วันศุกร์ที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

สารวัดวันอาทิตย์ที่ 28 กรกฎาคม 2013


พี่น้องที่รัก
                คราวนี้พ่อขอนำเรื่องเล่าของชาวฮินดู จากประเทศอินเดียมาเล่าสู่กันฟังนะครับ
เรื่องมีอยู่ว่า  มีผู้ทรงศีลคนหนึ่งอาศัยอยู่ริมแม่น้ำแห่งหนึ่ง รู้สึกประหลาดใจเป็นอย่างมาก เมื่อลูกศิษย์หลายคนมาเล่าให้ฟังว่า มีเด็กหญิงชาวบ้านคนหนึ่งที่ดูแลฝูงแกะอยู่ฝูงหนึ่ง ทุกๆวันเธอจะรีดนมแกะใส่โถใบใหญ่ แล้วก็แบกโถใส่นมนั้นเดินบนพื้นน้ำ ข้ามแม่น้ำนั้นมายังอีกฝั่งหนึ่งเป็นประจำ ผู้ทรงศีลผู้ศักดิ์สิทธิ์ผู้นั้นเกิดความฉงนสงสัยว่าเป็นไปได้จริงหรือ เขาจึงให้คนไป เรียกเด็กหญิงคนนั้นมาถามว่าเรื่องที่ผู้คนเขาเล่ากันนั้นเป็นความจริงหรือไม่? เด็กหญิงคนนั้นตอบว่า “จริงสิ”
            ผู้ทรงศีลถามต่อไปว่า “แล้วหนูคิดว่า ฉันจะทำอย่างนั้นบ้างได้หรือไม่?”
            “ได้สิ” เธอตอบ “ขอเพียงแต่ท่านเปล่งพระนามของพระเจ้าตลอดเวลาอย่างที่ดิฉันทำ แล้วท่านจะสามารถเดินบนน้ำข้ามฝั่งมาได้ปลอดภัยอย่างแน่นอน”
            ผู้ทรงศีลผู้นั้น ตัดสินใจจะลองทำตามคำแนะนำของเด็กหญิงคนนี้ดูสักครั้ง แล้วทั้งสองก็เริ่มที่จะเดินข้ามแม่น้ำนั้นด้วยกัน โดยที่เด็กหญิงผู้นั้นเดินนำหน้า ส่วนผู้ทรงศีลเดินตามหลัง เขาก้าวเท้าตามเด็กหญิงคนนั้นอย่างสม่ำเสมอ โดยเปล่งพระนามของพระเจ้าซ้ำไปซ้ำมา แต่แล้วทันใด เขาก็เกิดความกังวลว่าชายเสื้อคลุมยาวสีเหลืองสวยงามของเขาจะเปียกน้ำ เขาจึงก้มลงยกชายเสื้อคลุมยาวให้สูงขึ้นอีก เพื่อให้พ้นน้ำ ณ เวลานั้นเอง เท้าของเขาเริ่มที่จะจมลงไปในน้ำลึกขึ้นลึกขึ้นทุกๆก้าวที่เขาก้าวไป เด็กหญิงคนนั้นหันกลับมามอง เห็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับผู้ทรงศีลผู้นั้น เธอก็อดที่จะหัวเราะออกมาด้วยความใสซื่อบริสุทธิ์ไม่ได้ เธอจึงหันไปกล่าวกับผู้ทรงศีลนั้นว่า
            “ไม่ใช่อย่างนั้นค่ะ ท่านอาจารย์ ไม่ใช่แบบนั้น! ปากของท่านเปล่งพระนามพระเจ้าก็จริงอยู่ แต่ใจของท่านยังมาเป็นห่วงถือชายเสื้อคลุมไว้ในมืออีก ... นี่ไม่ใช่วิธีการข้ามแม่น้ำที่ถูกต้อง”
            ในที่สุดแล้วผู้ทรงศีลผู้นั้นก็เดินข้ามแม่น้ำสายนั้นไม่สำเร็จ
            คำพูดของเด็กหญิงคนนั้นมีความหมายว่า การสวดภาวนาแบบเชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่งนั้น ไม่ใช่การภาวนาที่แท้จริง เพราะการภาวนานั้นคือความเชื่อ ความเชื่อคือความมั่นใจ ความมั่นใจคือเชื่อเต็มหัวใจ เพราะถ้าไม่เป็นเช่นนั้นก็จะไม่มีความมั่นใจใดๆเลย ดังนั้นถ้าท่านมีความมั่นใจ ก็จงอย่ากังวลเรื่องชายเสื้อ ให้ละมือจากชายเสื้อนั้นเสีย และมุ่งมั่นก้าวเดินไปในชีวิตอย่างเข้มแข็งในพระนามของพระเจ้า
            วันนี้พระเยซูทรงสอนเราให้ภาวนา ด้วยบทข้าแต่พระบิดา ขอให้เราภาวนาด้วยความเชื่อที่เต็มเปี่ยมด้วยความมั่นใจเสมอ
คุณพ่อ สุพจน์
.......................................................................................................................
เราเชื่ออะไร
ทำไมพระศาสนจักรจึงเฉลิมฉลองพิธีกรรมบ่อยๆ

พระเยซูเจ้าทรงสอนให้บรรดาศิษย์ของพระองค์สวดภาวนา และเรียกพวกเขามารวมกันในห้องชั้นบนเพื่อเฉลิมฉลองการมอบพระองค์เองในการเลี้ยงอาหารค่ำมื้อสุดท้าย คำสั่งที่เราทุกคนได้รับจากพระเยซูเจ้าก็คือ  “จงทำการนี้ เพื่อระลึกถึงเราเถิด” (1คร.11: 24)
มนุษย์ต้องการอากาศหายใจ เพื่อมีชีวิต เช่นเดียวกัน พระศาสนจักร ก็มีชีวิตและลมหายใจด้วยการเฉลิมฉลองพิธีกรรมดังกล่าว พระเจ้าเองทรงเป็นผู้มอบลมหายใจแก่พระศาสนจักรทุกวัน และทรงบำรุงเลี้ยงพระศาสนจักรด้วยพระพรต่างๆ โดยทางพระวาจาของพระองค์ และด้วยศีลศักดิ์สิทธิ์ ภาพลักษณ์อีกประการหนึ่งก็คือ พิธีกรรมเป็นเหมือนการนัดพบรัก ซึ่งพระเจ้าทรงเขียนไว้ในปฏิทินของเรา ผู้ใดที่มีประสบการณ์ความรักของพระเจ้าแล้ว ก็จะไปวัดด้วยความยินดี และตื่นเต้นกับความรู้สึกของการได้มาพบกับพระเจ้าที่ทรงประทับอยู่ภายใต้เครื่องหมายศักดิ์สิทธิ์นี้
ระหว่างที่พระเยซูเจ้าทรงมีชีวิตอยู่นั้น ประชาชนจำนวนมากต่างพากันไปหาพระองค์ เพราะพวกเขาแสวงหาการรักษาจากพระองค์ ปัจจุบัน เรายังพบพระองค์ได้ เพราะพระองค์ทรงดำรงชีวิตอยู่ในพระศาสนจักรของพระองค์ และทรงให้ความมั่นใจแก่เราว่า พระองค์ประทับอยู่ในสถานภาพสองประการ คือในการช่วยเหลือผู้ยากจน และในศีลมหาสนิท ณ ที่ซึ่งเราตรงดิ่งสู่อ้อมอกของพระองค์ และเมื่อเรายอมให้พระองค์อยู่ใกล้ชิดเรา พระองค์จะทรงสอนเรา เลี้ยงดูเรา เปลี่ยนแปลงเรา รักษาเรา และกลายเป็นหนึ่งเดียวกับเราในการถวายบูชามิสซา
“ท่านไม่รู้หรือว่า คริสตชนดำเนินชีวิตเพื่อศีลมหาสนิท และศีลมหาสนิทมีไว้เพื่อคริสตชน”
(Martyr Saturninus)



วันศุกร์ที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

สารวัดวันอาทิตย์ที่ 21 กรกฎาคม 2013


พี่น้องที่รัก
            “โอกาส” หมายความว่าอย่างไร หมายความว่า ช่วงเวลาช่วงหนึ่ง หรือ  เวลาขณะนั้นที่เป็นประสบการณ์ที่จดจำได้
            “โอกาส” สามารถเป็นของขวัญที่มอบให้กับกันและกันได้นะ เพราะถ้ามีคนถามเราว่า “ขอโอกาสให้ฉันได้พบคุณได้ไหม?” หมายความว่า “คุณพอจะให้เวลาสนทนากับฉันสักช่วงเวลาหนึ่งได้ไหม?” การให้โอกาสนี้จึงหมายถึงการมอบตัวของเราให้เป็นของขวัญที่มีค่าสำหรับผู้ที่ร้องขอจากเราได้
            “โอกาส” อาจหมายถึง ช่วงเวลาสุดแสนประทับใจที่ไม่มีวันลืมเลือน เราคงเคยได้ยินคำกล่าวว่า “โอกาส นั้นช่างเป็นช่วงเวลาที่ฉันไม่เคยลืม”
            “โอกาส” อาจหมายถึง เวลาตอนนี้ ที่เราได้พบใครบางคน หรือ ช่วงเวลาที่มาถึงเราโดยมิได้คาดหมายไว้ก่อนล่วงหน้า
            มีคนเคยกล่าวเอาไว้ว่า “คนที่ไม่ปล่อยให้โอกาสผ่านเลยไป เป็นคนที่พบกับคำว่าเสียใจน้อยที่สุด เพราะทุกช่วงเวลาที่มาถึงนั้นช่างมีคุณค่ามากหลาย”
การที่เราฉวยโอกาสนั้นไว้ได้ ถือว่าเป็นเรื่องดีที่สุด เพราะอาจเป็นไปได้ว่าโอกาสนั้นอาจไม่มีวันหวนกลับมาหาเราอีกเลย คำว่า “โอกาส” นี้จึงเป็นช่วงเวลาที่เราจะใช้เพื่อเตรียมตัวของเราให้พร้อมสำหรับ “โอกาส” ต่อไปที่จะมาถึงเรา
            พระวรสารวันนี้กล่าวถึง เรื่องพระเยซูเจ้าเสด็จมาเยี่ยมครอบครัวที่พระองค์รู้จักดี คือ ครอบครัวของลาซารัส ที่มีน้องสาวชื่อ มารีย์ กับ มาร์ธา พระวรสารกล่าวว่า มาร์ธา มัวแต่กุลีกุจอจัดเตรียมสถานที่ต้อนรับพระเยซูเจ้าจนเหนื่อยอ่อน  ส่วนมารีย์ใช้เวลาทั้งหมดเฝ้าอยู่แทบพระบาทของพระองค์ แม้มาร์ธาจะบ่นว่ากับพระองค์ว่า “ดูซิ มารีย์ไม่ยอมไปช่วยเธอจัดเตรียมข้าวของอะไรเลย” พระเยซูเจ้ากล่าวกับมาร์ธาว่า “มาร์ธา มาร์ธา เธอเป็นห่วงและวุ่นวายหลายสิ่งนัก สิ่งที่จำเป็นมีเพียงสิ่งเดียว มารีย์ได้เลือกเอาส่วนที่ดีที่สุดที่จะไม่มีใครเอาไปจากเธอได้”
            มาร์ธา ไม่ปล่อยให้ “โอกาส” ที่ดีที่สุดของเธอหลุดลอยไป
คพ.สุพจน์
..................................................................................................................
เราเชื่ออะไร
ทำไมพระศาสนจักรจึงเฉลิมฉลองพิธีกรรมบ่อยๆ

พระเยซูเจ้าทรงสอนให้บรรดาศิษย์ของพระองค์สวดภาวนา และเรียกพวกเขามารวมกันในห้องชั้นบนเพื่อเฉลิมฉลองการมอบพระองค์เองในการเลี้ยงอาหารค่ำมื้อสุดท้าย คำสั่งที่เราทุกคนได้รับจากพระเยซูเจ้าก็คือ  “จงทำการนี้ เพื่อระลึกถึงเราเถิด” (1คร.11: 24)
มนุษย์ต้องการอากาศหายใจ เพื่อมีชีวิต เช่นเดียวกัน พระศาสนจักร ก็มีชีวิตและลมหายใจด้วยการเฉลิมฉลองพิธีกรรมดังกล่าว พระเจ้าเองทรงเป็นผู้มอบลมหายใจแก่พระศาสนจักรทุกวัน และทรงบำรุงเลี้ยงพระศาสนจักรด้วยพระพรต่างๆ โดยทางพระวาจาของพระองค์ และด้วยศีลศักดิ์สิทธิ์ ภาพลักษณ์อีกประการหนึ่งก็คือ พิธีกรรมเป็นเหมือนการนัดพบรัก ซึ่งพระเจ้าทรงเขียนไว้ในปฏิทินของเรา ผู้ใดที่มีประสบการณ์ความรักของพระเจ้าแล้ว ก็จะไปวัดด้วยความยินดี และตื่นเต้นกับความรู้สึกของการได้มาพบกับพระเจ้าที่ทรงประทับอยู่ภายใต้เครื่องหมายศักดิ์สิทธิ์นี้
ระหว่างที่พระเยซูเจ้าทรงมีชีวิตอยู่นั้น ประชาชนจำนวนมากต่างพากันไปหาพระองค์ เพราะพวกเขาแสวงหาการรักษาจากพระองค์ ปัจจุบัน เรายังพบพระองค์ได้ เพราะพระองค์ทรงดำรงชีวิตอยู่ในพระศาสนจักรของพระองค์ และทรงให้ความมั่นใจแก่เราว่า พระองค์ประทับอยู่ในสถานภาพสองประการ คือในการช่วยเหลือผู้ยากจน และในศีลมหาสนิท ณ ที่ซึ่งเราตรงดิ่งสู่อ้อมอกของพระองค์ และเมื่อเรายอมให้พระองค์อยู่ใกล้ชิดเรา พระองค์จะทรงสอนเรา เลี้ยงดูเรา เปลี่ยนแปลงเรา รักษาเรา และกลายเป็นหนึ่งเดียวกับเราในการถวายบูชามิสซา
“ท่านไม่รู้หรือว่า คริสตชนดำเนินชีวิตเพื่อศีลมหาสนิท และศีลมหาสนิทมีไว้เพื่อคริสตชน”
(Martyr Saturninus)

วันศุกร์ที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

สารวัดวันอาทิตย์ที่ 14 กรกฎาคม 2013


สวัสดีครับพี่น้องที่รัก
            พ่อได้อ่านเรื่องสั้นเรื่องหนึ่งที่มีประเด็นน่าคิด พ่อเลยเก็บมาเล่าสู่พี่น้องฟังกันอีกทอดหนึ่ง เรื่องมีอยู่ว่า ชายชาวอาราเบียนผู้หนึ่ง มีตำแหน่งใหญ่โตเป็นพ่อเลี้ยงมีข้าทาสบริวารมากมาย วันหนึ่งเขาพบเด็กชายคนหนึ่งในเต็นท์ที่เขาอาศัยอยู่ "หนูเป็นใคร มาทำอะไรที่นี่?” เขาถามด้วยน้ำเสียงแสดงอำนาจ  เด็กชายคนนั้นตอบว่า "ฉันเป็นผู้ส่งสารของอัลเลาะห์ ฉันมีนามว่า เทพแห่งความตาย" ชายผู้นั้นหน้าซีด ตั้งคำถามต่อไปว่า  "แล้วเธอต้องการอะไรจากฉัน?”  เทพแห่งความตายตอบว่า “ฉันมาที่นี่เพียงเพื่อบอกกล่าวกับท่านว่า วันสุดท้ายของชีวิตท่านมาถึงแล้ว จงเตรียมตัวให้พร้อม วันพรุ่งนี้เวลาอาทิตย์ตกดิน ฉันจะมารับท่านไป" กล่าวเสร็จแล้วเทพองค์นั้นก็อันตรธานหายไป
            ชายผู้นี้ ตบมือเรียกคนใช้มาสั่งว่า "ไปเตรียมเอาอานใส่หลังอูฐตัวที่แข็งแรงที่สุดให้พร้อมเร็วที่สุดแล้วเขาก็แอบยิ้มพลางกล่าวกับตัวเองว่า "วันพรุ่งนี้ เมื่อเทพแห่งความตายมาถึง ก็จะพบแต่เต๊นท์ที่ว่างเปล่า" แล้วเขาก็กระโดดขึ้นหลังอูฐตัวนั้น และบังคับให้มันวิ่งเร็วที่สุดเต็มฝีเท้า เขาขี่อูฐตัวนั้นไปตลอดทั้งคืน และ วันรุ่งขึ้นเขาก็ยังคงบังคับให้อูฐตัวนั้นวิ่งต่อไปทั้งวันโดยไม่หยุดพักที่ใดเลย  ยิ่งวิ่งไปไกลจากเต๊นท์ที่เขาอยู่เท่าไหร่ ใจของเขายิ่งมีความสุขมากขึ้นเท่านั้น และแล้ว เมื่อดวงอาทิตย์เริ่มคล้อยลง เขาก็เดินทางมาถึงโอเอซิสที่มีแหล่งน้ำอุดมสมบูรณ์แห่งหนึ่ง เขาจึงหยุดพักจากการเดินทางใต้ต้นปาล์มต้นแรกที่เขามาถึง เขาลงจากหลังอูฐที่เหนื่อยอ่อน และ ถอดอานจากหลังของมัน พลางกล่าวกับอูฐตัวนั้นว่า "เจ้าทำได้ดีมาก เพื่อนเอ๋ย" แล้วปล่อยให้อูฐที่อ่อนระโหยโรยแรงตัวนั้นไปดื่มน้ำ และพักผ่อน แต่แล้วเขาก็เห็นว่า เทพแห่งความตายนั่งรอเขาอย่างสงบอยู่ในบริเวณนั้นนั่นเอง เทพแห่งความตายกล่าวกับเขาว่า "ฉันรู้สึกแปลกใจว่า มีการเปลี่ยนแปลงในคำสั่งที่ฉันได้รับมาว่า ฉันจะต้องมารับท่านที่ตรงนี้ ซึ่งห่างไกลจากเต๊นท์ที่ท่านอาศัยอยู่มากทีเดียว" แล้วเทพแห่งความตายก็กล่าวต่อไปอีกว่า "แต่อย่างน้อยก็อยากจะพูดบรรเทาใจท่านว่า การเดินทางไกลของท่านคราวนี้ถือเป็นสถิติใหม่ได้เลย...”
            ครับและแล้ว เรื่องก็มาถึงบทสรุปที่ว่า ชายผู้สูงศักดิ์ผู้นั้นก็หนีความตายไปไม่พ้น เขาสูญเสียเวลาไปกับการเดินทางโดยเปล่าประโยชน์ ตรงกันข้ามกับชาวสะมาเรียผู้ใจดีที่พระวรสารกล่าวถึงผู้นั้น แม้ในขณะเดินทางก็ยังไม่ละเลยในการประกอบกิจเมตตา ช่วยชีวิตของผู้ที่ช่วยเหลือตัวเองได้อย่างดีที่สุดแม้ว่าตัวเองจะมีธุระปะปังที่ต้องทำอยู่ไม่น้อย ข้อคิดสำหรับเราในวันนี้คือ ฟากฝั่งแห่งความตายนั้นรอเราอยู่เบื้องหน้า บนเส้นทางที่เรามุ่งไปนั้นจงอย่าละเลยที่จะประกอบกิจเมตตาเสมอ
คพ.สุพจน์
......................................................................................................................................
เราเชื่ออะไร
กระแสเรียกฆราวาสคืออะไร

ฆราวาสถูกส่งไป เพื่อให้มีส่วนร่วมในสังคม เพื่อพระอาณาจักรของพระเจ้าจะได้เติบโตท่ามกลางมนุษย์

 ฆราวาสมิใช่คริสตชนชั้นสอง เนื่องจากเขามีส่วนร่วมในหน้าที่ศาสนบริกรสงฆ์ของพระคริสตเจ้าด้วย ฆราวาสทุกคนจึงควรให้ความใส่ใจต่อผู้คนบนหนทางชีวิตของพวกเขา (ที่อยู่ในโรงเรียน ในครอบครัว และในหน้าที่การงาน) ได้มารู้จักพระวรสาร และเรียนรู้ที่จะรักพระคริสตเจ้า
ความเชื่อของฆราวาสล้วนมีอิทธิพลต่อสังคม ธุรกิจ และการเมือง พวกเขายังสามารถสนับสนุนส่งเสริมชีวิตของพระศาสนจักร เช่น การมาเป็นผู้อ่านพระคัมภีร์ เป็นพลมารี สภาอภิบาล หรืออาสาสมัครมาร่วมงานกับกลุ่มองค์กรต่างๆของวัด โดยเฉพาะสำหรับบรรดาเยาวชน ที่ควรพิจารณาอย่างจริงจังถึงบทบาทหน้าที่ที่พระเจ้าทรงปรารถนาให้พวกเขาได้มีส่วนรับผิดชอบในพระศาสนจักรของพระองค์ด้วย ดังคำพูดที่ว่า “พระคริสตเจ้าไม่มีมือ แต่ทรงใช้มือของเราทำงานของพระองค์ในปัจจุบัน”
“กระแสเรียกของท่าน คือการร้องตะโกนพระวรสารจากหลังคา มิใช่แต่ด้วยคำพูด แต่ต้องด้วยชีวิตของท่านด้วย”
                                                                     บุญราศี Charles de Foucauld (1858-1916)





วันศุกร์ที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

สารวัดวันอาทิตย์ที่ 7 กรกฏาคม 2013

สวัสดีครับพี่น้องที่รัก
            พี่น้องหลายท่านคงได้ทราบข่าวจากสื่อมวลชนต่างๆมาแล้วบ้างว่า คณะพระคาร์ดินัลของสมณกระทรวงประกาศการเป็นนักบุญ ได้มีมติเป็นเอกฉันท์ รับรองว่า บุญราศี พระสันตะปาปายอห์นที่ 23 และ บุญราศี พระสันตะปาปา ยอห์น ปอลที่ 2 ได้ผ่านขั้นตอนการพิจารณาเพื่อรอการแต่งตั้งเป็นนักบุญเรียบร้อยแล้ว   การจัดการประชุมพิจารณาประกาศการเป็นนักบุญครั้งนี้ มีขึ้นเมื่อวันที่ 2 กรกฏาคม 2556 ที่ผ่านมา เหลือเพียง สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิส จะลงพระปรมาภิไทย รับรองอย่างเป็นทางการเท่านั้น การพิจารณานี้ก็จะสำเร็จสมบูรณ์ หลังจากนี้เราคริสตชนคงต้องรอวันที่จะมีการประกาศอย่างเป็นทางการจากสันตะสำนักอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งแน่นอนว่าจะต้องมีการกำหนดวันที่จะมีพิธีประกาศอย่างชัดเจน ในอีกไม่นานหลังจากนี้ พ่อเชื่อมั่นว่าข่าวดีนี้คงจะทำให้คริสตชนเป็นจำนวนมากยินดีอย่างเหลือล้น
            พี่น้องคงจำได้ว่า ในพิธีศพของสมเด็จพระสันตะปาปายอห์นปอลที่ 2 ฝูงชนเป็นจำนวนมากที่มาร่วมพิธีอยู่หน้ามหาวิหารนักบุญเปโตร ต่างร้องตะโกนเป็นภาษาอิตาลีว่า “Sancto Subito” อ่านว่า ซางโต ซูบิโต หมายความว่า พวกเราขอให้ประกาศว่าท่านเป็นนักบุญโดยทันที ซึ่งแสดงออกให้เห็นว่า ความศักดิ์สิทธิ์ของสมเด็จพระสันตะปาปายอห์นปอลที่ 2 ได้ปรากฏชัดแจ้งประจักษ์แก่ใจของผู้คนทั่วโลกแล้ว พระองค์เป็นนักบุญในใจของพวกเราอยู่แล้ว ดังนั้น พระศาสนจักรไม่ควรรอช้าที่จะพิจารณาแต่งตั้งพระองค์ให้เป็นนักบุญโดยทันที
            กระบวนการพิจารณาได้เริ่มขึ้น ตามขั้นตอนที่เข้มงวดของพระศาสนจักรในเวลาหลังจากนั้นไม่นานนัก และ ภายหลังจากการผ่านการพิจารณาว่าพระสันตะปาปายอห์นปอลที่ 2 ทรงเป็นบุคคลที่ศักดิ์สิทธิ์จริง ตามจารีตประเพณีที่กำหนดไว้ จึงได้มีการประกาศว่าท่านเป็นบุญราศี และ รอแต่เพียงว่า จะมีอัศจรรย์ใดๆเกิดขึ้นอันเนื่องจากการวิงวอนขอของคริสตชนผ่านทางนามชื่อของท่าน และได้รับตามคำภาวนาวอนขอนั้น เพื่อเป็นเครื่องหมายรับรองว่า ท่านเป็นนักบุญอย่างแท้จริง และบัดนี้ ตามข่าวที่เผยแพร่ออกมานั้น แสดงว่าการพิจารณานี้จะต้องมีอัศจรรย์ที่เกิดขึ้นแล้วและผ่านการพิจารณารับรองอย่างเป็นทางการ เพียงแต่ว่าเรายังไม่มีรายละเอียดใดๆที่จะสามารถระบุถึงได้ในเวลานี้เท่านั้นเอง
            แม้ว่าข่าวดีนี้ยังไม่ได้รับการประกาศอย่างเป็นทางการจากพระศาสนจักร ณ ตอนนี้ แต่เราต่างก็มั่นใจว่า ข่าวดีที่เรารอคอยคงได้รับการประกาศอย่างเป็นทางการในช่วงเวลาไม่นานหลังจากนี้ ถึงเวลานั้น ความยินดีของเราก็คงจะเกิดขึ้นท่วมท้นในใจของเราเป็นแน่


คุณพ่อสุพจน์
.........................................................................................
ร่วมฉลองปีแห่งความเชื่อ

เนื่องด้วยสภาพระสังฆราชคาทอลิกแห่งประเทศไทย ร่วมกับ อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ ได้กำหนดให้วันศุกร์ที่ 19 กรกฎาคม ค.ศ. 2013 เป็นวันคาทอลิกไทยรวมใจในปีแห่งความเชื่อ เพื่อฟื้นฟูการประกาศข่าวดีขึ้นใหม่สำหรับเด็กและเยาวชน ในหัวข้อ “ความเชื่อกับเยาวชน คนรุ่นใหม่” โดยกำหนดให้มีการชุมนุมเยาวชน และพิธีตื่นเฝ้า ณ บ้านสวนยอแซฟ อ.สามพราน   จ.นครปฐม ดังนั้น ขอเชิญชวนเยาวชนทุกคนเข้าร่วมงานฉลองปีแห่งความเชื่อนี้ในวันศุกร์ที่ 19 กรกฎาคม ค.ศ. 2013 ตั้งแต่เวลา 15.00 น. ถึงวันเสาร์ที่ 20 กรกฎาคม ค.ศ.2013 เวลา 13.00 น. และพักที่บ้านสวนยอแซฟ สามพราน โดยทุกท่านจะได้รับการยกเว้นค่าที่พัก และอาหาร (ไม่มีค่าลงทะเบียน) เยาวชนที่อยากจะเข้าร่วมงานดังกล่าว โปรดกรุณาแจ้งความประสงค์ที่ คพ.วิทยา หรือที่บ้านพักพระสงฆ์ ภายในวันที่ 2 กรกฎาคม ค.ศ.2013

วันศุกร์ที่ 19 กรกฎาคม ค.ศ. 2013
            15.30 น.          ลงทะเบียน ที่วัดเซนต์หลุยส์
            17.00 น.          รวมพล ที่บ้านสวนยอแซฟ กิจกรรมฐาน
            18.30 น.          อาหารเย็น
19.00 น.          พิธีตื่นเฝ้า ที่หอประชุมเซนต์ไมเกิ้ล

            วันเสาร์ที่ 20 กรกฎาคม ค.ศ. 2013
                        07.20 น.          อาหารเช้า
08.00 น.          เดินทางไปร่วมขบวน “ธรรมยาตรา”
                        10.00 น.          พิธีบูชาบอบพระคุณ และพิธีบวชสังฆานุกร
                        12.30 น.          อาหารกลางวัน            แล้วเดินทางกลับ