013 สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิส เทศน์สอน
ณ วัดน้อยนักบุญมาร์ธา ณ กรุงวาติกัน ซึ่งมีประเด็นที่อาจช่วยเราให้พิจารณาถึงความรับผิดชอบต่อสถานการณ์บ้านเมือง
และหน้าที่ของการเป็นคาทอลิกที่ดี พอสรุปได้ดังนี้
ก. การเป็นคาทอลิกที่ดีต้องสวดภาวนาให้ผู้ปกครองบริหารบ้านเมือง
เพื่อพวกเขาจะได้บริหารประเทศอย่างดี ถ้าหากผู้ปกครองบ้านเมืองไม่เป็นแบบอย่างที่ดีต่อประชาชน
เราจำเป็นต้องภาวนาขอพระเจ้าให้พวกเขากลับใจและเปลี่ยนแปลงตนเอง
ข. ผู้ปกครองบ้านเมืองต้องมีจิตใจรักประชาชนอย่างแท้จริง
และมีความสุภาพถ่อมตน เป็นแบบอย่างที่ดี เพราะว่าถ้าหากเขาขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เขาไม่ใช่ผู้ปกครองที่ดี
แต่เป็นเพียงแค่ผู้ควบคุมกฎเกณฑ์เท่านั้น !
ค. มนุษย์ทุกคน ทั้งชายหญิงต้องทำหน้าที่พลเมืองที่ดีและมีส่วนร่วมในการปกครองบ้านเมืองของตน
โดยเฉพาะผู้ทำหน้าที่เป็นผู้นำในสังคมและประเทศชาติ ต้องถามตัวเองเสมอว่า
เรารักประชาชนของเราจริงๆ และทำหน้าที่รับใช้พวกเขาให้ดีขึ้นไหม?
เรามีความสุภาพพอที่จะฟังเสียงของทุกคนไหม
ถ้าหากมีความเห็นแตกต่าง เราได้เลือกหนทางที่ดีที่สุดหรือไม่ ?
ง. พระสันตะปาปาฟรังซิสยังย้ำอีกว่า
คำสอนของพระศาสนจักรด้านสังคมบ่งชี้ว่า การเมืองเป็นรูปแบบที่สำคัญในการปกครอง ซึ่งต้องนำมาซึ่งความรัก
ความเมตตา ความถูกต้อง เพราะว่านี่เป็นเครื่องมือในการรับใช้สังคมอย่างดี ดังนั้น คำพูดที่ว่าคาทอลิกไม่ควรเข้าไปยุ่งเกี่ยวเรื่อง
การเมืองนั้นไม่ถูกต้อง ตรงกันข้ามคาทอลิกที่ดีต้องมีส่วนร่วมในระบอบทางการเมืองในการปกครอง
และจำเป็นต้องมอบสิ่งที่ดีงามของเราเพื่อจรรโลงสังคม เพื่อจะทำให้ผู้ปกครองที่ดีสามารถบริหารประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ
อันนำมาซึ่งการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ
จ. โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่ผู้ปกครองประเทศไม่ได้ดำเนินตามครรลองครองธรรมในการปกครอง
และการตัดสินใจของเขาขาดความชาญฉลาด คริสตชนต้องเลียนแบบนักบุญเปาโล ที่ท่านกล่าวว่า
“เราต้องสวดภาวนา เพื่อพระมหากษัตริย์ และผู้ปกครองบ้านเมือง เพื่อจะให้ท่านเหล่านั้นทำหน้าที่อย่างดี
และเปี่ยมไปด้วยความรักต่อประชาชน รับใช้ประชาชน มีจิตใจสุภาพถ่อมตน” (เทียบ 1 ทิโมธี 2:1-3)สรุป
ข้อแนะนำสู่การปฏิบัติ
1. คาทอลิกต้องมีสำนึกในความรับผิดชอบต่อสถานการณ์บ้านเมืองตามมโนธรรมที่ซื่อตรงต่อความจริง
2. แม้ว่ามีการแบ่งแยกฝ่าย
อาจจะเป็นแบบเปิดเผยและ/หรือไม่เปิดเผย ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้
ในกรณีเช่นนี้คาทอลิกต้องสำนึกถึงความจริงแห่งความเชื่อที่ว่า เราต่างก็เป็นพี่น้องกัน
มีพระเจ้าเป็นพระบิดาของเราทุกคนและเราเป็นพี่น้องร่วมผืนแผ่นดินไทย มีเชื้อชาติและสัญชาติไทยด้วยกัน
3. คริสตชนคาทอลิกทุกคนต้องกระทำในสิ่งที่ถูกต้อง
สร้างสรรค์และมุ่งสู่เอกภาพในความรัก ความยุติธรรม และสันติ เพื่อความมั่นคงของประเทศชาติเป็นหลักสำคัญ
4. เหนือกว่าความขัดแย้งใดๆ
โดยตระหนักว่า ธรรมชาติของมนุษย์นั้นอ่อนแอและเป็นคนบาป เราคริสตชนคาทอลิกมีความเชื่อมั่นเสมอในพลังของพระเจ้า
และพระเมตตาของพระองค์แบบเหนือธรรมชาติ เพื่อขจัดความขัดแย้งทั้งปวง ดังนั้น เราจึงต้องภาวนา
พลีกรรม อ้อนวอนต่อพระเจ้ามากเป็นพิเศษ
5. ณ วาระใดก็ตามที่การเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยมาถึง
เป็นหน้าที่ของคาทอลิกจะต้องใช้สิทธิเพื่อการเลือกตั้งผู้มีอำนาจปกครองบ้านเมืองในทุกระดับ
ด้วยมโนธรรมที่ถูกต้อง และเลือกบุคคลที่ดี มีคุณธรรม จริยธรรม และมีความตั้งใจจริงที่จะเสริมสร้างความดีส่วนรวม
ณ กรุงเทพฯ วันที่ 27
ธันวาคม พ.ศ. 2556/ค.ศ. 2013
พระสังฆราช ยอแซฟ ชูศักดิ์ สิริสุทธิ์
เลขาธิการสภาพระสังฆราชคาทอลิกแห่งประเทศไทย
มองซินญอร์
วิษณุ ธัญญอนันต์
รองเลขาธิการสภาฯ__
...............................................................................................................................
เราเชื่ออะไร
พระศาสนจักรคิดอย่างไรเรื่องระบอบประชาธิปไตย
พระศาสนจักรสนับสนุนระบอบประชาธิปไตย
เพราะถือเป็นระบบทางการเมืองที่นำเสนอสิ่งที่ดีที่สุด
เพื่อให้บรรลุถึงความเสมอภาคกัน และมีการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน
อย่างไรก็ตาม
เพื่อที่จะกระทำตามนี้ได้ ประชาธิปไตยต้องเป็นมากกว่าเพียงกฎของคนส่วนใหญ่
ประชาธิปไตยแท้เกิดขึ้นได้เฉพาะในรัฐที่ปกครองโดยกฎหมายที่ตระหนักถึง
พื้นฐานที่พระเจ้าทรงประทานสิทธิที่เท่าเทียมกันแก่มนุษย์ทุกคน
และพร้อมจะคอยปกป้องสิทธิของพวกเขาหากจำเป็น
แม้ต้องขัดกับความปรารถนาของคนส่วนมากก็ต้องยอม
ประวัติศาสตร์สอนเราว่า แม้แต่ระบอบประชาธิปไตยเองก็ยังไม่มีการป้องกันที่แน่นอนจากการล่วงละเมิดศักดิ์ศรีและสิทธิของมนุษย์
เพราะเหตุนี้
จึงมักเกิดความเสี่ยงที่จะกลายเป็นเผด็จการของคนกลุ่มใหญ่ที่อยู่เหนือคนส่วนน้อย
ระบอบประชาธิปไตยโดยตัวเองจึงอาจไม่สามารถรับประกันหลักการของระบอบนี้ได้ นี่คือเหตุผลที่คริสตชนต้องมั่นใจว่า
คุณค่าต่าง ๆ ที่จำเป็นต่อประชาธิปไตยนั้นจะไม่ถูกทำลายไป
เป็นสิ่งถูกต้องที่คริสตชนควรให้ความสนใจ
และมีส่วนร่วมในทางการเมืองและสังคม ด้วยการแสดงตนเป็นพยานยืนยันในการรักความจริง
และความยุติธรรม ตามจิตตารมณ์ความรักของพระวรสาร และด้วยมโนธรรมที่เที่ยงตรง
“ประชาธิปไตยที่ไร้คุณค่า
ย่อมกลายเป็นระบบเผด็จการเบ็ดเสร็จอย่างเปิดเผย หรืออย่างแอบแฝงได้อย่างง่ายดาย”
สมเด็จพระสันตะปาปา ยอห์น ปอล ที่ 2
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น